ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
เฟซบุค Supat Hasuwannakit : ภาพ

“เสียงประชาชนรัฐไม่ฟังหรอก ตีนน่ะอาจจะพอฟังหน่อย” - นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา

นพ.สุภัทร เคยถูกสั่งย้ายมาแล้วเมื่อปี ๒๕๔๖ กรณีคัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ล่าสุดเชื่อว่ามีหนังสือราชการสั่งย้ายเขาออกจากพื้นที่ กรณีคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน


“เสียงประชาชนรัฐไม่ฟังหรอก ตีนน่ะอาจจะพอฟังหน่อย”

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา

…..

“เสียงประชาชนรัฐไม่ฟังหรอก ตีนน่ะอาจจะพอฟังหน่อย” - นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา

เมื่อช่วงตุลาคม ๒๕๕๗ ร่วมทีมโรงพยาบาลจะนะ ประกาศอารยะขัดขืน ครั้งคัดค้านร่าง พรบ.ยา ฉบับลักไก่

“ทุกวันนี้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเร่งรัดโครงการพัฒนามีอยู่ ๔ ประเด็นใหญ่ๆ หนึ่งคือการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรของคนในพื้นที่ ข้อนี้ชัดเจนมาก เขาหินซ้อนเป็นชุมชนเกษตร จะเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินไปตั้ง เทพา สวนกง เป็นชุมชนประมง แทนที่จะวางปะการังเทียมในทะเล กั้นเขตไม่ให้เรืออวนรุนอวนลากเข้า ส่งเสริมป่าชายเลนให้เป็นที่เพาะฟักสัตว์น้ำ กลับจะสร้างท่าเรือน้ำลึก นี่เป็นหัวใจมากเลยของการทนไม่ได้ของคนในพื้นที่ เพราะว่าเขาต้องเปลี่ยนไปทั้งชีวิต

supat03

นพ.สุภัทร ทดลองใส่วงกลมรัศมี ๕ กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าต่างๆ โรงแยกก๊าซ ท่าเรือน้ำลึก ในเขตจะนะและเทพา หลังวงเสร็จก็ได้แต่สบถในใจว่า  นี่มันหายนะชัดๆ  หากอยู่นานมะเร็งอาจถามหาเอาง่ายๆ

“ข้อสองคืออีไอเอเป็นแค่พิธีกรรม อันนี้โคตรจะชัด เป็นโคตรแห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ งต้องทำให้ผ่านให้ได้ ไม่ผ่านก็ดันโครงการไม่ได้ มันก็ทำทุกทางให้ผ่าน อีเอชไอเอของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเนี่ยเขียนว่าป่าที่เทพาเป็นป่าเต็งรัง เราก็เกาหัวแล้วว่าเต็งรังมันป่าภาคเหนือนี่หว่า สงสัยลอกบทความแม่เมาะมารึเปล่าวะ แล้วก็เขียนว่าคลองในเทพา…คือคลองในเทพาเป็นคลองน้ำเค็มนะครับ เป็นคลองที่ติดทะเล อย่างร้ายก็น้ำกร่อย…เขาเขียนคลองที่เทพาพบปลานิล ปลาช่อน พวกนี้มันปลาน้ำจืดเว้ย แบบนี้ลอกแม่เมาะมาอีกรึเปล่าวะ เราก็งงๆ เรื่องนี้ควรจะต้องแจ้ง สผ.อย่างเป็นทางการ มันเป็นความผิดทางจริยธรรมของผู้ศึกษาที่ไม่ดี

“ข้อสาม การมีส่วนร่วมมีมั๊ย มี แต่เป็นการมีส่วนร่วมเทียม เกณฑ์พวกเดียวกันมาเข้าร่วม แจกของ แจกข้าวสาร แจกเสื้อ แจกสารพัดจะแจกได้ มีสตางค์ให้ด้วยนะ นายหัวขับรถมามีสตางค์ให้ คนมาก็มีสตางค์ให้ การมีส่วนร่วมเทียมเพื่อให้ผ่านโครงการมันไม่ถูกต้อง

“ข้อสี่ ใช้อำนาจจัดการให้เกิดให้ได้ แทนที่จะใช้กระบวนการที่เป็นธรรม

“ที่อิตาลีเขาไม่เหมือนบ้านเรา ของบ้านเรารัฐน่ะมีธงไว้แล้วว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่กระบี่ ๘๐๐ เมกกะวัตต์ เทพา ๒,๒๐๐ เมกกะวัตต์ ปันนาแระ ๑,๐๐๐ เมกกะวัตต์ ถ้าเป็นอิตาลีรัฐบาลเขาประกาศเลยว่าประเทศต้องการไฟฟ้า สมมุติว่า ๑,๐๐๐ เมกกะวัตต์ รัฐบาลทำหน้าที่แค่บอกความต้องการ แล้วโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ บริษัทพลังงานลม เสนอ propersal เข้ามาว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าได้ที่ไหน หรือว่าจะหาไฟฟ้ามาได้อย่างไร มีหลายชอยส์ให้เลือก สุดท้ายก็ได้คำตอบที่ใช่ ได้ไฟฟ้าตามที่ต้องการ แต่ของบ้านเราปักธงมาก่อนเลยว่าจะเอาถ่านหิน

supat04

แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการโรงไฟฟ้าถ่านหินเคียงข้างชาวสงขลา ปัตตานี

“จาก ๔ ข้อนี้ ผลก็คือเกิด อาการ ‘กูไม่เอาทุกหย่อมหญ้า’ ตั้งแต่เชียงรายลงมายันโกลก ระเบิดแก่งแม่น้ำโขงชาวบ้านก็ไม่เอา ถ่านหิน ชีวมวล ก็ไม่เอา จะสร้างเขื่อนก็ไม่เอา ทุกที่เป็นปรากฏการณ์เดียวกันภายใต้หลักการ ๔ ข้อนี้ ทำไงได้ล่ะก็เรามีแค่ ๒ ชอยส์คือเอากับไม่เอาเท่านั้น มันไม่มีชอยส์อื่น ไม่มีพื้นที่ร่วมคิดร่วมตัดสินใจ

“ข้อเสนอของผมคือภาคประชาชนทุกหย่อมหญ้าต้องรวมตัวกัน สู้ฝ่ายเดียวไม่ไหวครับ เทพาสู้แต่เทพาไม่รอดครับ เทพา ปันนาเระ ปากบาราต้องรวมพลังกัน ช่วยกันสู้ เพราะว่าเสียงประชาชนรัฐไม่ฟังหรอก ตีนน่ะอาจจะพอฟังหน่อย ตีนนี่ไม่ใช่ถีบเขานะ ตีนคือรวมตัวกันให้ได้สัก ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ คน เขาก็จะฟัง เหมือนอย่างกระบี่เขาเริ่มฟัง เพราะมันเป็นเรื่องของอำนาจต่อรอง เหตุผลจะฟังได้ไงในเมื่อปักธงไว้แล้วว่าจะสร้าง ฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องของเหตุผลอย่างเดียว เป็นเรื่องของการนับตีน“

หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่ เวทีเสวนา “นับถอยหลัง EIA/EHIA ชี้ชะตาอนาคตใต้ เมกะโปรเจกต์มัดมือชกประชาชน?” วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารทีเอสที ทาวเวอร์