วายร้ายสีแดง
“กษัตริย์ของชาวมวย” – พาดหัวข่าวกีฬาบนหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกของชาวไทย พร้อมภาพถ่ายขาวดำ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยกพระหัตถ์ตบไหล่ โผน กิ่งเพชร หลังจากเขาชิงแชมป์โลกสำเร็จ ณ สนามมวยลุมพินี ทำให้ผู้เขียนสนใจหยุดพิจารณา…ได้คำตอบให้ตัวเองว่ากีฬาที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดและมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุดชนิดหนึ่งก็คือมวยสากล
ในประวัติศาสตร์คงมีนักมวยหรือฝีพายเรือยาวจำนวนไม่น้อยมีโอกาสแสดงฝีมือต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดิน ด้วยไม่ว่าการชกมวยหรือแข่งเรือยาวต่างมีนัยถึงการเฟ้นหาผู้มีฝีมือหรือฝึกปรือไพร่พลให้พร้อมในการศึกสงครามดังปรากฏในกฎมณเฑียรบาลเกี่ยวกับพระราชพิธีต่าง ๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงพระราชพิธีเดือน ๑๑ จะมีการแข่งเรือยาวขึ้นเพื่อฝึกปรือกำลังพลประจำกองเรือ
แต่ใน “ยุคใหม่” เหตุการณ์อย่างนั้นนาน ๆ จึงเกิดสักครั้ง
แต่ละครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการชกชิงแชมป์โลกของนักมวยไทยถือเป็นวาระพิเศษยิ่ง เป็นเหตุการณ์สำคัญของวงการกีฬาและประเทศไทย…ทั้งเป็น “ภาพอดีต” ที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้เห็น เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาและสภาพสังคมเปลี่ยนผ่านมาถึงปัจจุบัน
ในส่วนของนักมวยการทำศึกบนสังเวียนเบื้องหน้าพระพักตร์นับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ย่อมก่อเกิดความภาคภูมิใจและกำลังใจเป็นล้นพ้น มีนักมวยไทยเพียงไม่กี่คนผ่านช่วงเวลาอันน่าปลื้มปีติเช่นนี้…
ก่อนหน้า โผน กิ่งเพชร จะได้ครองบัลลังก์โลกเป็นคนแรกนั้น ยอดมวยนาม จำเริญ ทรงกิตรัตน์ ขึ้นชกชิงแชมป์โลกรุ่นแบนทัมเวตของสมาคมมวยโลก (ดับเบิลยูบีเอ) กับ โรแบร์ โกออง (Robert Cohen) รองแชมป์โลกชาวฝรั่งเศส ที่สนามศุภชลาศัย เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๙๗ โดยจำเริญเป็นฝ่ายแพ้คะแนน บันทึกจากเว็บไซต์ boxrec.com บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการชกครั้งนี้
ส่วน โผน กิ่งเพชร อดีตแชมป์โลกสามสมัย ข้อมูลจากหนังสือ พระมหากษัตริย์นักกีฬา ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น เล่าว่าเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๐๓ โผน กิ่งเพชร ขึ้นชกชิงแชมป์โลกกับ ปัสกวัล เปเรซ (Pascual Pérez) แชมป์โลกชาวอาร์เจนตินาที่เวทีมวยลุมพินีเบื้องหน้าพระพักตร์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และได้ครองแชมป์โลกเป็นคนแรกของไทยในรุ่นฟลายเวต
หลังจากได้แชมป์โลก โผนชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นับเป็นครั้งแรก ๆ ในวงการกีฬาไทยที่มีการอัญเชิญพระบรม-ฉายาลักษณ์เพื่อแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
เมื่อครั้งโผนกลับมาครองแชมป์โลกเป็นสมัยที่ ๒ เขาชกแก้มือเอาชนะ “ไฟติง ฮะระดะ” (ฉายาของ มะซะฮิโกะ ฮะระดะ-Masahiko Harada) ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๐๖ ณ อาคารยิมเนเซียม ๑ สนามกีฬาแห่งชาติ (หรืออาคารกีฬานิมิบุตรในปัจจุบัน) ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรด้วย มณฑา สีดอกบวบ ภรรยาของโผนเคยเล่าความประทับใจไว้ว่า โผนพลิกกลับชนะฮะระดะได้สำเร็จเพราะมีกำลังใจขึ้นมาหลังจากรู้ว่า “พระองค์เสด็จฯ มาแล้ว” หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์หลังการชกผ่านไปสามยก
อดีตแชมป์โลกฟลายเวตสามสมัยอีกคนหนึ่งของเมืองไทย ชาติชาย เชี่ยวน้อย เคยมีความทรงจำที่ดีมาก ๆ ในเรื่องนี้
ในหนังสือ ชาติชาย เชี่ยวน้อย วีรบุรุษเจ้าน้ำตาหมัดภูผาหิน บรรยายถึงพระมหากรุณาธิคุณว่า ก่อนขึ้นชกชิงแชมป์โลกครั้งแรกกับ วอลเตอร์ แม็กโกแวน (Walter Mcgowan) ชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๙ โปรดเกล้าฯ ให้ชาติชายเข้าเฝ้าฯ
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอื้อมพระหัตถ์มาแตะที่บ่าและในบางครั้งก็เชยคาง ชาติชาย เชี่ยวน้อย ซึ่งกำลังหมอบอยู่เบื้องพระบาทให้เงยขึ้นรับฟังพระราชดำรัสที่ทรงสั่งสอนและให้ศีลให้พร และภายหลังการชกได้เข้าเฝ้าฯ และพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถาร ซึ่งชาติชายเล่าไว้ว่า ‘ผมลงจากเวทีแล้วตรงไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทันทีที่ผมไปถึงเบื้องหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาจับหน้าผมแล้วทรงเขย่าเบา ๆ จากนั้นมีรับสั่งว่าเก่งมาก ฉันดีใจมาก ผมรู้สึกปลาบปลื้มมาก ไม่มีอะไรเปรียบปานเลย’”
เมื่อชาติชายชิงแชมป์โลกคืนได้จาก เอเฟรน ตอร์เรส (Efren Alacran Torres) ในเดือนมีนาคม ๒๕๑๓ ที่อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก รวมถึงครั้งที่เขาเสียแชมป์โลกให้ เออร์บิโต ซาลาวาร์เรีย (Erbito Salavarria) ช่วงปลายปีเดียวกัน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นนักกีฬาที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านหลายครั้งทั้งก่อนหน้าและหลังการชกไฟต์สำคัญ รวมถึงได้เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์อีกสองครั้ง
เวลาไล่เลี่ยกันเมืองไทยก็มีแชมป์โลกคนที่ ๓ เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย สิ่งที่เบิกฤกษ์ประทับใจมากที่สุดในชีวิตคือคราวชิงแชมป์โลกกับ เบอร์นาเบ วิลลาแคมโพ (Bernabe Villacampo) เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๓ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ก่อนวันชกและเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรในวันชกถือเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต เมื่อจบการชกยกที่ ๑๔ เบิกฤกษ์โดนวิลลาแคมโพบดจนอ่อนแรง ทว่าพอมองไปยังที่ประทับเห็นพระองค์ท่านทรงส่องกล้องทอดพระเนตรอยู่ทำให้เบิกฤกษ์เกิดแรงฮึด เดินแลกหมัดกับแชมป์โลกจนชนะคะแนน
ในปี ๒๕๑๕ เวนิส บ.ข.ส. อดีตแชมป์โลกคนที่ ๔ ของไทยมีโอกาสภาคภูมิใจเช่นนั้นบ้าง เขาได้ชิงแชมป์โลกในรุ่นฟลายเวตของสภามวยโลก (ดับเบิลยูบีซี) กับ เบตูลิโอ กอนซาเลซ (Betulio González) แชมป์โลกชาวเวเนซุเอลา เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก เวนิสเป็นฝ่ายชนะน็อกอย่างงดงามในยกที่ ๑๐ ท่ามกลางผู้ชมถึง ๓ หมื่นคน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการชกครั้งนี้
บางข้อมูลบันทึกว่าไฟต์ที่ชาติชายเสียแชมป์โลกให้ซาลาวาร์เรีย เป็นการเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรมวยชิงแชมป์โลกในเมืองไทยครั้งสุดท้าย แต่จากการตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือรวมทั้งวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี พบว่า เวนิส บ.ข.ส. เป็นแชมป์โลกชาวไทยคนสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการชก
สรุปว่าผู้ท้าชิงแชมป์โลกคนแรกของไทยและอดีตแชมป์โลกคนที่ ๑-๔ มีโอกาสชกมวยต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
น่าสังเกตว่าช่วงเวลาดังกล่าว คือระหว่างปี ๒๔๙๗-๒๕๑๕ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีพระชนมายุย่างสู่วัย “หนุ่มใหญ่” และช่วงเวลาเดียวกันนี้ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (หรือกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี ๒๕๑๐ ด้วย
จากภาพถ่าย “กษัตริย์ของชาวมวย” ที่กล่าวข้างต้น ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนถึงบรรยากาศ สภาพแวดล้อมของสนามมวยลุมพินีที่เคยสัมผัสเมื่อราว ๔๐ ปีก่อน ซึ่งพื้นที่ค่อนข้างแออัด อื้ออึง โครงสร้างโดยรวมและที่นั่งเชียร์มวยเป็นไม้ หลังคามุงสังกะสี ดังสมญาของเวทีมวยแห่งนี้ว่า “วิกสังกะสี” และลุมพินียังคงรักษาเอกลักษณ์เดิม ๆ จนกระทั่งถึงวันปิดตำนานวิกสังกะสีที่ถนนพระรามที่ ๔ ในปี ๒๕๕๗
การที่พระองค์เสด็จฯ ไปให้กำลังใจนักมวยไทยถึงข้างเวทีทั้งที่สนามมวยลุมพินีและที่อื่น ๆ หลายครั้ง นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าโปรดกีฬาชนิดนี้เป็นพิเศษ ยังแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยเมตตาต่อตัวนักมวยในฐานะเพื่อนมนุษย์และคนไทยที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกด้วย (โดยเฉพาะ ชาติชาย เชี่ยวน้อย ที่ทรงเมตตาเหมือนพระสหาย)
ยุคสมัยนั้นกีฬามวยสากลน่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นเกมการต่อสู้ของลูกผู้ชายอย่างแท้จริงและเป็นเกมกีฬาที่คนไทยสามารถสู้เขาได้ในระดับโลก
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ สภามวยโลกซึ่งมีประเทศสมาชิก ๑๖๑ ประเทศ ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสนับสนุนการกีฬาของประเทศไทย โดยเฉพาะกีฬามวย จึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดทำเหรียญรางวัลทองคำเกียรติยศสูงสุด “Golden Shining Symbol of World Leadership Award” ขึ้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โดยมิเคยมอบให้แก่ผู้ใดมาก่อน
ที่มาภาพ : buaksib.com