แลไปรอบบ้าน บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว
“ยอมรับปัญหา (แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร) ว่ายังมีอยู่และควบคุมยาก
เนื่องจากมีแท็กซี่ในระบบกว่าแสนคัน ที่เป็นประเด็นพบข้อร้องเรียน
เพียง ๑ เปอร์เซ็นต์…”
ณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก
๑๕ มีนาคม ๒๕๖๐
………….
สัปดาห์ที่ผ่านมา รายการโทรออกในมือถือผมแจ้งว่า ผมโทรไปที่เบอร์ ๑๕๘๔ แจ้งคนขับแท็กซี่ที่มีเพียง “๑ เปอร์เซ็นต์” (จากรถแสนคัน) ในแบบวันเว้นวัน เนื่องจากผมมีเหตุจำเป็นต้องนั่งแท็กซี่ค่อนข้างบ่อย
นึกทีไรก็ชวนหงุดหงิดหวนไปนึกถึงระบบขนส่งของประเทศที่เจริญแล้ว
เปล่าเลยครับ ผมไม่ได้พูดถึงยุโรป แต่กำลังพูดถึงเมืองร้อนในภูมิภาคเดียวกัน ผู้คนคล้ายกัน แต่สิ่งที่ไม่คล้ายคือ “มาตรฐานการจัดการ” รวมถึงการมองเห็นว่าสัดส่วน ๑ เปอร์เซ็นต์จากแสนคันนั้นเป็นปัญหาใหญ่
เรื่องเหลือเชื่อก็คือ ระบบ ขนส่งกรุงเทพฯ ในปี ๒๕๖๐ มีสภาพคล้ายระบบขนส่งสิงคโปร์ในทศวรรษที่ ๑๙๖๐ ( พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๑๓) อันหมายถึง รถประจำทางที่วิ่งอย่างไม่เป็นระเบียบ จะมาเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้ แท็กซี่มีปัญหากับผู้โดยสาร การจราจรจลาจลระหว่างชั่วโมงเร่งด่วน
ภาพที่ว่าตัดกันอย่างรุนแรงกับสิงคโปร์ปัจจุบันที่มี “ระบบตั๋วร่วม” ผู้โดยสารซื้อบัตรเติมเงินใบเดียวใช้ได้กับระบบขนส่งทั่วเมืองทั้งรถไฟฟ้าระบบหลักระบบรอง รถประจำทาง หรือกระทั่งจ่ายเงินค่าแท็กซี่
แท็กซี่สิงคโปร์เองก็มีปัญหามาก่อน แต่ต่อมากลายเป็นรถสะอาด คนขับมีมารยาท ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่มีปัญหาเรื่องทอนเงินจากธนบัตรใบใหญ่เนื่องจากมีระบบชำระด้วยบัตรเครดิต
เมื่อจะเรียกแท็กซี่ เราจะพบการแจ้งเจตนารมย์ของพนักงานขับชัดเจนจากป้ายไฟบนหลังคารถ
“Hired” แจ้งสถานะ “ถูกเรียกแล้ว” -“Busy” แจ้งสถานะ “ไม่รับคน” -“On Call” แจ้งสถานะ “ถูกเรียกแล้ว (จากผู้โดยสารที่ไหนสักแห่ง)” สถานะ ๓ แบบนี้มีสีแดง ไม่ต้องเรียกเพราะไม่จอด
ส่วนสถานะดวงไฟสีเขียว (เรียกได้) ประกอบด้วย “Taxi” แจ้งสถานะพร้อมว่าจ้าง – – “..(ชื่อสถานที่)..” แจ้งย่านที่คนขับต้องการไปถ้าเราตกลงเขาก็ยินดีรับ -“Shift” แจ้งสถานะ “ส่งกะ” หรือ “หยุดพัก”
ปรกติ แท็กซี่ในสิงคโปร์มีรถ ๓ แบบ คือ ทั่วไป (ส่วนมากเป็นโตโยต้า พริอุส) ลีมูซีน และรถยุโรป ทั้งหมดค่าโดยสารไม่ต่างกันมาก จะมีรายละเอียดต้องจ่ายต่างกันตามช่วงเวลาที่ใช้งาน (ช่วงเร่งด่วนจะแพง) โดยทั้งหมดถูกบันทึกลงในมิเตอร์อัตโนมัติ โชเฟอร์ (คนขับ) ที่นี่ส่วนมากเป็นผู้ชายวัยกลางคนจนถึงชราภาพที่ยังแข็งแรงและอัธยาศัยดี บางคนที่ผมพบเคยมาเที่ยวเมืองไทยและรู้จักคนไทยดี ภายในรถสะอาด แผงหน้าปัดมี GPS บอกเส้นทางชัดเจน มื่อถึงที่หมายก็มีทางเลือกให้ชำระค่าโดยสารได้ทั้งบัตรเครดิตและเงินสด และคนขับที่นี่เตรียมเงินทอนให้ผู้โดยสารโดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องกังวลเรื่องการมีธนบัตรมูลค่าสูงๆ
เรื่องที่น่าคิดก็คือ สิงคโปร์จัดระเบียบแท็กซี่ได้อย่างไร ?