วิมลรัตน์ ธัมมิสโร เรื่อง
วันชัย พุทธทอง ภาพ

kuha-pakbara01
พี่น้องเอ่ย ? เอ่ย

เราเดินไปไหน ? เดินไปปากบารา
ไปทำไม ? ไปล้ม ค.๑

เสียงโต้-ตอบระหว่างสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ และเครือข่ายประชาชนที่เห็นความสำคัญของฐานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตชุมชน ดังขึ้นท่ามกลางถนนสายหลักด้วยระยะทาง ๑๐๑ กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่าง เขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา กับ ปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล

ภาคประชาชนกว่า ๑๐ ชีวิต ร่วมเดินเท้าสวมหมวกชาวนาพร้อมกับโบกธงสีเขียวผืนใหญ่ แสดงเจตนารมณ์ภายใต้ข้อความว่า “เดินด้วยรักจากภูผาถึงทะเล ๑๐๑ กิโลเมตร จากเขาคูหา จ.สงขลา ถึง ปากบารา จ.สตูล หยุด ท่าเรือน้ำลึกปากบารา แร่หินอุตสาหกรรมก่อสร้าง”

ท่ามกลางแสงแดด และพื้นถนนที่ร้อนละอุ ยังพอมีลมพัดผ่านเบาๆ จากภูผาทั้งสองข้างทางที่สามารถช่วยคลายร้อนร่างกายได้บ้าง แต่สำหรับหัวใจนั้นกลับร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะใกล้ถึงเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๑ หรือ ค.๑ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราในอีก ๔ วันข้างหน้า (๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐)

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการสะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือ แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล ประกอบด้วยโครงการย่อยหลายโครงการ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ ๒ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รถไฟรางคู่ขนส่งสินค้าระหว่างท่าเทียบเรือ คลังน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซ นิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา สายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านเขตป่าอนุรักษ์ผาดำ จากจังหวัดสงขลา ถึง จังหวัดสตูล

อีกทั้งมีความต้องการใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขาจำนวน ๘ ลูก ในพื้นที่จังหวัดสตูลที่ทางเครือข่ายเดินเท้าผ่าน รวมทั้งแหล่งทรายจากบ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านหัวหิน อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึก และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

kuha-pakbara02

สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ภาคีเครือข่าย และภาคประชาชน มองว่าแนวทางการพัฒนาของรัฐที่เน้นความเจริญด้านอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดผลกระทบ และความเสียหายต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทำลายวิถีชีวิตชุมชน ภาคการเกษตร และเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการดำเนินการ โครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล โครงการท่าเรือน้ำลึก การให้สัมปทานแร่หินอุตสาหกรรม และขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามกรอบข้อตกลงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ได้ร่วมลงนามในการประชุมสหประชาชาติปี 2558

สำหรับวันนี้เป็นวันที่ ๓ ของการเดินด้วยรักจากภูผา ถึง ทะเล ผ่านระยะทางมาแล้ว ๓๐ กิโลเมตรเมตร ถึงแม้จะมีอุปสรรคแสงแดด และร่างกายที่เหนื่อยล้าบ้างในบางครั้งแต่เครือข่ายก็ยังมุ่งมั่น ตั้งใจไปยังจุดหมายปลายทาง เพื่อบอกกล่าวถึงคุณค่าของเพชรเม็ดงาม ที่ฐานทรัพยากรที่พวกเขารัก