ข้าวตังหน้าตั้ง : รายงาน
ปัญญาแห่งยุคสมัย :
|
มีนาคม ๒๕๓๙ นิตยสารสตรีสาร ฉบับที่ ๕๒ ของปีที่ ๔๘ ออกวางแผงเป็นฉบับสุดท้าย ตลอดอายุขัยของสตรีสาร คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง รับหน้าที่บรรณาธิการมาถึง ๔๗ ปี ตั้งแต่ปี ๒๔๙๒ ตราบจนฉบับสุดท้ายเมื่อท่านมีอายุถึง ๘๒ ปี
เนื่องในวาระ ๑ ศตวรรษชาตกาลของคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ สุกัญญา หาญตระกูล หนึ่งในอดีตกองบรรณาธิการสตรีสาร ยุคท้าย ๆ จึงเรียบเรียงหนังสือ ปัญญาแห่งยุคสมัย : คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ขึ้น ทั้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวัย ๑๐๐ ปีของอาจารย์นิลวรรณ และสำรวจมรดกที่สตรีสาร มอบไว้แก่สังคมไทย
นางสาวนิลวรรณ ปิ่นทอง เริ่มต้นชีวิตการทำงานหลังจบอักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการเป็นครูโรงเรียนราษฎร์ระยะหนึ่ง ก่อนเข้ารับราชการกรมโฆษณาการยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ อยู่ราว ๑๐ ปี กระทั่งต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ เมื่อมีเพื่อนมาปรึกษาว่าต้องการทำนิตยสารสำหรับสตรีชื่อสตรีสาร ด้วยความที่คุ้นเคยกับสื่อต่างประเทศจากงานที่แผนกหนังสือพิมพ์ กองการต่างประเทศ และด้วยความคิดที่ว่าในท้องตลาดยังไม่มีนิตยสารสำหรับสตรีจริง ๆ เลย ท่านตัดสินใจลาออกจากราชการเข้าสู่สังเวียนธุรกิจสิ่งพิมพ์เต็มตัวทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้เลย โดยรับหน้าที่ควบถึงสามตำแหน่ง ทั้งบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และกรรมการจัดการของบริษัทการพิมพ์สตรีสาร จำกัด
บทบาทการยืนหยัดทำหน้าที่สื่อเพื่อสตรีและเยาวชนอย่างโดดเด่น ทำให้นางสาวนิลวรรณ ปิ่นทอง ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ อันเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลของทวีปเอเชียเมื่อปี ๒๕๐๔ นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ต่อมาในปี ๒๕๐๕ ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราช-อิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า จึงมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้านามว่า “คุณ” (หากเป็นหญิงมีสามีจะใช้คำนำหน้าว่า “คุณหญิง”) นับแต่นั้นมา
สตรีสารถือเป็นเวทีสำคัญทั้งในแง่วิชาการและวรรณกรรมร่วมสมัย งานค้นคว้าภาษาถิ่นตระกูลไทของ ดร. บรรจบ พันธุเมธา ก็เริ่มเผยแพร่ที่นี่ นักเขียนผู้มีชื่อเสียง อาทิ กฤษณา อโศกสิน “โบตั๋น” โสภาค สุวรรณ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ประภัสสร เสวิกุล ฯลฯ ต่างก็มีผลงานนวนิยายตีพิมพ์ต่อเนื่องมาโดยตลอด นอกจากนั้นสตรีสารภาคพิเศษ สำหรับผู้เยาว์ ที่เย็บรวมไว้ตรงกลางเล่ม ก็ยิ่งส่งเสริมสถานะนิตยสารของครอบครัวให้โดดเด่น และสร้างนักอ่านรุ่นใหม่ขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน
ปัญญาแห่งยุคสมัย : คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เล่าประวัติชีวิตของ “อาจารย์นิลวรรณ” โดยพยายามร้อยเรียงกลับเข้าไปในบริบทประวัติศาสตร์ รายละเอียดมากมาย เช่น การแบ่งส่วนราชการ เหตุการณ์ทางการเมือง หรือแม้แต่พัฒนาการของเทคโนโลยีการพิมพ์ อาจทำให้เรื่องดูเยิ่นเย้อไปบ้าง แต่ทั้งหมดก็คงเป็นไปเพื่อให้เห็นการสร้าง “ตัวตน” คนทำงานนิตยสาร ซึ่ง “เป็นการค้าที่คู่ขนานกับอุดมคติ”
ตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ การบรรณาธิการกิจของคุณนิลวรรณได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานสูง ทั้งการใช้ถ้อยคำ การพิสูจน์อักษร ตลอดจนการเลือกเรื่องที่จะนำลงตีพิมพ์ ดังที่ท่านเคยอธิบายไว้ว่า “…การทำหนังสือเป็นงานหนัก ต้องเอาใจใส่ตลอดเวลา นับแต่ตัวสะกดการันต์ไปจนถึงเรื่องราวข้อมูลและข้อความที่ถูกต้อง เป็นที่เชื่อถือได้ และปรับปรุงเนื้อหาสาระให้เหมาะกับกาลเวลาอยู่เสมอ เป้าหมายคือทำเพื่อผู้อ่าน…”
๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ จะเป็นวาระวันเกิด ๑๐๑ ปีของคุณนิลวรรณ จากแหล่งข่าวที่สอบถามมาได้เล่าว่าท่านมีสุขภาพแข็งแรงตามสมควรสำหรับผู้ใหญ่ที่อายุขนาดนี้ ในฐานะคนทำงานนิตยสารและคนรุ่นที่เติบโตมากับสตรีสารภาคพิเศษ ขอถือโอกาสกราบ “คุณย่า บก.” ในวันคล้ายวันเกิด มา ณ ที่นี้ด้วยคนครับ