สารคดีท่องเที่ยวเชิง unique ชวนแบกเป้ไปเปิดมุมมองนอกขวานไทย ติดตามคอลัมน์ Passport ทุกวันศุกร์-สุขหรรษา
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : พิศาล พูนศักดิ์สร้อย
มันเจ๋งมาก ที่อยู่ๆ “หุ่นกระบอกน้ำ” ก็เล่านิทานมีอยู่จริงให้เราฟัง
พวกเขาไม่ได้พูด แต่แสดงผ่านคนเชิดที่พรางตัวอยู่หลังมู่ลี่ไม้ไผ่
คนเชิดจะบังคับมือตัวเองร่วมกับอวัยวะของหุ่นด้วยไม้ฉำฉา (เพราะเบาและพยุงน้ำหนักได้ดีเมื่ออยู่ในน้ำ) แล้วเพียงยื่นปลายไม้ยาวออกมานอกฉาก ให้ดูแล้วรู้สึกเหมือนหุ่นมีชีวิตชีวา มีลีลาของตนเอง
เนื้อเรื่องของหุ่นกระบอกน้ำแต่ละตอน ส่วนใหญ่เล่าถึงความหลงใหลในเทพตำนานกับความรักชาติซึ่งปลูกฝังกันมานานในจิตใจชาวเวียดนาม บางตอนบอกเล่าผ่านวิถีชีวิต อาชีพท้องถิ่น สถานที่เก่าแก่
น่าสนใจสุดยกให้ตำนาน “ทะเลสาบคืนดาบ กับ ตะพาบยักษ์แยงซีเกียง”
ทะเลสาบฮว่านเกี๊ยม เป็นทะเลสาบน้ำจืดในเขตเมืองเก่าทางทิศตะวันตกของเมืองฮานอย ตำนานสร้างชาติเวียดนามในศตวรรษที่ ๑๕ เล่าถึงจักรพรรดิ เล เหล่ย แห่งราชวงศ์เล ผู้ใช้ดาบศักดิ์สิทธิ์ขับไล่ชาวจีนแห่งราชวงศ์หมิงที่รุกรานให้ออกจากเวียดนาม ว่าขณะทรงประทับบนเรือในทะเลสาบ พบตะพาบยักษ์ตัวหนึ่งโผล่พ้นน้ำมาบอกให้ส่งดาบคืนเทพเจ้ามังกร พลันดาบก็พุ่งเข้าปากตะพาบก่อนหายกลับไปใต้ผิวน้ำ จึงเป็นที่มาของอีกชื่อเรียก “ทะเลสาบคืนดาบ”
จบโชว์ เราออกจากโรงละครหุ่นกระบอกน้ำ บนถนนดิงห์เตียมฮว่าง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบฮว่านเกี๋ยม แวะร้านกาแฟ Highland coffee ซึ่งอยู่ใกล้ๆ สั่งเมนูถูกสุดแลกกับการขึ้นชั้นบนไปยืนดูวิวที่ระเบียงร้าน ด้านหนึ่งมองเห็นย่านโอลด์ควอเตอร์กับมหานครจราจรที่ไม่เคยหลับใหลอันสุดแสนจะไม่เป็นระเบียบและหนวกหูเกินบรรยาย ขณะที่อีกฝั่งมองไปเห็นวิวทะเลสาบฮว่านเกี๊ยม
นั่นล่ะ! เป้าหมายที่น่าสนใจจากคำชวนเชื่อของเจ้าหน้าที่ขายสินค้าที่ระลึกในโรงละคร
“ตะพาบยักษ์ในตำนานทะเลสาบคืนดาบมีอยู่จริงนะ”
ทะเลสาบที่ว่าอยู่ในพื้นที่ของ “วัดหง็อกเซิน” (Ngọc Sơn) หรือ “วัดเนินหยก” ตั้งอยู่ตอนเหนือของทะเลสาบ เมื่อลอดประตูทางเข้าวัดจะเจอ “สะพานเทฮุก” (Thê Húc) หรือ “สะพานแสงอาทิตย์” เป็นสะพานไม้ทาสีแดงสดทอดข้ามฝั่งไปสู่เกาะเล็กๆ ทางตอนเหนือของทะเลสาบ
น้ำสีเขียวมรกตระหว่างทางข้ามสะพานก็คือ ทะเลสาบฮว่านเกี๊ยม หรือ ทะเลสาบคืนดาบ
กลางน้ำมี “หอคอยตะพาบ” ชื่อ “ท้าปสั่ว” (Tháp Rùa) สร้างไว้ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ ๑๘ หลายคนโชคดีเคยพบตะพาบยักษ์โผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำในช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดูกาลมาแล้ว
ตะพาบที่ว่าคือ “ตะพาบยักษ์แยงซีเกียง” ชื่อสากลคือ Rafetus swinhoei แต่นักวิทยาศาสตร์ชาวเวียดนามตั้งให้ว่า “Rafetus leloii” เพื่อเป็นเกียรติแด่จักรพรรดิ เล เหล่ย แห่งราชวงศ์เล
๓ เมษายน ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสุขภาพให้ในทะเลสาบฮว่านเกี๊ยม ภาพ : Agence France-Presse/Vietnam News Agency)
เป็นตะพาบขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งของโลกที่สืบทอดกันมา ๒๗๐ ล้านปี โดยมีลักษณะเด่นคือจมูกและปากคล้ายหมู เมื่อโตเต็มที่อาจหนักได้ถึง ๒๐๐ กิโลกรัม และมีอายุยืนกว่า ๑๐๐ ปี เคยพบได้ตามธรรมชาติในแม่น้ำแยงซีเกียงและมณฑลยูนนานของประเทศจีน หรือในแม่น้ำแดงของประเทศเวียดนาม
กระทั่งเมษายน ๒๕๕๙ มีข่าวว่าผู้เชี่ยวชาญจีนและต่างชาติต้องช่วยผสมเทียมให้ตะพาบยักษ์แยงซีเกียงเพศเมียตัวเดียวของโลก อายุกว่า ๘๐ ปี ซึ่งอาศัยอยู่กับตัวผู้อีก ๒ ตัวสุดท้ายของโลก อายุกว่า ๑๐๐ ปี ในเมืองซูวโจว มณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของจีนมา ๗ ปี โดยไม่มีการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติเลย
ยังไม่มีรายงานหลังฉีดน้ำเชื้อตะพาบเพศผู้เข้าในรังไข่ของเพศเมียด้วยเทคนิคศัลยกรรมขั้นสูงให้เกิดแผลน้อยสุดเพราะสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดของตะพาบพันธุ์หายาก แต่ลุ้นให้พวกเขาทำสำเร็จ
เพราะอีกตัวในทะเลสาบคืนดาบ ซึ่งมีอายุ ๑๒๐ ปี เสียชีวิตแล้วเมื่อมกราคม ๒๕๕๙