ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
“โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” หรือโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ กลายเป็นประเด็นร้อนทันที หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๒๕ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๙
จุดเริ่มต้นโครงการนี้เกิดจากการลงนามร่วมกันของรัฐบาลจีน พม่า ลาว และไทย ตั้งแต่เมื่อกว่า ๑๕ ปีก่อน แนวคิดคือการเปิดเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำโขงตั้งแต่จีน ผ่านพม่า ไทย ลงมาถึงลาว เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านได้
ที่ผ่านมา เกาะแก่ง กองหินใต้น้ำ สันดอนทราย ในเขตจีน พม่า และลาว ถูกระเบิดทำลายเพื่อเปิดร่องน้ำแล้ว คงเหลือเพียงส่วนที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-ลาวเท่านั้น เนื่องจากการคัดค้านอย่างหนักของชาวบ้านริมฝั่งโขงและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง (หรือแม่น้ำล้านช้าง ตามชื่อเรียกของจีน) ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จะทำให้แม่น้ำนานาชาติสายนี้กลายสภาพเป็นเพียง “คลองส่งสินค้า”
ล่าสุด เพื่อเร่งรัดการพัฒนาในรูปการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ รัฐบาลจีนได้ผลักดันให้เกิดกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จนกลายเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น
วาระระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจึงกลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง
แก่งแม่น้ำโขงมีความสำคัญอย่างไร
แก่งแม่น้ำโขงเป็นมรดกทางธรรมชาติ มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์และสลับซับซ้อน เป็นแหล่งวางไข่ของปลา เป็นแหล่งประมงที่สำคัญ เฉพาะที่จังหวัดเชียงรายในแม่น้ำโขงสายประธาน เราพบปลาอย่างต่ำถึง ๑๐๕ ชนิด แบ่งเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ประมาณ ๑๐ ชนิด
เฉพาะแก่งคอนผีหลง แก่งใหญ่บนแม่น้ำโขง เป็นแหล่งวางไข่ของปลาบึกซึ่งเป็นปลาอพยพระยะไกล จากลูกปลาเล็ก ๆ แถวกัมพูชา ปลาบึกจะเติบโตแล้วขึ้นมาวางไข่ที่เชียงราย บางส่วนที่หนองคายและเลย
มีคำบอกเล่าของพรานปลาบึกว่าปลาบึกจะขึ้นมาผสมพันธุ์วางไข่บนผิวน้ำบริเวณคอนผีหลง ปลาบึกจะดิ้น รัด ปล้ำกัน จนเกิดเสียงน้ำกระจาย เมื่อวางไข่และผสมพันธุ์แล้วไข่ปลาบึกจะถูกตะกอนโคลนเคลือบแล้วพัดไปยังท้ายน้ำ ลูกปลาบึกจะฟักตัวแถวกัมพูชา เวียดนาม เมื่อเติบโตจึงว่ายกลับมายังไทย เราจึงสังเกตได้ว่าแต่ก่อนไม่ค่อยพบปลาบึกตัวเล็ก ๆ หรือวัยรุ่นที่เขตแดนไทยไปถึงตอนเหนือของลาว จนปัจจุบันมีปลาบึกจากฟาร์ม ทำให้พบปลาบึกได้ทุกขนาด
นอกจากปลาแล้ว สันดอนบนแม่น้ำโขงยังเป็นแหล่งหากินสำคัญของนกน้ำ สังเกตตามพื้นทรายจะมีรอยตีนนกจำนวนมหาศาล เช่น นกเขาทราย หรือนกแอ่นทุ่งเล็ก วางไข่บนดอนทรายดอนกรวดของแม่น้ำโขงหลายร้อยหลายพันตัว นกพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ และมีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีนักดูนกจากทั่วโลกมาดูนกแถวริมน้ำโขง แถวเชียงราย อุบลฯ มีนกหลายชนิดที่หายากใกล้สูญพันธุ์
การเดินเรือขนาดใหญ่ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างไร
การขนส่งและเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ ๕๐๐ ตันผ่านจุดที่ปลาวางไข่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ปลาพวกนี้วางไข่บนผิวน้ำ พวกปลาบึก ปลาเทพา ปลาเริง เป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก ปลากระเบนลาว ปลายี่สก ยังพบอยู่ แต่ก็น้อยลงมาก ปลากระโห้ ทางเหนือเรียกปลาสา ก็จับได้นาน ๆ ครั้ง ปลาฝักพร้าหรือภาษาถิ่นเชียงรายเรียกปลาดาบญวน สูญพันธุ์แล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ยังพบบ้างในแม่น้ำโขง ที่เชียงของก็ลดจำนวนลง พวกนี้เป็นปลาที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ถ้ามีเรือลำใหญ่ ๆ วิ่งผ่านไปผ่านมากวนน้ำให้ขุ่นก็ย่อมรบกวนเขา เขาอาจจะหยุดวางไข่ หรือวางไข่น้อยลงก็ได้
การระเบิดแก่ง ขุดสันดอน ยังทำลายแหล่งพืชพรรณที่เป็นอาหารของปลากินพืช รวมถึงไก สาหร่ายแม่น้ำโขงที่อาศัยแก่งใต้น้ำเป็นแหล่งเจริญเติบโต เป็นรายได้สำคัญของคนริมฝั่งโขง ถ้าสันดอนถูกขุด แม่น้ำลึกตลอดเวลา พืชบนแก่งและริมฝั่งโขงอาจจะหายไป
การระเบิดแก่งเพื่อเดินเรือขนส่งสินค้ามีความจำเป็นอย่างไร
ปัจจุบันมีถนน R3A จากยูนนานผ่านลาว แล้วข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๔ เชียงของ-ห้วยทรายเข้าสู่ไทย มีแหล่งรองรับการขนส่งสินค้าครบถ้วนแล้ว การใช้ถนน R3A น่าจะทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนถูก
นอกจากถนน R3A เรายังมีท่าเรืออยู่แล้วที่อำเภอเชียงแสนและเชียงของ เรือบรรทุกสินค้าขนาดกลางจากยูนนานก็แล่นลงมาได้ตลอดทั้งปี เป็นไปได้ว่าเหตุผลหนึ่งที่จีนหวังจะระเบิดแก่งคือเรื่องการท่องเที่ยว หวังพานักท่องเที่ยวจีนครั้งละหลายร้อยหรือพันคนขึ้นไปเที่ยวถึงหลวงพระบาง
บทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
หลายคนบอกว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC (Mekong River Commission) เป็นเสือกระดาษ ก็ยอมรับว่าเป็นจริง ๆ MRC เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นภายใต้หลักการของสหประชาชาติก็จริง แต่ไม่มีอำนาจ เหมือนเป็นลูกน้องของรัฐบาลสมาชิกสี่ประเทศ คือ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ส่วนจีนกับพม่าเป็นแค่คู่เจรจา พม่าบอกว่าแม่น้ำโขงไหลผ่านเขาช่วงสั้น ๆ จีนก็บอกว่าต้องคุยกับรัฐบาลก่อน
MRC ของสมาชิกทั้งสี่ประเทศจึงไม่มีอำนาจ มีแต่งานสนับสนุนทางวิชาการหรือจัดเวทีพูดคุย ข้อตกลงต่าง ๆ เป็นไปตามหลักอธิปไตยหรือข้อตกลงระหว่างประเทศเหล่านั้น ไม่มีสิทธิ์ไปชี้บอกว่าสิ่งที่คุณทำผิดหรือถูก ประเทศที่ไม่พอใจเขาอาจจะไล่คนของอีกประเทศออกได้ถ้าทำผิดใจเขา
ฉะนั้น MRC เหมือนฝ่ายอำนวยการ คอยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนสมาชิกให้ปฏิบัติตามข้อตกลงแม่น้ำโขง Mekong Agreement (1995) แต่ว่าไม่มีอำนาจ ไม่ได้เป็นองค์กรต่อรอง เมื่อเกิดโครงการระเบิดแก่ง MRC ก็เป็นแค่ผู้ดำเนินการหรือประสานงานจัดเวทีในแต่ละประเทศที่ต้องการพูดคุยกันเรื่องนี้ แต่ข้อตกลงเป็นอย่างไร แต่ละรัฐบาลต้องไปคุยกันเอง
แม่น้ำโขงจะคงอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร
นักพัฒนาชอบบอกว่าคนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ นักพัฒนายุคใหม่ต้องเป็นคนที่เห็นแก่ได้ คือต้องไม่ให้มีใครเสียประโยชน์เลย ไม่ว่าธรรมชาติ ชุมชน สังคม เศรษฐกิจ คุณทำอย่างไรก็ได้ ใช้เทคโนโลยีช่วยให้ทุกฝ่ายได้ ไม่มีเสีย
นักพัฒนารุ่นโบราณบอกว่าการพัฒนาต้องได้อย่างเสียอย่าง แต่การพัฒนาที่บอกว่าได้อย่างเสียอย่างเป็นการพัฒนาที่ล้าหลัง เป็นลักษณะของเผด็จการ มากกว่าการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่
เชิงอรรถ
*ดร. ชวลิต วิทยานนท์ – นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
- ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ 384 กุมภาพันธ์ 2560