ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
namchai4sci@gmail.com
เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพร้อมกับคำศัพท์ใหม่ ๆ เสมอ จนจำกันแทบไม่หวาดไม่ไหว คำว่า “ฟินเทค” (FinTech) ก็เป็นหนึ่งในคำศัพท์ใหม่มาแรงช่วงนี้ ฟินเทคคืออะไรกันแน่
เทคโนโลยีไม่มีครีบ
“ฟิน” ในฟินเทคไม่เกี่ยวอะไรกับครีบ และไม่ได้ย่อมาจาก finish ที่แปลว่าเสร็จสิ้น แต่มาจาก financial ที่แปลว่า “เกี่ยวกับการเงิน” ยกตัวอย่างฟินเทค หรือ financial technology แบบง่าย ๆ คุ้นหูคนไทยก็ต้องกล่าวถึง “พร้อมเพย์” ที่แทบทุกธนาคารโหมโฆษณากันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็จัดเป็นฟินเทคแบบหนึ่ง โดยอาจเรียกให้จำเพาะว่าเป็นเทคโนโลยีสำหรับโมบายล์แบงกิง (mobile banking) หรือการทำธุรกรรมกับธนาคารผ่านทางโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
พร้อมเพย์ออกแบบให้โอนเงินและช่วยให้เรารับเงินโอนรูปแบบต่าง ๆ จากทางราชการสะดวกขึ้นกว่าเดิม เพราะผูกโยงกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เราใช้อยู่ ซึ่งแม้จะสะดวกดี แต่ก็ชวนให้กังวลหากเราทำโทรศัพท์มือถือหาย หรือรหัสเข้าใช้งานรั่วไหล
ฟินเทคยังมีอีกสารพัดครับ นิยามแบบแคบ ๆ คือ “เทคโนโลยีที่ช่วยให้เราเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น” อะไรเข้าเค้าแบบนี้ก็ถือว่าใช่หมด ยังมีอีกนิยามที่ค่อนข้างนิยมระบุว่าฟินเทครวมถึง “กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ และโมเดลธุรกิจ” เข้าไว้ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ที่ว่าก็ควรต้องรวม “แอป (พลิเคชัน)” บนมือถือที่เราคุ้นเคยกันดี
จากนิยามแบบนี้ บิตคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นระบบเงินดิจิทัลก็ควรถือได้ว่าเป็นฟินเทคแบบหนึ่ง บิตคอยน์คือระบบการรับจ่ายเงินแบบเข้ารหัสลับซึ่งมีประวัติที่มาประหลาดอยู่สักหน่อย คือไม่ปรากฏชื่อจริงของผู้คิดค้นสร้างระบบ แต่ใช้ชื่อปลอมว่า ซะโตะชิ นะกะโมะโตะ (Satoshi Nakamoto) โดยเปิดตัวผ่านระบบอีเมลเข้ารหัสจำเพาะในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๘ และอีก ๑ ปีให้หลังก็เปิดเผยรหัสคอมพิวเตอร์แบบโอเพนซอร์ซให้ด้วย (แปลว่าให้คนอื่นนำไปเขียนต่อยอดได้)
วิธีใช้จ่ายเงินแบบนี้เกิดขึ้นระหว่างผู้จ่ายกับผู้รับโดยตรง ไม่ผ่านคนกลางใด ๆ ทั้งสิ้น โดยการโอนเงินจะอนุมัติกันผ่านทางศูนย์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ (network node) และบันทึกผลแบบเปิดเผยสาธารณะ และใช้หน่วยเงินเป็น “บิตคอยน์” จึงมีผู้ถือว่าการออกแบบระบบเงินดิจิทัลนี้เป็นแบบ “กระจายอำนาจจากส่วนกลาง” ต่างจากระบบสกุลเงินต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งรวมศูนย์โดยรัฐบาลประเทศต่าง ๆ
นวัตกรรมเรื่องนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก ถ้ามีโอกาสจะกล่าวถึงอีกครั้งนะครับ
เทคโนโลยีดาวรุ่ง
คราวนี้มาดูตัวอย่างฟินเทคแบบ “กระบวนการ” กันบ้าง ตัวอย่างที่โดดเด่นได้แก่ คราวด์ฟันดิง (crowdfunding) หรือการระดมทุนจากคนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เรียกระดมทุนผ่านเว็บไซต์ โดยมีเว็บไซต์ที่โด่งดังและมีเงินไหลเวียนเข้าออกมากที่สุดสามอันดับแรก คือ โกฟันด์มี (gofundme) คิกสตาร์ตเตอร์ (kickstarter) และอินดี้โกโก (indiegogo)
แค่สามเว็บไซต์นี้ใน ค.ศ. ๒๐๑๔ ก็ระดมทุนรวม ๆ กันได้มากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วครับ สำหรับเงินที่เกี่ยวกับฟินเทค มีผู้ประเมินไว้ว่าเพิ่มจาก ๙๓๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. ๒๐๐๘ เป็นมากกว่า ๑.๒ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. ๒๐๑๔ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า ๑๒ เท่าตัวใน ๖ ปี ! ในสหราชอาณาจักรเติบโตด้านนี้มากอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะมหานครลอนดอนพึ่งพาฟินเทคถึงราวร้อยละ ๔๐ ของมูลค่าบริการรวมเลยทีเดียว เรียกว่าพลิกโฉมการทำธุรกรรมทางการเงินก็ว่าได้
ขณะที่ทวีปยุโรปลงทุนกับฟินเทคใน ค.ศ. ๒๐๑๔ ราว ๑.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งถือว่าไม่น้อยทีเดียว ทางด้านเอเชียก็ใช่ย่อย วีแล็บ (WeLab) ผู้นำฟินเทคในจีนและฮ่องกง ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๒๐๑๓ สามารถเบียดขึ้นมาเป็นอันดับ ๒ ของโลกในฐานะผู้ระดมทุนเพื่อใช้ในกิจการฟินเทค
ข้อดีของฟินเทคที่มักพูดถึงกันบ่อย ๆ คือช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้านบริการเพิ่มของอุตสาหกรรมการเงินมากขึ้น แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันด้านราคาหรือกลยุทธ์การตลาดแบบอื่น ๆ เช่น การลด แลก แจก แถม ซึ่งทำกันอยู่ในอุตสาหกรรมหลายประเภท นอกจากนั้นยังช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการหรือผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น
ไวขึ้น และด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง
ฟินเทคในประเทศไทย
มองไปทั่วโลกแล้ว ลองกลับมามองดูฟินเทคในประเทศไทยกันบ้าง ตัวอย่างฟินเทคในไทยก็เช่น แอปฯ โมโมโมบายล์มันนี (MoMo Mobile Money) ที่นอกจากช่วยทำธุรกรรมกับธนาคารแล้ว ยังสนับสนุนการชอปปิงออนไลน์ด้วย แอปฯ ไอแท็กซ์โปร (iTAX Pro) ช่วยคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมฟังก์ชันการวางแผนประหยัดภาษี แอปฯ โฟลว์แอกเคานต์ (FlowAccount) เป็นเครื่องมือบัญชีออนไลน์สำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น
Omise Payment เป็นเว็บไซต์สนับสนุนระบบชำระเงินครบวงจร เว็บ refinn.com ให้บริการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัย เว็บ stock2morrow.com สนับสนุนนักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะเรื่องหุ้น ตีคู่มากับเว็บ Finnomena.com ที่แนะนำเรื่องการลงทุนเช่นกัน
ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นเพียงจำนวนน้อยของ “ฟินเทค” ในประเทศไทย โดยเฉพาะรายที่เชื่อมต่อกับธนาคารต่าง ๆ ก็ยังมีอีกมากมายหลายเจ้า หากอยากรู้จักฟินเทคมากกว่านี้ ลองค้นด้วยกูเกิลเพิ่มเติมดูนะครับ
ที่มาภาพ :