More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


ยัติภังค์

predestination

ทุกวันนี้การผลิตหนังพล็อตว่าด้วย “การเดินทางข้ามเวลา”(Time Travel) ดูจะไม่ใช่เรื่องไกลตัว เรามีหนังพล็อตประเภทนี้ให้ดูทุกปีจนอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มหนังไซไฟที่ได้รับความนิยมสร้างสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยมีเนื้อเรื่องตั้งแต่การกอบกู้วิกฤตการณ์ของโลก(Interstellar– ๒๐๑๔), การยับยั้งสงครามในอนาคต(The Terminator – ๑๙๘๔), หนังรักโรแมนติค(Somewhere in Time-๑๙๘๐), หนังซุปเปอร์ฮีโร่(X-Men: Days of Future Past – ๒๐๑๔) ไปจนหนังวัยรุ่นที่อยากแก้ปัญหาซ่อมรีโมทแอร์ด้วยการเดินทางข้ามเวลา(Summer Time Machine Blues – ภาพยนตร์ญี่ปุ่น ๒๐๐๕) และที่น่าจะคุ้นเคยกับคนไทยคงไม่พ้นการ์ตูนโทรทัศน์ชุดโดราเอมอนจากญี่ปุ่นที่แพร่ภาพต่อเนื่องมาโดยตลอดจนเราเห็นการเดินทางข้ามเวลาจนเป็นเรื่องปกติ

ต้นธารแรกนั้นมาจากงานวรรณกรรมตั้งแต่งานที่แอบอิงวิธีเรื่องเล่าพื้นบ้านอย่าง Rip Van Winkle(วอชิงตัน เออร์วิง – ๑๘๑๙) หรือนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Time Machine (เอช.จี.เวลส์ -๑๘๙๕) เห็นได้จากภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกซึ่งนำเสนอพล็อตประเภทนี้เป็นการดัดแปลงงานเขียนของ มาร์ค ทเวน ในปี ๑๘๘๙ เรื่อง A Connecticut Yankee in King Arthur’s Court(๑๙๒๑) แต่หนังที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นความนิยมในเรื่องการเดินทางข้ามเวลาคงไม่พ้น Back to The Future(๑๙๘๕) หนังไตรภาคของ โรเบิร์ต เซเมคิส ซึ่งประสบความสำเร็จทำรายได้มหาศาลด้วยเรื่องราวที่สนุกตื่นเต้น และมีเทคนิคพิเศษดึงดูดผู้ชม

หนังเดินทางข้ามเวลาส่วนใหญ่ผูกโยงประเด็นเรื่องเวลาเข้ากับพรหมลิขิตในด้านความรักหรือความหวังเปลี่ยนแปลงชะตากรรมให้ดีขึ้นอย่างแยกไม่ออก ตามขนบของหนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ที่แอบอิงกับแนวคิดโรแมนติค

ผลงานเรื่อง Predestination (๒๐๑๔) น่าจะเป็นผลงานในช่วงหลังที่นำเสนอประเด็นได้ฉีกออกไปจากพล็อตเดินทางข้ามเวลาหลายๆ เรื่อง และชี้ว่าการกำหนดโชคชะตาของเรานั้นมีอีกหลายปัจจัยที่ไม่ใช่สิ่งสวยงามแบบนั้นเสมอไป

หนังเป็นผลงานของพี่น้องสเปียริก ผู้กำกับชาวออสเตรเลีย ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้น “All You Zombies !” ของ โรเบิร์ต เอ.ไฮน์ไลน์ ในปี ค.ศ.๑๙๕๙ แม้จะสร้างจากงานเขียนอายุเกือบ ๖๐ ปี หนังเรื่องนี้ก็เหมือนการเสียดเย้ยหนังข้ามเวลาที่เน้นการกอบกู้โลก เกิดวีรบุรุษแบบที่หนังฮอลลีวู้ดมักนิยมสร้างกัน เพราะเหตุการณ์ไม่ได้เกิดในอนาคตใดๆ แต่อยู่ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ.๑๙๔๕-๑๙๙๒ ไม่มีเครื่องมือดูล้ำสมัย เครื่องย้อนเวลาซ่อนไว้ในกล่องใส่เครื่องดนตรีเก่าๆ และใช้เวลากว่าค่อนเรื่องย้อนเล่าชีวิตน่าเศร้าของคนๆ หนึ่ง

มันเริ่มต้นด้วยอุบัติเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐนายหนึ่งหลังทำหน้าที่ยับยั้งการวางระเบิดของมือระเบิดด้านที่จะส่งผลให้คนเสียชีวิตกว่าหนึ่งหมื่นคนในนิวยอร์คในปี ค.ศ.๑๙๗๕ หลังจากรักษาตัวเขาได้รับภารกิจเดินทางกลับไปยังช่วงเวลาก่อนหน้าอีกครั้งในฐานะบาร์เทนเดอร์ และพบกับชายที่เรียกตนเองว่า “แม่นอกสมรส” ทั้งคู่สนทนากันถูกคอ และพาเราไปย้อนฟังชีวิตอันแสนแปลกประหลาดของชายผู้นี้ ตั้งแต่ฐานะเด็กกำพร้าที่รู้สึกผิดแผกจากเด็กคนอื่นๆ ก่อนที่โตมาความสามารถด้านต่างๆ จะทำให้ได้เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลที่ชื่อว่า Space Corp ด้วยคำสัญญาว่าจะได้เดินทางไปยังอวกาศ และพบชะตาที่พลิกผันอีกหลายครั้ง

ชื่อหนังเป็นคำที่สามารถอิงกับพระคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “พระเจ้าลิขิตชีวิตและอิสรภาพของมนุษย์” ว่าด้วยการลิขิตเหตุการณ์ทุกอย่างไว้ล่วงหน้าของพระเจ้า ในที่นี้มันเปรียบเปรยกับองค์กรที่ตัวเอกทำงาน ตัวแทนจากภาครัฐที่มุ่งพร่ำสอนให้เรามีชีวิตเพื่อ “จุดมุ่งหมาย” บางอย่าง และทำให้ตัวเอกยึดติดกับการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวเพื่อหาทางหลุดพ้นจากสภาพชีวิตที่เลวร้ายของตน

แต่ก็ดังชื่อเรื่องการข้ามเวลาใน Predestination นอกจากภารกิจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาให้เขาเป็นอิสรภาพแบบเรื่องของหนังข้ามเวลาที่เรามักคุ้นชิน ตรงกันข้ามมันกลับสะท้อนถึงวังวนของปัญหาที่ไม่รู้จบ-ไม่มีทางแก้ได้

นักเดินทางข้ามเวลาจึงกลายเป็นเพียงคนผู้สิ้นหวังที่ไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากทำงานเพื่อ “จุดมุ่งหมาย” และเครื่องไทม์แมชชีนกลายเป็นเครื่องมือเปลี่ยนสภาพของเขาไม่ต่างจากหนูทดลองผู้มีชะตากรรมวิ่งอยู่บนจักรหมุนวนไปตลอดชีวิต

อ้างอิง