วีระศักร จันทร์ส่งแสง เรื่อง/ภาพ
นับแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นมา ถือว่า ๑๐ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) แล้วอย่างเป็นทางการ
หนึ่งปีที่ผ่านมาใครจะทันเห็นหรือรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ในแง่ใดบ้างหรือไม่ก็ตาม จิตรกรคนหนึ่งนาม ผศ.ปริทรรศ หุตางกูร ได้แสดงความเห็นผ่านงานศิลปะชุดหนึ่งชื่อ หลังอาเซียน (Post-ASEAN) สะท้อนแนวคิดมุมมองในเชิงคาดการณ์ว่าหลังจากนี้ภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไร ในงานจิตรกรรมขนาดใหญ่กว่า ๒ เมตร จำนวนหกภาพ จัดแสดงอยู่ที่ Paretas Art Club แถวสี่แยกเบญจมฯ นครศรีธรรมราช
มีโอกาสได้ผ่านไปเสพงานศิลป์ชุดหลังอาเซียน และได้ฟังคำเล่าถึงแนวคิดที่มาจากศิลปิน ทำให้ได้รู้เห็นข้างหลังภาพอาเซียนไปด้วย
ทำไมจึงมุ่งประเด็น “หลังอาเซียน”
อาจจะมาจากความชอบต่อโพสต์โมเดิร์น เราพอจะประจักษ์กับจุดเริ่มต้นของประชาคมอาเซียนแล้วว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม มีข้อดีที่ให้ประเทศเล็ก ๆ มีเสียงมากขึ้น ให้รับมือกับตะวันตกได้ แต่โดยพื้นฐานอัตลักษณ์ของแต่ละชาติที่ต่างกัน การเมืองก็คนละแบบ ชาติตะวันตกที่จะมาคบค้าด้วยก็กระอักกระอ่วนกับบางเรื่องของในแต่ละประเทศ ที่น่ากลัวที่สุดคือมันเป็นเรื่องของผู้นำล้วน ๆ หรือเปล่า อาเซียนหมายถึงผู้นำมาจับมือกัน รัฐบาลอาจกลายเป็นนายหน้าตัวแทนของบริษัทข้ามชาติด้วยซ้ำ เอาทรัพยากรของชาติไปขายให้เขาเลย นี่เป็นข้อย้อนแย้ง เพราะนโยบายรัฐก็หนีไม่พ้นกระแสโลกาภิวัตน์
นี่คือชีวิตจริงที่เราต้องคอยดูว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เนื้อหาที่สื่อออกมาในภาพเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าจากการวิเคราะห์ภายใต้ข้อมูลจากที่เราได้ไปสัมผัสมาและฟังคนในแต่ละชาติ จากการอ่าน นำมาประมวลว่ามันจะเป็นอย่างไร ตั้งประเด็นว่าโพสต์-อาเซียนจะเป็นอย่างไร เหมือนเราฟันธงนิด ๆ น่ะครับว่าเป็นฝันดีที่จะมีฝันร้ายด้วยหรือเปล่า
โพสต์-อาเซียนเกี่ยวอะไรกับโพสต์โมเดิร์นไหมครับ
ชอบแนวโพสต์โมเดิร์นแบบตลกขื่น ๆ ประชดประชัน เขาว่าการพูดเรื่องสังคมต้องเสียดสีเข้าไว้ เพราะเป็นลีลาที่เล่นกลับเรายากมาก คือน้ำเสียงแบบตลกขบขัน ผมว่ามันเจ๋งสุดแล้ว พูดเรื่องซีเรียสแต่ให้เป็นเสียดเย้ยขำขัน
เกือบทุกรูปรวมทั้งภาพที่สะท้อนภาพรวมหลังอาเซียนอีกสองภาพ “ระบำโลโก้” กับ “ไล่ล่าหาสวย” ก็เขียนสไตล์นี้ เป็นการด่าที่ดีที่สุด เอาคืนยาก อย่างเราไปด่าว่า เพื่อนก็จะโกรธ ด่าตอบโต้เลย แต่เราไปอำไปแซวเขา คนโดนด่าจะรู้สึกว่าเอาไงกับมันดีวะคนนี้
ได้คลุกคลีและฟังน้ำเสียงของผู้คนในแต่ละประเทศ เขารู้สึกอย่างไรกับการเปิดประชาคมอาเซียน
พม่ากำลังตื่นเต้น เหมือนสาว ๆ เพิ่งเข้าเมืองหลวง ว่าเมืองจะยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น สิงคโปร์เหมือนหญิงสาวที่โชกโชนในวงการแฟชั่นแล้ว ก็ว่ายิ่งดีที่การรวมตัวจะทำให้กว้างขึ้น มาเลเซียยังก้ำกึ่ง คนรุ่นหนึ่งเชื่อว่าวิถีตะวันออกเจ๋งสุดแล้ว ให้คุณค่ากับความเป็นมลายูสูง ไม่เอาอเมริกาหรือตะวันตก อีกกลุ่มมุ่งไปทางโลกาภิวัตน์ ว่ามันคุมทั้งโลกอยู่ ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกก็หนีไม่พ้น ผมเอามาเขียนเป็นภาพ “ม้าสองหัวแห่งมลายู” ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี
พม่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน อองซาน ซูจี มาเหมือนเป็นแม่ เขาใช้คำว่า mother เป็นความหวังใหม่ที่จะมาช่วยลบล้างความบาดหมางในชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ และเขามีความพร้อมที่จะเปิดขายการท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ที่จะช่วยให้ความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้นนิด ๆ ในช่วงเริ่มแรก แต่เรื่องทางจิตวิญญาณ ศาสนา อาจเลือนหายไป
ชนชาติเขามีศรัทธาในพุทธศาสนาสูงมาก การไหว้พระอยู่ในวิถีชีวิต และเชื่อเรื่องยุคพระศรีอาริย์ เรามานำเสนอว่าศรัทธานี้ไม่แน่ว่าอยู่ได้อีกนานแค่ไหน เพราะเครื่องบินเต็มฟ้าหมด น่ากลัวมาก ทุกสายการบินมุ่งมาพม่ากันหมดเลย เพราะพม่าเปิดประเทศแล้ว คนอยากมาดูความยิ่งใหญ่ของดินแดนแห่งความเชื่อทางจิตวิญญาณ
สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวที่ทุกคนตอบตรงกันว่า อาเซียนไม่มีฝันร้ายใด ๆ เลยสำหรับเขา ผมคิดว่าน่าจะเพราะประเทศเขาร่ำรวย มีความพร้อมนำหน้าประเทศอื่นในภูมิภาค เขามีความสุขตามการกำหนดของรัฐบาล สวนกับสังคมเมืองกลมกลืนกันอย่างลงตัว ประเทศนี้มีความสุขและภูมิใจในประเทศของตัวเองมาก แต่ปัญหาคือแผ่นดินเขาเล็กมาก เครื่องบินขึ้นจากรันเวย์ก็พ้นน่านฟ้าของตัวเองแล้ว การรวมเป็นประชาคมอาเซียนเหมือนช่วยเขาได้ขยายโอกาสกว้างขึ้น มีความสุขที่จะได้ไปพ้นจากความคับแคบ
ตอนผมไปนี่พักแคปซูลโฮเต็ล คุยโทรศัพท์ก็มีฝรั่งมาเตือนว่าเสียงผมรบกวนคนอื่น มันขนาดนั้นเลย เขาเจ๋งเรื่องการดูแลเมือง แต่บางอย่างทำให้เรารู้สึกกลัว เป็นความอึดอัดที่ทำให้เรามาเขียนภาพนี้ได้
ผมก็เอามาล้อเป็นภาพ “หุ่นสิงคโปร์ขึ้นบก” เป็นหุ่นยนต์ยักษ์ที่กำลังก้าวข้ามน้ำพร้อมจะขึ้นแผ่นดินใหญ่ ฉากหลักคือคอนโดฯ ล้อมด้วยทะเล มีคนแก่ ตำรวจ ศิลปิน ชายรักชาย คนกำลังอ้วก คนร่วมรักกัน คนฆ่าตัวตายด้วย ฯลฯ อยู่ในช่องเล็ก ๆ มีลูกกรงขังตัวเอง ทุกคนมีความฝันที่จะได้ขึ้นบก เขาดีใจที่ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น
ของไทยชื่อภาพ “ปอบประเทศ” พูดถึงประเทศตัวเอง ผมว่าเราเป็นผีปอบที่กำลังกัดกินตับ ไต ลำไส้ตัวเอง เราบอบช้ำเพราะความขัดแย้งจากความคิดที่ไม่ลงรอยกัน เรื่องใหญ่คือต่างฝ่ายต่างมีเคเบิลทีวีเป็นกระบอกเสียงของตัวเอง ผมเชื่อว่าปิยวาจา สัมมาวาจา ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ การพูดที่ทำให้เราเกลียดชังกันนี่มันแย่มาก
ก่อนรัฐประหารแดงเหลืองไล่ยิงกัน คนไม่รู้จักกันแต่ฆ่ากันได้เหมือนในรวันดา ประเทศถ้ามีแบบนี้ไม่รู้จะอยู่อย่างไรแล้ว นี่ก็เป็นที่มาของปอบประเทศด้วย ทหารมาอยู่นานเกินไป ก็ทำความบอบช้ำไปอีกแบบ เป็นพี่เลี้ยงนายทุนสุดตัวมากกว่าจะมาดูแล ประเทศไทยน่าสงสารผมว่า ต้องไปสู่ประชาคมอาเซียนแบบที่ต้องกัดกินตัวเองไปเรื่อย ๆ ทั้งที่เรามีความพร้อมมาก
ตอนนี้ทำได้สี่ประเทศ ยังคิดจะทำเวียดนาม ลาวต่อ รอทุนวิจัย
งานศิลปะเกี่ยวโยงกับการวิจัยได้อย่างไรครับ
ในแง่การนำเสนองานวิชาการ ผลงานศิลปะเทียบเท่างานวิจัยได้ เป้าหมายอาจคนละอย่าง งานวิชาการได้คำตอบตอนนั้นเลย แต่งานศิลป์ต้องผ่านการแสดงตัวก่อน ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีฯ ด้วย ได้งานวิจัยมาจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. มหาวิทยาลัยยินดีมาก ได้ค้นคว้า ได้นำงานมาสอนเด็ก ผลงานศิลปะนี่ขายยาก นอกจากศิลปิน best seller การได้งบประมาณวิจัยมาช่วยให้เราทำงานชิ้นใหญ่ได้ ใช้สีเกรด artist ซึ่งแพงกว่าสีนักเรียน มีทุนไปสัมผัสประเทศเขา มีการวางลำดับขั้นตอนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ครบหมด ถือเป็นการทำงานแบบ conceptual
ศิลปินควรมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องสังคม
ศิลปินมาเลย์ที่ผมสัมภาษณ์บอกว่า เราคนทำงานศิลปะต้องมีความเป็น universal มีความคิดจิตใจเป็นสากล คุณต้องรักสิ่งสวยงาม รักโลกให้มากกว่าคนอื่น หวงแหนความเรียบง่าย ธรรมชาติ วิถีชีวิต ใช้ความสามารถทางศิลปะกระจายสิ่งเหล่านี้ออกไป นี่มันตรงกับทุกคน ผมก็คิดแบบนี้เหมือนกัน แล้วมาได้ยินจากปากเขา ความเป็น universal ต้องสูง ไม่ใช่รักแต่ครอบครัว แต่ประเทศตัวเอง โลกาภิวัตน์เลวร้าย แต่ศิลปะต้องเผยแพร่สิ่งดี ๆ ออกไปผมคิดแบบนี้แต่ไม่กล้าพูด เดี๋ยวเขาว่ามันจะเว่อร์ไปไหม ห่วงใยโลกมากไปไหม ไปเดือดร้อนแทนเขาหรือเปล่า น้ำเสียงแบบนี้มันก็มีอยู่จริง ๆ
แต่ศิลปินคนนี้พูดออกมามันตรงใจเลย จิตใจแบบ universal คำนี้วิเศษมาก