กุลธิดา สามะพุทธิ, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง
ฝ่ายภาพสารคดี ภาพ
“…อย่างไรก็ตาม การเลื่อมใส อันมีความหลง เป็นที่ตั้งนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการหลงในรูป ท่านได้แต่งโศลกบทหนึ่งว่า
เราเป็นใครแน่ เจ้าไม่รู้จัก
แม้นเราจะบอกเจ้าสักกี่ครั้งก็ตาม
และเฝ้าชมแต่รูปของเราเท่านั้นเอง
ไม่จีรัง…โธ่น่าสงสาร เด็กอมมือ
นักสิทธิมนุษยชนผู้หนึ่งกล่าวว่า ‘สิทธิของพระจะต้องสงวนไว้ ซึ่งพรหมจรรย์ หน้าที่ของพระ คือรักษาไว้ซึ่งพรหมจรรย์ พระจะต้องคำนึงถึง สิทธิและหน้าที่นี้ และญาติโยมพึงตระหนักด้วยเช่นเดียวกัน ความเคร่งครัด ในศีลาจารวัตร และพระธรรมวินัย จึงเป็นเกราะคุ้มครองพรหมจรรย์ของท่าน (พระยันตระ) ให้บริสุทธิ์ผ่องใส…’
ท่านได้ให้สติไว้เสมอว่า ‘ลึกจากผิวหนังไปไม่ถึงครึ่งเซนติเมตร มีอะไรที่งดงามนักหรือ'”
(“นักเดินทางอิสระ ท่านยันตระ อมโรภิกขุ”
สารคดี ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘๒, ธันวาคม ๒๕๓๔)
……………………..
กรมการศาสนา ๑๐ มกราคม ๒๕๓๗, สีกากลุ่มหนึ่ง ปรากฏตัวขึ้นเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อสมเด็จพระสังฆราชฯ และอธิบดีกรมการศาสนา
“หนังสือร้องเรียน” ฉบับนั้นระบุว่า เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๖ พระอาจารย์ยันตระ อมโรภิกขุ เดินทางไปเทศนา ที่ทวีปยุโรป ระหว่างลงเรือเดินสมุทร พระยันตระแสดง ความไม่สำรวม และมีอาจาระไม่เหมาะสม กับสมณเพศต่อสุภาพสตรี ผู้หนึ่งที่เข้าร้องเรียน
นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าใหม่ เกี่ยวกับพระยันตระ อมโรภิกขุ ซึ่งก่อตัวขึ้นมาท่ามกลาง เรื่องเล่าเดิม ที่ได้รับความนิยม และเลื่อมใสจากผู้บริโภค เป็นอย่างมากมาโดยตลอด
“ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาศีลจารวัตรที่งดงาม สมควรกราบไหว้บูชาอย่างแท้จริง ท่านเป็นเนื้อนาบุญ ของพระพุทธศาสนา เป็นสมณะที่เจริญธรรม ตามรอยยุคลบาทพระบรมศาสดา ด้วยดวงใจบริสุทธิ์ที่ตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว” (คอลัมน์ “อริยะและโลกที่ ๖” ข่าวสด, ๑๓ มกราคม ๒๕๓๗)
“เคยมาศึกษาพุทธศาสนา ที่พม่าถึงขนาดลงทุนบวชชี แต่รู้สึกว่าไม่เห็นแบบอย่างที่ดี จนเมื่อพบท่านที่ออสเตรเลีย ศรัทธาในวัตรปฏิบัติ จึงติดตามมาศึกษาที่เมืองไทย” (เอลิซาเบธ กอกี้ ชาวออสเตรียที่ย้ายไปอยู่ที่ออสเตรเลีย บริจาคที่ดิน ๒๕๐ ไร่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เพื่อสร้างเป็นสำนักป่าสุญญตาราม ให้สัมภาษณ์ สารคดี ธันวาคม ๒๕๓๔)
“ท่านยันตระ ได้พิสูจน์สัจจะแห่งธรรม ในรูปแบบของ พระนอกระบบเป็นเวลา ๔ ปี จนมั่นใจแจ่มชัดว่า เส้นทางที่พระพุทธองค์ ทรงชี้นำนั้น คือ มรรคาแห่งอิสรภาพอย่างแน่แท้ และเมื่อประเมินผล จากวัตรปฏิบัติแล้ว เห็นสมควรที่จะสวม เครื่องแบบของ “พุทธบุตร” ได้อย่างไม่ละอายแก่ใจ เพราะผ้ากาสาวพัสตร์นั้น เป็นอาภรณ์อันสูงส่ง ของผู้บริสุทธิ์และพากเพียร วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ตรงกับวันวิสาขบูชา เวลาเที่ยงคืน นักพรตชุดขาว ผมยาว ผู้มุ่งมั่นได้ทำพิธี เข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่ง ของพระรัตนตรัยโดยสมบูรณ์ ที่วัดรัตนาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
“จากบัดนั้นจนบัดนี้ ท่านได้ทำหน้าที่บุตรแห่งพุทธะ ออกจาริกเผยแพร่ธรรม อย่างกว้างขวาง จนเกียรติคุณขจรขจาย ไปทั่วประเทศและแดนใกล้ไกล” (สารคดี, ธันวาคม ๒๕๓๔)
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เทปบันทึกการสนทนา ระหว่างพระยันตระกับนางจันทิมา มายะรังษี หนึ่งในสีกาที่ร้องเรียนว่า พระยันตระล่อลวงเสพเมถุนด้วย, เอกสารของหม่อมดุษฎี บริพัตร อดีตโยมอุปัฏฐาก คนสำคัญ ที่กล่าวถึงพฤติกรรม อันไม่เหมาะสมต่อความเป็นพระสงฆ์ ในขณะที่เดินทางไปต่างประเทศ และหลักฐานการลอกเลียนบทกวีของ ดร. ระวี ภาวิไล จะพุ่งตรงเข้าไปสั่นคลอน ความเลื่อมใสศรัทธาแรงกล้า ที่สาธารณชนมีต่อภิกษุรูปนี้ อย่างรุนแรงเพียงใด
ยังไม่ต้องพูดถึง ข้อกล่าวหา ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมา — พระยันตระมีเพศสัมพันธ์ กับนางแก้วตา หม่องจินดา บนดาดฟ้า เรือเดินสมุทรไวกิ้งไลน์ ระหว่างทางจากกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ไปยังกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์, พระยันตระ จับต้องกายนางสาวซูซาน ด้วยความกำหนัด ณ กุฏิริมน้ำ วัดป่าสุญญตาราม เมืองบันดานูน ประเทศออสเตรเลีย, พระยันตระ เข้าไปหานางสาวอีวา ในรถตู้ของเธอบนท้องถนนกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย, ร่วมหลับนอน กับนางสาวอีวา และพร่ำพูดถึงความรัก ต่ออีวาทางโทรศัพท์ (มีหลักฐานเป็นเทปบันทึกเสียง)
การปะทะกันระหว่าง เรื่องเล่าเก่าและใหม่ เกี่ยวกับพระยันตระ ทำให้สังคมไทยในช่วงเวลานั้น (๒๕๓๗-๒๕๓๘) เต็มไปด้วยความตื่นเต้น สับสน สงสัยใคร่รู้ โกรธเกรี้ยว และเศร้าหมอง
กระทรวงศึกษาธิการแถลงว่า การปล่อยให้ข้อกล่าวหา พระยันตระยืดเยื้อต่อไปนาน ๆ ย่อมบั่นทอนความรู้สึก ของประชาชนที่มีต่อพระยันตระ และพระสงฆ์ นำความเสียหาย มาสู่สถาบันศาสนา และจิตใจของประชาชน
“…ดังที่ได้รับทราบว่า บางคนถึงกับเสียชีวิตเพราะความเศร้าสลด กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีอีกผู้หนึ่งที่ยังรักษาตัว อยู่ที่โรงพยาบาลเพราะช็อก ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อการกระทำดังกล่าว กลุ่มผู้กล่าวหา หรือสื่อมวลชน หรือใครกันแน่”
แถลงการณ์ของกระทรวงศึกษาฯ ฉบับนี้ออกมาตอนที่ เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ นั่นหมายถึงว่า เรื่องราวยังเดินทางมาไม่ถึง ตอนที่นางจันทิมาพาเด็กหญิงกระต่าย ซึ่งอ้างว่า เป็นบุตรสาวของเธอมาแสดงตัว พร้อมกับนำ ภาพถ่ายการใช้ชีวิต เยี่ยงสามีภรรยามาเปิดเผย ต่อมานางจันทิมา ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอธิกรณ์พระยันตระ (ปลายเดือนมกราคม ๒๕๓๘), มีการท้าให้ตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นพ่อลูกกัน ระหว่างพระยันตระ กับเด็กหญิงคนดังกล่าว, มีการเปิดเผย หลักฐานชิ้นสำคัญ คือ สลิปบัตรเครดิต ที่มีโยมอุปัฏฐากบริจาคให้ ซึ่งถูกนำไปใช้ ในสถานบริการทางเพศ สถานบริการอาบอบนวด ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งหลักฐาน การเปิดโรงแรม และเช่ารถร่วมกับสตรี เพียงสองต่อสอง
แม้ว่าท่าทีของคณะสงฆ์ ในตอนแรกจะออกมาในรูปที่ว่า “เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โต้ทันควันขบวนการ จ้องทำลายพระ -ทำลายพุทธศาสนา มีสองสตรีอเมริกันเป็นแกนนำร่วมกับชาวพุทธนอกรีต เผยยันตระตกเป็นเหยื่อรายใหญ่ เพราะคนนับถือทั้งประเทศ” (ข่าวสด, ๑๖ มกราคม ๒๕๓๗) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูแลกรมศาสนาเอง ก็มีท่าทีบ่ายเบี่ยงต่อการสืบหาความจริงมาตลอด แต่ด้วยหลักฐานที่แน่นหนา ในที่สุด ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ก็มีมติเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๗ ให้พระยันตระ พ้นจากสมณเพศด้วยสาเหตุ “ประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับพรหมจรรย์”
เรื่องทั้งหมด ควรจะจบลงตรงนี้ แต่ก็เปล่า
ถึงจะโดนจับสึกไปแล้วก็ตาม อดีตพระยันตระ หรือ วินัย ละอองสุวรรณ ยังประกาศตัว ว่าเป็นพระสงฆ์อยู่เช่นเดิม ยังคงห่มจีวร หากแต่เปลี่ยนจากสีกลัก เป็นสีเขียวแก่ เขาจึงถูกฟ้องร้อง ด้วยข้อหาหมิ่น องค์สมเด็จพระสังฆราช และแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ หลังจากนั้น จึงหนีไปอยู่อเมริกา โดยใช้หนังสือเดินทางปลอม เนื่องจากหนังสือเดินทางตัวจริง ถูกทางการไทยถอดถอนไปหลังจากมีคดี
ในวันนี้ ไม่มี “พระอาจารย์ยันตระ” ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏขึ้นมาเอง ในจิตของเขา อย่างชัดเจน ทั้งตัวอักษร และความหมาย (ยันตระ แปลว่า ห่างไกลจากความผูกพันผูกติด) ที่ผู้คนเอาผ้าขาวรองให้เหยียบ แล้วนำไปบูชา เอาดอกบัวมาให้เสก แล้วกลับไปต้มน้ำกินรักษาโรคอีกต่อไป พระภิกษุที่เคยยึดเอาศรัทธา ของผู้คนนับแสนไป กลับกลายมาเป็น “ยอดมารศาสนา” และ “ผู้ร้ายข้ามแดน” ไปเสียแล้ว
……………………………
“ยันดะซ่า-ล่าสุด เล่นวอลเลย์ โผล่โชว์ริมทะเล”
“สมียันดะ-จิ้งเขียว ซ่าไม่เลิก ล่าสุดห่มจีวรเ ล่นวอลเลย์บอลกับฝรั่ง ที่ริมชายหาด เมืองซานดิเอโก อเมริกา อย่างสนุกสนาน แฉสุดแสบ แต่งตัวพิลึกพิลั่น สวมกางเกงยืด-เสื้อสีดำ แล้วห่มผ้าเหลืองรุ่มร่าม แถมสวมหมวกไหมพรม เหมือนพระทิเบต ออกตระเวนหลอกล่อ ให้คนเข้าสำนักสุญญตา…” (ข่าวสด ๙ มิถุนายน ๒๕๔๒)
ความคืบหน้าเกี่ยวกับอดีตพระยันตระ ๖ กันยายน ๒๕๔๑ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๑ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๑ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๒ (หมายเหตุ : การสอบสวนอธิกรณ์ยันตระยังคงดำเนินต่อไป ขณะนี้ ขั้นตอนอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หลังจากที่ศาลชั้นต้นตัดสินว่า ไม่มีความผิด แต่นางจันทิมา มายะรังษี ได้ทำการยื่นอุทธรณ์ ส่วนคดีหมิ่นองค์สมเด็จพระสังฆราช เป็นหน้าที่ของตำรวจ ในการติดตามตัวมาดำเนินคดี) |