เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ฝ่ายภาพสารคดี

สานฝันไว้ที่ปลายคอร์ตบ้านทองหยอด จากโรงงานขนมไทยสู่โรงเรียนแชมป์โลกแบดมินตัน

หนึ่งเดือนก่อนมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติจะอุบัติขึ้น

โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดจัดงานแถลงข่าว “การเตรียมตัวเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ๒๐๑๖ ของนางสาวรัชนก อินทนนท์” หรือ “น้องเมย์” นักแบดมินตันหญิงอันดับ ๑ ของไทย

“เราวางแผนล่วงหน้าเพื่อฝึกซ้อมทั้งในและนอกสถานที่ คือที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดและเขาใหญ่ จากนั้นไปเก็บตัวที่สโมสรราชพฤกษ์ ตารางซ้อมยังเหมือนเดิม คือ เช้า กลางวัน เย็น ต่อจากนั้นจะกลับมาอยู่ที่โรงเรียนแบดมินตันบ้าน-ทองหยอด แล้วเดินทางไปซ้อมต่อที่ประเทศบราซิล ระหว่างนั้นเราจะพูดคุยกับทีมงานว่าอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบการซ้อมไปเรื่อย ๆ” โค้ชเป้ ภัททพล เงินศรีสุข อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ผู้บริหารโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด แถลงต่อสื่อมวลชนไม่น้อยกว่า ๔๐ สำนัก

“สนามแบดมินตันในโอลิมปิกน่าจะมีลมจากเครื่องปรับอากาศ ลูกขนไก่น่าจะวิ่งเร็ว เราจึงเน้นซ้อมเทคนิค แท็กติก ความแม่นยำ รวมถึงทักษะทางฟุตเวิร์กคือเรื่องขา น้องเมย์จะต้องอาศัยความเร็วออกตัวเข้าหาลูก เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการเล่น ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะพยายามให้น้องเมย์ซ้อมทุกรูปแบบก่อนการแข่งขัน” โค้ชเป้วิเคราะห์ต่อไป

ด้านนักแบดมินตันสาวที่นั่งสงบเสงี่ยมอยู่ข้าง ๆ กล่าวว่า “สภาพร่างกายตอนนี้อยู่ที่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ เมย์ยังมีอาการบาดเจ็บ แต่ไม่มีปัญหาในการซ้อม เราพยายามซ้อมให้เต็มที่ เพราะทุกวินาทีนับจากนี้มีค่า”

เมื่อ ๔ ปีก่อน เมย์-รัชนก เคยเดินทางไปโอลิมปิกเกมส์ที่ลอนดอน ด้วยคำอวยพรจากทุกคนว่าทำให้เต็มที่ แต่มาวันนี้เธอกำลังจะบินไปบราซิลพร้อมความคาดหวังว่าต้องคว้าเหรียญรางวัลกลับมา

หลายปีที่นักแบดฯ สาวทำให้กีฬาแบดมินตันเป็นที่รู้จักในเมืองไทย

หลายต่อหลายปีที่เธอสร้างและทำลายสถิติของตัวเอง

ไม่ว่าแชมป์แบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลกสามสมัยที่อายุน้อยที่สุดในโลก แชมป์รายการซูเปอร์ซีรีส์ติดต่อกันสามรายการ แชมป์โลกแบดมินตันที่อายุน้อยที่สุดในโลก ตำแหน่งนักแบดมินตันหญิงมือวางอันดับ ๑ ของโลก เมย์-รัชนกผู้นี้เคยผ่านมาหมด

แต่จนบัดนี้เธอก็ยังมีฝัน
ฝันที่กำลังจะเดินทางมาให้ไขว่คว้าในอีกไม่กี่วัน
ฝันที่เธอรู้ว่ายังมีใครหลายคนยืนอยู่เคียงข้างเธอ

thongyod02

รัชนก อินทนนท์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันแถลงข่าว การเตรียมตัวเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ๒๐๑๖ แน่นอนว่าความฝันอันยิ่งใหญ่นี้มีหลายคนอยู่เบื้องหลัง

thongyod05

โค้ชเซี่ยจือหัว อดีตนักแบดมินตันทีมชาติจีน โค้ชจีนคนแรกของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ผู้วางรากฐานการฝึกสอนและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬา

ภาค ๑
โรงเรียนแบดมินตัน

 

รุ่งอรุณแห่งคอร์ตแบดฯ

แสงสีทองของพระอาทิตย์ตกกระทบเส้นขอบฟ้าและสาดลงมายังแผ่นป้ายรูปทองหยอดสองเม็ด

นักกีฬาที่มากิน นอน ซ้อมตีแบดฯ เพิ่งเสร็จจากการซ้อมรอบเช้า

รูปทองหยอดวางคู่กันเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ริมถนนพุทธมณฑลสาย ๓

ทุกวันหลังการซ้อมรอบตี ๕ ครึ่งถึง ๗ โมงเช้าของนักเรียนแบดมินตันกลุ่ม “นักกีฬา” แต่ละคนจะรีบอาบน้ำ แต่งตัว แล้วขึ้นรถตู้ที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดจัดไว้ให้เพื่อเดินทางไปเรียนหนังสือ

อาจเป็นโรงเรียนกสิณธรอาคาเดมี่ หรือโรงเรียนอัสสัมชัญ-ธนบุรีที่อยู่ละแวกเดียวกัน

ชีวิตประจำวันของนักกีฬาแบดมินตันโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดวนเวียนอยู่ไม่กี่อย่าง คือ ลุกจากเตียงขึ้นมาซ้อม จากนั้นออกไปเรียนหนังสือ เลิกเรียนกลับมาซ้อม ทำการบ้าน นอน แล้วตื่นมาซ้อมรอบเช้าอีกครั้ง

โปรแกรมการซ้อมเข้มข้นอย่างนี้ตลอดสัปดาห์ ลากยาวไปถึงวันหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ที่มีการซ้อมทั้งรอบเช้าและบ่าย จะได้หยุดพักก็แค่วันจันทร์

ขณะที่นักเรียนกลุ่ม “พื้นฐาน” อายุตั้งแต่ ๕ ขวบขึ้นไปนั้นเดินทางไปกลับ มาซ้อมตั้งแต่วันอังคารถึงศุกร์ เวลา ๕ โมงเย็นถึง ๑ ทุ่ม และวันเสาร์-อาทิตย์มีให้เลือกเรียนอีกสามรอบ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้พักค้างคืนที่โรงเรียน

แรงบันดาลใจในการก่อตั้งโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดเกิดจากความรักความชอบกีฬาแบดมินตันของ กมลา ทองกร เจ้าของกิจการขนมไทย

กมลาหรือที่คนรอบข้างเรียกว่า แม่ปุก บอกว่า ตนใฝ่ฝันจะได้เล่นแบดมินตันมาตั้งแต่เด็ก ชอบถึงขนาดอยากเป็นนักกีฬา แต่ความฝันก็หลุดลอยไปเพราะทางบ้านฐานะไม่ค่อยดี

“ไม้แบดมินตันอันหนึ่งก็ไม่ใช่ว่าถูก ลูกขนไก่ก็แพง ตีเสียแล้วเสียเลย ไม่เหมือนลูกเทนนิสหรือตะกร้อที่ลูกเดียวใช้ได้นาน”

อย่างไรก็ตามแม่ปุกกล่าวถึงข้อดีของกีฬาชนิดนี้ว่า “มันดีตรงที่ไม่มีการปะทะกันโดยตรง นักกีฬายืนอยู่คนละฝั่ง ถ้าเรามีเวลาว่างเมื่อไรก็เล่นได้เมื่อนั้น เพราะสนามเปิดไฟให้สว่างได้ หรือถ้าฝนตกก็อยู่ในร่ม”

เมื่อแม่ปุกกับสามีเริ่มต้นกิจการขนมไทยจึงสนับสนุนให้ลูก ๆ ทั้งสามคนเล่นแบดมินตัน ถึงแม้ความจริงฐานะของทั้งคู่จะยังไม่สู้ดี

กิจการโรงงานขนมไทยบ้านทองหยอด (ชื่อเดียวกับโรงเรียนแบดมินตัน) ยังเป็นกิจการเล็ก ๆ ที่ทำกันเองในครอบครัว

ภัททพลลูกชายคนโตเล่าว่า “ชีวิตวัยเด็กของพวกเราไม่เหมือนเด็กทั่วไปที่จะมีเวลาไปเล่นซนกับเพื่อน พ่อและแม่ของเราทำขนมไทย ไม่ค่อยมีเวลา แต่กลายเป็นว่าเวลาที่ท่านยุ่งท่านให้เราไปตีแบดฯ”

สนามแบดมินตันแห่งแรกที่ภัททพลกับน้อง ๆ มีโอกาสจับไม้แบดมินตันคือคอร์ตบางขุนเทียนแถวถนนเอกชัย ส่วนที่บ้านได้สร้างคอร์ตแบดฯ ไว้หนึ่งคอร์ตด้านหลังติดกับโรงงานทำขนม

ภัททพลเล่าว่า “เป็นคอร์ตแบดมินตันที่เล่นกันในครอบครัวและเพื่อน ๆ รวมถึงพนักงานด้วย”

จากที่แม่ปุกและสามีคิดให้ลูกทั้งสามคนเล่นแบดมินตันเพราะทั้งสองต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลา และเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี ปรากฏว่าเส้นทางสายนี้ของลูกทั้งสามคนทำท่าว่าจะไปได้สวย เมื่อพาลูกไปแข่งขันแล้วได้รับเหรียญรางวัล

ทั้งคู่จึงตัดสินใจจ้างโค้ชแบดมินตัน คืออาจารย์พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ์ อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย และสร้างสนามแบดมินตันไว้ตีเล่นที่บ้าน โดยชักชวนลูก ๆ ของคนงานมาตีด้วย

ด้วยนิสัยทุ่มเท เอาจริงเอาจัง ครั้งหนึ่งแม่ปุกต้องการพาเด็ก ๆ ไปแข่งขัน แต่กลับหาต้นสังกัดสโมสรแบดมินตันเพื่อส่งรายชื่อไม่ได้ เธอจึงตัดสินใจก่อตั้งชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

แม่ปุกผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานชมรมให้เหตุผลของการใช้ชื่อนี้ว่า เพราะกิจการขนมไทยเป็นอาชีพของครอบครัว และยังสื่อถึงความเป็นไทย

จากที่เคยซ้อมโดยใช้หนึ่งสนามภายในบ้านเป็นหลัก เมื่อคนมากขึ้นจึงขยับขยายไปซ้อมที่คอร์ตแบดมินตันหรรษาย่านหนองแขม เมื่อคนเยอะขึ้นอีกก็ย้ายไปใช้อาคารยิมเนเซียมของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ขณะนั้นมีจำนวนหกคอร์ต

ระหว่างนั้นอาจารย์พรโรจน์ต้องไปรับราชการที่ต่างจังหวัด จึงแนะนำให้แม่ปุกหาโค้ชแบดมินตันคนใหม่ที่ทำงานให้ชมรมได้เต็มเวลา  แม่ปุกตัดสินใจติดต่อสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งในเวลานั้น สง่า เมฆนาวิน เป็นเลขาธิการสมาคม เขาช่วยประสานไปยังสมาคมแบดมินตันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเลิศด้านกีฬาแบดมินตัน เพื่อขอตัวโค้ชชาวจีนมาฝึกสอนในประเทศไทย

สมาคมแบดมินตันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งประวัติ เซี่ยจือหัว (Xie Zhi Hua) มาให้พิจารณา

แม่ปุกเล่าว่า “แม่ปุกอ่านประวัตินักกีฬาแบดมินตันทีมชาติคนนี้เสร็จก็ตกลงทำสัญญาว่าจ้างทันที ส่งตั๋วเครื่องบินไปให้ แล้วทำสัญญากันแบบปีต่อปี อยู่กันมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ๒๔ ปีแล้ว”

เซี่ยจือหัว หรือโค้ชเซี่ย ชาวจีนร่างใหญ่ เริ่มตีแบดมินตันตอนอายุ ๘ ขวบ เมื่ออายุ ๑๔ ปีก็ติดทีมมณฑลหูเป่ย์ และติดทีมชาติจีนในเวลาต่อมา

ภายหลังการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ๑๙๙๒ ที่ประเทศสเปน เขายังคงอยู่ในแคมป์ทีมชาติ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ลงเล่นมากนัก ส่วนใหญ่มักรับหน้าที่เป็นคู่ซ้อมหรือคู่ตีให้นักแบดมินตันทีมชาติคนอื่น ๆ จึงคิดว่าหลังจากรับใช้ชาติมานาน น่าจะหาโอกาสทำเพื่อตัวเองบ้าง

โค้ชเซี่ยเล่าว่า “ตอนนั้นเรายังเป็นนักกีฬา บอกโค้ชว่าอยากไปทำงานต่างประเทศเพราะรายได้ดีกว่า โค้ชก็ดูว่ามีประเทศไหนบ้างต้องการโค้ชจากจีน เผอิญว่าแม่ปุกยื่นเรื่องเข้ามา เราเห็นว่าแม่ปุกเป็นคนทุ่มเท มีลูกสามคน อยากให้ลูกทั้งหมดได้เรียนแบดฯ กับโค้ชมืออาชีพ เราก็เลยรับ”

เวลานั้นโค้ชแบดมินตันในเมืองไทยยังทำงานตอนกลางวัน เลิกงานถึงมาสอนแบดมินตัน โค้ชเซี่ยอาจนับเป็นโค้ชแบดมินตันอาชีพที่ทำงานเต็มเวลาคนแรกในเมืองไทย

โค้ชชาวจีนคนนี้นำระบบการสอนแบดมินตันจากเมืองจีนมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะเรื่องจัดตารางฝึกซ้อมควบคู่กับการเรียนหนังสือ

เขาเล่าถึงสิ่งที่แตกต่างระหว่างการเรียนการสอนแบดมินตันในเมืองไทยกับจีนว่า “สาเหตุที่เด็กไทยส่วนน้อยประสบความสำเร็จเพราะต้องเรียนหนังสือหนัก เราก็พยายามปรับ เอารูปแบบของไทยกับจีนเข้าหากัน หาจุดที่ทั้งสองฝ่ายรับได้ทั้งผู้ปกครองและนักกีฬา”

ภัททพลในฐานะลูกศิษย์ชาวไทยคนแรกบอกว่า “เมื่อโค้ชเซี่ยเข้ามา พวกเราก็เข้าสู่กระบวนการสร้างนักกีฬาอย่างเต็มตัว จากที่ไม่เคยมีการซ้อมตอนเช้าก่อนไปโรงเรียนก็ต้องซ้อม หลังกลับจากโรงเรียน กินข้าว ทำการบ้านเสร็จ ก็ต้องตีแบดฯ ก่อนถึงจะเข้านอน เป็นอย่างนี้ทุกวัน”

ขณะที่แม่ปุกกล่าวถึงแนวคิดของเธอและสามีเรื่องการสนับสนุนให้ลูก ๆ เล่นกีฬาว่า “ความจริงแล้วลูก ๆ ก็ถือว่าเรียนดีนะ แต่เราอยากให้ลูกได้มีสุขภาพที่ดีด้วย ไม่ใช่แค่เก่งเรื่องเรียนหนังสือ อยากให้เขามีร่างกายที่แข็งแรงและอดทน”

เธอยังกล่าวถึงการปั้นลูกเป็นนักกีฬาว่า

“แม่ปุกคิดว่าเมื่อมีเวลา เราเรียนเมื่อไรก็ได้ แต่การเล่นกีฬาถ้าอยากขึ้นไปในระดับสูง เวลามีจำกัด คนเราพออายุมากขึ้นก็เล่นไม่ได้เพราะสภาพร่างกาย อายุที่แข็งแรงมันมีเวลาสั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดว่าลูกหรือเด็กในสโมสรของเรามีความสามารถ เราก็ต้องผลักดันเต็มที่ เลือกให้เล่นกีฬาก่อน และเรื่องเรียนต้องเป็นรอง เมื่อเราเลิกเล่นแล้วค่อยมาเรียนก็ยังไม่สาย”

แม่ปุกยังมีความเชื่อว่าความเป็นเลิศทางกีฬาคือเส้นทางลัดสั้นในการเข้าสู่มหาวิทยาลัย

“ถ้าพูดถึงเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย เราต้องสู้กับคนเป็นแสนคน แต่นักกีฬามีโอกาสเลือกเรียนโดยสู้กับคนแค่ประมาณ ๓๐ คนเท่านั้น ถือเป็นทางที่ง่ายกว่า เด็กเหล่านี้มีโอกาสดีกว่า แต่ต้องยอมเหนื่อยหนักในช่วงที่ยังเรียนอยู่”

เมื่อภัททพลอายุ ๑๘ ปี นักแบดมินตันดาวรุ่งคนนี้ก็ได้รับเรียกตัวติดทีมชาติ ขณะน้องชายและน้องสาวพาเหรดติดทีมชาติชุดเยาวชน ลูก ๆ ทั้งสามคนของแม่ปุกต่างเข้าแคมป์เก็บตัวทีมชาติของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ที่สวนลุมพินี ซึ่งสร้างชื่อเสียงแก่ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด

ขณะเดียวกันชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอดก็ออกเดินทางตามเส้นทางของตัวเอง

โดยหลังจากชมรมย้ายไปใช้อาคารยิมเนเซียมของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีซึ่งมีหกสนาม เวลาผ่านไป ๔ ปี สมาชิกก็เพิ่มขึ้นจนสนามไม่พอ

ทำให้แม่ปุกคิดจะสร้างสนามแบดมินตันของตัวเอง

ตลอดช่วงที่ผ่านมา กิจการขนมไทยยังนับเป็นรายได้หลักของครอบครัว ขณะที่ฐานะทางการเงินของครอบครัวเริ่มดีขึ้นบ้าง แม่ปุกจึงนำเงินส่วนหนึ่งจากการขายขนมไทยมาสร้างโรงเรียนสอนแบดมินตัน

แม่ปุกหญิงท่าทางใจดีเล่าว่า ตนและสามีตัดสินใจใช้เงินเก็บส่วนหนึ่งซื้อที่ดินขนาด ๕ ไร่ครึ่งริมถนนพุทธมณฑลสาย ๓ มูลค่ากว่า ๒๐ ล้านบาท และต้องกู้เงินอีก ๔๐ ล้านบาทเพื่อสร้างอาคารที่เป็นสนามแบดมินตันขนาด ๑๘ สนาม รวมถึงหอพักสำหรับนักกีฬาที่บ้านไกลหรืออยู่ต่างจังหวัด

ในปี ๒๕๔๖ สนามแบดมินตันที่โอ่อ่าก็เปิดให้บริการในชื่อโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด โดยได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ

โรงเรียนนี้ทำหน้าที่ผลิตนักแบดมินตันฝีมือดีสู่ทำเนียบทีมชาติ หลายคนโด่งดังและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เช่น สุดเขต ประภากมล ณริฎษาพัชร แลม พิสิษฐ์ พูดฉลาด ภัททพล เงิน-ศรีสุข

ภัททพลซึ่งทุกวันนี้รีไทร์จากทีมชาติแล้วผันตัวเป็นโค้ชและผู้บริหารกิจการโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด กล่าวถึงแม่ปุก แม่แท้ ๆ ของตนซึ่งเปรียบได้กับแม่บุญธรรมของเด็ก ๆ ลูกคนงานหลายคนของโรงงานขนมไทยว่า

“ชีวิตเราที่เดินมาทางนี้ แม่เป็นคนขีดให้ แต่แม่ก็ให้ทางเลือกว่าจะเดินต่อไปหรือหยุด แล้วเราก็ตัดสินใจเลือกเอง คือเลือกที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ความจริงสิ่งที่แม่สร้างมา มันเหมือนเพื่อมารองรับชีวิตเราบนเส้นทางที่เราได้เลือกแล้ว”

thongyod03

เธอชื่อ รัชนก อินทนนท์

แม้แต่พระเจ้าก็อาจไม่ล่วงรู้ ว่าครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีพื้นฐานการทำขนมไทย จะกลายเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แก่โลกและวงการกีฬาแบดมินตัน

ย้อนไปราว ๒๐ ปี เวลานั้นโรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดยังตั้งอยู่หลังบ้านแม่ปุกย่านบางขุนเทียน

คำผัน สุวรรณศาลา ชาวร้อยเอ็ด เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยรับเป็นพี่เลี้ยงของลูกชายแม่ปุก ต่อมาจึงย้ายมาอยู่ส่วนทำขนมไทย

หลังจากบ้านและโรงงานย้ายมาอยู่แถวถนนเพชรเกษม คำผันก็ตามแม่ปุกมาด้วย ที่นี่เธอได้พบ วินัสชัย อินทนนท์ ชาวยโสธร

ทั้งคู่รักกันและให้กำเนิดลูกสาวหนึ่งคนชื่อ รัชนก อินทนนท์ หรือเมย์

ในฐานะเจ้าของโรงงาน แม่ปุกเห็นเมย์มาตั้งแต่อยู่ในท้อง และรับอุปการะเมย์ตั้งแต่แรกคลอด

วันหนึ่งขณะเด็กหญิงเมย์เล่นซนภายในโรงงาน ระหว่างพ่อและแม่ง่วนอยู่กับการทำขนมไทย แม่ปุกกลัวว่าเด็ก ๆ จะโดนเตาต้มน้ำตาลจนได้รับอันตราย จึงพาขึ้นรถไปสนามแบดมินตัน

แม่ปุกเล่าภาพความทรงจำครั้งนั้นว่า “เด็กคนนี้วิ่งเล่นอยู่ในโรงงาน พ่อทำงานอยู่หน้าเตาทองหยอด แม่อยู่แผนกบรรจุ เราเห็นท่าไม่ดี หากเด็กถูกไฟร้อน ๆ ลวกจะเจ็บตัว เมื่อถึงเวลาพาลูกชายไปสนามแบดฯ ก็เลยพาไปด้วย”

ภัททพล เงินศรีสุข สุดเขต ประภากมล รวมถึงนักแบดมินตันรุ่นพี่หลายคนซ้อมอยู่ในสนาม เมย์ก็ใช้พื้นที่ว่างด้านข้างเล่นกับเพื่อน และได้มีโอกาสจับไม้แบดมินตัน

แม่ปุกเล่าถึงการซ้อมแบดมินตันของเมย์ในครั้งนั้นว่า โค้ชเซี่ยจือหัว บอกให้เด็ก ๆ วิ่งตามจำนวนรอบที่สั่ง ทั้งวิ่งรอบสนามและวิ่งไปกลับระหว่างหน้าตาข่ายกับเส้นหลัง แต่หลังจากวิ่งจนแข็งแรงแล้วโค้ชเซี่ยก็ยังไม่อนุญาตให้จับไม้ตีลูก

“โค้ชเซี่ยบอกให้เมย์ตั้งท่าตีและเสิร์ฟลูกก่อน ต้องตั้งอยู่นานจนเป็นตะคริวเพื่อให้ได้ท่าที่ถูกต้องและพอใจ แต่หลังจากฝึกตั้งท่าแล้วก็ยังไม่ได้ตี โค้ชเซี่ยให้ซ้อมโยนลูกขนไก่ใส่กำแพงตรงจุดที่โค้ชทำเครื่องหมายไว้ ถ้าโยนได้น้ำหนักและทิศทางลูกก็จะเด้งกลับมา ให้รับและโยนต่อไป”

โค้ชเซี่ยผู้ปลุกปั้นเมย์-รัชนกมาตั้งแต่เด็กอธิบายว่า “การหัดเล่นแบดมินตัน ถ้าให้จับไม้เร็วเกินไปก็จะจับไม้ผิด เราต้องจัดระเบียบท่าก่อน จนเมื่อให้ไม้แล้วจึงสอนให้ตีลูกขึ้นฟ้า เดาะเลี้ยงอยู่อย่างนั้น ท่วงท่าของเด็ก ๆ จะถูกต้องและสวยงาม ไม่ต้องมาคอยตามแก้ทีหลัง”

เมื่ออายุ ๖ ขวบ ก็เริ่มการซ้อมตีลูกตาม “โปรแกรม”

หมายถึงการฝึกตีลูกทุกรูปแบบ ไม่ว่าลูกตีตรง ตัดเฉียง ฟันเฉียง ลูกเลี้ยว ลูกหยอด ซึ่งจะต้องหยิบทักษะเหล่านี้ไปใช้ในการแข่งขัน

สาทร ตันติโชติรัตนา หรือโค้ชสาทร ให้รายละเอียดหลักสูตรการสอนแบดมินตันของโรงเรียนบ้านทองหยอดว่า “ในการสอนเด็กเล็กรุ่นพื้นฐาน เราจะเน้นให้เขาสนุกก่อน นอกจากสอนตั้งท่า ตีลูก ตีเดี่ยว ตีโต้ เราจะมีเกมให้เล่น เช่นเกมไล่จับ เริ่มจากคนหนึ่งวิ่งไปจับเพื่อน เมื่อจับได้แล้วทั้งสองคนก็ต้องจับมือกันแล้ววิ่งไปจับเพื่อนอีกคนมารวมกันเป็นสาม จับมือต่อกันเป็นลูกโซ่ เพิ่มเข้ามาทีละคน ถ้ามือหลุดเรียกว่าโซ่หลุด ให้ทุกคนหยุดแล้วรีบนั่ง ใครนั่งคนสุดท้ายต้องกลับมาเป็นโซ่ข้อแรก

“หรืออีกเกมให้เด็กสไลด์ไปตามเส้นรอบคอร์ต ถือเป็นการฝึกกำลังขา ให้เด็ก ๆ ลุกนั่งสามครั้งแล้วสไลด์ให้ทันเพื่อนที่อยู่ข้างหน้า แต่ห้ามวิ่ง”

เมื่ออายุ ๗ ขวบ เมย์ก็ได้ลงแข่งรายการอุดรธานีโอเพ่น การแข่งขันแบดมินตันอย่างเป็นทางการครั้งแรก ผลคือเด็กคนนี้คว้าแชมป์ถึงแม้ต้อง “แบกอายุ”

แม่ปุกเล่าว่า “ตอนนั้นเมย์อายุแค่ ๗ ขวบ แต่เราส่งลงแข่งกับเด็กอายุ ๙ ขวบ แล้วได้แชมป์ทั้งประเภทหญิงเดี่ยวและหญิงคู่ ต่อมาเมื่ออายุ ๘ ขวบ เราส่งลงแข่งรุ่นอายุ ๙ ขวบก็ได้แชมป์ พออายุ ๙ ขวบ ลงแข่งทั้งรุ่น ๙ ขวบและ ๑๑ ขวบก็ได้แชมป์กลับมา”

จากเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ แกร็น ๆ ที่วิ่งช้า ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ เติบโตขึ้นเป็นนักแบดมินตันที่ทั่วโลกรู้จักในชื่อ เมย์-รัชนก อินทนนท์

แม่ปุกเล่าถึงลูกบุญธรรมคนนี้อย่างชื่นชมว่า “ด้วยกีฬาสร้างคน จากน้องเมย์ที่เชื่องช้า กีฬาทำให้น้องเมย์เร็วขึ้น จากวิ่งช้าเป็นวิ่งเร็ว จากไม่ค่อยพูดกลายเป็นพูดเก่ง จนทุกวันนี้หลายคนจะจำภาพเมย์ไม่ได้ว่าเล็ก ๆ เขาไม่ใช่เด็กช่างพูด ไม่ใช่เด็กที่ว่องไว ไม่มีวี่แววเลยว่าน้องเมย์จะเก่งกาจกว่าคนอื่น”

พัฒนาการอย่างต่อเนื่องเกิดจากการซ้อมอย่างถูกวิธีและมีวินัย แม่ปุกเล่าต่อไปว่า “น้องเมย์จะซ้อมมากกว่าคนอื่น ซ้อมเบสิกทุกลูก ทุกวัน ซ้อมกระทั่งชิน จนลูกเชื่อง เหมือนไม้แบดฯ เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ควบคุมลูกแบดฯ ได้ว่าจะให้ตกลงตรงไหนของสนาม”

วันเวลาเดินหน้าพร้อมอายุอานามที่มากขึ้น เมย์ยังคงฝึกซ้อมแบดมินตัน จากกลุ่มพื้นฐานสู่กลุ่มนักกีฬารุ่นเล็ก รุ่นกลาง และรุ่นโต

สำหรับการซ้อมของรุ่นเล็กนั้นการตีตามโปรแกรมจะเข้มข้น นักเรียนต้องตีลูกตามโค้ชกำหนด อาจเป็นการให้สองฝ่ายตีโต้กันโดยเรียงตามลำดับ เช่น ลูกเซฟตรง ลูกตบเฉียง ตามด้วยลูกหยอด

บางครั้งก็ให้ฝ่ายหนึ่งบุกกระหน่ำข้างเดียว อีกฝ่ายคอยตั้งรับ บางครั้งให้ฝ่ายบุกมีผู้เล่นถึงสองคน เน้นลูกตัดกับลูกตบ รุมฝ่ายตั้งรับ

มาถึงรุ่นกลางการซ้อมคล้ายกัน แต่เคี่ยวหนักขึ้น ทนทรหดกว่ารุ่นเล็กมาก

จนถึงรุ่นโตจะเน้นการตีในเกม มีโค้ชคอยชี้แนะว่าแต่ละจังหวะควรออกลูกอย่างไร

“อย่างลูกนี้ถ้าหยอดนี่ไม่ได้นะ เขาจะกระโดดแย็บใส่แน่ หรือพอเขาเสิร์ฟมา เราเล่นวางไกล เขาก็วิ่งมาเล่นเอ็งไม่ทัน เล่นวางสั้นน่าจะดีกว่า” โค้ชสาทรเล่าว่า สำหรับการสอนในรุ่นโต ตัวโค้ชเองก็ต้องงัดฝีไม้ลายมือออกมาเช่นกัน นอกจากนั้นยังเปิดทีวีให้ศึกษาการตีของนักแบดมินตันระดับโลกด้วย

เมื่อเมย์อายุ ๑๒ ปี แม่ปุกก็ส่งนักกีฬาดาวรุ่งคนนี้ลงแข่งขันรายการแบดมินตันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย เวลานั้นเมย์เริ่มรู้ตัวแล้วว่าอยากติดทีมชาติอย่างพวกพี่ ๆ

เมย์เล่าถึงตอนนี้ว่าการซ้อมแบดมินตันเหมือนชีวิตประจำวัน เธอซ้อมหนักทุกวัน การลงสนามแข่งแต่ละครั้งคือการแสดงสิ่งที่ซ้อมออกมา

โค้ชเซี่ยกล่าวถึงศิษย์เอกของตนว่า “ตอนอายุ ๑๒ ปี แม่ปุกส่งไปแข่งรายการชิงแชมป์ประเทศไทย เห็นชัดว่าเวลาลงสนามเขาไม่กลัวใคร เจอนักแบดฯ ทีมชาติก็ไม่กลัว เรารู้แล้วว่าเด็กคนนี้น่าจะไปได้ในระดับโลก”

ขณะที่เด็กทั่วไปพ่อแม่ปลุกให้ไปโรงเรียนในยามเช้า แต่เมย์กลับต้องตื่นตั้งแต่ตี ๕ ครึ่งมาฝึกซ้อม จน ๗ โมงเช้าจึงอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ไปโรงเรียน เมื่อกลับจากโรงเรียน อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ก็ลงมาซ้อมแบดมินตัน

ขณะนักกีฬารุ่นราวคราวเดียวกันซ้อมติดต่อกัน ๒ ชั่วโมง บ่อยครั้งเมย์ถูกเคี่ยวหนักให้ซ้อม ๓ ชั่วโมงต่อเนื่อง

โค้ชเซี่ยกล่าวอย่างยอมรับในหัวจิตหัวใจของเด็กคนนี้ว่า “เขามีวินัยตั้งแต่เด็ก แตกต่างจากคนอื่น โค้ชสั่งอะไรไม่เคยบ่น ไม่เคยบอกว่าทำไม่ได้หรือไม่ไหว ซ้อมเหนื่อย แต่สู้ตาย บางครั้งซ้อมไปร้องไห้ไป แต่ไม่หยุดซ้อม”

แนวทางการฝึกสอนของบ้านทองหยอดไม่เหมือนที่ไหน ที่นี่ดูแลตั้งแต่เรื่องกีฬาไปจนถึงวิถีการดำรงชีวิต

ยกตัวอย่างเมื่อเมย์ยังอยู่ในรุ่นเด็ก แม่ปุกจะจ้างครูมาสอนพิเศษหลังเสร็จจากการฝึกซ้อม พอเมย์เติบโตขึ้นจึงเปลี่ยนมาสอนพิเศษก่อนแล้วค่อยซ้อมทีหลัง คือให้ความสำคัญกับการจัดลำดับเวลา

โค้ชเป้เล่าถึงการดูแลนักกีฬา โดยยกตัวอย่างกรณี ภัทรสุดา ไชยวรรณ หรือจิว นักแบดมินตันหญิงชาวจังหวัดลำปางว่า “เราไปเจอจิวตอนอายุ ๘ ขวบที่จังหวัดอุดรธานี เพราะโค้ชที่สอนเขาเคยเป็นลูกศิษย์ของที่นี่ บอกว่าเด็กคนนี้น่าสนใจ”

เมื่อได้เห็นฝีไม้ลายมือ ภัททพลสอบถามนักกีฬาตัวน้อยว่าชอบเล่นแบดมินตันไหม อยากจะตีแบดมินตันไปถึงเมื่อไร

ตอนนั้นชื่อเมย์-รัชนกเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการแบดมินตัน น้องจิวตอบกลับอย่างฉะฉานว่าเธออยากจะเป็นอย่างพี่เมย์ อยากเป็นนักแบดมินตันทีมชาติไทย

ภัททพลถามว่าอยากมาเรียนแบดมินตันที่บ้านทองหยอดหรือไม่

“เด็ก ๘ ขวบบอกพ่อแม่ว่าอยากมา จะขอมาตีแบดฯ อยู่กรุงเทพฯ พ่อแม่ก็อนุญาต เมื่อลูกอยากมาพ่อแม่ก็ให้มา ทุกวันนี้ก็เดินทางมาเยี่ยมลูกเดือนละครั้งสองครั้ง”

ภัททพลเล่าต่อไปอีก “เมื่อพ่อแม่ให้ใจกับลูกเต็มที่ เราก็ต้องดูแลเขาเต็มที่เหมือนกัน ทุก ๆ อย่างเราต้องผลักดัน คอยสนับสนุนเขา”

ปัจจุบันจิวอายุ ๑๕ ปี มาเรียนแบดมินตันที่บ้านทองหยอด ๘ ปีเต็ม มีฝีมืออยู่ในกลุ่มหัวแถว นับว่าเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตา และคว้าแชมป์รายการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ภัททพลกล่าวถึงการสนับสนุนนักกีฬาของบ้านทองหยอดว่า “เมื่อเด็กเลือกจะมาอยู่กับเรา เราต้องดูแลเหมือนเป็นผู้ปกครอง วันที่โรงเรียนนัดพบผู้ปกครองเราก็ต้องไป เราคุยกับพ่อแม่ของเขาและรับปากเอาไว้ ก็เหมือนน้องเขามาอยู่โรงเรียนประจำ แต่ที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนประจำ เป็นโรงเรียนสอนแบดมินตัน”

ด้านแม่ปุกกล่าวสรุปถึงหัวใจสำคัญของการปั้นนักแบดมินตันตามแนวทางบ้านทองหยอดว่า “ถ้าผู้ปกครองไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ มันก็จะไม่สำเร็จ เด็กที่เราทำสำเร็จส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะไม่ก้าวก่าย ไม่ได้มาควบคุม เราจะเป็นคนวางโปรแกรมชีวิตให้เด็ก ว่าจะให้ทำอะไร เรียนหนังสือที่ไหน ลงแข่งที่ไหน ประเภทใด คู่กับใคร ในประเทศหรือต่างประเทศ ถ้าผู้ปกครองยังมีส่วนในการควบคุมเด็กก็จะทำงานยาก”

เช่นเดียวกับดาวโรจน์อีกดวงของวงการแบดมินตันที่ได้รับการฟูมฟักทะนุถนอมด้วยความเอาใจใส่อย่างสุดหัวใจของทีมงานบ้านทองหยอด

นอกจากคว้าแชมป์ในประเทศแทบทุกรายการ เมย์-รัชนกยังไปสร้างชื่อเสียงในเวทีโลก

ครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๔ ปี เด็กหญิงลูกคนงานคนนี้สามารถคว้าแชมป์แบดมินตันเยาวชนโลก ซึ่งนับเป็นนักแบดมินตันหญิงอายุน้อยสุดที่ทำได้ และยังสามารถรักษาแชมป์ติดต่อกันถึง ๓ ปี

ครั้งที่ ๒ เมื่ออายุ ๑๘ ปี เมย์ก็คว้าแชมป์โลกแบดมินตัน รายการเวิลด์แชมเปียนชิป ค.ศ. ๒๐๑๓ และทำคะแนนสะสมจนขึ้นมาเป็นอันดับ ๒ ของนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวของโลก

และครั้งล่าสุด แม้คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการแบดมินตันก็ต้องรู้จักเธอ ด้วยวัยแค่ ๒๑ ปี เมย์กลายเป็นนักแบดมินตันหญิงคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์ซูเปอร์ซีรีส์ได้ติดต่อกันสามรายการ (อินเดียโอเพ่น ๓ เมษายน ๒๕๕๙ มาเลเซียโอเพ่น ๑๐ เมษายน ๒๕๕๙ และสิงคโปร์โอเพ่น ๑๗ เมษายน ๒๕๕๙) ส่งผลให้คะแนนสะสมสูงจนขึ้นชั้นเป็นนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือวางอันดับ ๑ ของโลก

ผลผลิตจากบ้านทองหยอดสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการแบดมินตันครั้งแล้วครั้งเล่า

และถึงแม้จะขึ้นสู่ตำแหน่งมือ ๑ ของโลกแล้ว เมย์-รัชนกก็ยังคงซ้อมหนักทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า ๗-๘ ชั่วโมง

เพราะนักแบดมินตันสาวจากโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดคนนี้ยังมีฝัน และหนึ่งในฝันนั้นคือการคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิก

อนาคตของวงการลูกขนไก่

นับแต่เปิดกิจการเมื่อปี ๒๕๔๖ โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดยังคงเป็นโรงเรียนแบดมินตันแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

ภัททพลอธิบายความหมายโดยนัยของ “โรงเรียน” ว่า “หมายถึงบ้านทองหยอดต้องรับนักเรียนทุกคนที่สมัครเข้ามา ขณะที่อะคาเดมีอาจคัดเลือกนักกีฬาดาวรุ่งจากหลายแห่งมาพัฒนาต่อ ส่วนสมาคมแบดมินตันก็ใช้วิธีสอดส่องมองหานักแบดมินตันที่มีผลงานเข้าตามาติดทีมชาติ แต่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดไม่มีสิทธิ์เลือก”

ทั้งนี้เนื่องด้วยบ้านทองหยอดมีฐานะเป็นโรงเรียนจึงเลือกนักเรียนไม่ได้

ไม่ว่าผู้สมัครจะเป็นใครก็ต้องฝึกสอนอย่างเต็มที่

นอกจากนี้เงินรายได้ในการบริหารก็มาจากค่าสมัครเรียนแบดมินตัน

หากเปรียบกับอะคาเดมี เช่น SCG Badminton Academy ศูนย์ฝึกแบดมินตันและวิทยาศาสตร์การกีฬาของเอสซีจี แถวถนนนางลิ้นจี่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ได้รับงบสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดอาศัยเงินจากค่าเล่าเรียน ๔,๐๐๐-๘,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อคน หรือกรณีนักเรียนประจำ พักอาศัยที่หอพักนักกีฬา ค่าเล่าเรียน ๑๒,๐๐๐-๑๔,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อคน ซึ่งช่วงแรกไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แม่ปุกต้องนำรายได้จากธุรกิจโรงงานขนมไทยมาเจือจุน เพิ่งไม่กี่ปีหลังที่บ้าน-ทองหยอดเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ จึงเลี้ยงตัวเองได้

คณิศรา เงินศรีสุข หรือมุกกี้ ผู้จัดการโรงเรียนแบดมินตัน-บ้านทองหยอด ลูกคนสุดท้องของแม่ปุก เล่าถึงการทำธุรกิจนี้ว่า “โดยทั่วไปคอร์ตแบดฯ ที่เปิดให้คนเช่าเล่น ผลประกอบการจะอยู่ที่เท่าทุนกับขาดทุนเท่านั้น เพราะคน ๑๐ คนมาเช่าสนามเดียวก็ได้เงินแค่ชั่วโมงละ ๑๕๐ บาท รายได้หลักจึงมาจากการขายน้ำกับอาหาร ส่วนโรงเรียนสอนแบดมินตันบ้านทองหยอดมีรายได้หลักจากค่าเรียน ซึ่งถ้าแยกเป็นกลุ่มเด็กโตก็แทบไม่มีกำไรเพราะตีหนัก ใช้ลูกเปลือง ส่วนกลุ่มเด็กเล็กถึงแม้จะใช้ลูกไม่เปลือง เสียทรัพยากรน้อยกว่า แต่ก็ต้องใช้โค้ชสอนหลายคน สมัยก่อนที่มีรายได้แค่ค่าสอนเราก็อยู่ไม่ได้ แต่ตอนนี้มีคนสมัครรวมประมาณ ๓๐๐ คน ทำให้อยู่ได้ และยังได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ด้วย”

ตลอดช่วงที่ผ่านมาถ้านักกีฬาดาวรุ่งหลายคนไม่มีโอกาส เช่น ลูกของคนงาน เด็กที่ทางบ้านฐานะยากจน แต่แสดงออกถึงความมุ่งมั่น แม่ปุกจะคอยจัดหาเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬาให้

ถ้าเด็กคนไหนเข้ารอบการแข่งขันรอบลึก ๆ ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ แม่ปุกจะยอมควักเงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเดินทางและค่าเบี้ยเลี้ยง รวมแล้วก็หลายล้านบาท เนื่องจากต้องการพา “ลูก ๆ” ไปหาประสบการณ์เพื่อให้สามารถรับมือกับความกดดันได้มากขึ้น

แม่ปุกกล่าวถึงความสำคัญของการส่งนักกีฬาไปหาประสบการณ์ว่า “ถ้าเราไม่ส่งเขาไปแข่งก็จะสำเร็จยาก เพราะเมื่อเข้าสู่สนามจริงมันตื่นเต้น หลายครั้งที่นักแบดฯ ของเราแพ้เพราะประสบการณ์ แต่ไม่ได้เป็นรองทางฝีมือ บางคนเก่งในประเทศมาก พอไปแข่งเมืองนอกกลับตีได้ไม่เท่ากับที่เคยตี บางคนขาสั่นจนคิดอะไรไม่ออก ดาวรุ่งของเราบางคนวอร์ม ๆ อยู่น้ำตาก็ไหล ถามดูก็บอกไม่รู้ว่าเป็นอะไร มันเครียดจนน้ำตาไหลออกมาเอง หรืออย่างบางคนเคยแข่งประเภทบุคคลทำผลงานได้ดีมาก พอเล่นระบบทีมกลับแพ้ ฉะนั้นที่เราต้องส่งเด็กไปแข่งก็เพื่อให้เด็กแก้ไขความกดดันที่ต้องเจอให้ได้”

ภัททพลในฐานะผู้บริหารโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดเล่าว่า เมื่อก่อนบ้านทองหยอดอาจฝึกสอนแล้วส่งเด็กไปแข่งขันรายการในประเทศ มาภายหลังได้ส่งนักกีฬาไปแข่งขันที่ต่างประเทศมากขึ้น

“เรายังให้ทุนนักกีฬา คนไหนอยากเล่นจริงจัง แต่ไม่มีทุน-ทรัพย์ เราก็ให้ทุนเรียนฟรี สนับสนุนอุปกรณ์ ออกค่าเดินทางให้ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การส่งนักกีฬาไปแข่งรายการที่ต่างประเทศแค่หนึ่งรายการ มีทั้งค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าไอดีการ์ด คนเดียวก็สูงแล้ว ไหนจะค่าโค้ช ค่านักกายภาพบำบัด บางรายการนักกีฬารวมทั้งทีมงานต้องยกโขยงไปกันเป็นสิบคน”

ด้วยผลงานที่ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรม นั่นคือนักกีฬาจากบ้านทองหยอดหลายคนขึ้นชั้นเป็นนักแบดมินตันทีมชาติ สร้างชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ ก็นำมาซึ่งเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญถึงแนวทางสร้างนักแบดมินตันที่มีลักษณะเฉพาะตัว ชนิดที่อะคาเดมีหรือแม้แต่สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ยังไม่อาจสร้างนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้มาก่อน

ครั้งหนึ่งคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว (วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๖) หลังจากน้องเมย์-รัชนกประสบความสำเร็จด้วยการเป็นนักกีฬาแบดมินตันหญิงอายุน้อยที่สุดคือ ๑๘ ปี ที่คว้าตำแหน่งแชมป์โลกว่า

สมาคมแบดมินตันฯ เตรียมจะนำวิธีการพัฒนานักแบดมินตันของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดมาเป็นต้นแบบและแนวทางพัฒนานักแบดมินตัน ซึ่งที่ผ่านมาบ้านทองหยอดไม่เพียงมีน้องเมย์เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ยังมี พิสิษฐ์ พูดฉลาด ที่เคยคว้าเหรียญทองยูทโอลิมปิกเกมส์ ก็เป็นหนึ่งในผลิตผลของบ้านทองหยอดด้วย

ภัททพลกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการฝึกสอนของบ้านทองหยอดว่า “เรื่องการเรียนการสอนที่ผ่านมา เราประยุกต์จากสิ่งที่เคยได้รับการฝึกฝน ทั้งจากโค้ชเซี่ยจือหัว โค้ชจีนคนแรกของผม ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่กับเรา หลังจากผมติดทีมชาติก็เคยได้รับการสอนจากโค้ชของทางสมาคมฯ หลายคน ผมจึงบอกไม่ได้ว่าเอาความรู้มาสอนนักกีฬาด้วยหลักสูตรจากใคร น่าจะเรียกว่าเรานำสิ่งที่ดีของแต่ละที่มารวมกันไว้มากกว่า”

ภัททพลยังยืนยันแนวทางการสร้างนักแบดมินตันต่อจากนี้ว่า

“เมื่อก่อนที่เรายังไม่มีสปอนเซอร์ ไม่มีเงินทุนดูแลนักกีฬา เมื่อเด็กอายุมากกว่า ๑๘ ปี พ้นจากรุ่นเยาวชนแล้ว เราก็ต้องส่งต่อให้สมาคมฯ หรืออะคาเดมีที่เป็นองค์กรใหญ่กว่า ยอมส่งนักกีฬาออกไปด้วยความจำเป็น แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่เราพอจะมีเงินทุนสนับสนุน และเริ่มประสบความสำเร็จ ที่เห็นชัดเจนคือหลังจากรุ่นของน้องเมย์-รัชนก เราคิดว่าจะเก็บนักกีฬาไว้ฝึกซ้อมเองต่อไป โดยให้ทางสมาคมฯ ให้การรับรองเด็กที่จะต้องเดินทางไปแข่งขันทัวร์นาเมนต์นานาชาติ ด้วยวิธีนี้ไม่ได้บอกนะว่าเราดีที่สุดหรือดีกว่าใคร แต่เราเลือกที่จะทำตามแนวทางของตัวเอง”

thongyod07

แม่ปุกดูกล้องวงจรปิดภายในห้องพักส่วนตัวของนักกีฬาเพราะแนวทางการฝึกสอนของบ้านทองหยอดไม่เหมือนใคร ที่นี่ดูแลตั้งแต่เรื่องกีฬาไปจนถึงการดำรงชีวิต

thongyod04

โรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดผลิตขนมไทยตระกูล “เครื่องทอง” สี่ชนิดคือ ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด และเม็ดขนุน การคิดค้นเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อผลิตขนมไทยทำให้ผลิตได้มากและเร็วขึ้น

ภาค ๒
โรงงานขนมไทย

ครอบครัวคนทำขนม

เตาน้ำเชื่อมระอุร้อนอยู่หลังบ้าน

พ่อ แม่ และคนงานช่วยกันกะเทาะเปลือกไข่ ส่วนหนึ่งแยกไข่แดงออกจากไข่ขาว จากนั้นตีไข่แดงของไข่เป็ดเข้ากับไข่แดงของไข่ไก่ แล้วจึงหยอดของเหลวหนืดข้นผ่านกรวยลงในน้ำเชื่อมเดือด

น้ำพุของน้ำเชื่อมตรงกลางกระทะค่อย ๆ ผลักเส้นใยออกรอบทิศ เมื่อเรียงซ้อนกันหนาได้ที่ คนงานก็ใช้ไม้ปลายแหลมตวัดขึ้นมาวางไว้บนตะแกรง

แพฝอยทองขนาดพอดีคำจะนำมาบรรจุใส่กล่องขาย

ทุกความพิถีพิถันและใส่ใจ ทำให้ขนมไทยมีราคา

แต่ใช่ว่าผู้ประกอบกิจการนี้ทุกคนจะประสบความสำเร็จ !

ชีวิตที่ต้องเริ่มต้นก่อนรุ่งสาง ทั้งวันชุ่มโชกด้วยเหงื่อไคล เหน็ดเหนื่อยกับการตอกไข่ ตั้งกระทะ จุดไฟ แล้วหยอดไข่แดงลงน้ำเชื่อมเดือดระอุ ถือเป็นเรื่องท้าทายน้ำอดน้ำทนยิ่ง

ก็คงไม่แตกต่างจากสปิริตของนักกีฬา

กว่าจะยืนหยัดอยู่แถวหน้า ต้องเผชิญเรื่องเหนื่อยยากก่อน

เบื้องหลังงานทำขนมไทยไม่สนุกแน่นอน แต่ด้วยความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ เส้นทางขนมไทยของบ้านทองหยอดแห่งนี้ก็ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ทุกวันนี้หัวใจของทุกคนคือการทำขนมไทย

“ภาพในความทรงจำของเราคือพ่อกับแม่ทำขนมไทย บางครั้งก็เรียกให้เราไปช่วย”

ภาณุวัฒน์ เงินศรีสุข หรือเป๊ก ลูกคนกลาง ทายาทโรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดย่านนครชัยศรีเล่าความหลัง

งานขนมไทยที่เขาเคยทำมีทั้งตอกไข่และเรียงขนมใส่กล่อง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่หน้าเตาร้อน ๆ เสมอไป

ภาณุวัฒน์ซึ่งรับดูแลกิจการโรงงานขนมไทยมาร่วมปี จำได้ดีว่าสมัยที่ตัวเองยังเด็ก ทุก ๆ คนทำขนมไทยด้วยความประณีตและพิถีพิถัน

ที่สำคัญคือยังทำขนมไทยกันด้วยมือ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีเครื่องจักร

โรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดเริ่มต้นกิจการปี ๒๕๒๒ เมื่อกมลาแม่ของภาณุวัฒน์แยกออกมาตั้งครอบครัวของตัวเอง และนำความรู้ที่ได้รับจากแม่มาเปิดโรงงานทำขนมไทยเล็ก ๆข้างหลังบ้าน

เรื่องเล่าที่ย้อนไปไกลกว่านั้นมาจากปากกมลาซึ่งคนรอบข้างเรียกเธอว่า “แม่ปุก” หญิงท่าทางใจดีและมีน้ำเสียงเรียบเย็นเป็นเอกลักษณ์

แม่ปุกถ่ายทอดเรื่องราวเมื่อเกือบ ๔๐ ปีก่อนว่า ตนหัดทำขนมไทยตั้งแต่อายุแค่ ๙ ขวบ โดยเริ่มต้นจากช่วย “คุณยาย”

เธอหมายถึงคุณยายของลูก ๆ ทั้งสามคน

“ทุกครั้งที่คุณยายนั่งอยู่หน้าเตาน้ำเชื่อม แว่นของคุณยายจะขึ้นฝ้า” นั่นเป็นสาเหตุที่แม่ปุกต้องเป็นผู้รับผิดชอบงานหน้าเตา

“ทุกวันหลังเลิกเรียนเราต้องรีบกลับบ้านมาช่วยคุณยายทำขนมไทย ลูก ๆ ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าครอบครัวเราไม่ได้สบาย”

ช่วงแรกของชีวิตทายาทขนมไทย “รุ่นที่ ๓” ก็เป็นอย่างแม่ปุก

ลูกทั้งสามของแม่ปุกรู้ว่าตัวเองเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีต้นทุนสูง พ่อและแม่มีกิจการขนมไทยเล็ก ๆ ที่ช่วยกันทำกับคนงานด้านหลังบ้าน แต่ละวันทุกคนจะตื่นมาทำขนมไทยตั้งแต่เช้า

“คุณพ่อคุณแม่จะพยายามพูดให้ลูกทุกคนรู้อยู่ตลอดว่าเราไม่ได้มีเงินทองมากนัก ต้องใช้เงินอย่างประหยัด”

ภาณุวัฒน์ยังจำได้ว่า “ตอนนั้นมีลูกค้ามารอซื้อขนมไทยถึงที่บ้าน แล้วก็มีส่วนหนึ่งที่เราส่งไปขายยังปากคลองตลาด ตลาดขนมไทยที่ใหญ่ที่สุดในตอนนั้น (เป็นตลาดขายส่ง)

“นอกจากนี้ก็มีตลาดวัดกลางย่านตลาดพลูที่ครอบครัวเราได้เอาขนมไทยไปวางขาย”

เครื่องจักรเปลี่ยนชีวิต

โรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดแห่งแรกตั้งอยู่หลังบ้านแม่ปุกย่านบางขุนเทียน ต่อมาย้ายมาอยู่หมู่บ้านเศรษฐกิจ ถนนเพชรเกษม ทั้งสองแห่งถึงแม้จะมีคนงานร่วมสิบ แต่ก็เป็นรูปแบบกิจการในครอบครัว

จุดเปลี่ยนที่ทำให้กิจการขนมไทยบ้านทองหยอดได้รับความนิยม เกิดจากไพโรจน์ เงินศรีสุข สามีของแม่ปุก คิดค้นเครื่องจักรช่วยผลิตขนมไทยซึ่งสามารถผลิตขนมได้มากกว่าเดิมหลายเท่า

ภาณุวัฒน์เล่าถึงพ่อของตัวเองว่า “พ่อไม่ได้มีความรู้มากนัก เป็นลูกจีนโพ้นทะเลที่ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ แต่พ่อเคยอยู่โรงกลึง ทำให้มีความรู้เรื่องเครื่องจักร พ่อชอบงานประดิษฐ์มาก และคิดว่าการทำขนมไทยน่าจะมีเครื่องจักรเข้ามาช่วย แล้วพ่อก็คิดหาวิธีการ ขึ้นรถเมล์ไปซื้ออุปกรณ์ด้วยตัวเองแถวตลาดคลองถม จนทำสำเร็จก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กิจการขนมไทยขยายตัวในช่วงที่คู่แข่งยังทำขนมไทยด้วยมือ”

นับแต่เริ่มต้นกิจการ โรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดผลิตและจำหน่ายขนมไทยเพียงสี่ชนิด คือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และเม็ดขนุน

เครื่องจักรช่วยในการผลิตทองหยอดได้รับการคิดค้นขึ้นก่อน จึงผลิตทองหยอดได้คราวละมาก ๆ และช่วยให้ขายส่งได้มากขึ้น

พ่อไพโรจน์ผู้ทำงานหนักอยู่เบื้องหลัง เป็นชายร่างบางที่มีนิสัยไม่ค่อยพูด บอกว่า “เครื่องจักรทำทองหยอดเราคิดได้ก่อนใคร ตั้งแต่เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน”

เขาเล่าถึงที่มาของเครื่องทำทองหยอดยุคแรก ๆ ว่า “สมัยนั้นเวลาทำทองหยอด แม่ปุกจะเป็นคนหยอดไข่ที่ตีจนฟูและผสมกับแป้งแล้วลงในน้ำเชื่อมทีละเม็ด เพราะว่าฝึกพนักงานที่จะหยอดให้เป็นยาก เราเห็นว่ามันช้า ก็มาคิดเครื่องจักร ให้ขั้นตอนการหยอดไข่ลงกระทะมีเครื่องช่วย”

เครื่องจักรทำขนมไทยในโรงงานบ้านทองหยอดประดิดประดอยขึ้นจากภูมิปัญญาของพ่อบ้านคนนี้ไม่ได้มีการนำเข้าหรือสั่งซื้อจากต่างประเทศแต่อย่างใด

ไพโรจน์ให้ความเห็นถึงสาเหตุที่เทคโนโลยีชั้นสูงใช้กับขนมไทยไม่ได้เป็นเพราะ

“การทำขนมไทยมันอ่อนช้อย”

ครั้งหนึ่งโรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดเคยลงทุนนำเข้าเครื่องทำเม็ดขนุน สนนราคาเป็นตัวเลขเจ็ดหลัก ปรากฏว่าใช้งานไปไม่กี่ครั้งก็เกิดปัญหา จนถูกตั้งทิ้งไว้อย่าง “อนุสาวรีย์”

ไพโรจน์กล่าวย้ำอย่างอารมณ์ดีว่า การที่ขนมไทยอ่อนช้อยทำให้ฝรั่งหรือญี่ปุ่นไม่คิดจะพัฒนาเครื่องจักร

ไพโรจน์บอกอย่างถ่อมตนว่า “ถ้าพวกเขาคิดทำ ผมก็คงสู้ไม่ได้”

สืบทอดเจตนา

จากย่านบางขุนเทียนถึงหมู่บ้านเศรษฐกิจ ถนนเพชรเกษม โรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดได้ย้ายฐานการผลิตอีกครั้งมาตั้งอยู่แถวนครชัยศรี

พื้นที่ไม่ห่างจากกรุงเทพมหานครนี้มีการสร้างโรงงานทำขนมที่โอ่โถง เป็นอาคารปูนยกสูง มีใต้ถุน ในบริเวณเดียวกันยังก่อสร้างอาคารที่พักสำหรับคนงาน

ภาณุวัฒน์ ผู้บริหารโรงงานขนมไทยบ้านทองหยอด อดีตนักแบดมินตันที่ติดทีมชาติไทยรุ่นเยาวชนกล่าวว่า “ธุรกิจขนมไทยถึงแม้จะไม่มีอะไรหวือหวา แต่ก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ รายได้จากกิจการขนมไทยยังทำให้ครอบครัวของเรามั่นคงขึ้น”

ในสายตาคนรุ่นใหม่ ภาณุวัฒน์เชื่อว่าธุรกิจขนมไทยบ้านทองหยอดน่าจะ “เป็นอะไรที่ไม่มีคำว่าเจ๊ง”

เหตุผลของเขาคือ “มีแต่ขายน้อย ขายมาก กำไรน้อย กำไรมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ทำตามออร์เดอร์ เราวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับยอดขาย สมมุติว่าตลาดดาวน์ลงไป เราก็ลดกำลังการผลิตลง”

ภาณุวัฒน์พูดอย่างคนเห็นธุรกิจนี้มาตั้งแต่เด็กว่า “แต่การดาวน์ลงจะต้องควบคุมให้เกิดขึ้นเฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น ขณะที่ยอดขายเฉลี่ยทั้งปีเราต้องรักษาให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ”

ในรอบปีหนึ่งของตลาดขนมไทย จะมีช่วงที่ขนมไทยขายดีอยู่ราวห้าเทศกาลเท่านั้น คือ ปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน เข้าพรรษา และออกพรรษา ซึ่งยอดการสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นห้าเท่า

ภาณุวัฒน์เล่าว่า “เมื่อก่อนครอบครัวของเราถึงช่วงเทศกาลไม่เคยทำทันลูกค้าเลย ยอดสั่งซื้อเข้ามามากเสียจนสู้ไม่ไหว เราตอบโจทย์ลูกค้าไม่ได้”

แต่การวางแผนการผลิตของคนรุ่นใหม่ที่จบด้านการตลาดมาโดยตรง ประกอบกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของเครื่องจักร ทำให้โรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดค่อย ๆ มีกำลังการผลิตที่เอาชนะยอดสั่งซื้อของลูกค้า

ภาณุวัฒน์เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์สำคัญช่วงหนึ่งว่า “นับตั้งแต่คุณแม่เริ่มทำกิจการคอร์ตแบดฯ ควบคู่ไปกับการทำขนมไทย ก็ปล่อยให้คุณพ่อดูแลกิจการขนมไทยอยู่คนเดียว ผมเคยเปิดสมุดบัญชีในบางครั้งเห็นว่ายอดการสั่งซื้อลดลงมาก เหมือนกับว่าความเอาใจใส่ในกิจการขนมไทยของคุณแม่ก็ลดลง”

ภาณุวัฒน์อธิบายต่อว่า อันที่จริงคุณพ่อของเขาเก่งเรื่องการผลิต ส่วนคุณแม่เก่งเรื่องการดูแลลูกค้า

“ทั้งสองคนมีความถนัดกันคนละด้านเลยจับคู่กันได้ดี แต่พอแยกกันแล้วความลงตัวนี้ก็หาย เพราะการทำธุรกิจขนมไทยมันต้องครบเครื่องทุกด้าน”

ก่อนย้ายโรงงานมาตั้งที่นครชัยศรี จำนวนคนงานเคยลดลงเหลือแค่ไม่กี่คนเท่านั้น เช่นเดียวกับจำนวนลูกค้าที่ลดลงอย่างหนัก จนภาณุวัฒน์ตั้งคำถามว่าทำไม ๑ วันผลิตขนมไทยได้แค่นี้ บางวันเราจ่ายค่าแรงคนงานเต็มที่ แต่บ่าย ๒ โมงก็สั่งปิดโรงงานแล้ว

แต่วันนี้จำนวนคนงานเพิ่มขึ้นเป็น ๑๒๐ คน แบ่งเป็นคนงานที่พักค้างคืนที่โรงงานราว ๘๐ คน ส่วนที่เหลือเดินทางไปกลับ แสดงถึงสถานะการทำงานของสายพานการผลิต

อีกนัยหนึ่งคือ ถึงแม้จะนำเครื่องจักรมาช่วยในระบบการผลิต แต่เรี่ยวแรงมนุษย์ก็สำคัญ โรงงานยังต้องอาศัยคนงานควบคุมเครื่องจักร และดำเนินการหลายอย่างที่เครื่องจักรทำไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การตักขนมขึ้นจากกระทะน้ำเชื่อม หรือการบรรจุขนมลงหีบห่อ

สิทธิถนอม จำลองเพ็ง ชาวร้อยเอ็ดที่ทำงานกับบ้านทองหยอดมาตั้งแต่สมัยโรงงานตั้งอยู่ย่านบางขุนเทียน เล่าว่า “ผมเรียนแค่ ป. ๔ พอเลิกเรียนพ่อก็เอามาอยู่กับแม่ปุก ตอนเข้ามาใหม่ ๆ ค่าแรงแค่ ๑๐๐ กว่าบาท ผมทำทุกอย่าง ไม่มีไข่ก็ต้องวิ่งไปซื้อ ตอนนั้นรถมีแค่คันเดียว กับคนงานสี่ห้าคนที่เปลี่ยนหน้ากันไป เราก็ทำมาเรื่อย ๆ จนน้องเป๊กเรียนจบเข้ามาช่วยบริหาร คอยหาลูกค้า คนงานก็เพิ่มขึ้น”

หนุ่มร้อยเอ็ดยังตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เหมือนกันระหว่างภาณุวัฒน์กับพ่อคือนิสัย โดยเฉพาะเรื่องการทำงานหนักของทั้งคู่

“ถึงหน้าเทศกาลเฮียจะมาช่วยพวกเรา ตื่นตั้งแต่ตี ๓ ตี ๔ มาตีไข่ เฮียจะลุกมาเตรียมของไว้ เมื่อได้ที่ก็มาปลุกพวกเรา เฮียเป็นอย่างไรน้องเป๊กก็อย่างงั้น ถึงเทศกาลทำทองหยอดไม่ทัน ไลน์ฝอยทองคนไม่พอ น้องเป๊กก็จะเข้ามาลุยอยู่หน้าเตาร้อน ๆ”

นุชนาถ สุขสำเร็จ เจ้าหน้าที่ด้านการเงินชาวอยุธยา คนงานเก่าแก่อีกคนกล่าวถึงพ่อลูกคู่นี้ว่า

“คุณเป๊กโชคดีมากนะคะที่มีพ่อมีหัวคิดเรื่องการทำเครื่องจักร เป็นคนดูแลระบบการผลิต คุณไพโรจน์มีความจำดี มองเครื่องจักรปราดเดียวก็คิดออก แล้วท่านก็ค่อย ๆ พัฒนา ถ้าถามว่าการไม่รู้หนังสือเป็นอุปสรรคบ้างมั้ย ไม่เลยค่ะ เพราะท่านสมองดี ความจำดี และมีหัวคิดริเริ่มสร้างสรรค์

“ในขณะที่คุณเป๊กเป็นคนรุ่นใหม่มีสายตากว้างไกลในการบริหารงาน ชำนาญด้านการซื้อการขาย ดูแลเรื่องการตลาดและหาลูกค้าได้ รวมทั้งดูแลลูกน้องได้ดี ถ้าเห็นว่าสิ่งไหนดีหรือเป็นประโยชน์ คุณเป๊กไม่รีรอ ทำเต็มที่ เมื่อเอาสิ่งที่ทั้งสองคนมีมารวมกัน ทำให้กิจการรุ่งเรืองเร็วขึ้นมากเลย”

thongyod06

อนาคตของวงการแบดมินตัน – เด็กๆ เหล่านี้ส่วนหนึ่งเดินทางมาบ้านทองหยอดหลังเลิกเรียน ฝึกซ้อมอย่างหนักและสนุกสนานก่อนกลับบ้าน เคล็ดลับความสำเร็จคือการซ้อมอย่างถูกวิธีรวมถึงทัศนคติที่ดีของนักกีฬาและผู้ปกครอง

ภาค ๓
สานฝัน“บ้านทองหยอด”

เหมือนเช่นทุกวันที่ผ่านมา

แต่ละสายพานการผลิตสินค้า ไม่ว่าทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน เหลืองอร่ามด้วยขนมไทย

เม็ดเล็ก ๆ และเส้นสาย ส่งกลิ่นหอมไปทั่วบริเวณ

แม้วันนี้ยี่ห้อบ้านทองหยอดจะนับเป็นเจ้าใหญ่ของขนมไทยทั้งสี่ชนิด แต่ผู้บริหารโรงงานขนมไทยก็ยังไม่หยุดเรียนรู้ ยังคง
หาทางพัฒนากระบวนการผลิตสินค้า รวมทั้งช่องทางทำการตลาดให้ดียิ่งขึ้น

ภาณุวัฒน์กล่าวถึงความยากลำบากในการสืบสานกิจการโรงงานขนมไทยว่า

“มาถึงวันนี้คงต้องบอกว่า มันไม่ได้ยากแล้ว”

เป้าหมายต่อไปของเขาคือปลูกฝังให้พนักงานรักองค์กร และทำให้องค์กรมีระบบการผลิตที่ลื่นไหล แม้จะไม่มีเจ้าของโรงงานนั่งอยู่ด้วยก็ตาม

“เราจะทำอย่างไรให้งานผลิตเดินหน้าโดยไม่จำเป็นต้องมีเราก็ได้ ทำอย่างไรให้พนักงานเอาใจใส่หน้าที่ ทำอย่างไรถึงจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้แหละคือเรื่องยากสำหรับผม”

ขณะที่จำนวนขนมไทยบ้านทองหยอดยังยืนหยัดอยู่ที่สี่ชนิด ภาณุวัฒน์วิเคราะห์ว่าอนาคตอาจมีการต่อยอดสายการผลิต

“เราอาจจะผลิตขนมชั้น ขนมถ้วยฟู แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา คงต้องพิจารณาความพร้อมให้ชัดก่อน”

ภาณุวัฒน์ยืนยันว่า “เราต้องเอาขนมสี่ตัวหลักให้แน่นก่อน ถ้าผลิตหลายตัวอาจโฟกัสไม่ได้ว่าตัวไหนคือสินค้าหลักของเรา”

ลูกชายคนกลางยอมรับว่าวันนี้ในตลาดขนมไทย โดยเฉพาะกลุ่ม “เครื่องทอง” คือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน
นั้นยี่ห้อบ้านทองหยอดเป็นผู้นำตลาด แต่ในวงการอาหารบ้าน-ทองหยอดยังเป็นเพียงเด็กน้อย

“ถ้าเทียบมูลค่าของขนมไทยในวงการที่มีทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ของแห้ง เบเกอรี เราก็เป็นแค่มดตัวหนึ่งเท่านั้น
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้”

ทุกครั้งที่เขามีโอกาสได้เข้าไปในโรงงานเบเกอรี ชายหนุ่มคนนี้รู้ดีว่ายังมีเรื่องต้องพัฒนาอีกมาก

“เรามองเห็นอะไรหลายอย่าง เห็นสิ่งที่เรายังพัฒนาไม่ถึงไหน เช่น การรักษาเชลฟ์ไลฟ์ (shelf life) ให้ยืนยาว นวัตกรรมใหม่ ๆ
หลายคนก็นำเราอยู่ เรามีตัวอย่างให้ดูว่าธุรกิจอาหารอื่น ๆ เขาดำเนินกิจการกันอย่างไร แล้วนำมาปรับใช้กับขนมไทยของเรา”

เช่นเดียวกับทุกวันที่ผ่านมา
สนามแบดมินตันทั้ง ๑๘ สนาม แน่นขนัดด้วยเด็ก ๆ และนักกีฬาที่อัดแน่นด้วยความฝัน

กลุ่มหนึ่งเพิ่งเริ่มจับไม้แบดมินตัน กลุ่มหนึ่งฝึกตีลูกหยอด ลูกเลี้ยว ลูกตบ ลูกฟัน วนซ้ำอย่างนั้นชนิดไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย

ชุดยูนิฟอร์มของนักเรียนโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดที่ฉาบพื้นสนามสีเขียวเข้มนั้นเป็นสีเหลืองสดใส ตัดฉับกับสีขาวกลาดเกลื่อนของลูกแบดมินตันนับพันลูก

ทุกวันนี้บ้านทองหยอดมีนักเรียนลงทะเบียนเรียนแบดมินตันประมาณ ๓๐๐ คน แบ่งเป็นกลุ่มนักกีฬาจำนวนร้อยกว่า ซึ่งพักประจำอยู่ที่โรงเรียนร่วม ๘๐ คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพื้นฐานที่เดินทางไปกลับอีกมาก

โค้ชสาทรบอกว่า “ผมสอนทุกวัน ลงคอร์ตทุกวัน หยุดพักไม่ได้ งานสอนต้องต่อเนื่องเพราะอยากเห็นเด็กคว้าแชมป์ อยากเห็นเด็กขึ้นรับรางวัล พ่อกับแม่พาลูกมาเรียนแล้วได้รางวัลเขาก็มีความสุข เขาเอาลูกมาเรียนแล้วลูกสนุก ผมก็หยุดไม่ได้”

ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่ามีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจ ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดพาลูกมาเรียนหลายวันแล้วยัง
ไม่เก่งเหมือนน้องเมย์

“ผมบอกเลยว่า พี่ต้องใช้เวลา ถ้าคิดว่าเดือนหนึ่งหรือสองเดือนจะเก่งเลยมันเป็นไปไม่ได้ แล้วอยู่ที่ตัวเด็กเองด้วยว่าอยากเรียนจริงไหม น้องเขาตั้งใจมาเพื่ออะไร มาเพื่อออกกำลังกาย มาเล่นสนุก หรืออยากเป็นนักกีฬาจริง ๆ”

มองไปที่สนามแบดมินตัน
หนึ่งในนักกีฬาที่กำลังซ้อมอย่างเข้มข้นนั้นคือ เมย์-รัชนก
นักแบดมินตันหญิงที่เคยคว้าแชมป์โลก และเคยขึ้นถึงตำแหน่งมือวางอันดับ ๑ ของโลก

แต่วันนี้เมย์ก็ยังซ้อมหนัก ราวกับคนไม่เคยประสบความสำเร็จ ราวกับคนที่ยังไม่หมดฝัน
ซึ่งหนึ่งในความฝันนั้นคือการคว้าเหรียญรางวัลในกีฬาโอลิมปิก

จากบ้านทองหยอดหลังเล็ก ๆ ที่แม่ปุกกับครอบครัวเริ่มต้นทำขนมไทย ตามมาด้วยการสร้างโรงเรียนสอนแบดมินตัน แม่ปุกบอกว่าทั้งสองสิ่งนั้นเกิดจากความรักและความคิดว่าเราน่าจะทำได้

“การทำขนมไทยของแม่ปุกเริ่มต้นจากศูนย์ แล้วแม่ปุกก็ทำขนมจนเป็นที่รู้จัก พอมาทำแบดมินตันก็เริ่มจากศูนย์เหมือนกัน แล้วก็ทำด้วยความรักความทุ่มเท คิดว่าถ้าไม่ท้อ วันหนึ่งต้องสำเร็จ อย่าคิดว่าสู้ไม่ไหว”

นี่กลายเป็นวิธีให้กำลังใจนักกีฬา

การเล่าเรื่องราวที่ตนเคยผ่าน เล่าเรื่องที่ตัวแม่ปุกเองก็เริ่มจากศูนย์

แม่ปุกพูด-ในวันที่ความฝันกำลังได้รับการสานต่อ

วันที่โรงเรียนแบดมินตันและโรงงานขนมไทยบ้านทองหยอดกลายเป็นหนึ่ง