แลไปรอบบ้าน  บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว


สุเจน กรรพฤทธิ์

gowen01

เมษายน ค.ศ. 2017
ไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ ซิตี) , สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ผมเดินลัดเลาะอยู่ในย่านคนจีน (China Town) ที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่งในเวียดนามซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไซ่ง่อน (โฮจิมิหน์ซิตี) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 7 กิโลเมตร

ฝรั่งเรียกที่นี่ “โชลอน” (Cho Lon) จากการอ่านทับศัพท์อังกฤษ ในขณะที่คนเวียดนามเรียก “เจอะเหลิน” (Chợ Lớn) ส่วนคนไทยมักเรียกกันทื่อๆ ว่า “โชลอน”

แต่ไม่ว่าจะชื่อไหน เรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ก็คือ ที่นี่ถือกำเนิดเกิดขึ้นจากกลุ่มคนจีนที่อพยพหลบภัยราชวงศ์ชิง (แมนจู) มาตั้งถิ่นฐานในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเป็น “พื้นที่แรกๆ” ที่กษัตริย์ตระกูลเหงวียน (เวียดนาม) พระราชทานให้คนจีนอพยพอยู่ด้วยนโยบายยิงนกสองต่อ

ต่อแรก แยกคนจีนกลุ่มใหญ่ที่ไม่น่าไว้วางใจนักไปไว้ไกลๆ จากศูนย์อำนาจที่เมืองเว้

ต่อที่สอง ใช้คนเหล่านี้ บุกเบิกดินแดนใหม่ทางตอนใต้ซึ่งยังไม่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานในนามราชวงศ์เหงวียน

รากฐานของ ไซ่ง่อน / โฮจิมินห์ ยุคแรกแบบย่อๆ ตามหลักฐานที่มีเป็นเช่นนั้น

เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ร่องรอยความเป็นจีนในเจอะเหลิน ยังคงมีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อักษรจีนยังมีบนผนัง ป้าย ยันต์ การนับถือเทพเจ้า ศาลเจ้ายังพบได้ทั่วไป

แต่เรื่องที่ย้อนแย้งคือ คนเวียดนามเชื้อสายจีนย้ำเสมอว่าเขาคือ “คนเวียดนาม” และพยายามซ่อน “ความเป็นจีน” อย่างเต็มที่

gowen03

gowen02

“โกเวิน” (Vương Thị Thu Văn) ที่ผมได้เจอโดยบังเอิญในเจอะเหลินก็ไม่ต่างกัน

ผมเจอโกเวินในสถานที่คล้ายศาลเจ้าคนท้องถิ่นเรียก “ศูนย์ชุมชน” (Community House) ที่ชื่อว่า “มิงเฮืองซาแถ่งห์” โดยคนใกล้ตัวผมบอกว่า “มิงเฮือง” ในภาษาเวียดนามนั้นแปลว่า “ผู้รักในราชวงศ์หมิง”

คำนี้ถูกใช้เรียกผู้อพยพชาวจีนในเวียดนาม

เข้าใจว่า หลังจากเห็นผมเก้ๆ กังๆ โกเวินเลยเดินเข้ามามาบอกว่าให้ถ่ายรูปได้เต็มที่

โชคดี ที่โกเวินพูดอังกฤษได้คล่อง บทสนทนาจึงไหลไปได้อย่างราบรื่น

เราบอกท่านว่าสนใจเรื่องคนจีนในเวียดนาม เล่าว่าเมืองไทยก็มีคนจีน (รวมถึงผม เจ๊กที่ขาดรากเหง้าเป็นฝรั่งไปแล้ว) โกวานเลยบอกว่าคนจีนในเจอะเหลินอยู่ปะปนกันทุกตระกูล บรรพบุรุษโกเวินตระกูลเวือง (ในภาษาไทยน่าจะเป็น “หว่อง”) อพยพมาจากฝูเจี้ยน (กวางตุ้ง) ตัวแกเป็นรุ่นที่ 5 อ่านภาษาจีนได้บ้างบางคำก่อนจะย้ำราวกับกลัวผมเข้าใจอะไรผิดว่า “ภาษาหลักตอนนี้คือเวียดนาม เราคือคนเวียดนามไปแล้ว”

การย้ำ “ความเป็นเวียดนาม” ของโกเวินเป็นเรื่องเข้าใจได้ในยามที่เวียดนามกับจีนมีปัญหาเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ คงไม่ดีถ้าแสดงตัวตนชัดเจนเหมือนจีนในไทยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงลิบลิ่ว

โกพาเดินดูเทพเจ้า 3 องค์บนหิ้งบูชา ที่ด้านหน้าเทพมีรูปปั้นเล็กๆ ของคนเชื้อสายจีนผู้มีคุณูปการในประวัติศาสตร์เวียดนามสองคน (ไว้ผมจะเขียนเล่าถึงอีกที)

คุยไปนานเข้า โกเวินก็เริ่มเล่าว่า ความเปลี่ยนแปลงของเจอะเหลินมีเส้นแบ่งในปี 1975 (เวียดนามใต้แพ้สงครามเวียดนามที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950)

โกบอกว่าก่อน 1975 เมื่อครั้งที่เจอะเหลินยังเป็นส่วนหนึ่งของไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ คนจีนอยู่กันกลุ่มใครกลุ่มมัน เช่นไหหลำ ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง โกวานเป็นลูกคนเดียว “ที่บ้านมองว่าภาษาอังกฤษจะช่วยให้ทันโลกจึงมีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่มีครูอเมริกันสอน”

ก่อนที่สงครามอินโดจีนจะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง

จากมุมมองของโกเวิน ไซ่ง่อนที่แตกในปี 1975 ไม่ส่งผลกระทบกับเจอะเหลินมากนัก เพียงแต่การอยู่แบบรวมกลุ่ม การแสดงตัวตนของคนจีน ไม่ปรากฎชัดเจนอีกแล้ว หลังปี 1975 โกเวินไปทำงานเป็นนักบัญชี แต่งงานและมีลูกสาวคนหนึ่ง พอเกษียณก็ช่วยงานชุมชน สอนพิเศษให้เด็กก่อนวัยเรียนตามบ้าน

โกบอกว่า“มีความสุขมากเพราะได้คุยกับเด็กๆ” และได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

เด็กหลายคนชอบเรียนกับโกเวินมากกว่าเรียนในโรงเรียน โกเวินก็บอกว่าในโรงเรียนมีเรื่องที่โกสอนไม่ได้เยอะ และขอให้เด็กๆ เอากลับมาสอนโกบ้าง

โกบอกว่าการได้คุยกับชาวต่างชาติอย่างเราก็ทำให้โกได้ความรู้ “ที่สำคัญคือได้เช็คภาษาอังกฤษตัวเอง”

ทุกครั้งที่ได้พบกับคนไทย โกรู้สึกว่าคุยด้วยง่ายเนื่องจากมีหลายอย่างใกล้เคียงกัน

โกเวินยังกังวลแบบคนจีนว่า สายตระกูลน่าจะจบที่โกเอง เนื่องจากลูกสาวแต่งงานเข้าตระกูลอื่น แต่โกเวินก็มีความสุขเพราะมีหลานๆ มากมายที่มาเรียนพิเศษ

โกเวินถามไถ่เรื่องราวอีกหลายเรื่องในเมืองไทย เรื่องร้านแผงลอยที่โกได้ยินจากข่าวเช้าว่ารัฐบาลทหารไทยกำลังจะปราบปรามทั้งที่โกวานมองว่าเป็นจุดแข็งของเมืองไทย (เสียยิ่งกว่าในเวียดนาม)

โกยังถามเรื่องราวของเยาวราชซึ่งเป็นไชน่าทาวน์ในเมืองไทย

เราคุยกับโกเวินหลายเรื่องราวญาติสนิท

ก่อนจากกัน โกเวินบอกว่ามาเยี่ยมที่นี่ครั้งหน้าถ้าโกยังอยู่เราคงได้พบกันอีก เพราะตอนนี้โกก็ป่วยกระเสาะกระแสะด้วยโรคชรามาคราวหน้าไม่รู้จะเจอกันหรือไม่

เราได้แต่บอกโกว่า โกจะแข็งแรงดี

และเราจะกลับไปคุยกันเรื่อง “ลูกจีน” อันวุ่นวายและซับซ้อนให้โกฟังอีกครั้ง