ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ
“ฝากรูปลูกปลาเล็กๆจากอวนลากให้นายกรัฐมนตรีดูก่อนนอน เผื่อท่านจะคิดได้ว่าควรจะให้มีการทำประมงอวนลากอยู่อีกนานแค่ไหน ???”
“นี่แค่ ๑ ใน ๑๖,๐๐๐ ลำของเรืออวนลากในทะเลไทยถูกแปรเป็นปลาป่นปีละ ๕ แสนตัน ใช้ ‘หัวแม่เท้า’ คิดก็คิดออกว่าถ้าหยุดทำลายพวกเขา ทะเลไทยจะมีทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลมากแค่ไหน ??? ท่านนายกฯ รมต.เกษตรฯ ท่านอธิบดีกรมประมง ใช้อะไรคิดไม่ทราบ ถึงยังคิดไม่ออก ???”
ภาพและข้อความที่ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวของ บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และเพจ “รวมพลคนกินปลา” อย่างต่อเนื่อง บ่งบอกถึงความพยายามทำหน้าที่พิทักษ์รักษาทรัพยากรสัตว์ทะเลอย่างกัดไม่ปล่อย
ถึงแม้ว่าอดีตของชายปักษ์ใต้ผิวสีดำแดงคนนี้จะเกิดและเติบโตในครอบครัวชาวสวนยาง จังหวัดสงขลา แต่เมื่อมีโอกาสลงพื้นที่ใกล้ชิดชุมชนประมงชาวมุสลิมตั้งแต่เป็นนักศึกษาความสนใจของเขาก็ไม่เคยห่างจากทะเล โดยเฉพาะประเด็นการกอบโกยทรัพยากรจนเกินศักยภาพของทะเลจะรับไหว การทำประมงผิดกฎหมาย ไม่ว่าเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน เรือทำประมงผิดประเภท เขาเกาะติดมานานมากกว่า ๓๐ ปี
ล่าสุดเร็ว ๆ นี้หลังจากรัฐบาลประกาศใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ยกเลิกการทำอวนรุนทั่วน่านน้ำไทย บรรจง นะแส คือคนแรก ๆ ที่ออกมาตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลจึงเว้นไว้ซึ่งอวนลากและเรือปั่นไฟ สองเครื่องมือทำลายล้างท้องทะเลที่สร้างหายนะยิ่งกว่าอวนรุน พร้อมเชื่อมโยงความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจปลาป่นซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่
ทุกวันนี้ในวัยกว่า ๖๐ ปี บรรจงรู้ดีว่าแม้ตัวเองจะเป็นที่รักในหมู่ชาวประมงพื้นบ้าน แต่ก็เป็นที่ชังในหมู่ชาวประมงพาณิชย์
ลองมาทบทวนปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล กับความหวังให้ทะเลเป็นความมั่นคงทางอาหารของลูกหลานในอนาคต จากความเห็นของชายไทยใจนักเลงคนนี้
สถานการณ์ของทะเลไทยวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าเอาพันธุ์สัตว์น้ำเป็นตัวตั้ง ที่แย่หน่อยคงเป็นทะเลภาคตะวันออก ตั้งแต่ระยองมาชลบุรี เราทำร้ายทะเลด้วยการตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดติดทะเล ทำลายถึงสองส่วนคือแหล่งท่องเที่ยวและพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะพวกสัตว์หน้าดิน หอย งานวิจัยบอกว่ามีโลหะหนักในสัตว์เคลื่อนที่น้อย เช่นหอยชนิดต่าง ๆ ส่วนชุมชนชาวประมงก็ต้องอพยพออกจากพื้นที่ แหล่งทำกินของคนพื้นถิ่นกลายมาเป็นท่าเรือน้ำลึก สัตว์น้ำในภาคตะวันออกค่อนข้างมีปัญหา ยกเว้นทางจันทบุรีและตราดยังพอมีคุณภาพใช้ได้
ส่วนที่อุดมสมบูรณ์จะเป็นพื้นที่อ่าวตัว ก เพราะมีองค์ประกอบสำคัญคือปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับปากแม่น้ำต่าง ๆ ไม่ว่าอ่าวปัตตานี อ่าวบ้านดอน ทะเลสาบสงขลา เวลาฝนตกหนักแม่น้ำจะชะสารอาหารลงมาในทะเล จึงมีอาหารค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อุดมด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด
ส่วนฝั่งอันดามันมีแง่บวกที่มีเกาะแก่งมากกว่าฝั่งอ่าวไทย ลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นชายฝั่งทะเลยุบตัว โดยธรรมชาติเกาะแก่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ขณะที่ด้านอ่าวไทยมีเกาะมากแค่แถวหมู่เกาะอ่างทอง สุราษฎร์ธานี ที่สงขลาบ้านผมก็มีแค่สามเกาะ คือเกาะหนู เกาะแมว เกาะขาม อ่าวไทยจึงมีที่หลบซ่อนของพันธุ์สัตว์น้ำน้อยกว่าฝั่งอันดามัน ถ้าเทียบกับประเทศอื่นเราก็แพ้อินโดนีเซีย เพราะเขามีถึง ๓,๐๐๐ เกาะ แต่ประชากรมากกว่าเรา โดยรวมแล้วทะเลของเราเหมาะจะเป็นแหล่งฟื้นฟูสัตว์น้ำ ซึ่งต้องช่วยกันดูแลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์
ทุกวันนี้เรามีเรือประมงในน่านน้ำไทยกี่ลำ
เป็นแสนลำ คำนวณจากครอบครัวชาวประมงชายฝั่งที่มีอยู่ ๒๘๐,๐๐๐ ครอบครัวใน ๒๒ จังหวัด ตีว่ามีเรือสักครึ่งหนึ่งก็แสนกว่าลำแล้ว
แบ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์เท่าไร ประมงพื้นบ้านเท่าไร
ถ้าดูตามสถิติกรมประมงจะพบว่ามีชาวประมงพื้นบ้านอยู่ ๘๕ เปอร์เซ็นต์ อีก ๑๕ เปอร์เซ็นต์เป็นประมงพาณิชย์ ซึ่งอาจจะแบ่งออกไปอีกเป็นประมงนอกน่านน้ำ กลุ่มนี้ออกไปทำมาหากินในเขตน่านน้ำสากล ไปจอยต์เวนเจอร์กับประเทศอื่น ๆ มีเรือลำใหญ่ตั้งแต่ ๓๐ ตันกรอสไปจนถึง ๒๐๐-๓๐๐ ตันกรอส(gross tonnage-ปริมาณความจุของเรือ ๑ ตันกรอสเท่ากับ ๑๐๐ ลูกบาศก์ฟุต) ซึ่งภายในเรือมีห้องเย็น มีถังน้ำแข็ง บางครั้งออกทะเลนานเป็นเดือน มีเรือลูกไปขนถ่ายกลางทะเลรับสัตว์น้ำขึ้นฝั่ง
แล้วแบบไหนถึงเรียกประมงพื้นบ้าน
คำว่าประมงพื้นบ้านคือใช้เครื่องมือที่ไม่ใหญ่โตมากนัก ทำประมงแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือไปกลางคืนกลับตอนเช้า จับสัตว์น้ำตามฤดูกาล ฤดูปลาทูจับปลาทู ฤดูปูม้าจับปูม้า ฤดูกุ้งแชบ๊วยจับกุ้งแชบ๊วย เครื่องมือทำการประมงจึงหลากหลายไปตามชนิดของพันธุ์สัตว์น้ำในแต่ละฤดูกาล หรือถ้าแยกตามขนาดเรือ กรมประมงใช้ว่า ๑๐ ตันกรอสขึ้นไปถือว่าเป็นประมงพาณิชย์ ถ้าต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอสลงมาถือว่าเป็นประมงชายฝั่ง ซึ่งก็แล้วแต่วิธีการแยกของนักวิชาการแต่ละคน
ที่มีคนบอกว่าประมงพาณิชย์ที่มีสัดส่วนเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ จับปลาสร้างรายได้มากกว่าประมงพื้นบ้าน เป็นเรื่องจริงไหม
นั่นเพราะสถิติการทำประมงพื้นบ้านไม่เคยได้รับการจดบันทึก ขณะที่ประมงพาณิชย์เขามีแพปลา จังหวัดหนึ่งมีอยู่ไม่กี่ท่า เขาก็เก็บสถิติได้ว่าจับได้กี่พันกี่แสนตัน แต่ประมงพื้นบ้านหรือประมงชายฝั่ง ท่าเรือในหมู่บ้านไม่ได้ขึ้นกับแพปลา อย่างบ้านผมอยู่สงขลา เอาปลาขึ้นที่ท่าเรือจะนะ ท่าเรือสทิงพระ ได้ปลา ๑,๐๐๐ กิโลกรัมหรือ ๕๐๐ กิโลกรัมก็ไม่เคยถูกบันทึก ทำให้เราไม่มีตัวเลขตรงนี้ ผมอยู่กับชาวประมงมา ๓๐ กว่าปี ใครบอกว่าประมงพาณิชย์ทำรายได้มากกว่าประมงพื้นบ้าน ผมไม่เคยยอมรับ
ครั้งหนึ่งผมไปทำงานอยู่แถบจะนะ มีสามหมู่บ้านก็มีสามท่าเรือ ไม่มีบันทึกเลยว่าวันนี้แต่ละคนจับปูม้าเท่าไร ได้ปลาได้กุ้งเท่าไร แต่ถ้าเราไปสำรวจตามโรงแรมหรือร้านอาหารซีฟูด เขาอยากได้ปลาที่มาจากประมงพื้นบ้าน เพราะว่าสัตว์น้ำจากประมงพาณิชย์มันบอบช้ำจากอวนลาก อวนรุน ตามรีสอร์ต ร้านอาหาร พวกปูเป็น ๆ ปลาเป็น ๆ คนขายอยากได้ปลาจากประมงพื้นบ้านนะ
ผมเคยทำวิจัยกับรีสอร์ตที่จังหวัดสตูล ภูเก็ต พ่อครัวบอกเลยว่าขอปลาจากแพปลาชุมชน แล้วราคาปลาเบ็ดกับปลาอวนก็ต่างกัน ปลาอินทรีที่ติดอวนตายในทะเลมาแล้ว ๓ ชั่วโมงกับที่ตกเบ็ดได้มาสด ๆ นี่ราคาต่างกันสองเท่า โรงแรมดัง ๆ ในภูเก็ตถ้าเป็นปลาตกเท่าไรเอาหมดแล้วให้ราคาสูงด้วย
ฉะนั้นมูลค่าของปลาขึ้นท่าชาวบ้านก็สูงเหมือนกันเพียงแต่ไม่ได้จดบันทึก ถ้าบันทึกอาจสูสีกับประมงพาณิชย์ ดีไม่ดีสถิติของหมู่บ้านทั้งหมดอาจมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่าจำนวนประมงพื้นบ้านสูงถึง ๘๕ เปอร์เซ็นต์
กรณีที่ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรปตามมาตรการ IUU fishing มีการบอยคอตอาหารทะเลจากประเทศไทยเมื่อกลางปีที่แล้ว (๒๕๕๘) เรื่องเป็นมาอย่างไร
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า IUU fishing(การทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและการควบคุม – Illegal Unreported and Unregulated Fishing) เกิดจากความพยายามอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรสิ่งมีชีวิตในทะเลเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : Food and Agriculture Organization of the United Nations) หลังวิเคราะห์แล้วว่าทะเลจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษยชาติในอนาคต ต้องกำหนดแนวทางดูแลทะเลให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติ
กรณีประเทศไทย สหภาพยุโรปเตือนเราว่าถ้าไม่จัดการแก้ปัญหาตามมาตรการ IUU fishing สินค้าประมงไทยที่มีมูลค่าปีละเกือบ ๓ แสนล้านบาทจะห้ามเข้าตลาดยุโรป รัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาเพราะว่ามันส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจประมงขนาดใหญ่ ซึ่งตามสถิติแล้วความจริงสัตว์ขนาดใหญ่ที่จับได้มีสัดส่วนแค่ ประมาณ ๓๓ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน สัตว์ที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นกุ้งกับปลาทูน่าและไม่ใช่ปลาจากทะเลไทย เป็นปลาที่จับจากนอกน่านน้ำไทย เพียงแต่เจ้าของบริษัทเป็นคนไทย คนไทยก็ดีใจคิดว่าเราเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลของเรา ทั้งที่ไม่ใช่ปลาจากอ่าวไทยหรืออันดามัน นี่คืออีกจุดที่สังคมต้องทำความเข้าใจ ๙๐ เปอร์เซ็นต์เป็นปลาจากทะเลลึกนอกน่านน้ำไทย ดังนั้นการที่สหภาพยุโรปบอยคอต คนที่เดือดร้อนมาก ๆ คือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ส่งออกกุ้งกับปลาทูน่า ไม่ค่อยเกี่ยวกับกลุ่มประมงพื้นบ้านสักเท่าไร
สหภาพยุโรปทำไปเพราะอะไร
สหภาพยุโรปต้องการทำให้ตลาดของเขามีความน่าเชื่อถือหรือศิวิไลซ์ สินค้าที่เข้าตลาดต้องไม่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานทาส สินค้าประมงก็เหมือนกัน ธุรกิจที่ทำลายความมั่นคงทางอาหารจะถูกแบน ไม่อนุญาตให้นำเข้า ตามหลักการที่สหภาพยุโรปวางว่าทุกประเทศต้องช่วยกันทำประมงแบบรับผิดชอบ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับว่าเรื่องการเมืองระหว่างประเทศก็มีส่วนเหมือนกัน มีคนพูดว่าสมาชิกสหภาพยุโรป ๒๘ ประเทศที่ทำอุตสาหกรรมประมง บางประเทศไปทำประมงทำลายล้างถล่มประเทศเล็ก ๆ แถวอเมริกาใต้ บางประเทศไปทำประมงทำลายล้างในแอฟริกา แล้วทำไมถึงไม่บอยคอตกันเอง เพราะว่าเป็นสมาชิกของพวกคุณเองหรือเปล่า
แต่การที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประเทศไทยกลับเป็นผลดีต่อประมงชายฝั่ง ทำให้เกิดการจัดระเบียบการทำประมงในทะเลไทย เรืออวนรุนอวนลากที่เคยอยู่กันสบาย ไม่เคยถูกตรวจสอบก็โดนตรวจสอบ เพราะรัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ได้ พวกเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน หรือเรือใช้แรงงานทาสก็เหมือนกัน เรือเหล่านี้ถูกควบคุมเข้มข้นขึ้นซึ่งเป็นผลดีกับสังคมโดยรวม
ประเทศไทยมีเรือเถื่อนหรือเรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่สักเท่าไร
เรืออวนลากเมื่อปี ๒๕๒๓ เราเคยมีอยู่ ๔,๐๐๐ ลำ แต่ตอนนี้เท่าที่เขาพยายามสำรวจพบว่าเพิ่มขึ้นเป็น ๑๖,๐๐๐ ลำแล้ว ในการประชุมของกลุ่มประมงพาณิชย์บอกว่ามีอีก ๓,๐๐๐ ลำที่ขึ้นทะเบียนไม่ได้ กรมเจ้าท่าไม่ออกอาชญาบัตร(ใบอนุญาตให้ใช้เครื่องทำการประมง)ให้ กรมประมงก็บอกว่าเรือ ๓,๐๐๐ ลำนี้เป็นเรือที่ผิดกฎหมาย ต้องจอดทิ้งไว้ ไม่สามารถนำออกทะเล
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่เพิ่งออกมาปีที่แล้ว ช่วยให้การควบคุมดีกว่ากฎหมายฉบับเดิม
พระราชบัญญัติการประมง ๒๔๙๐ มีหลายเรื่องล้าสมัย เช่น การบริหารจัดการทะเลรวมศูนย์อยู่ที่กรมประมง ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานมีอยู่ไม่กี่คน ทำงานตอนเช้ากลับตอนเย็น ไม่มีศักยภาพพอที่จะเอาคนไปตรวจจับในทะเล เพราะจะจับการกระทำความผิด ต้องจับตอนกำลังทำประมงอยู่เท่านั้น จับเรือจอดนิ่ง ๆ ไม่ได้ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายล้มเหลว นอกจากนี้ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมในการดูแลทะเล บางพื้นที่ถูกกลุ่มทุนครอบงำ เกิดกรณีกลุ่มทุนต่าง ๆ เจ้าของโรงงานปลาป่น เจ้าของเรืออวนลากเอาเงินไปให้สำนักงานประมงจังหวัด แล้วใครจะกล้าไปจับเขา เรือใหญ่ละเมิดน่านน้ำเข้าไปในเขตห้ามเข้า ๓,๐๐๐ เมตรจากชายฝั่งถูกจับน้อยมาก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนความผิดที่เกิดขึ้น
สำหรับพระราชกำหนดการประมง ๒๕๕๘ ดีขึ้นเรื่องการจัดทะเบียนเรือ เรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน โทษแรงมาก เพิ่มขนาดตาอวนจาก ๒.๕ เซนติเมตรเป็น ๔ เซนติเมตร ถือเป็นเรื่องดีแต่ก็ยังมีอวนลาก นอกจากนี้ยังกระจายอำนาจตั้งคณะกรรมการนโยบายประมงจังหวัดให้มีอำนาจออกกฎต่าง ๆ เพื่อดูแลทะเล สุดท้ายคือโทษของการทำความผิดค่อนข้างแรง ซึ่งกลุ่มประมงพาณิชย์เขาก็โวยวายอยู่ ไม่ว่ายึดเรือหรือปรับ ๔ แสนบาท แต่โทษรุนแรงมีผลสองด้าน ด้านหนึ่งคือเจ้าหน้าที่หากินง่าย สมมติว่าโทษสูงสุดคือปรับ ๑ ล้าน เขาอาจยอมจ่าย ๒ แสน เมื่อโทษสูงเจ้าหน้าที่ก็ยิ่งสบาย จับแล้วก็ต่อรองกันกลางทะเลได้ เพราะไม่มีมือที่สามไปตรวจสอบ
การประมงแบบทำลายล้าง ไม่ว่าอวนรุน อวนลาก สร้างความเสียหายแค่ไหน
ในทางวิชาการคำว่าเครื่องมือทำลายล้างหมายถึงเครื่องมือที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน สัตว์เหล่านี้ถ้าปล่อยให้เติบโตขึ้นจะกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เช่น กุ้งแชบ๊วยตัวเล็ก ๆ เมื่อโตจะเป็นกุ้งแชบ๊วยกิโลกรัมละ ๔๐๐-๕๐๐ บาท ถ้าเป็นกุ้งตาแฉะก็กลายเป็นกุ้งแห้ง หรือปูม้าตัวเล็ก ๆ ปูทะเล หรือปลาทู ถ้ายังตัวเล็ก ๆ เราเรียกรวมว่า “สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน” เครื่องมือนี้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนอย่างรุนแรง เราเรียกว่าเครื่องมือทำลายล้าง ซึ่งมีอยู่สามตัว คืออวนรุน อวนลาก และเรือปั่นไฟ
มีงานวิจัยของกรมประมงมาตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๒๓ แล้วว่าการใช้อวนลากจับสัตว์น้ำ ๑๐๐ กิโลกรัม ประมาณสองในสามหรือ ๖๖ กิโลกรัม คือพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน พวกลูกกุ้ง ลูกปู ลูกหอย ลูกปลาตัวเล็ก ๆ อวนลากยังทำลายสัตว์หน้าดิน ทำลายปะการังบนผิวดิน อวนรุนก็ไม่ต่างกัน ส่วนเรือปั่นไฟเขาจับสัตว์ที่อาศัยอยู่กลางน้ำหรือผิวน้ำขนาดเล็ก ๆ ที่มาเล่นแสงไฟ เครื่องมือทั้งสามตัวนี้ทำให้เกิดวิกฤตทรัพยากรสัตว์น้ำ เกิดภาวะการจับปลาเกินขนาด คือจับเกินศักยภาพของทะเลหรือที่เรียกว่าโอเวอร์ฟิชชิง (over fishing)
สมมติแต่ละปีเราจับปูม้าได้ ๑๐๐ ตัน ซึ่งตามธรรมชาติจะมีลูกปูม้าเกิดใหม่ แต่เราไปใช้เครื่องมือทำลายลูกปูม้า ปีต่อ ๆ ไปแทนที่จะจับได้ ๑๐๐ ตัน ก็ลดเหลือ ๕๐ ตัน ๓๐ ตัน ๒๐ ตัน
เพราะจับเกินขนาด เกินอำนาจผลิตของทะเล ทั้งสามตัวจึงเป็นเครื่องมือทำลายล้างที่อารยประเทศเขาไม่ใช้
ผมยกตัวอย่างช่วงปี ๒๕๐๔ ตอนนั้นบ้านเรายังมีพันธุ์สัตว์น้ำจำนวนมาก ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติบอกว่าเราจับปลาในน่านน้ำไทยได้ชั่วโมงละ ๓๐๐ กิโลกรัม แต่ในปี ๒๕๕๔ เหลือเพียงชั่วโมงละ ๒๕ กิโลกรัม หรือ ๘ เปอร์เซ็นต์ของอัตราที่เคยทำได้เท่านั้น ชี้ชัดว่าพันธุ์สัตว์น้ำถูกจับเกินศักยภาพของทะเล
เราทำการประมงแบบทำลายล้างกันมาตั้งแต่เมื่อไร
ความเป็นมาของมันก็ตั้งแต่เรารับเอาเครื่องมืออวนลากจากเยอรมนีมาลากแผ่นตะเฆ่ราว ๆ ปี ๒๕๐๔ แล้วก็พัฒนาไปตามประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ส่วนเรือปั่นไฟเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เมื่อก่อนเขาปั่นไฟเรือไดหมึก ด้านล่างเรือติดอวนล้อม เวลาชาวประมงออกทะเลจะใช้ไฟจากตะเกียงเจ้าพายุล่อหมึกมาเล่นแสงไฟ ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้ไดนาโมปั่นไฟให้หลอดไฟกำลังสูง ๆ การใช้แสงไฟทำประมงก็เริ่มพัฒนามาตั้งแต่นั้น
จนถึงปี ๒๕๒๓ นายแพทย์บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลกรมประมงมองเห็นปัญหา จึงออกประกาศกฎกระทรวงให้ยกเลิกเรือปั่นไฟ ช่วงนั้นเรือปั่นไฟกลายเป็นเครื่องมือผิดกฎหมาย แต่ตอนปี ๒๕๓๙ เกิดการแก้ประกาศกฎกระทรวงให้กลับมาปั่นไฟได้อีก เลี่ยงบาลีว่าให้ใช้ได้กับอวนแค่สามชนิด คืออวนช้อน อวนครอบ อวนยก อ้างว่าเมื่อก่อนปั่นไฟแล้วใช้อวนล้อมทำลายเยอะ กับเหตุผลว่าต้องเอาลูกปลากะตักมากินบ้าง แต่ในทางปฏิบัติไม่มีใครตามไปตรวจถึงในทะเลว่าคุณช้อนหรือคุณครอบถูกต้อง เอาเข้าจริงคุณก็ยังล้อมเหมือนเดิม ฉะนั้นปัญหานี้ก็ยังคาราคาซังมาจนปัจจุบัน ยกเว้นอวนรุนเพิ่งยกเลิกไปเพราะถูกคำสั่งมาตรา ๔๔ ของรัฐบาล ทำให้การทำประมงโดยใช้อวนรุนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
คิดอย่างไรกับการใช้มาตรา ๔๔ ยกเลิกอวนรุน
มาตรา ๔๔ มีสองด้าน บางครั้งก็ไม่ละเอียดหลายเรื่อง เครื่องมือทำลายล้างที่มีสามตัว คุณยกเลิกแค่หนึ่งตัวคืออวนรุน รวมถึงโพงพาง ไซตู้ ไซนั่ง ซึ่งมันเล็กมาก ถ้าหากเทียบกับการทำลายของอวนลาก หมายความว่าคุณกำลังตีตัวเล็กสุด ถ้าเรียงลำดับความรุนแรงจากมากที่สุด จะเป็นอวนลาก เรือปั่นไฟ อวนรุน คุณออกมาตรการจัดการกับตัวที่ทำลายน้อยกว่า ปล่อยให้อีกสองตัวยังลอยนวล หมายความว่าอะไร ประเด็นคือทำไมคุณไม่กล้าแตะอวนลากกับเรือปั่นไฟ ในเมื่องานวิชาการระบุว่าอวนลากทำลายทรัพยากรมากที่สุด ทำไมไม่ใช้มาตรา ๔๔ จัดการกับอวนลากให้หยุดไปเลยแบบอินโดนีเซีย
มาตรา ๔๔ นำมาใช้เรื่องนี้ดี แต่คุณยังไม่สะเด็ดน้ำ มีงูพิษสามตัว งูกะปะ งูเห่า งูจงอาง คุณตีตัวเดียวคืองูกะปะ ปล่อยให้ตัวอื่นกัดคนตายทำไม
ผมตั้งข้อสังเกตว่ามันไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจปลาป่นใช่หรือเปล่า เกี่ยวข้องกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่คุณไม่กล้าแตะต้อง เกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เจ้าของโรงงาน แพปลา เจ้าของร้านปลาป่น ใช่หรือเปล่า นี่คือคำถาม
ทำไมคุณถึงเห็นว่าการใช้อวนลาก เรือปั่นไฟ เชื่อมโยงกับธุรกิจปลาป่น
คือที่สงขลามีโรงงานปลาป่นเยอะ เวลาเราไปดูที่ท่าเรือก็เห็นว่าเขาเอาลูกปลาตัวเล็ก ๆ ไปขายโรงงานปลาป่น ตามไปดูที่โรงงานก็รู้ว่ามันคือโปรตีนที่ผสมในอาหารสัตว์ เอาไปผสมกับข้าวโพดคือคาร์โบไฮเดรต ใส่วิตามิน ยาปฏิชีวนะ กลายเป็นอาหารไก่อาหารหมู ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อซีพี เบทาโกร ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหญ่โตในประเทศนี้
เราเห็นเส้นทางของลูกปลาตัวเล็ก ๆ ที่ถูกจับจากเครื่องมือทำลายล้างว่ามันถูกลากไปที่ไหน จากท่าเรือเขาขนกันออกไปเป็นรถสิบล้อ สมัยก่อนรถจะวิ่งผ่านเมืองก็เหม็นกันทั้งเมือง ของเจ้าพ่อทั้งนั้น ถึงโรงงานทำปลาป่นแล้วบริษัทอาหารสัตว์ก็มารับซื้อไปอีกทอด
อย่างไรก็ดีคุณต้องให้ความเป็นธรรมว่าปลาป่นมีสองแบบนะ คือ by catch และ by product คำว่า by catch คือลูกปลาตัวเล็ก ๆ ถูกจับมากับเรืออวนลาก อวนรุน ส่วน by product ต้องอธิบายว่าประเทศไทยมีธุรกิจอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดและมีสาขาทั่วโลกคือไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ผู้ผลิตทูน่ากระป๋องซีเล็คทูน่า ถึงแม้ว่าปลาทูน่าที่ใส่กระป๋องจะไม่ได้จับจากน่านน้ำไทยเป็นหลักก็ตาม แต่ส่วนหัว หาง ลำไส้ของปลาทูน่าที่เหลือจากทำปลากระป๋องก็นำมาทำปลาป่นได้ ส่วนนี้ไม่ทำร้ายสัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะใช้เศษปลาตัวใหญ่มาทำปลาป่น
เพราะฉะนั้นถ้าตอบโจทย์ให้ตรง คุณต้องเลิกปลาป่น by catch เปลี่ยนมาใช้ by product เท่านั้น แต่วันนี้รัฐบาลยังปล่อยให้ทำปลาป่น by catch
เมื่อช่วงต้นปี ศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้บริหารเครือซีพี เดินทางลงพื้นที่ดูงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งของเครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้กับเรา ก่อนหน้านั้นเขาเคยประกาศต่อสาธารณะว่าในปี ๒๕๕๙ บริษัทจะลดการใช้ปลาป่น by catch ลง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ และในปี ๒๕๖๐ จะลดลง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หันไปใช้ปลาป่น by product และถ้าผลิตอาหารสัตว์ไม่พอก็จะนำเข้าแทน นี่คือข้อตกลงของเขาที่เราต้องรอดู แต่ปัญหาคือยังมีอีกหลายบริษัทที่ต้องการปลาป่นมาประกอบอาหารสัตว์และส่งออก ไม่ว่าเบทาโกร ลีพัฒนาฯ กรุงไทยอาหารสัตว์ ถึงซีพีไม่รับซื้อปลาป่น แต่ก็ยังมีบริษัทอื่นที่ยังไม่หยุด การทำลายสัตว์ทะเลยังเหมือนเดิม นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยประกาศ ถ้าปลาป่นในประเทศเหลือเพราะซีพีไม่รับเขาก็จะส่งออก คนรอซื้อมีอยู่แล้วไม่ว่าญี่ปุ่น เกาหลี ฉะนั้นปัญหานี้แก้ไม่ครบวงจร ทางออกคือหยุดต้นทางของวัตถุดิบ ให้เหลือแค่ปลาป่น by product อย่างเดียว ใช้ในประเทศเรา ๓ แสนตันก็น่าจะพอ ส่วน ๑.๙ แสนตันที่เคยส่งออกต้องหยุด ปลาตัวเล็ก ๆ จะได้โตขึ้นมาเป็นอาหารคนไทย โรงงานปลาป่นคุณก็ต้องเจ๊งไปเพราะว่าคุณทำร้ายคนอื่น มันขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐว่าคุณจะทำร้ายทะเลต่อไปหรือเปล่า
ประเมินว่าแต่ละปีเราต้องสูญเสียพันธุ์สัตว์น้ำสำหรับทำปลาป่นมากแค่ไหน
นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยพูดเองว่าเขามีกำลังผลิตปลาป่นได้ปีละ ๕ แสนตัน นี่คือที่กลายเป็นปลาป่นแล้วนะ ลองคำนวณเล่น ๆ ว่ากว่าจะมาเป็นปลาป่น ๕ แสนตัน ลูกปลาลูกปูหมดไปเท่าไร
เมื่อปีที่แล้วมีสถิติว่าปลาป่น ๑.๙ แสนตันส่งออกไปญี่ปุ่นเกาหลี นี่เราบริโภคกันเองในประเทศยังไม่พอ ทำลายอาหารของคนอื่นแล้วส่งออกอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ถ้าเราไม่รีบจับลูกปลาพวกนี้ ปล่อยให้โตแล้วค่อยจับด้วยเครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายล้าง อาหารทะเลก็จะล้นไปถึงเชียงราย ขอนแก่น ไม่กลายเป็นอาหารของชนชั้นสูงเพราะว่าแพง ทุกคนจะมีโอกาสกินอาหารทะเลเหมือนกัน กุ้ง หอย ปู ปลามันเลี้ยงสังคมได้
เคยมีความพยายามยกเลิกอวนลากมาแล้วตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๒๓ เหตุใดจึงไม่ประสบความสำเร็จ
กรมประมงรู้มาตั้งนานแล้วว่าถ้าปล่อยให้ใช้อวนรุน อวนลาก ทะเลไทยเละแน่ แต่ก็มีข้อเสนอแบบละมุนละม่อมว่าจะใช้วิธีไม่ต่อทะเบียน ไม่ต่ออายุอาชญาบัตรให้เรือประมงที่เก่าแล้ว ปรกติเรือประมงอายุเฉลี่ย ๑๐-๑๒ ปี เขาคิดว่าเดี๋ยวเครื่องก็พัง ปล่อยให้ทำกินไปก่อน เมื่อผุพังแล้วถึงห้ามต่อทะเบียนใหม่ คิดว่าใช้วิธีนี้เรืออวนรุน อวนลากจะหมดไป แต่เอาเข้าจริงเราไม่เข้มงวดพอ บอกว่าห้ามต่ออายุอาชญาบัตรก็ให้ต่อ ปล่อยให้มีการลักลอบต่อเรือเพิ่ม กลายเป็นเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน บางคนเคยมีเรือหนึ่งลำมาต่อเป็นห้าลำ คุณก็ขึ้นทะเบียนให้ พอรัฐบาลจะเอาจริง คนกลุ่มนี้ก็ตั้งท่าเดินขบวนกันนิดหน่อย แล้วรัฐบาลก็อนุญาตให้นิรโทษกรรม ให้เรือสวมทะเบียนกลายเป็นเรือขึ้นทะเบียนใหม่
ที่ผ่านมาเรานิรโทษกรรมให้เรืออวนลาก เรือเถื่อน เรือสวมทะเบียนที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมายมาแล้วถึงสี่ครั้ง นี่คือปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ทะเลไทยถึงย่อยยับ เพราะเราไม่ยึดวิชาการในการบริหาร ขณะที่นักวิชาการบอกว่าต้องหยุดอวนรุน อวนลาก ไม่งั้นทะเลไทยแย่ แต่คนคุมกฎไม่สนใจ มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง คือนักการเมืองมาจากธุรกิจประมง มีความสัมพันธ์กับธุรกิจอาหารสัตว์ ซึ่งบ้านเราก็รู้ว่าใครใหญ่ ใครที่คุมพรรคการเมืองทุกพรรค แล้วเรื่องอะไรเขาจะยกเลิกอวนรุน อวนลาก เขาสนับสนุนให้ใครเป็นรัฐบาลก็เพราะต้องการให้ช่วยเรื่องนี้
ผมมีเพื่อนที่เป็นกลุ่มทุนธุรกิจใกล้ชิดนักการเมือง คนเหล่านี้เป็นผู้กว้างขวาง อาจไม่ใช่เป็นผู้มีอิทธิพลนะ แต่เป็นกลุ่มธุรกิจที่หากินกับทะเล เขาไม่สนใจหรอกว่าจะมีใครมาจับเขา ถ้าเขาอยากต่อเรือใหม่เขาก็ต่อ เพราะรู้ว่าเมื่อถึงรัฐบาลหน้า เขาจะเรียกร้องให้นิรโทษกรรมได้สำเร็จ ยิ่งนิรโทษกรรมก็ยิ่งทำให้กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ ปลาป่นเติบโต ปลาตัวเล็ก ๆ ที่ควรจะโตขึ้นมาเป็นอาหารของคนส่วนใหญ่ถูกทำลาย
การคัดค้านรณรงค์อะไรต่าง ๆ ส่งผลกระทบกระทั่งอะไรกับตัวคุณเองบ้างไหม
แรงสุดคือถูกจ้างวานฆ่า ตอนนี้คนจ้างวานก็ยังไม่ตายแต่มือปืนติดคุก สมัยรณรงค์ปิดอ่าวไม่ให้จับปลากะตักก็โดนเผาหุ่น โดนฉี่รดหุ่นก็มี เป็นธรรมดา อย่างล่าสุดรณรงค์เห็นด้วยกับมาตรการของสหภาพยุโรปก็มีโทรศัพท์มาขู่ ปรากฏว่าคนโทร.ใช้เบอร์บ้าน พอเช็กดูเราก็รู้ว่าใคร โทร.กลับไปภรรยาเขาก็รับ คิดว่าเขาคงเมาแล้วโมโหมาก พรรคพวกบอกให้แจ้งความ แต่เราให้อภัย เอาเบอร์โทรศัพท์ไปลงเฟซบุ๊กก็พอแล้ว
เพราะเกี่ยวกับธุรกิจที่มีผลประโยชน์สูงมาก
เราคัดค้านเรื่องนิรโทษกรรมเรืออวนลาก เขาเองมีสิทธิ์โกรธ คิดแบบปุถุชน บางคนมีเรือสี่ห้าลำ ลำละ ๒๐ ล้าน รวมเป็นเงินเท่าไร แล้วเรือนี้พัฒนาคู่มากับโรงงานน้ำแข็ง โรงงานห้องเย็น แพปลา กิจการพวกนี้เจ๊งกันระนาว เพราะเราไปรณรงค์ให้ยกเลิกเครื่องมือทำลายล้าง ซึ่งกลุ่มที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นประมงพาณิชย์ เป็นอาชีพที่อยู่มานาน สืบทอดมารุ่นลูกรุ่นหลาน การรณรงค์ของเราทำให้เขาเดือดร้อน การไม่ได้นิรโทษกรรมทำให้เรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน ๓,๐๐๐ ลำจาก ๒๒ จังหวัดต้องจอดอยู่ที่ท่า ส่วนหนึ่งเคยทำงานในน่านน้ำอินโดนีเซีย พออินโดนีเซียประกาศห้ามก็ต้องกลับมา จะขึ้นทะเบียนใหม่ก็ไม่ได้เพราะเจอมาตรการจากสหภาพ-ยุโรป
ในส่วนของสมาคมรักษ์ทะเลไทยมีแนวทางการทำงานอย่างไร
เวลานักการเมืองมาหาเสียง เราเคยยื่นข้อเสนอ แต่พอถึงเวลาก็ไม่เคยได้จริง สุดท้ายมาคิดว่าต้องเชื่อมโยงกับภาคประชาชน ขยายเครือข่ายชาวประมงให้มากขึ้นเพื่อเป็นพลังต่อรองกับนักการเมือง วางแผนก่อตั้งชมรมชาวประมง ให้ผู้นำแต่ละชมรมมารวมกันเป็นเครือข่าย เริ่มจากรอบทะเลสาบสงขลา แล้วขยับไปปัตตานี นครศรีธรรมราช ทำงานร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ เช่น สมาคมหยาดฝน มูลนิธิอันดามัน ที่มีกลุ่มเป้าหมายคล้ายกัน
เราคิดว่าถ้าจะให้ชาวประมงมีปากเสียงก็ต้องจัดตั้งองค์กรให้เขา เวลามีปัญหา ถึงเราจะพูดในนามนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ในบทบาทองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ดีที่สุดคือชุมชนแต่ละพื้นที่เขาต้องพูดเอง ต้องลุกขึ้นมาพูดแทนตัวเองให้ได้ ตามปรกติกลุ่มชาวบ้านกับเกษตรกรนั้นเขาไม่มีศักยภาพในการจัดตั้งองค์กร ไม่เหมือนพ่อค้านายธนาคาร คนจนต้องมีคนเข้าไปช่วย เราต้องเข้าไปจัดตั้ง ฝึกระเบียบ เรื่องประชาธิปไตยพื้นฐาน ไม่ใช่ให้ใครเป็นประธานไปจนตาย มีกติกา มีการระดมทุน มีระบบตรวจสอบบัญชีที่ทำให้องค์กรโปร่งใส ชุมชนก็เริ่มมีปากเสียง เริ่มมีผู้นำที่สามารถพูดนำเสนอปัญหาต่อสาธารณะ จากเมื่อก่อนหน้าเขาไม่มีที่ยืนในสื่อสาธารณะ ต้องให้นักการเมืองพูดแทน
ถึงวันนี้ถือว่าได้ในระดับหนึ่ง เรามีตัวแทนพูดในฐานะผู้นำสมาคมชาวประมงพื้นบ้านของจังหวัดต่าง ๆ เป็นตัวแทนระดับประเทศ เหมือนพวกอวนลากที่เขามีนายกสมาคมประมงอวนลากแห่งประเทศไทยซึ่งมีบ้านราคาร้อย ๆ ล้าน แต่นายกสมาคมของเรา คือคนที่มีบ้านมุงจาก จบ ป. ๔ ขับเรือกอและ พอผ่านการอบรมดูงานเขาก็โตขึ้นทุกวัน วันนี้เขาเป็นคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ตอบคำถามได้ทุกเรื่องที่เป็นปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน
เรามีอย่างนี้ ๒๒ สมาคม มีนายกฯ ๒๒ คนที่บอกได้ว่าจังหวัดตราดมีปัญหาอะไร ปัตตานีมีปัญหาอะไร ด้วยตัวเขาเองที่เป็นชาวประมงตัวจริง
ฟังดูแล้วคุณคิดว่าระบบการเมืองเชื่อถือไม่ได้
เราต้องมีอำนาจต่อรอง ไม่อย่างนั้นนักการเมืองก็จะไม่สนใจชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านไม่เกาะกลุ่มกันต่อรอง ในอดีตเขาไม่สนใจ เขามาเฉพาะช่วงหาเสียง แต่วันนี้ยกตัวอย่างกลุ่มออมทรัพย์มี ๓๐๐ คน มีสิทธิ์เลือกตั้ง ๒๐๐ กว่าคน ถ้าคุณแก้ไขปัญหาให้ ๒๐๐ เสียงนี้ก็จะหนุนคุณ
บทพิสูจน์คือสมัยก่อนพวก อบต. ไม่สนใจเรา เพราะชาวประมงเป็นคนกลุ่มน้อยในแต่ละอำเภอ อยู่ตามพื้นที่ติดชายทะเล แต่เมื่อเราตั้งชมรม เกิดกลุ่มออมทรัพย์ เขาก็จะเข้ามาถามว่าต้องการโต๊ะเก้าอี้อะไรไหม เขารู้ว่าต้องทำดีกับกลุ่มนี้
สมมติสงขลามี ๑๐ กว่าอำเภอ ติดทะเลแค่ ๖ อำเภอ ถือเป็นส่วนน้อย ถ้าตำบลหนึ่งมี ๑๐ หมู่บ้าน หมู่บ้านอื่นทำสวน ทำนา มีประมงแค่ ๒ หมู่บ้าน มันก็ไม่มีเสียง แต่พอจัดตั้งรวมเป็นเครือข่ายก็กลายเป็นเสียง นี่คือยุทธวิธีสู้กันทางการเมือง
ไม่ใช่เราไม่เชื่อระบบการเมือง แต่ระบบการเมืองที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการรักษาสมดุล มันจะไม่สนใจปัญหา หรือผู้มีอำนาจไม่รู้จะฟังจากใคร แล้วพอรวมกลุ่มกันบ่อย ๆ จะมีคนพูดปัญหาที่เหมือนกันเข้าไปในกลุ่มสมาชิก ทาง อบต. หรือจังหวัดจะเริ่มฟัง เพราะรู้ว่าถ้าไม่ฟังคนกลุ่มนี้ มันมีศักยภาพนะ เดี๋ยวมันออกมาเดินขบวน
เหมือนที่เราต่อสู้เรื่องพระราชกำหนดการประมง ๒๕๕๘ คุณปฏิวัติเข้ามา บอกห้ามเดินขบวน ชาวบ้านเขาไม่กลัวเลย ใน ๒๒ จังหวัดนัดกันไปศาลากลางฯ ได้ ๑๘ จังหวัด ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่านผู้ว่าฯ ก่อน ให้เวลา ๑ เดือน ถ้าผู้ว่าฯ ไม่ตอบก็ไปหน้ากระทรวงเลย แน่นอนเราโดนคดีเพราะเป็นการชุมนุมเกินห้าคน แต่ชาวบ้านไม่กลัว มันทะลุความกลัวไปแล้ว เราไม่ได้เล่นการเมือง ไม่ได้มาล้มรัฐบาล เรามาบอกสิ่งที่คุณทำผิดพลาด ตำรวจมีหน้าที่ออกหมายเรียกว่าชุมนุมกันเกินห้าคน ผมก็ไปโรงพัก มันทะลุความกลัวไปแล้วเพราะเป็นเรื่องทำมาหากิน
สมาคมฯ วางบทบาทหน้าที่ไว้ด้านไหนอีก
หน้าที่ของเราคือทำให้สาธารณะเข้าใจ ปัจจัยแวดล้อมอะไรที่เชื่อมโยงกัน ต้องให้ความรู้เรื่องปลาป่น บริษัทอาหารสัตว์ใหญ่ ๆ ว่ามีส่วนทำร้ายทะเลอย่างไร ต้องรับผิดชอบอย่างไร สมาคมฯ ของเราเป็นสมาคมเล็ก ๆ หน้าที่ของเราคือต้องทำให้ชาวบ้านรู้ เมื่อชาวบ้านรู้ จากคนทั้งประเทศ ๖๐ ล้านคน ถ้ามีคนกินปลาสัก ๑ ล้านคนเข้าใจเรื่องนี้ก็จะมาช่วยกันกดดันรัฐบาล หนึ่งในยุทธวิธีของเราคือเพจเฟซบุ๊ก “รวมพลคนกินปลา” ซึ่งตอนนี้มีสมาชิก ๙ หมื่นกว่าคน โพสต์เรื่องกินปลา เรื่องอาหาร บางทีก็มีเรื่องหลั่นล้าบ้างแทรกเข้าไป
เฟซบุ๊กช่วยงานรณรงค์ของคุณอย่างไร
ถ้าไม่มีเฟซบุ๊ก เราจะไม่มีสื่อในมือ เมื่อก่อนเราต้องรอหนังสือพิมพ์ รอทีวี เราไม่มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เราสามารถตอบโต้อย่างทันท่วงที ไม่ใช่รณรงค์เรื่องประมงอย่างเดียว ยังให้ข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาของชาวบ้าน สมมติวันนี้สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยออกมาบอกว่ากำลังจะส่งออกเท่านั้นเท่านี้ เราก็เอาข้อมูลของปีที่แล้วมาตอบโต้ทางเฟซบุ๊กได้เลย คนชี้ขาดคือสังคม เขาจะตรวจสอบเองว่าถูกหรือผิด แต่ถ้าเรารอสื่อมาเขียนบทความ ต้องใช้เวลาเยอะและช้า ทั้งเฟซบุ๊กหรือไลน์เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
แล้วจะโน้มน้าวให้คนทำอวนรุน อวนลาก เลิกได้ไหม
คนที่ด่าเราแรง ๆ จะบอกว่าเราไปทำลายอาชีพเขา เขาทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ความจริงกลุ่มประมงพื้นบ้านใช้เครื่องมืออวนรุนอวนลากจับสัตว์น้ำเหมือนกัน บางหมู่บ้านมีอวนรุน ในทะเลสาบสงขลาก็มีอวนรุน แต่ขนาดมันเล็ก อาจใช้ไม้ไผ่เป็นคันรุน ขณะที่ประมงพาณิชย์ใช้คันรุนขนาดใหญ่ เรือ ๒๐ ตันกรอสขึ้นไปอาจใช้คันรุนเท่าต้นมะพร้าว เป็นท่อนเหล็กยาว ข้างหนึ่งราคาแสนกว่าบาท ปะการังเทียมที่กรมประมงวางไว้บนพื้นก็เอาไม่อยู่
คนที่ใช้อวนลาก อวนรุน จะบอกว่าเราทำลายอาชีพเขา แต่บางคนอินบ็อกซ์มาคุยดี ๆ ก็มี เราให้ข้อมูลที่เขาปฏิเสธไม่ได้ ถามว่าเมื่อก่อนคุณออกทะเลไปกี่ไมล์ ใช้เรือกี่แรง ได้ปลากี่กิโล มาวันนี้คุณต้องเพิ่มเป็นเท่าไร ต้องเปลี่ยนเรือลากอวนจากเรือเดี่ยวเป็นเรือคู่เพราะอะไร เขาก็เล่าว่าตอนนี้ลำเดียวไม่พอ ปลาในทะเลน้อยลง วิธีที่จะจับปลาได้เท่าเดิมหรือมากขึ้นก็ต้องเพิ่มศักยภาพของเครื่องมือทำประมงให้แรงขึ้นด้วย
นี่เป็นสิ่งชี้วัดว่าที่คุณบอกว่าเมื่อก่อนออกทะเลไป ๒๐ ไมล์ก็ได้ปลาแล้ว วันนี้คุณไม่ได้แล้วนะ แต่คุณแย้งว่าถ้าให้ใช้เครื่องมือแบบเดิมจับ ลูกเมียจะกินอะไร หนี้สินยังมี บางคนลูกน้องมีตั้ง ๒๐-๓๐ คนจะให้เอาไปไว้ที่ไหน ถามว่าเราเปลี่ยนใจคนทำอวนรุนอวนลากได้บ้างไหม ก็มีบางคนที่เคยทำอวนลากตอนนี้มาเป็นแกนนำของเรา คนที่เป็นไต๋เรืออวนลากมาก่อน บางคนเข้ามาสารภาพในเพจเฟซบุ๊ก “รวมพลคนกินปลา” ว่าผมเคยทำมานะ แล้วก็กลายเป็นคนแจ้งข้อมูล คอยชี้เป้าว่าตอนนี้ยังมีใครทำ ทำที่ไหน
ได้ข่าวว่าประสบความสำเร็จเรื่องสนับสนุนให้ชาวบ้านทำโครงการธนาคารปูและการเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำ
ธนาคารปูเป็นหนึ่งในกิจกรรมฟื้นฟูชุมชนประมงที่เราทำงานด้วย เริ่มต้นจากการปลูกป่าชายเลน แล้วมาทำบ้านปลาจากทางมะพร้าว ความจริงสมาคมรักษ์ทะเลไทยไม่ใช่คนเริ่มทำธนาคารปู มันมีที่มาจากชาวบ้านเห็นว่าปูมีไข่ ก็จับมาใส่แกลลอนเพื่อปล่อยลูกปูลงสู่ทะเล ไม่นานประชากรปูก็มากขึ้น จากนั้นพัฒนารูปแบบมาเรื่อย ๆ เลี้ยงในทะเลยุ่งยากก็เอาขึ้นมาบนบก เรียนรู้เรื่องการนำน้ำเค็มมาพักในบ่อ ใส่แอร์ปั๊ม ดูลักษณะไข่สีเหลือง สีเทา สีดำ ว่าแยกกันอย่างไร สิ่งที่เป็นหัวใจคือทุกพื้นที่ที่มีธนาคารปูทำให้พันธุ์สัตว์น้ำโดยเฉพาะปูม้าเพิ่มจำนวนมากขึ้น
การทำธนาคารปูเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างมาก ที่สำคัญคือมันกระตุ้นจิตสำนึก ยกตัวอย่างที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อก่อนชาวบ้านไม่เคยมีกรรไกรออกทะเล เวลาพบแม่ปูไข่ติดอวนก็ดึงปูจนขาขาด ไม่ยอมให้อวนขาด แต่ตอนนี้เขายอมสละอวนตัวเอง ใช้กรรไกรคีบตัดเพื่อไม่ให้แม่ปูช้ำ จับมาใส่ธนาคารปูให้ฟักไข่จะได้ปล่อยลูกปูกลับสู่ทะเล แทนที่จะหักขาปูเพื่อรักษาอวนตัวเองเหมือนแต่ก่อน เราถือว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในเรื่องจิตสำนึกของชาวบ้าน
ตามธรรมชาติแม่ปูจะออกไข่เยอะมาก ประมาณ ๗ แสนฟอง มีอัตรารอด ๑๐ เปอร์เซ็นต์ นอกจากถูกปลาอื่นกินก็ต้องมาตายกับอวนรุน อวนลาก ส่วนที่ทำท่าจะรอดตัวขนาดเท่าหัวแม่โป้งก็ถูกกวาดไป ขนาดนี้เราก็ยังหาปูม้ากินได้ แล้วถ้าไม่ถูกกวาดจะมีปูมากขนาดไหน ดีไม่ดีส่งออกนอกได้ กุ้งแชบ๊วยหรือพันธุ์สัตว์น้ำอื่น ๆ ก็เหมือนกัน
คุณเชื่อว่าอาหารทะเลจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนไทย เป็นความมั่นคงทางอาหาร แต่ราคาหมูราคาไก่ก็ถูกกว่าอาหารทะเลมาก
อย่าลืมว่าโลกนี้มีน้ำถึงสามในสี่ส่วน อาหารโปรตีนที่ยั่งยืนของมนุษย์คือสัตว์น้ำ คืออาหารทะเล แล้วประเทศเราก็มีทะเล ลองดูตัวเลขพันธุ์สัตว์น้ำเมื่อปี ๒๕๒๘ เราเคยส่งออกติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก นั่นหมายความว่าเรามีล้นจนต้องส่งให้ประเทศอื่นกิน แต่อยู่ ๆ มันก็ถดถอยลงจนต้องนำเข้าปลาทูจากศรีลังกา อินโดนีเซีย เพราะอะไร วันนี้เรารู้แล้วว่าเพราะเครื่องมือทำลายล้าง ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราจัดการตั้งแต่วันนี้ คนไทยจะมีอาหารโปรตีนจากทะเลพอ แต่ถ้าเราบอกว่าไม่มีความหวัง หันไปกินไก่ขาว ไปกินหมูขุน มันก็เข้าทางบริษัทอาหารสัตว์ที่ขายหมู ไก่ ไข่
เพราะคุณเอาทะเลไปเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ แล้วคุณก็ซื้อไก่กิน วิธีคิดแบบนี้ทำให้หลายคนหมดหวังในทะเล ไม่สู้เรื่องทะเล เพราะคิดว่าสู้ไปก็ไม่มีหวัง แต่สำหรับผมและชาวประมงพื้นบ้าน เราทำงาน เรามีความหวัง เพราะเราพิสูจน์มาแล้วทีละหมู่บ้าน เราเห็นว่าสัตว์ทะเลกลับมา ไม่ว่าจะเป็นแหลมผักเบี้ย อ่าวประจวบฯ อ่าวปัตตานี นครศรีธรรมราช สงขลา แล้วเราเห็นว่าเขาเลี้ยงครอบครัวได้ หลายคนเริ่มต่อเรือลำใหม่ เริ่มต้นทำตลาดค้าขายเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร นี่ต่างหากคือความเชื่อมั่นที่เราว่าคนในประเทศนี้ทำได้
แต่หลายอย่างพัวพันกับปัญหาเชิงอำนาจและความยุติธรรมในสังคม
เหมือนเราพูดเรื่องปัญหาภูเขาหัวโล้น การบุกรุกพื้นที่ป่าเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด แต่เราไม่พูดเรื่องปัญหาการถือครองที่ดินของคนคนเดียวถึง ๖ แสนไร่ แล้วจะมีความหมายอะไร ไม่ว่านโยบายทวงคืนผืนป่า ไล่คนออกจากป่าลงมา ถามว่าจะให้เขาไปอยู่ไหน ในเมื่อคุณยอมให้คนคนเดียวมี ๖ แสนไร่ นักการเมือง ข้าราชการมีคนละหมื่น ๆ ไร่ แล้วคุณจะเอาชาวบ้านไปไว้ที่ไหน การแก้ปัญหาเขาหัวโล้นไม่ใช่แค่ไล่คนลงจากป่า ชาวเขามีปัจจัยการผลิตคือที่ดิน เมื่อคุณไม่มีระบบภาษีที่ก้าวหน้า ไม่คิดจัดการเรื่อง
ถือครองที่ดิน ไม่จัดการให้ครบวงจร ก็เลยมีคนถือครองที่ดินเป็นแสน ๆ ไร่ ถามว่าทุ่งนาแถวสุพรรณบุรีเป็นของคุณบรรหารเท่าไร แล้วคุณบรรหารทำนาที่ไหน ต้องให้ชาวนาทำใช่หรือไม่ ถ้าจัดการได้ การเอาคนลงจากป่าถึงจะชอบธรรม
ที่เราสนใจเรื่องข้าวโพด เพราะสุดท้ายข้าวโพดก็เป็นอาหารสัตว์เหมือนปลาป่น เพื่อนผมที่ทำมูลนิธิพัฒนาชนบทบอกว่าการปลูกข้าวโพดเพื่อพาณิชย์ทำให้ภูเขาหัวโล้น ทำลายป่า กลุ่มทุนเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ปัญหาคือคนในสังคมไม่รู้ เพิ่งจะเห็นชัดปีสองปีนี้ เพราะมีเฟซบุ๊ก มีสื่อออนไลน์ คนเห็นภาพเขาหัวโล้นแบบจะจะ ทั้ง ๆ ที่มันคงจะโล้นมานานแล้วแต่ไม่มีคนพูดถึง เมื่อต้นตอของปัญหามาจากกลุ่มเดียวกันก็ต้องผนึกกำลังกันหยุดยั้งให้ได้ แต่การหยุดเรื่องข้าวโพดยากกว่าประมง เพราะไปสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิต คือที่ดินของชาวบ้านต่างกับทะเลที่ไม่มีเจ้าของ คนอยู่นครศรีธรรมราชไปออกทะเลที่สงขลาไม่มีใครว่าอะไร แต่จะให้คนปลูกข้าวโพดไปอยู่ไหน การฟื้นเขาหัวโล้นให้กลับมาเขียวก็ไม่รู้ว่า ๓ ปี ๖ ปี ต้นไม้จะขึ้นมาแค่ไหน นี่คือความยุ่งยากระหว่างการฟื้นป่ากับฟื้นทะเลที่ต่างกัน ถ้ารัฐไม่แก้ปัญหาให้ครบวงจร ไม่แก้เรื่องการจัดสรรปันที่สำหรับเกษตรกร ตราบใดที่ยังมีคนถือโฉนดในมือเป็นแสนเป็นหมื่นไร่ก็คงยาก
หากหยุดประมงทำลายล้างได้สำเร็จ ทะเลไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวนานแค่ไหน
ให้อย่างต่ำ ๖ เดือน เพราะพันธุ์สัตว์น้ำบางชนิดใช้เวลา ๔ เดือนถึงจะโต อย่างปลาทูออกจากไข่ ๔ เดือนก็กลายเป็นปลาทู หนัก ๑๓ ตัวต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นปลาเก๋า ปลากะพง กว่าจะหนัก ๑ กิโลกรัมต้องใช้เวลาถึง ๑ ปี อย่างปูม้ากับปลาทูโตเร็วแค่ ๖ เดือน มันขึ้นกับพันธุ์สัตว์น้ำ ถามว่ากี่เดือนฟื้นก็แล้วแต่พันธุ์สัตว์น้ำชนิดไหน แต่ตามหลักวิชาการสัตว์น้ำหลายชนิดที่เรามีอยู่ ภายใน ๖ เดือนจะฟื้น นี่เป็นเรื่องจริง อย่างแถวอ่าวบางพัฒน์ จังหวัดพังงา ชาวบ้านรวมกลุ่มกันไล่เรืออวนลาก อวนรุนออกไป แผล็บเดียวกุ้งตาแฉะ กุ้งแชบ๊วยกลับมา คนที่เคยลากเรือท้ายตัดลำเล็ก ๆ ขึ้นเก็บแล้วเปลี่ยนไปทำงานก่อสร้างเพราะไม่มีสัตว์น้ำให้จับก็กลับมาออกทะเลใหม่ เราเห็นแล้วว่าถ้าจับเฉพาะตัวใหญ่ ๆ ไม่จับตัวเล็ก ทะเลจะฟื้นเร็วมาก
อย่างต่ำเราให้เวลา ๖ เดือน สูงสุดให้ ๑ ปีครึ่งสำหรับสัตว์บางชนิด อย่างปลาเก๋าเรารู้ว่าอัตราแลกเนื้อ ๑๐ ต่อ ๑ หมายความว่าปลาเก๋าต้องกินอาหาร ๑๐ กิโลกรัมเขาถึงจะโตจนมีน้ำหนัก ๑ กิโลกรัม และมีอายุประมาณ ๑ ปี แต่ทะเลไทยไม่ได้มีแต่ปลาเก๋า เรายังมีสัตว์น้ำชนิดอื่นอีกมากมาย ถ้าเป็นฝรั่งอาจต้องรอจนตายกว่าปลาแซลมอน ปลาค็อด จะกลับมา เพราะทะเลบ้านเขามีสัตว์น้ำอยู่ไม่กี่ชนิด ของเรากว่าปลาเก๋าจะโต ลูกปลาทูโตแล้ว ปูม้า กุ้งแชบ๊วยโตให้คุณจับได้นานแล้ว นี่คือความดีของทะเลบ้านเรา แค่หยุดทำลายสัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ และที่กำลังมีไข่
คนเมืองที่กินอาหารทะเลจะมีส่วนช่วยรักษาทะเลได้อย่างไร
เราต้องเข้าใจว่าทะเลยังมีความหวัง มันไม่ได้หมดหวัง ปรากฏการณ์ตอนนี้คือในตลาดมีแต่ปลานิลกับปลาทับทิม ปลาทะเลเริ่มหาย ราคาก็แพงขึ้น คนเมืองส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าสาเหตุคืออะไร ถ้าคนเมืองเข้าใจว่าวิกฤตอาหารทะเลมีสาเหตุที่แก้ได้ ทั้งปัญหาโครงสร้าง ปัญหานโยบาย ปัญหาประมงพาณิชย์ เครื่องมือทำลายล้าง แล้วช่วยกันกดดันให้รัฐบาลต้องปรับแก้ ไม่ยอมปล่อยให้ทะเลตกเป็นแหล่งวัตถุดิบของบริษัทอาหารสัตว์ ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามวลชนตื่น เขาก็จะตื่น
อีกส่วนหนึ่งคือวันนี้ชุมชนประมงหลายจังหวัดลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง มีอาหารทะเลส่งให้ผู้บริโภคในเมือง รับประกันคุณภาพสินค้า อาหารทะเลสด ๆ ไม่มีสารฟอร์มาลินเจือปน แล้วก็เริ่มมีคนช่วยสนับสนุนธุรกิจของชุมชนประมงพื้นบ้าน ไม่ว่าแพปลา แพปู ร้านคนจับปลา (Fisherfolk) ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่คนในเมืองหรือคนชั้นกลางช่วยได้
มีตัวอย่างน่าสนใจสองสามกรณี เมื่อ ๒ ปีที่แล้วเรือประมงพื้นบ้านประจวบฯ ล่มแปดลำ เราโพสต์เฟซบุ๊กว่าต้องรออีก ๒ เดือนกว่าจะได้ออกทะเล ปรากฏว่ามีคนโอนเงินเข้าบัญชีให้ทางสมาคมฯช่วยซ่อมเรือ ชาวบ้านลงแรงกัน แค่ ๑๕ วันก็ออกทะเลได้ หรือการมีขาประจำสั่งอาหารทะเลทุกเดือน ให้ส่งให้เดือนละครั้งแล้วแต่พันธุ์สัตว์น้ำที่จับได้ ไม่ผูกมัดว่าต้องส่งกุ้งแชบ๊วย ปูม้า มีอะไรก็รับ ส่งสินค้าไปเขาก็จ่ายเงินให้เรา นี่เป็นรูปธรรมที่คนเมืองช่วยกันสนับสนุน
ร้านคนจับปลาใช้แนวคิดอะไรในการทำงาน
วันนี้ร้านมีสี่สาขา สตูล นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ ทะเลสาบสงขลา และมีวางขายที่ร้านเลมอนฟาร์ม แนวคิดของร้านคือเราต้องการให้ผู้บริโภคได้ช่วยฟื้นฟูทะเล เริ่มจากทำให้เห็นว่าทะเลมีสัตว์น้ำให้คุณกินแน่นอน แต่ตามฤดูกาลนะไม่ใช่ตลอดปี อย่างปูมี ๓ เดือนแล้วจะเปลี่ยนเป็นกุ้ง ข้อ ๒ คือการบริโภคอาหารทะเลที่ปลอดภัย เราเคยทดสอบพบว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของหมึกในศูนย์การค้าแช่ฟอร์มาลิน บางคนกลัวอาหารทะเล บางคนแพ้โดยธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่แพ้สารเคมีโดยเฉพาะฟอร์มาลิน ร้านคนจับปลารับประกันเรื่องนี้ ไม่ใช้ฟอร์มาลิน และจะทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าทะเลไทยยังใช้ได้อยู่ เมื่อก่อนไม่เคยได้กินปลาอินทรี เดี๋ยวนี้คุณสั่งได้ เมื่อก่อนกุ้งแชบ๊วยแพงมากหรือหายากมาก เดี๋ยวนี้บางครั้งเราได้มาเป็นตัน นอกจากนี้ก็มีทำทัวร์พาไปดูทะเล ให้ผู้บริโภคเห็นการจับปลาในทะเลสาบ การจับกุ้งแชบ๊วย แพปลาทู หน้าตาเป็นอย่างไร เป็นอีกช่องทางให้สังคมเข้าใจวิถีชาวประมง
ตัวคุณเองเคยทำประมงเต็มตัวไหม
ไม่ เราเป็นลูกเกษตรกร พ่อแม่ทำนา ทำสวนยาง มาเริ่มจับเรื่องประมงตอนเรียนมหา’ลัย ไปออกค่ายแล้วประทับใจชาวประมงมุสลิม เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเรา ไปอยู่ในหมู่บ้านได้เรียนรู้ ได้ยินปัญหา เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างพุทธกับมุสลิม เห็นความล่มจมของทรัพยากร เห็นความลำบากที่เริ่มจะรุนแรงขึ้น เมื่อก่อนชาวประมงบ้านปากบางนาทับ (อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา) ที่ผมไปอยู่ด้วยมีสองขา ขาหนึ่งคือออกทะเล พอช่วงมรสุมออกเรือไม่ได้ก็จอดเรือแล้วมาทำนา ทำนามีข้าวกิน ออกทะเลมีปลากิน เหลือขายเป็นรายได้ ตอนหลังที่นาถูกกว้านซื้อไป เหลือขาเดียว บางคนอยากเพิ่มศักยภาพก็ทำอวนลาก ต้องเอาเรือไปจอดที่ท่าเรือสงขลา เพราะเรือใหญ่เข้าในคลองไม่ได้ จอดเรือนอกหมู่บ้านต้องส่งลูกชายไปนอนเฝ้าเรือ ก็เริ่มมีปัญหายาเสพติด ส่วนใครอวนลากลำเล็กกว่าคนอื่นก็เริ่มเจ๊ง ต้องเปลี่ยนอาชีพ ไปมาเลเซีย ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ช่างรับเหมา แรงงานรับจ้าง จากคนจับปลาให้คนอื่นกิน ชีวิตกลับแย่ลง อาหารทะเลไม่เคยถูกลง แต่ว่าทะเลไม่มีปลา เห็นอย่างนี้แล้วเราจะทิ้งเขาไปได้อย่างไร จากตอนแรกตั้งใจจะไปทำอย่างอื่นก็อยู่ยาวเลย จาก ๓-๔ ปีกลายเป็น ๓๐ ปีจนปัจจุบัน
เป้าหมายในชีวิตช่วงต่อไป
เรามาจากเกษตรกร เป้าหมายชีวิตวางไว้ว่าอยากเป็นเกษตรกร อยู่ตรงนั้นน่าจะมีความสุข ทำสวน ทำไร่ ทำนา ปลูกข้าวกินเอง ไม่ต้องซื้อข้าวสาร เลี้ยงไก่ เราอาจโชคดีที่พ่อแม่ทิ้งสวนทิ้งนาไว้ให้บ้าง ไม่ต้องดิ้นรนมีเงินเดือนเพื่อไปหาซื้อที่ พอถึงจุดหนึ่งอายุมากขึ้นก็อยากกลับไปตรงนั้น เราไม่ได้วางแผนไต่บันไดดารา วางเป้าชีวิตเดินลงข้างล่าง ง่ายกว่าวิ่งขึ้นข้างบน ถ้าเราวางเป้าว่าจะต้องมีเงิน ๑๐ ล้าน ๒๐ ล้าน ชีวิตอาจเครียดกว่านี้ แต่เรามาเครียดเรื่องวิถีการต่อสู้ให้พี่น้องที่ด้อยโอกาส สู้ได้แค่ไหนก็แค่นั้น เพราะไม่ใช่ความใฝ่ฝันที่จะสร้างความร่ำรวย เราวางแผนลงข้างล่างซึ่งมีฐานรันเวย์อยู่แล้ว แค่เอาเครื่องบินลงจอดก็เลยไม่ค่อยเครียดเท่าไร
สู้ไม่ได้ก็กลับบ้านไปนอนเลียแผล มีแรงลุกขึ้นมาซัดกับมันต่อ