สัมภาษณ์โดย : สุเจน กรรพฤทธิ์

mano

“ภายใน ๕ ปีต่อจากนี้ พุทธกระแสหลักจะเป็นแบบธรรมกาย”

นายแพทย์มโน เลาหวณิช
อดีต “พระมโน เมตตานนฺโท” แห่งวัดพระธรรมกาย

“ปี ๒๕๑๘-๒๕๒๐ วัดพระธรรมกายคล้ายครอบครัวเล็ก มีพระแปดเก้ารูป มีแม่ชีจันทร์เป็นหัวหน้าและต้นแบบวิถีปฏิบัติของคนในวัด คุณยายเป็นเหมือนเจ้าอาวาส ไม่มีใครกล้าค้านแม้อาจจะเห็นแย้ง  ปี ๒๕๒๕ วัดซื้อที่ดินเพิ่ม  ผมไปเรียนต่อด้านบาลีสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ช่วงนั้นวัดมีปัญหาเพราะไม่กี่ปีขยายตัวถึง ๑๐๐ เท่า  ผมกลับมาจึงเริ่มปฏิรูปองค์กรในปี ๒๕๓๒ ซึ่งผมต้องชนกับเจ้าอาวาสแรงมาก  ก่อนหน้านั้นก็มีกรณีที่ผมแย้งท่านเรื่องอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บวชพระรูปหนึ่ง ท่านก็เสียหน้า แต่ก็ตั้งให้เป็นประธานปฏิรูปวัด  สมัยนั้นวัดมีนโยบาย ‘ระดมธรรมคู่ระดมทุน’ ผมไม่เคยจับงานบอกบุญ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายระดมทุน ผมมีหน้าที่เทศน์ เทศน์จบก็มีอุบาสกขึ้นมานั่งคุยชวนทอดผ้าป่า เป็นต้น

“แต่หลังปฏิรูปแก้วก็ร้าว ผมถูกส่งไปประจำในสหรัฐอเมริกาจนเกิด ‘คดีโจนาทาน ดูดี้’ (คดีฆาตกรรมในวัดไทย อาชญากรเป็นเด็กสองคน) ผมไปช่วยคดีนี้เพราะคิดว่าเด็กคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาเป็นแพะ เรื่องนี้ทำให้ผมมีปัญหากับวัด ก่อนจะมาแตกหักเมื่อผมพบอุบาสิกาท่านหนึ่งเป็นครู มาวัดทุกเดือน ทำบุญไม่ขาด แต่ทำบุญจนทำลายชีวิตครอบครัว เธอถามว่าเมื่อไรบุญจะส่งผล  ผมไปบอกเจ้าอาวาสว่านโยบายเรี่ยไรแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว  ตอนนั้นผมรู้ว่าอยู่ไม่ได้แล้ว อำนาจของเจ้าอาวาสมากเกินไป  หลังออกจากวัด ผมไปอยู่วัดราชโอรสาราม หลังจากนั้นไปเขียนหนังสือ เหตุเกิด พ.ศ. ๑ เป็นพุทธประวัติช่วงที่ไม่ค่อยมีคนนึกถึง  เรื่องนี้ทำให้มหาเถรสมาคมประชุม มีคนเอาเรื่องถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ  มีเรื่องที่ผมค้านการใส่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เรื่องบทความ ‘พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร’ ลงนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ที่โดนเจ้าคุณประยุทธ (พระพรหมคุณาภรณ์ หรือ ป. อ. ปยุตฺโต) เขียนหนังสือโต้ เรื่องถึงขั้นสั่งห้ามพระสังฆาธิการรูปใดรับเข้าสังกัดวัด ผมเลยไม่มีวัดอยู่  ทางเลือกคือไปอยู่วัดต่างประเทศหรือสึก ผมเลือกสึก

“การปฏิรูปวัดยุคนั้นผมทำด้วยเจตนาดี คิดแค่สร้างองค์กรพุทธที่มั่นคง กระจายได้ทั่วโลก แต่มันไปคู่กับอำนาจ  ความต้องการของวัดไม่มีที่สิ้นสุด ต้องการเป็นวาติกันของศาสนาพุทธ  ตอนนี้วัดพระธรรมกายใหญ่เกินจะมีใครทำอะไรได้แล้ว  ย้อนกลับไปขนาดพระสังฆราชมีพระลิขิตสี่ฉบับให้สึกเจ้าอาวาส ก็ทำอะไรไม่ได้ สื่อกระแสหลักยังไม่ทำข่าว เพราะหลังคดีสิ้นสุดในปี ๒๕๔๙ เจ้าอาวาสก็ส่งทนายความติดต่อสื่อห้ามยุ่งห้ามลงข่าว  สื่อต้องตีพิมพ์คำขอโทษ เพราะเขาหลุดหมด ๕๒ คดี  ผมเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการกินรวบ วัดไหนร้าง วัดพระธรรมกายจะส่งคนไปฟื้นฟู ภายใน ๕ ปีนับจากนี้ พุทธกระแสหลักจะมีวัตรปฏิบัติเป็นแบบธรรมกายทั้งหมด”

(บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ ตัดตอนจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวแต่ละท่านเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง โดยขอนำเฉพาะสาระสำคัญมาลง ด้วยข้อจำกัดของเนื้อที่  โดยผู้สัมภาษณ์พยายามคงใจความสำคัญไว้ให้ได้มากที่สุด)

vijak

“ธรรมกายเป็นหนองที่เกิดจากคณะสงฆ์ไทย”
วิจักขณ์ พานิช

นักเขียนผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ศาสนา

“เวลาเราพุ่งเป้าด่าสำนักธรรมกาย เราตระหนักหรือไม่ว่าพุทธศาสนาแบบมหาเถรสมาคมก็เป็นสำนักหนึ่ง  การตีความคำสอนไม่เหมือนกันเป็นเรื่องธรรมดา  สมัยพุทธกาลก็มีสำนักเยอะไปหมด  คำว่า อนัตตา อาตมัน ตีความได้หลากหลายมาก  ถามว่าความจริงสูงสุดเป็นอัตตา หรืออนัตตา ? ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำ แต่ขึ้นกับประสบการณ์ การสื่อสาร ถ่ายทอด  เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ประเด็นธรรมกาย บางทีผมรู้สึกว่าเราเน้นบอกว่าอะไรถูกอะไรผิดเยอะเกินไป ที่ตีความว่านิพพานเป็นอัตตาผมไม่มีปัญหา แต่อยากฟังต่อว่าตีความอย่างไร  ควรมีการคุยกันระหว่างสำนัก ถกเถียง ศึกษาทำความเข้าใจความต่างนี้  แต่ปัญหาของพุทธไทยคือมันไม่เกิดบทสนทนา  กระทั่งท่านพุทธทาสที่ตีความคำสอนใหม่แรก ๆ คนก็ตื่นเต้นแต่ก็ไม่มีการสนทนาต่อ  ในที่สุดก็กลายเป็นความเชื่อ ยิ่งพุทธแบบมหาเถรสมาคมที่ตั้งตนเป็นมาตรฐานพุทธไทย เราก็ไม่เคยตั้งคำถามทั้งเรื่องแบบเรียน วันสำคัญ วิธีตีความ ฯลฯ นี่คือพุทธแบบรัฐที่รวมกับอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์  พุทธไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบเรื่องความเชื่อแต่ไม่มีบทสนทนา ไม่เชื่อแบบฉันออกไป  การเมืองก็แบบนี้ ก็ต่างคนต่างอยู่ คุยกันเมื่อไรก็ทะเลาะกัน

“การเกิดสำนักมากมายเป็นเรื่องปรกติ มีอลัชชี พระดี ฯลฯ ทุกยุคเป็นแบบนี้ ที่เราเกิดคำถามเพราะอยากรู้ว่าอะไรจริงอะไรปลอม  พุทธไทยมีศูนย์กลางที่รัฐ ไทยเป็นรัฐกึ่งศาสนา บอกว่าเป็นประชาธิปไตย เปิดกว้างเรื่องศาสนา แต่เอาเข้าจริงศาสนาพุทธก็มีจุดอ้างอิงที่รัฐ  ดังนั้นเมื่อมีการตีความแบบอื่นก็ย่อมมีตัวเปรียบเทียบ คนอย่างแม่ชีทศพร สมณะโพธิรักษ์ พุทธทาส ธรรมกาย เหล่านี้ท้าทายกรอบคิดหลักเลยเป็นเรื่องใหญ่  ลึก ๆ คนไทยรู้ว่าพุทธไม่มั่นคง  คำถามคือ บอกว่าอยากให้ศาสนามั่นคง จริง ๆ คุณหมายถึงอะไร

“ธรรมกายเป็นองค์กรแรกที่ใช้เครื่องมือทุกอย่างในโลกยุคนี้เผยแผ่ความเชื่อ…ข้อเด่นคือพิสูจน์แล้วว่าทำงาน…ออกมาเป็นปรากฏการณ์คนเข้าแถว  พระธุดงค์ในเมืองทำให้เรารู้สึกว่ายังมีคนที่นับถือพุทธ ซาบซึ้งฮึกเหิม เมื่อทำได้ คนก็ว่าอะไรไม่ได้ เข้าได้กับความรู้สึกองค์กรสงฆ์ที่มองว่าพุทธเสื่อมถอย พอมีผีตัวใหม่บอกทำแบบนี้สิ ทุกอย่างดูดี แถมทำให้ด้วยอีกต่างหาก เขาก็จับมือกัน ก็แค่นั้นเอง  ที่ผ่านมาเราไม่รู้ตัวว่ามีผีตัวเก่าเหมือนที่ไม่รู้ตัวว่าไม่มีเสรีภาพเพราะโดนครอบงำความคิด มีเพดานทางความคิด ศาสนาคือส่วนสำคัญในการครอบงำ พอไม่ตั้งคำถามก็ไม่รู้ว่ามีผี และบังเอิญธรรมกายรวมกับโครงสร้างพุทธไทยได้ดีกว่าตัวอื่น  ที่ผ่านมาผีที่เกิดขึ้นเป็นผีปัจเจก สวนโมกข์ สันติอโศก สำนักพระป่า แยกตัวจากสังคม สร้างสำนักมั่นคงก็กลับมาเผยแผ่หรือมอบสิ่งดี ๆ ให้สังคม แต่ธรรมกายเด่นตรงที่ผสมความคิดให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ อยู่เหนือมันและใช้ในแบบของเขา มีดาวเทียม มีโรงเรียน ฯลฯ เขาแจ๋วตรงนี้ ไม่กลัวและกล้าใช้เครื่องมือที่กระจัดกระจาย  ส่วนตัวผมไม่คิดว่ามีอะไรแท้อะไรเทียม ทุกอย่างมีดำมีขาว  แนวทางธรรมกายไม่แปลกเพราะองค์กรพุทธที่ใช้โมเดลธุรกิจมีอยู่  เรากรี๊ดกันมากเวลาพูดถึงพุทธในไต้หวันอย่าง ‘ฉือจี้’ ที่มีจิตวิญญาณรับใช้และช่วยเหลือคนอื่น มีรูปแบบธุรกิจและมีการจัดการที่ดี องค์กรนี้ใหญ่กว่าธรรมกายและมีสาขาทั่วโลก ขนาดใหญ่ก็น่ากลัวแต่ด้วยจิตวิญญาณทำให้มันโอเค

“การที่คนมีการศึกษาจำนวนมากศรัทธาธรรมกาย เพราะการศึกษาไทยสร้างความลักลั่นระหว่างการให้เหตุผลกับความเชื่อ ไปไม่สุดเรื่องการใช้เหตุผล  เราไม่ถูกส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด ศาสนาก็มีส่วนตรงนี้  เราไม่กล้าคุยถึงการครอบงำทางความคิดโดยอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์  ความสนใจวิทยาศาสตร์ การใช้เหตุและผลจึงเป็นแค่การสำเร็จความใคร่ทางปัญญา  เราไม่เคยใช้การวิเคราะห์วิจัย ขับเคลื่อนสังคมได้จริง  สุดท้ายเราบอกว่า ‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’ ถึงจุดหนึ่งเชื่อและหยุดตั้งคำถาม กระโดดงับเรื่องศรัทธาอย่างง่ายดาย  ภาพยนตร์ ตั้งวง สะท้อนได้ดี เรายังบนให้ตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ได้ ให้เอนทรานซ์ติดเพื่อเรียนวิศวะและหมอ  ประชาธิปไตยก็บน  สุดท้ายเราพร้อมโยนเหตุผลทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ มันสะท้อนว่าเราอยู่ในยุคมืด

“ธรรมกายสัญญากับคุณว่าศาสนานี่ดีแน่ หลายสำนักก็ทำแต่ได้ไม่ดีเท่า  ถ้าคุณร่วมกับธรรมกาย จะเห็น จะขนลุก ชีวิตคุณจะมีศรัทธา  คนไทยพร้อมลืมตรรกะและเหตุผลทุกอย่างเมื่อเจออะไรที่ศรัทธา  สังคมเราสอนให้รัก ให้เชื่อ ให้ศรัทธา เราจึงยึดติดบุคคล ความเชื่อ ศาสนา อุดมคติบางอย่าง ทั้งที่พระพุทธเจ้าสอนให้ตั้งคำถามให้ถึงที่สุด ตั้งคำถามแม้แต่การตั้งคำถาม สุดท้ายปล่อยหมด วางใจตัวเอง เชื่อตัวเองเพราะเข้าใจ ตั้งคำถามหมดแล้ว

“กรณีธรรมกาย เขาทำหีบห่อให้ดีขึ้นดูง่ายปฏิบัติง่าย เชื่อได้ง่ายขึ้น  ลักษณะการตีความธรรมะแบบนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะกลบเกลื่อนความซับซ้อนของโลกสมัยใหม่ ทั้ง ๆ ที่โลกซับซ้อนกว่านั้น  มีหลายอย่างที่ธรรมะต้องเรียนรู้เรื่องจิตใจคนให้ละเอียดกว่านี้  เวลาผมคุยกับคนรุ่นใหม่ทำให้รู้ว่าเราไม่รู้อะไรเลย หนุ่มสาวอายุ ๑๘ ปียุคนี้ ผมไม่รู้จักชีวิตเขาเลย ผมต้องเปิดใจไปเรียนรู้จากชีวิตเขา ไม่ใช่เอาสิ่งที่เราเรียนจากศาสนาไปยัดใส่เขาต้องคุยด้วยเหตุด้วยผลว่าสิ่งที่ธรรมกายทำเป็นข้อดีคืออะไร ดีจริงไหม มองจากเปลือกนอกก็คล้ายบุคลิกคน คนหนึ่งเรียบร้อย อีกคนดูดิบ  กรณีธรรมกายมองให้ลึกทำความรู้จักเขาดีกว่าว่าในบรรยากาศที่เขาสร้าง เขาสื่อสารคำสอนอะไร หัวใจคืออะไร จิตวิญญาณคืออะไร มองในฐานะความเห็นต่างที่อยู่ร่วมกันได้  เวลาด่าธรรมกายต้องตระหนักว่ามีคนเป็นล้านที่ศรัทธา จะว่าเขาโง่ เป็นมาร หรือบอกต้องกำจัดให้หมดจะเป็นไปได้หรือ  กรณีเณรคำเป็นหนอง ธรรมกายก็เป็นหนองที่มาจากปัญหาโครงสร้างคณะสงฆ์ไทย จะปรับอย่างไร ต้องกระจายโครงสร้างอำนาจ ต้องตรวจสอบได้ เรื่องเงินควรโปร่งใส  วัด สำนักทั้งหลายควรมีรูปแบบเอกชน  มูลนิธิแบบที่คริสต์และอิสลามทำกัน คือผู้มีศรัทธาก็สนับสนุนและตรวจสอบกันเอง  รับเงินมากต้องเสียภาษี  คนบริจาคก็ต้องรู้ว่าให้แก่กิจกรรมอะไร  ตอนนี้ลักลั่น  ด้านหนึ่งองค์กรเหล่านี้บอกว่าตัวเองดี แต่อีกด้านเราแตะต้องสิ่งที่เราสนับสนุนไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้เลย  เราเดินมาถึงยุคที่ควรปล่อยให้ศาสนาเป็นเรื่องปัจเจก เป็นพุทธของประชาชน รัฐไม่ควรยุ่ง ต้องช่วยกันพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพและความสำคัญของสำนึกประชาธิปไตย กรณีธรรมกายแทบเป็นเรื่องเดียวกับวิกฤตการเมืองไทย  ธรรมกายจะเป็นเรื่องเล็กถ้าไม่มีโครงสร้างคณะสงฆ์รัฐให้เกาะ ถ้าปฏิรูปให้รัฐยุ่งกับสถาบันสงฆ์ให้น้อยที่สุด ยุบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แยกรัฐกับศาสนา  ธรรมกายอาจเป็นสำนักที่ใหญ่ที่สุด แต่จะแปลกแยกและล่องลอย เขาอาจอยู่โดยตัวเองแต่จะเป็นแค่ยี่ห้อหนึ่งที่ตรวจสอบได้

“ศาสนาจำเป็นต้องเรียนรู้โลกยุคใหม่ แต่เรากลับหวังว่าศาสนาที่เกิดขึ้นในโลกก่อนสมัยใหม่ต้องตอบโจทย์ของยุคนี้ เยาวชนถึงเบื่อ  ความเชื่อแบบนี้จะตอบโจทย์ชีวิตเขาอย่างไร
พระที่ไม่เคยแต่งงาน ไม่เคยใช้ชีวิต จะสอนชีวิตในโลกสมัยใหม่อย่างไร  ไม่ได้บอกว่าศาสนาไม่ดี แต่บุคลากรด้านนี้ต้องอ่อนน้อมและเรียนรู้โลกที่ซับซ้อน  ความเข้าใจโลกกับความเข้าใจธรรมะต้องสอดคล้องกัน  ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรให้สถานะศาสนาลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลงสู่ความเป็นธรรมดาสามัญ  อะไรในสังคมที่มีสถานะเหนือมนุษย์ ต้องลดสถานะตัวเองมาให้เหมาะกับสังคมประชาธิปไตยให้มากที่สุด ทำได้อย่างนั้นศาสนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ซึ่งผมมองว่ากระบวนการแยกรัฐกับศาสนาเป็นเรื่องสำคัญมาก”


somchai

“วัดพระธรรมกายอ่อนประชาสัมพันธ์ทำให้สื่อสารได้ไม่เต็มที่”

พระมหาสมชาย ฐานวุฒฺโฑ
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายด้านการศึกษาและเผยแผ่

“ภารกิจหลักของชาววัดมีสองเรื่อง คือ บำเพ็ญประโยชน์ตน ศึกษาธรรมะ บำเพ็ญประโยชน์ท่าน เผยแผ่ธรรมะ  ทุกวันนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยเล่าว่าเลี้ยงลูกไม่ติดยาบ้าก็สำเร็จแล้ว ทำไมตั้งมาตรฐานต่ำเช่นนี้  ถ้าร่วมมือกัน พระ ครู ผู้ปกครอง เอาเด็กไปอบรมศีลธรรม น่าจะมีประโยชน์ มีช่องทางทำได้เราก็ทำ

“ข่าวไม่ดีที่เกิดกับวัด ถ้าเป็นวัดอื่นไม่เกิน ๒ อาทิตย์วัดนั้นจบ แต่ญาติโยมที่นี่ไม่หวั่นไหว เขาไม่ได้มีแค่ศรัทธาแต่รองรับด้วยปัญญา ส่วนมากมีการศึกษา มีการงานดี รู้จักวัดมากกว่าสื่อมวลชน  จุดแข็งหนึ่งที่ทำให้รวมกันได้คือศรัทธา บางท่านเคยบวชในโครงการธรรมทายาท เห็นความสำคัญของบุญ  เมื่อคนมีความรู้ มีอุดมการณ์มารวมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน งานก็พัฒนาได้ ขัดกันบ้างก็เรื่องความเห็น แต่ก็จะแก้ได้ด้วยการแบ่งปันข้อมูลและเหตุผล

“อะไรที่รุกและใหม่จะมีปัญหา  ปัญหามาจากการอ่อนประชาสัมพันธ์  เรื่องชมรมพุทธในมหาวิทยาลัยและการครอบงำ  สมัยอาตมาเป็นนักเรียนมาอบรมโครงการธรรมทายาท อบรมเสร็จมีการแนะนำหนังสือ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ของท่านพุทธทาส เป็นต้น  ช่วงแรกที่วัดพระธรรมกายไม่พร้อมรับพระสงฆ์ก็ส่งเสริมให้คนบวชที่สวนโมกข์ ฯลฯ  คนที่เน้นปฏิบัติไม่ชอบต่อปากต่อคำ พอไม่โต้กลายเป็นปล่อยให้เข้าใจผิด  ในมหาวิทยาลัยน่าจะมีชมรมพุทธเยอะ ๆ เพราะเป็นประโยชน์มาก

“เรื่องจัดอบรมแล้วมีคนต้าน  สิ่งที่วัดทำเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ  ผู้ใหญ่เห็นปัญหา ห่วงลูกหลานว่าแย่เหลือเกิน ศีลธรรมเสื่อม เรื่องแบบนี้ต้องทำที่โรงเรียน ถ้าครูเข้าใจโอกาสสำเร็จจะมีมาก  อาจเพราะวัดมีบุคลากรมากเลยดูเหมือนทำอยู่รายเดียว  จริง ๆ หลายหน่วยงานร่วมมือกัน ไม่ว่ากระทรวงมหาดไทยตัวแทนบ้าน กระทรวงศึกษาฯ ตัวแทนโรงเรียน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถรสมาคมที่เป็นตัวแทนวัด  แต่คนต้านก็มีน้อย แต่พอมีคนค้านก็เป็นข่าว คิดดูว่าถ้าอบรมไม่ดี ครูเป็นแสนต่อต้านก็ไม่มีทางทำต่อได้ ร้อยละ ๙๐ บอกว่าได้ประโยชน์

“เรื่องอัศจรรย์ตะวันแก้ว หรือ สตีฟ จอบส์ เกิดเป็นอะไร ให้มองว่าเป็นเรื่องสอนศีลธรรม  ศึกษาในพระไตรปิฎกจะมีเรื่องพวกนี้เยอะ  อาตมาอยากให้ชาวพุทธที่นายแพทย์ประเวศ วะสี ใช้คำว่า ‘กัมมันตะ’ หรือกระตือรือร้นชักชวนให้ประชาชนเป็นคนดี  ส่วนใครชอบพุทธแบบไหนก็เลือกปฏิบัติไป อย่าเสียเวลาบั่นทอนกันเอง”