More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


beauty-and-the-beast-movie

Beauty and The Beast ฉบับคนแสดง นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่อีกครั้งของ วอล์ท ดิสนี่ย์ พิคเจอร์ส โดยเปิดตัวสัปดาห์แรกในสหรัฐอเมริกากว่า ๑๗๔ ล้านเหรียญฯ ปัจจุบันทำเงินทั่วโลกกว่า ๙๗๗ ล้านเหรียญฯ(รายได้ถึงวันที่ ๙ เมษายน ๒๐๑๗) และน่าจะทำรายได้ถึง ๑ พันล้านเหรียญฯ ได้ในเวลาอันใกล้

แม้ในด้านเสียงวิจารณ์จากนักวิจารณ์และคนดูนั้น ผลงานการกำกับของ บิล คอนดอน (Dreamgirls) เรื่องนี้จะสู้ต้นฉบับอนิเมชั่นในปี ๑๙๙๑ ไม่ได้เลย หนังถูกวิจารณ์ถึงการพยายามทำซ้ำที่มากเกินไปทั้งในการสร้างฉากร้องเพลงตามแบบอนิเมชั่น ไปจนกลวิธีการดำเนินเรื่องที่คล้ายคลึงกัน มีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

มีหลายคนประเมินความสำเร็จครั้งนี้หลายด้าน อาทิ กระแสหนังเพลงที่กลับมาหลังจากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง La La Land ในปีที่ผ่านมา การเข้าฉายในช่วงที่ไม่มีหนังที่โดดเด่นฉายชนกันเลย แต่เหนืออื่นใดมันช่วยตอกย้ำความสำเร็จในการปลุกภาพลักษณ์แบรนด์ดิสนี่ย์ให้กลับมามีมนต์ขลังอีกครั้งจนเป็นผลสำเร็จของ ซีอีโอ บ๊อบ ไอเกอร์

ไอเกอร์ อดีตประธานสถานีโทรทัศน์ ABC ได้เข้ามาเป็นซีอีโอให้กับดิสนี่ย์แบบเต็มตัวแทนที่ ไมเคิล ไอสเนอร์ ในปี ๒๐๐๕ แม้จะมีงานที่ล้มเหลวด้านรายได้ไม่น้อย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาคือคนที่ทำให้สตูดิโอเก่าแก่แห่งนี้กลับสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง ทั้งการปลุกอนิเมชั่นของค่ายให้กลับมาได้รับความนิยมต่อเนื่อง และการซื้อบริษัทผู้ผลิตอย่าง พิกซ่าร์ ในปี ๒๐๐๖, มาร์เวล ในปี ๒๐๐๙ และลูคัส ฟิล์มในปี ๒๐๑๒ ซึ่งล้วนมีผลงานที่โดดเด่นมีคนดูติดตามเหนียวแน่นอยู่แล้ว ส่งผลให้บริษัทมีหนังทำเงินมหาศาลต่อเนื่องตลอดทั้งปี และอีกงานสำคัญคือการนำอนิเมชั่นเรื่องเก่าของดิสนี่ย์กลับมารีเมคเป็นฉบับคนแสดงนั่นเอง

หลังจาก Alice in Wonderland ฉบับคนแสดงในปี ๒๐๑๐ ทำรายได้ทั่วโลกว่า ๑ พันล้านเหรียญฯ ดิสนี่ย์ก็รีเมคผลงานเก่าๆ ในอดีตอย่างต่อเนื่อง อาทิ Maleficent(๒๐๑๔), Cinderella(๒๐๑๕), Jungle Book(๒๐๑๖) และล่าสุดกับ Beauty and The Beast ซึ่งก่อนออกฉาย “โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” ถูกมองเสียด้วยซ้ำว่าเป็นงานรีเมคที่เสี่ยงที่สุดของดิสนี่ย์ มันลงทุนกว่า ๑๖๐ ล้านเหรียญฯ ใช้ค่าการตลาดสูงถึง ๓๐๐ ล้านเหรียญฯ และเป็นงานรีเมคเรื่องแรกที่ไม่ได้สร้างจากอนิเมชั่นยุคทองของดิสนี่ย์ แต่เป็นยุคฟื้นฟูของทางบริษัทที่กลับมาประสบความสำเร็จได้อย่างเต็มภาคภูมิจากงานชิ้นนี้ ตัวอนิเมชั่นเองนั้นก็ถูกนำกลับมาฉายโรงในวาระต่างๆ ได้ไม่นานนัก จึงย่อมอาจถูกเปรียบเทียบได้ง่าย

ความสำเร็จครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าคนดูเชื่อถือในแบรนด์ดิสนี่ย์ในฐานะผู้ผลิตงานเทพนิยายแฟนตาซีที่มีมาตรฐานดูได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งการคัดเลือกนักแสดงและผู้กำกับที่เหมาะสมกับเรื่องที่รีเมค การลงทุนสูงในงานสร้างที่พิถีพิถัน การดัดแปลงที่ใส่รายละเอียดที่สร้างความแปลกใหม่ แต่ก็คงกลิ่นอายจากงานต้นฉบับ ซึ่งแม้จะถูกครหาว่าเน้นความเป็นสูตรสำเร็จ หากินกับของเก่า แต่ก็ทำรายได้ดีเสียจนชนิดที่สตูดิโอฮอลลีวู้ดค่ายอื่นๆ ซึ่งพยายามเดินตามแนวทางเดียวกันได้แต่มองตาปริบๆ

ดิสนี่ย์ยังมีโครงการจะรีเมคอนิเมชั่นในอดีตอีกหลายเรื่อง อาทิ Mulan, The Lion King, Aladdin, Dumbo, Winnie The Pooh และ 101 Dalmatian ฯลฯ

หากมนต์ขลังยังไม่เสื่อมเสียก่อน หรือคนดูไม่เอียนกันไปข้างจนรายได้หด เราจะได้เห็นหนังรีเมคจากสูตรนี้ต่อไปอีกหลายปีเลยทีเดียว