ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
สถานการณ์
ราวกับถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกระหว่างก่อสร้างสิ่งใหม่กับเก็บรักษาของเดิมไว้ เมื่อแผ่นดิน ผืนน้ำ หาดทราย บริเวณที่ได้รับการเรียกขานว่ามรกตแห่งอันดามัน ถูกปักหมุดให้เป็นพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเรือขนส่งถ่านหินที่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้า เมื่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี ๒๕๕๓-๒๕๗๓ หรือพีดีพี ๒๐๑๐ (Power Development Plan – PDP 2010) กำหนดให้กระจายชนิดแหล่งเชื้อเพลิงพลังงาน จากเดิมที่เคยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในอัตราส่วนราวร้อยละ ๗๐ ให้ลดลงเหลือร้อยละ ๔๐ ในปีสุดท้ายของแผน และเพิ่มสัดส่วนของเชื้อเพลิงชนิดอื่นแทน
เชื้อเพลิงหนึ่งในนั้นคือการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ อันเป็นสาเหตุสำคัญของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต ๘๗๐ เมกะวัตต์ ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างตัดสินใจเลือกที่ตั้งซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าเดิมของ กฟผ. ที่ปัจจุบันใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตา เนื่องจากไม่ต้องหาพื้นที่ใหม่ ทั้งยังลดความเสี่ยงถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ เพราะก่อนนี้เคยมีบทเรียนอันเจ็บปวดจากการปล่อยควัน น้ำฝนมีกลิ่นเหม็น รวมทั้งประเด็นเรื่องคราบน้ำมันเครื่องกระจายบริเวณทะเลและชายฝั่ง นอกจากนี้ กฟผ. ยังสามารถใช้ระบบสาธารณูปโภคเดิมได้
หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น โรงไฟฟ้าถ่านหินจะตั้งอยู่ที่อำเภอเหนือคลอง บริเวณปากแม่น้ำกระบี่ พื้นที่ซึ่งแม่น้ำหลายสายในภาคใต้ไหลมาบรรจบกัน
ความเป็นไป
เมื่อมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงต้องออกแบบเส้นทางการลำเลียงเชื้อเพลิงถ่านหินทางทะเลเข้าสู่ประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ถ่านหินที่รัฐบาลไทยนำเข้าจะบรรทุกในเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ต้นทางคือ ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ ผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ของโลก
เบื้องต้นคาดการณ์ว่าที่ตั้งท่าเทียบเรือรับถ่านหินไปยังโรงไฟฟ้า จะอยู่ที่ ๑) ท่าเทียบเรือสะพานช้าง หรือ ๒) ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ซึ่งต่างก็อยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่
ระหว่างเส้นทางขนส่งถ่านหินก่อนถึงท่าเรือทั้งสองนี้ จะมีการแบ่งถ่านหินจากเรือเดินสมุทรระวางบรรทุก ๕๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ เดดเวตตัน (deadweight tonnage – DWT) ไปยังเรือบรรทุกถ่านหินขนาดเล็กหลายลำที่จุดขนถ่ายถ่านหินกลางทะเล ใกล้เกาะปอ ทางท้ายเกาะลันตาใหญ่ จากนั้นเดินเรือที่บรรทุกถ่านหินจำนวนรวมมหาศาลอย่างน้อย ๒.๓ ล้านตันต่อปี อ้อมเกาะลันตาใหญ่ไปทางตอนเหนือ แล่นไปตามทะเลฝั่งซ้ายของแผ่นดินปลายด้ามขวาน ผ่านช่องแคบระหว่างเกาะพีพีเล เกาะพีพีดอน กับชายฝั่งกระบี่ ที่ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา ผ่านเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเลไปตามฝั่งด้านตะวันตกของเกาะปูและเกาะศรีบอยา แล้ววกเข้าทางปากแม่น้ำ ผ่านเกาะเล็กเกาะน้อยตามสภาพธรรมชาติของผืนดินซึ่งถูกคลองและแม่น้ำกัดเซาะก่อนไหลลงสู่ทะเล เมื่อถึงท่าเรือจึงขนถ่านหินเข้าอุโมงค์ลอดใต้ป่าชายเลนแล้วขึ้นมาเข้าสายพานลำเลียงก้อนเชื้อเพลิงสีดำเข้าสู่โรงไฟฟ้าต่อไป
ทั้งเส้นทางเดินเรือและที่ตั้งของท่าเรือถ่านหินนี้สร้างความวิตกกังวลในสายตาคนอนุรักษ์ รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในท้องที่ เมื่อเส้นทางขนส่งถ่านหินจะผ่านแนวปะการัง หญ้าทะเล ผืนป่าชายเลน รวมทั้งแหล่งทำประมงพื้นบ้าน แม้ กฟผ. ประกาศว่าจะปรับเส้นทางเดินเรือใหม่ และใช้เรือลำเล็กลงก็ตาม
จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลว่า ที่ตั้งของโครงการอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ประกอบด้วยป่าชายเลน หาดทราย คลอง รวมถึงป่าโกงกางและหญ้าทะเลที่เกาะศรีบอยา มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๓,๑๒๐ ไร่ ขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ เมื่อปี ๒๕๕๔ ได้รับการเสนอให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่ออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หากบริเวณนี้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน สิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบจะได้รับผลกระทบจากการปล่อยก๊าซมลพิษอันเกิดจากการเผาไหม้ นอกจากนี้เส้นทางขนส่งนั้นจะต้องขุดลอกพื้นที่ใต้ทะเลเป็นบริเวณกว้าง ข้อที่น่าห่วงคือวันที่ระดับน้ำทะเลลดต่ำสุด ระยะห่างจากท้องเรือเมื่อบรรทุกน้ำหนักสูงสุดถึงท้องทะเลน่าจะห่างเพียง ๑.๗๕ เมตรเท่านั้น
ขณะผลกระทบทางการท่องเที่ยว ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตา ให้ความเห็นว่า “เส้นทางเรือขนถ่านหินจะผ่านชายหาดซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของเกาะลันตาทุกหาด ถ้าเรือนั้นแล่นผ่านด้านหน้าหาดในช่วงฤดูท่องเที่ยว ภาพลักษณ์กระบี่จะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมทันที ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่มาเกาะลันตา เช่นชาวยุโรปแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งนิยมกลับมาเที่ยวที่เดิมอีก และแหล่งท่องเที่ยวทุกจังหวัดทุกพื้นที่ก็อยากได้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เพราะพวกเขาชอบพักผ่อนตามธรรมชาติ เซนซิทิฟเรื่องมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม ถ้าเกิดปัญหาก็มีความเสี่ยงสูงที่เขาจะหนีไปเที่ยวจุดอื่น”
เมื่อถามว่านักท่องเที่ยวจะหายไปหมดหรือไม่ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตาในฐานะคนพื้นที่บอกว่าคงไม่
“ก็คงเหมือนพัทยา คือเราอาจจะต้องเปลี่ยนแนวไปเป็นพัทยาหรือป่าตอง กลุ่มลูกค้าจะกลายเป็นกลุ่มใหม่ เพราะทุกวันนี้ลูกค้าชอบความสงบ เกลียดมลพิษ ทั้งเกาะตอนนี้มีแนวคิดเดียวกันหมด ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินมาก็เตรียมหาลูกค้ากลุ่มใหม่ หมายความว่าเกาะลันตาจะต้องใช้เวลาปรับตัว อาจจะร่วม ๑๐ ปี ปรับตัวเองให้ดึงลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามา”
เดินหน้าหรือถอยหลัง
ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หากกระบวนการนี้เสร็จสิ้นจะเริ่มดำเนินโครงการในปี ๒๕๖๒ แม้มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างผู้มีความเห็นต่างกัน เช่นการขู่ปิดทางเข้าออก ทั้งพบว่ามีผู้พกพาอาวุธปืนในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๑ ณ โรงเรียนบ้านคลองรั้ว อำเภอเหนือคลอง ต่อมาเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๒ มีการแยกเวทีเป็นวงย่อยในวันเดียวกันเพื่อป้องกันผู้คัดค้านรวมตัว ทว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นยังผ่านความเห็นชอบอย่างน่ากังขา ด้วยถือว่าผ่านแล้วสองขั้นตอน เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย ขณะเดียวกันกลุ่มชุมชนท้องถิ่นได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการอนุสัญญาแรมซาร์ แสดงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดแก่พื้นที่ชุ่มน้ำของพวกเขา
หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะสั่งเดินหน้าโครงการโดยไม่ฟังเสียงประชาชนหรือเพิกเฉยต่อกระบวนการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่รอเวลาพิสูจน์ •
ที่มาภาพ : Luke Duggleby (Greenpeace)