สารคดีท่องเที่ยวเชิง unique ชวนแบกเป้ไปเปิดมุมมองนอกขวานไทย ติดตามคอลัมน์ Passport ทุกวันศุกร์-สุขหรรษา
เรื่อง / ภาพ : สุชาดา ลิมป์
“Are you ready?”
สาวชาวฝรั่งเศสทัก เธอมองหน้าคู่รักแล้วรัวหัวเราะขณะก้าวจากรถไฟไม้ไผ่ที่ชาวกัมพูชาเรียกว่า “โนรี” (Norry หรือ Nori) เพื่อเปิดทางให้คิวถัดไปขึ้นใช้บริการ เราตอบกลับแบบไม่รู้ชะตา
“Yeah!”
ที่สถานีรถไฟในชุมชนอุดัมบัง (Odambang) จังหวัดพระตะบอง ชาวกัมพูชากลุ่มหนึ่งยังหาเลี้ยงชีพด้วยการให้บริการ “รถไฟไม้ไผ่” (Bamboo train) ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างง่ายตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เพียงตัดไม้ไผ่ทำแคร่อุปโลกน์เป็นตัวรถไฟ ขัดสานตอกไผ่เป็นที่นั่ง เชื่อมต่อเข้ากับชุดล้อโลหะ แล้วติดเครื่องยนต์ดัดแปลงจากเครื่องยนต์ของเรือ เท่านี้ก็พร้อมโลดแล่นไปตามรางรถไฟสายโบราณ
ช่วงต้นทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เจ้าหน้าที่รถไฟเคยใช้พาหนะนี้ในภารกิจซ่อมแซมราง โดยใช้ไม้ค้ำยันช่วยเคลื่อนไปบนรางคล้ายการถ่อเรือ ในยุคเขมรแดงก็เคยทำหน้าที่ลำเลียงสินค้า ขนส่งทหารเวียดนามและทหารกัมพูชาเข้าสู่สนามรบ กระทั่งสงครามกลางเมืองยุติ รางรถไฟสายนี้ก็ถูกทิ้งร้าง
หลายสิบปีที่ผ่านมาชาวบ้านจึงร่วมชุบชีวิตให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง พัฒนาการใช้งานโดยติดเครื่องยนต์ ให้เป็นรถไฟไม้ไผ่รับจ้างขนข้าวของและขนส่งคนในละแวก รวมถึงเปิดให้นักท่องเที่ยวใช้บริการเที่ยวชมวิถีชนบทริมทางรถไฟด้วยระยะทาง ๕๐๐ เมตร ในราคาคนละ ๑๐ ดอลลาร์ (๓๕๐ บาท)
คนขับรถไฟติดเครื่องยนต์เสียงสนั่นราวช้างคำราม แล้วตะโกนถามความพร้อมอีกครั้ง
“I’ll go for it!”
เราตะโกนตอบไปด้วยความรู้สึกพร้อมลุยสุดๆ พอรถเคลื่อนตัวได้ก็ซิ่งทะยานด้วยความเร็วสูงสุด ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วจนเนื้อกระเพื่อมคันผิวยุบยิบ-แรงจนก้นกระดกลอยไม่ติดเก้าอี้
คนขับเล่าว่า รถไฟไม้ไผ่รับผู้โดยสารได้สบายถึง ๑๕ คน แต่จะให้บริการนักท่องเที่ยวคันละไม่เกิน ๘ คน เพื่อความปลอดภัย อันที่จริงเขาไม่ได้ขับซิ่งตลอดเวลา บริเวณไหนมีทัศนียภาพทุ่งนาสวย ผ่านชุมชนเล็กๆ จะชะลอให้ซึมซับบรรยากาศถ่ายรูปเล่น สนุกสุดคือประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบได้มีส่วนร่วมระหว่างผู้โดยสารกับคนขับที่ต้องคอยลุ้น-ระวังสัตว์ เด็กน้อย หรือผู้คนที่อาจข้ามรางรถไฟอยู่ ใครเห็นสิ่งผิดสังเกตก่อนต้องช่วยร้องเตือนกัน เพราะกว่ารถไฟไม้ไผ่จะหยุดสนิทต้องใช้ระยะทาง ๔-๕ เมตร
ความที่เป็นรถไฟรางเดี่ยว เมื่อเจออีกคันสวน ขากลับต้องหลีกทางให้ฝั่งขาไป หรือหากคันไหนมีผู้โดยสารน้อยกว่าก็อาจเสียสละเป็นฝ่ายหยุด คนขับทั้งสองจะช่วยกันยกรถไฟลงจากราง เคลื่อนคันหนึ่งให้ผ่านพ้นแล้วช่วยยกอีกคันกลับคืนรางก่อนแยกย้าย เป็นเช่นนี้จนถึงสถานีปลายทาง รถจะพัก ๕ นาที ให้ผู้โดยสารอุดหนุนเครื่องดื่ม ของที่ระลึกอย่างผ้าขาวม้า เสื้อยืด เสื้อกล้าม สกรีนลาย Bamboo Train
เพื่อนที่ไปด้วยกันหวังดื่มเบียร์ช่วยลดความหวาดเสียวขากลับ ผลคือไม่ช่วยอะไรเพราะคนขับรักษาความเร็ว-แรงทะลุรางจนไม่สามารถยกเบียร์ซดได้ กรวดหินดินทรายและสะพานไม้ใต้รางรถไฟที่เปลี่ยนระดับความขรุขระตลอดเวลาทำให้เบียร์กระฉอกหมดกระป๋องในเวลาไม่นาน
นี่คือเสน่ห์ของเมืองพระตะบอง ที่ไม่อยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวมหาชน
ซึ่งอีกไม่นานจะกลายเป็นตำนานอีกครั้ง หากบริษัทของออสเตรเลียกับกลุ่มบริษัทในกัมพูชาก่อสร้างและฟื้นฟูยกระดับทางรถไฟสายหลักแล้วเสร็จ รถไฟไม้ไผ่จะไม่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนรางนี้อีก
ในที่สุดช่วงเวลาแห่งความสนุกเสี่ยงๆ แบบคลาสสิกของเราก็ถึงเวลาส่งต่อให้กลุ่มถัดไปบ้าง
เป็นหนุ่มสาวชาวเยอรมัน Volunteer Teacher สอนภาษาอังกฤษให้เด็กน้อยชาวขแมร์
“Are you ready?”
เราถามแฝงความรู้สึกที่คนนั่งแล้วเท่านั้นจะเข้าใจ พวกเขายกนิ้วโป้งตอบคะนอง
“I was born ready!”, “Bring it on!”, “I’m game!”
นั่นเป็นเพราะพวกเขายังไม่รู้จัก โนรี-รถไฟไม้ไผ่ของชาวพระตะบองดีพอ