ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
อุปกรณ์สำหรับสวมใส่ที่ใบหน้าเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป พบเห็นการประดิษฐ์ขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ใช้ในการแสดง หรือประกอบพิธีกรรม ความเชื่อต่างๆ ไปจนถึงเป็นเครื่องมือป้องกันใบหน้าจากสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้คือตัวอย่างหน้ากากในแต่ละยุคสมัย
๙,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล – หน้ากากหิน เมืองเยรูซาเลม
หน้ากากเก่าแก่ที่สุดซึ่งถูกค้นพบในยุคหินใหม่ บริเวณที่คาดว่าเป็นที่ตั้งชุมชนในเมืองเยรูซาเลม ทำจากหินมีลักษณะจำลองใบหน้าคนอย่างเรียบง่ายมีรูที่ตา จมูก และปาก เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนบรรพบุรุษที่จากไป ทั้งนี้คาดการณ์กันจริงๆ มนุษย์น่าจะเริ่มทำหน้ากากตั้งแต่ ๓๐,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาลมาแล้ว
๕,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล – หน้ากากชนเผ่าแอฟริกา
หลายชนเผ่าในแถบแอฟริกาตะวันตกและตอนใต้ของซาฮาร่ายุคโบราณทำหน้ากากจากไม้ ทองเหลือง และทองแดง ตกแต่งด้วยสีธรรมชาติ วาดเป็นรูปภูติผี มนุษย์ และสัตว์สวม ผู้สวมเป็นเสมือนตัวแทนของวิญญาณเพื่อใช้เต้นรำแสดงประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยมีรูปทรง และการวาดลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
๑๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาล – หน้ากากคนตาย
ยุคอียิปต์โบราณ หน้ากากถูกใช้ในพิธีกรรมจากความเชื่อชีวิตหลังความตายว่าวิญญาณจะกลับสู่ร่าง โดยมักตบแต่งศพที่รักษาไว้ด้วยการหล่อจำลองหน้าผู้ตายเป็นหน้ากากทำจากปูนปลาสเตอร์ กระดาษพาไพรัส และผ้าลินินที่เรียกว่าคาร์ตันเนจ หรือตัวอย่างเช่น พระศพฟาโรห์ตุตันคาเมนซึ่งสวมหน้ากากทองคำ
ราว พ.ศ.๔๐ – หน้ากากยุคกรีกโบราณ
หน้ากากถูกใช้ในละครเพื่อนมัสการแก่ไดอะไนซัส(Dionysus) เทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยว ทำจากผ้าลินิน,ไม้, แผ่นหนัง และขนสัตว์ ออกแบบให้สวมคลุมทั้งใบหน้าและศีรษะ มีช่องบริเวณตา จมูก และปาก รูปลักษณ์และสีหน้าแสดงอารมณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งเปิดโอกาสให้เปลี่ยนตัวนักแสดงแทนที่ได้อีกดวย
ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – หน้ากากนักรบเม็มโปะ(Mempo)
ในยุคคะมะกุระ ยามสู้รบในสงครามซามูไรจะสวมใส่หน้ากากเหล็กมีหนังสัตว์ตกแต่งอย่างสวยงามพร้อมหมวก และชุดเกราะที่เรียกว่าคาบูโตะ โดยมักออกแบบให้ดูน่ากลัวคล้ายปีศาจ โดยยังใช้ป้องกันสภาพอากาศ และอาวุธต่างๆ และช่วยคานน้ำหนักของหมวกที่มีน้ำหนักมาก โดยมีรูเล็กๆ ด้านล่างสำหรับระบายเหงื่อ อย่างไรก็ตามหน้ากากสวมใส่ในการสู้รบเริ่มมีใช้ตั้งแต่ช่วงยุคกลางของยุโรปแล้ว
พ.ศ.๑๗๐๕ – หน้ากากเวเนเชี่ยน
พบที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี โดดเด่นด้วยการตบแต่งที่หรูหราด้วยสีเงิน-ทองแบบศิลปะยุคบาโรค ผลิตจากเครื่องกระเบื้อง และหนังสัตว์ เชื่อว่าเดิมถูกผลิตเพื่อใช้ปิดบังฐานะที่แท้จริงเพื่อติดต่อกับคนต่างชนชั้น ต่อมาเมื่อมีกฎหมายห้ามการปลอมตัวจึงถูกนำมาสวมใส่เฉพาะในโอกาสพิเศษ โดยเฉพาะในงานเทศกาลคาร์นิวัล
พ.ศ.๒๑๑๐ – หน้ากากประจาน
อิทธิพลจากช่วงยุคมืด ในอังกฤษและหลายแห่งในยุโรปจะมีการลงโทษในชุมชนโดยปราศจากกฎหมายรองรับให้ผู้หญิงที่มีพฤติกรรมนินทาว่าร้าย ด้วยการสวมหน้ากากเหล็กที่มีลักษณะคล้ายกรงครอบใบหน้าที่เรียกว่า Scold’s bridle เพื่อปิดบริเวณปาก เพื่อประจานให้เกิดความรู้สึกอับอาย
๒๓๙๗ – บาลาคลาว่า(Balaclava)
หรือ “หมวกไอ้โม่ง” ทำจากการถักไหมพรมใช้ปิดตั้งแต่หัวจนถึงคอเปิดเฉพาะส่วนตาเท่านั้น มีความเชื่อว่ากองทัพอังกฤษนำมาใช้ป้องกันหิมะและอากาศที่หนาวเย็นในสงครามไครเมีย(ชื่อหน้ากากนำมาจากเมืองบาลาคลาว่าในแคว้นไครเมีย) ปัจจุบันถูกนำมาประยุกต์เพื่อใส่ได้หลายรูปแบบ และใช้ใส่ทั้งกันลม และแดดอีกด้วย
ราวปี ๒๔๗๓ – หน้ากากดำน้ำ
เริ่มมีนักสำรวจพัฒนาประดิษฐ์หน้ากากร่วมกับอุปกรณ์ดำน้ำอื่นๆ กันเอง หนึ่งในต้นแบบสำคัญเป็นของ อีฟส์ เลอ เปรแยร์ ราชนาวีชาวฝรั่งเศส หน้ากากยุคแรกเป็นแบบเลนส์เดียวทำจากกระจก หนังเคลือบและทองแดง มีลูกยางสำหรับไล่น้ำออกจากหน้ากาก ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้กับหน้ากากดำน้ำสมัยใหม่
ราว พ.ศ.๒๕๑๔ – หน้ากากในภาพยนตร์
หน้ากากเริ่มถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นในภาพยนตร์โดยเฉพาะหนังสยองขวัญ เช่น หน้ากากหนังมนุษย์จากเรื่อง Halloween(๒๕๑๗) หน้ากากผีปากกว้างจากเรื่อง Scream(๒๕๓๙) หน้ากากยังได้รับความนิยมในหนังที่ดัดแปลงจากการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ เช่น หน้ากากมนุษย์ค้างคาวจากหนังชุด Batman
ราว พ.ศ.๒๕๒๓ – – หน้ากากในวงการดนตรี
ศิลปินเพลงเริ่มนำเสนอตนเองในลักษณะใส่หน้ากากปกปิดหน้าตาทั้งเพื่อสร้างความสนใจ และสีสันในการแสดงคอนเสิร์ต ศิลปินใส่หน้ากากโดดเด่นในยุคปัจจุบัน อย่างวง Daft Punk ในรูปลักษณ์หุ่นยนต์เมื่อปี ๒๕๔๔, และ Slipknot ซึ่งทั้งวงเมทัลนี้จะใส่ชุดหน้ากากไม่ซ้ำแบบกันเมื่อปี ๒๕๓๙
ราว พ.ศ.๒๕๕๑ – หน้าการประท้วงทางการเมือง
Autonomism กลุ่มซ้ายจัดของเยอรมันปิดบังใบหน้าด้วยหน้ากากหมวกสกีในการประท้วงราวปี ๒๕๑๓ แต่ล่าสุดที่โดดเด่นอย่างมากคือหน้ากากกาย ฟอกส์ ซึ่งนำมาจากภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta(๒๕๔๙) ได้ถูกนำมาใช้ในเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มแฮคเกอร์ Anonymous เพื่อประท้วงการตั้งลัทธิ Scientology ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลก
- ข้อมูลจากคอลัมน์ เวลา ดีไซน์ สิ่งประดิษฐ์ – หน้ากาก
- ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ 355 กันยายน 2557