ยุทธการยึดเมือง 24 มิถุนายน 2475
เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
“ต่างคน ต่างเดินทางแยกย้ายไปตามจุดนัดหมาย ของตัวเอง ทุกหมู่เหล่า มีชาวบ้านอย่างเรา ไปอยู่ด้วย ถนนราชดำเนินตอนนั้น เงียบมาก พี่ชายบอกว่า เดี๋ยวมีคนเอาปืนมาให้ ผมคิดอย่างเดียวว่า ตั้งใจมาทำงานให้สำเร็จ เขาสู้ ก็สู้กับเขา ตายก็ตาย…”
กระจ่าง ตุลารักษ์
กระจ่าง ตุลารักษ์ วัย ๘๗ ปี ชาวบ้านแห่งอำเภอ บางคล้า เมืองแปดริ้ว เป็นอดีต ผู้ก่อการคนสุดท้าย ที่ยังมีชีวิตอยู่ หวนรำลึก ความหลัง ในเช้าวันนั้น
หากเชื่อว่าเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในโลกนี้ ย่อมได้รับการต่อต้าน และมักเกิดจาก คนไม่กี่คน การวางแผน จึงเป็น หัวใจ สำคัญที่สุด ในการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกัน การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ก็ไม่ได้หลุดออกไปจาก เส้นทางนี้เลย
เป็นที่ยอมรับกันว่าความสำเร็จของการปฏิวัติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ส่วนสำคัญมาจากการวางแผนอันรอบคอบ ทั้ง ๆ ที่ ในเวลานั้น คณะราษฎรแทบจะไม่มีกำลังในมือ มีผู้ร่วมก่อการจริง ๆ เพียง ๑๑๕ คน แต่สามารถยึดอำนาจสำเร็จโดยที่ไม่มีผู้ล้มตายเลย
ผู้ก่อการบางส่วน พบปะกัน ในกรุงปารีส ประมาณ พ.ศ.๒๔๖๘
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ ณ หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีสได้มีการประชุม กลุ่มผู้ต้องการเห็นบ้านเมือง มีการเปลี่ยนแปลง การปกครอง เป็นครั้งแรก คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม) ซึ่งกำลังศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ในโรงเรียนนายทหาร ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี ศึกษาวิชาการทหารม้า โรงเรียนนายทหาร ของฝรั่งเศส นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ ระดับปริญญาเอก ในสวิตเซอร์แลนด์ หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยเลขานุการทูตสยาม ประจำกรุงปารีส นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ และนายปรีดี พนมยงค์ โดยตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์ใต้กฎหมายโดยใช้วิธีการ “ยึดอำนาจโดยฉับพลัน” เพื่อเป็นการป้องกันมหาอำนาจ คืออังกฤษ และฝรั่งเศส ที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามประเทศ ถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงยกกำลังทหารมายึดครอง ดินแดนสยามเอาไปเป็นเมืองขึ้น
๔ ทหารเสือ พระยาทรงฯ พระประศาสน์ฯ พระยาพหลฯ พระยาฤทธิ์
๔ ทหารเสือ พระยาทรงฯ พระประศาสน์ฯ พระยาพหลฯ พระยาฤทธิ์ …..ผู้ก่อการ ได้ตั้งปณิธาน ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้สยาม บรรลุเป้าหมาย ๖ ประการ ซึ่งต่อมา ได้เรียกว่าเป็น “หลัก ๖ ประการ ของคณะราษฎร” คือ
…..๑. รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศ ไว้ให้มั่นคง
…..๒. รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกัน ลดลงให้มาก
…..๓. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของ ราษฎร ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่ จะหางานให้ ราษฎร ทุกคน ทำ จะวางโครงการ เศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎร อดอยาก
…..๔. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
…..๕. ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวแล้ว
…..๖. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
คณะราษฎร ฝ่ายทหาร และพลเรือน หน้าวังปารุสกวัน
หลังจากนั้นเมื่อคณะผู้ก่อการได้กลับมาประเทศสยาม ได้ติดต่อประชาชนทุกอาชีพ ไม่ว่าพ่อค้า ประชาชน ข้าราชการพลเรือน ทหารบก ทหารเรือ เข้าร่วมทำการ ก่อการปฏิวัติ จนกระทั่งสามารถรวบรวมคณะผู้ก่อการได้ โดยแบ่งเป็นสาย ดังนี้คือ
- สายพลเรือน มี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นหัวหน้า
- สายทหารเรือ มี นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย เป็นหัวหน้า
- สายทหารบกชั้นยศน้อย มี พันตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า
- สายนายทหารชั้นยศสูง มีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า
พระยาทรงสุรเดช
คณะผู้ก่อการ ได้ทำการวางแผนการยึดอำนาจโดยยึดหลักพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด และกระทำในวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าไม่ได้ประทับในกรุงเทพฯ และได้มอบหมายให้พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้วางแผนการ
เวลานั้นปัญหาใหญ่ของผู้ก่อการโดยเฉพาะสายทหาร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการยึดอำนาจนั้น ก็คือ นายทหารเกือบทั้งหมดไม่มีใครมีตำแหน่งที่คุมกำลังไว้ในมือเลย ยกเว้น พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ที่คุมกำลังทหารปืนใหญ่
ประชาชนหลั่งไหลไปยังพระรูปทรงม้า เมื่อทราบเหตุการณ์ในเช้าวันนั้น
ตีห้า ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน บรรดานายทหารฝ่ายปฏิวัติ ได้รุดไปที่ กรมทหารม้าที่ ๑ และได้หลอกบรรดาทหารว่า บ้านเมือง เกิดกบฏขึ้น ให้นำทหาร รถเกราะ รถถัง ออกไปที่ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยด่วน ที่นั่น ผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือ ได้นำทหารเรือ ที่ถูกหลอกเช่นกัน เดินทางมาถึง และอีกด้านหนึ่งของ บริเวณลานพระรูป นักเรียนนายร้อย ซึ่งถูกหลอกมา เพื่อฝึกซ้อมการรบ ระหว่างทหารราบ กับรถถัง
คาดกันว่า ในเวลานั้น มีทหารบก ทหารเรือ ที่ถูกลวงมาที่ ลานพระบรมรูปทรงม้า และผู้ก่อการฝ่ายพลเรือน รวมแล้วประมาณ ๒,๐๐๐ คน ได้รับคำสั่ง ให้เข้ามาอยู่ ภายในรั้วเหล็กของ พระที่นั่งอนันต์ และให้ทหารทั้งหมด เข้าแถวคละกันไปหมด ทุกเหล่า เพื่อป้องกันไม่ให้ นายทหารคนใด สามารถ สั่งการลูกน้องตัวเอง ได้โดยสะดวก และนาที แห่งประวัติศาสตร์ ก็มาถึง เมื่อพระยาพหลฯ ได้ประกาศ การเปลี่ยนแปลง การปกครอง ของสยามประเทศ ต่อหน้า เหล่าทหาร ทั้งหมด ซึ่งมีใจความว่า
พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
“การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง ใครจะออกเสียงหรือความเห็นคัดค้านอย่างใดมิได้ทั้งสิ้น การปกครองแบบนี้ได้ปล่อยให้อาณาประชาราษฎร์เผชิญโชคชะตา ทางเศรษฐกิจ และการภาษีต่างๆ ไปตามลำพัง ไม่ได้คิดหาทางแก้ไขบูรณะบ้านเมืองให้ดีขึ้น จะปล่อยให้บ้านเมือง ปั่นป่วนวุ่นวาย และเป็นไปตามยถากรรมนั้น เป็นการไม่พึงบังควรยิ่ง เราจึงต้องทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์ทรงสถิตอยู่ใต้กฎหมาย”
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พอกล่าวจบพระยาพหลฯ ได้ขอความร่วมมือจากทหารทั้งหมด ในการทำปฏิวัติครั้งนี้ ทหารเหล่านั้น ไม่มีทีท่าว่า จะขัดขืนแต่อย่างใด และต่อจากนั้น บรรดาคณะราษฎรก็ได้แยกย้ายไปจับกุมเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และนายทหาร นำตัวมาไว้ที่พระที่นั่ง อนันตสมาคมเพื่อเป็นตัวประกัน โดยเฉพาะกรมพระนครสวรรค์วรพินิตผู้มีอำนาจมากที่สุดในเวลานั้น และส่วนหนึ่ง ได้ไปยึดสถานีรถไฟหัวลำโพง พระบรมมหาราชวัง กรมไปรษณีย์ตัดการสื่อสาร ทำให้ฝ่ายรัฐ ไม่สามารถติดต่อกันได้
ภายในเวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง คณะราษฎร ก็สามารถ คุมสถานการณ์ ในกรุงเทพฯ ได้อย่างเด็ดขาด ทั่วกรุงเทพฯ มีคนไปแจก แถลงการณ์ของ คณะราษฎร และประชาชน ได้ให้ความสนใจ มามุงดูที่ บริเวณ ลานพระรูปทรงม้า เป็นจำนวนหลายพันคน
สยามราษฎร์ หนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า กับรูปนายปรีดี พนมยงค์
คณะราษฎรได้จัดให้มีการประชุมระหว่างคณะราษฎร และเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง ขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ หลักการระบอบใหม่ กฎหมายพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยย่อ และขอความร่วมมือในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือน เป็นผู้มีบทบาทสูงสุด เนื่องจากทางทหารไม่สันทัด
ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทางคณะราษฎร ได้ส่ง น.ต. หลวงศุภชลาศัย เป็นผู้แทนไปอัญเชิญ พระองค์นิวัติพระนคร โดยยื่นข้อเสนอให้ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากทรงปฏิเสธจะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อไป ซึ่งพระองค์ได้ทรงปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่ตามเสด็จ และได้ตัดสินพระทัยตกลง เพื่อไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ
พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธค. ๒๔๗๕
เมื่อพระองค์เสด็จกลับวังศุโขทัย เช้าวันรุ่งขึ้นผู้แทนคณะราษฎร ๗ คน ได้เดินทางเข้าเฝ้า และนำเอกสารสำคัญ ไปทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย รวม ๒ ฉบับคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งร่างโดย นายปรีดี พนมยงค์ และพระราชกำหนด นิรโทษกรรม ในคราวเปลี่ยนแปลง การปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕
ภารกิจสำคัญของคณะราษฎรนั้นภายหลังการยึดอำนาจแล้วคือ การเร่งสถาปนาระบอบใหม่ที่มาแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมิได้หมายถึงการมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความหมายว่ารัฐบาลใหม่จะบริหารประเทศอย่างมีหลักเกณฑ์แน่นอนเป็นลายลักษณ์อักษร มิได้เป็นไปตามน้ำพระทัยส่วนพระองค์ เช่นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐธรรมนูญเป็นทั้งที่มาและเป็นหลักประกันแห่งสิทธิของราษฎร ดังจะเห็นได้จากมาตราแรกของธรรมนูญฉบับนี้ที่ประกาศว่า “อำนาจสูงสุด ของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
ภาพปูนปั้นนูนสูงที่ส่วนฐานของ ปีกอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย แสดงถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ออกแบบโดย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี
อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ลงนามใน “พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕” แต่ได้ทรงขอตรวจ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม และได้ทรงลงนามในวันที่ ๒๗ มิถุนายน โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้าย ชื่อพระราชบัญญัติว่า “ชั่วคราว” ซึ่งมีความหมายว่า การจัดรูปการปกครองของระบอบใหม่ มิใช่สิ่งที่ผู้นำของคณะราษฎรจะกำหนดได้ฝ่ายเดียว อีกต่อไป จะต้องมีการประนีประนอม ออมชอม กับฝ่ายอื่นต่อไป
ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นถือได้ว่าเป็นวันแห่งความผันผวนครั้งใหญ่ทางการเมือง จนได้มีการยอมประนีประนอมระหว่างกลุ่มพลังในสังคม และมีการตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราว ๗๐ คน เลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานกรรมการราษฎร หรือ นายกรัฐมนตรี คนแรกของประเทศไทย และจากวันนั้นไปจนถึงคืนก่อนการเกิดรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ (ซึ่งทำให้ประเทศไทยตกไปอยู่ใต้อำนาจเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่องไปอีกยาวนาน) นับเป็นเวลา ๑๕ ปี อันถือได้ว่าเป็นระยะเวลาที่สมาชิกของคณะราษฎรได้มีอำนาจและบทบาทสำคัญ ในการปกครองประเทศ จะเห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีทุกคน ที่ได้รับเลือกมาในช่วงเวลานั้น หากไม่ใช่สมาชิกคณะราษฎรเอง ก็เป็นบุคคลที่ คณะราษฎรสนับสนุนอย่างเข้มแข็งทั้งสิ้น
ธนบัตร ที่ออกในปี พ.ศ.๒๔๘๙ มีรูปพานรัฐธรรมนูญ ที่ด้านหลังของธนบัตร
รัฐธรรมนูญถือว่าเป็นอุดมการณ์ของชาติในสมัยนั้น เห็นได้จาก ธนบัตร ที่ออกในปี พ.ศ.๒๔๘๙ มีรูปพานรัฐธรรมนูญ ที่ด้านหลังของธนบัตร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลอดระยะเวลานั้น จะมีความแตกแยก ความขัดแย้ง เกิดขึ้นในหมู่คณะราษฎร มีความรุนแรงทางการเมือง เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ต้องยอมรับว่ามีสิ่งหนึ่งที่ คณะราษฎรสร้างขึ้นมาสำเร็จในวันนั้น และยังสืบทอดมา จนปัจจุบันก็คือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
เหมือนกับที่ คุณกระจ่าง ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎร คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเช้ามืด วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นทรัพย์สมบัติของประชาชนคนรุ่นหลัง”