เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
วันที่ ๗ เดือน ๗ ในเมืองจีนยังมีเทศกาล “ฉิกเส็ก” (七夕) หมายถึงเทศกาลแห่งความรัก เย้ากันว่าเป็น “วาเลนไทน์สไตล์จีน” จากตำนานรักของ “ดาวหนุ่มเลี้ยงควายกับดาวสาวทอผ้า” ซึ่งมีหลายสำนวน
เรื่องหนึ่งเล่าขานว่า ดาวสาวทอผ้ามัวแต่ทำงานจนมีชีวิตเดียวดาย เจ้าแห่งสวรรค์จึงเมตตาให้ดาวสาวทอผ้าซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคงคาสวรรค์แต่งงานกับดาวหนุ่มเลี้ยงควายซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตก ครั้นหลังแต่งงานดาวสาวทอผ้ากลับทิ้งการงานจึงถูกลงโทษให้กลับไปอยู่ฝั่งตะวันออกดังเดิม แล้วได้รับอนุญาตให้พบดาวหนุ่มเลี้ยงควายเพียงปีละครั้งในคืนวันที่ ๗ เดือน ๗
ตำราบางเล่มเทียบเคียงกับดวงดาวทางดาราศาสตร์สากลในปัจจุบัน ว่าดาวหนุ่มเลี้ยงควายคือดาวอัลแทร์ (Altair) ส่วนดาวสาวทอผ้าคือดาวเวกา (Vega) โดยระหว่างดาวสองดวงนี้คั่นกลางด้วยแถบขาวของทางช้างเผือกหรือคงคาสวรรค์
คนจีนโบราณสังเกตธรรมชาติว่าเมื่อไรที่ดาวหนุ่มเลี้ยงควายกับดาวสาวทอผ้าขึ้นสุกใสทางขอบฟ้าทิศตะวันออก คือสัญญาณเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ท้องฟ้าจะแจ่มใส
หญิงชนบทในนครเซี่ยงไฮ้ที่เพิ่งออกเรือนจะกลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่ในวันที่ ๗ เดือน ๗ แล้วทำขนม “เคี่ยวก้วย” (巧粿) หมายถึงขนมแห่งความเฉลียวฉลาด กินกันในครอบครัวและแบ่งกลับมาฝากสามีด้วย
ขนมพื้นเมืองนี้จัดอยู่ในประเภทขนมทอด ใช้ฝีมือปรุงอย่างประณีต โดยนำแป้งสาลี เมล็ดงา เต้าหู้อ่อน น้ำตาลทรายขาว น้ำผึ้ง และเกลือ มาคลุกน้ำสะอาด นวดผสมหมักเป็นก้อนค่อยหั่นเป็นชิ้น กดแป้งเป็นแผ่นเหลี่ยมบางแล้วปั้นเป็นรูปมงคล เช่น ดอกบัว ลูกท้อ สิงโต เสือ ลูกหมู ลิง แมว ไก่ตัวผู้ จักจั่น ฯลฯ จากนั้นทอดในน้ำมันพืชจนสุกเหลือง หอมกลิ่นเมล็ดงา