ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
เรื่องและภาพ : ศรัณย์ ทองปาน
วัฒนธรรมไทยโบราณให้คนมีวิธี “รับมือ” กับอำนาจที่ตนเองไม่มี ไม่อาจมี และไม่อาจต่อสู้ได้ ไว้หลายแบบ
หนึ่งในนั้น ก็คือการ “ฝากเนื้อฝากตัว” ของฝ่ายที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ผู้น้อย” ผู้ด้อยกว่า ด้วยเงื่อนไขต่างๆ สารพัด ตั้งแต่อาวุโส ข้าวของเงินทอง ไปจนวาสนาบารมี เพื่อจะได้เข้าไปอาศัยอยู่ใต้ร่มเงา หรือกลายเป็นส่วนของอำนาจที่ใหญ่กว่า ของ “ผู้ใหญ่”
“ผู้น้อย” จะจริงจังจริงใจแค่ไหนอาจไม่สำคัญ เท่ากับการแสดงให้ปรากฏว่าตนเองได้ยินยอมสวามิภักดิ์แก่ “ผู้ใหญ่” แล้ว
กรรมวิธีนี้ยังอาจดำเนินไปคู่ขนานกับอีกกระบวนการหนึ่ง คือการที่ “ผู้น้อย” ขอแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการจาก “ผู้ใหญ่”
ศัพท์ไทยโบราณเรียกของแลกเปลี่ยนนี้ว่า “สินบน”
“สินบน” จะทำงานในเงื่อนไขที่ว่า หากฝ่ายหนึ่งที่ “เหนือกว่า” ทำให้ได้รับผลประโยชน์สมดังปรารถนาแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องมอบ “สิ่งของต้องใจ” ไปเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน
ในทางตรงข้าม หากไม่ได้ตามต้องการภายในเวลาที่เหมาะสม พันธกรณีนี้ก็จะยุติลงทันที พร้อมกับที่อาจจะไปเริ่มต้นใหม่ โดยเสนอ “สินบน” ให้แก่ “ผู้ใหญ่” รายอื่นๆ ที่อาจเอื้อประโยชน์แก่ตนได้ต่อไป
ระบบ “สินบน” นี้ใช้ได้ทั้งตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ไปจนถึง “การเจรจา” กับอำนาจที่มองไม่เห็น หรือพลัง “เหนือธรรมชาติ”
ดังเช่นเพื่อแลกเปลี่ยนเอา “เลขเด็ด” ของหวยงวดหน้า ผู้ศรัทธาก็ย่อมต้องประแป้ง ลูบไล้เครื่องหอม ให้แก่เจ้าแม่ในเสาไม้ตกน้ำมันเสียก่อน แล้วหากได้รับสองตัวสามตัวตรง หรืออะไรทำนองนั้นแล้ว ผ้าแพรและมาลัยเจ็ดสีเจ็ดศอก ชุดไทยหรูวิจิตร หรือกระทั่งศาลาหลังใหม่ใหญ่กว่าเดิม ก็จะต้องมีตามมาเป็นเครื่องตอบแทน
เวลาที่ได้ยินใครก็ตามที่ประกาศปาวๆ ว่าจะกวาดล้าง “การคอรัปชัน” ให้หมดไปจากสังคมไทย เขาอาจนึกถึงแค่การทุจริตตามนัยของกฎหมาย หรือนึกถึง “นักการเมืองเลวๆ” ที่รับ “สินบน” แต่ที่จริงแล้ว การแลกเปลี่ยนทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้วมากมาย และไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นเรื่องไม่ดีไม่งาม
ดังเหตุในประวัติการของพระมหาเถระบางรูป ที่ว่า เมื่อยังเล็กท่านเกิดป่วยหนักจนเจียนจะเอาชีวิตไม่รอด ผู้ใหญ่ในบ้านจึงไปบนบานไว้ว่า หากหายป่วยจะให้บวช แล้วอาการก็ดีขึ้นจนเป็นปกติได้จริงๆ ดังนั้น ในเวลาต่อมาเพื่อให้ “สินบนขาด” คือทำตามเงื่อนไขข้อผูกมัดที่ไปตกปากรับคำไว้แล้วนั้น ท่านจึงได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ตั้งแต่เป็นสามเณร กระทั่งได้เป็นพระอริยสงฆ์ เป็นครูบาอาจารย์คนสำคัญของพระบวรพุทธศาสนาสืบมาจนตลอดอายุขัยของท่านก็มี
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสารสารคดี