More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


ยัติภังค์

on-the-waterfrontหากมีการหยิบยกหนังที่พูดถึงปัญหาและการต่อสู้ของแรงงานในอดีตจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในงานที่มักถุกหยิบยกมาเสมอคือ On The Waterfront ผลงานปี ค.ศ.๑๙๕๔ ของ อีเลีย คาซาน ผู้กำกับอเมริกันเชื้อสายกรีกที่โด่งดังจากงานด้านละครเวที ก่อนจะมาทำงานในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ตัวหนังซึ่งใช้ทุนสร้างน้อยกว่า ๑ ล้านเหรียญฯ ทำรายได้ถึง ๙.๖ ล้านเหรียญฯ และคว้ารางวัลออสการ์มาได้ถึง ๘ สาขาด้วยกันรวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลสิงโตเงินผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี ในปี ๑๙๙๗ สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งอเมริกายังจัดให้เป็นหนังอเมริกันยอดเยี่ยมอันดับ ๘

แม้จะถ่ายทำเป็นขาว-ดำ และสร้างมากว่า ๖๐ ปี แต่งานชิ้นนี้ก็สนุกเข้มข้นอย่างยิ่ง มันเล่าสภาพของคนที่อยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่าง เทอร์รี่ มัลลอย(มาร์ลอน แบรนโด) อดีตนักมวยซึ่งกลายเป็นนักเลงทำหน้าที่รับใช้งานเล็กงานน้อยกับให้สหภาพแรงงาน ความที่เขามีพี่ชายเป็นมือขวาของประธาน จอห์นนี่ เฟรนด์ลี่ วันหนึ่งเทอร์รี่บังเอิญไปเห็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การฆาตกรรมโจอี้ คนงานท่าเรือโดยคนของจอห์นนี่ ตัวเขาจึงถูกพี่ชายบีบบังคับไม่ให้แพร่งพรายไปบอกใคร หากในอีกด้านเขาก็ทำงานท่าเรือคลุกคลีกับกรรมกร เห็นการถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงความคิดที่จำยอมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ของคนเหล่านี้ ทำให้เกิดความลังเลใจ แม้จะเกรงกลัวอิทธิพลของจอห์นนี่ และแทบมองไม่เห็นทางเอาชนะได้เลย

On The Waterfront เป็นงานที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดสัจจนิยม(Realism) ซึ่งขับเน้นทั้งการถ่ายทำที่สมจริงขึ้น รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมช่วงเวลานั้น หนังดัดแปลงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยได้รับอิทธิพลจากข่าวแนวสืบสวนรางวัลพูลิตเซอร์ Crime on The Waterfront ของ มัลคอล์ม จอห์นสัน ที่ตีพิมพ์ต่อเนื่อง ๒๔ ตอนในหนังสือพิมพ์ The New York Sun ปี ๑๙๔๘ ซึ่งว่าด้วยการทุจริตของสหภาพแรงงานบริเวณอู่ต่อเรือนิวยอร์ค

มันใช้เวลาถ่ายทำเพียง ๓๖ วัน นอกจากตัวละครหลักจะอ้างอิงจากบุคคลที่มีอยู่จริง มันยังเต็มไปด้วยนักแสดงสมัครเล่นที่ทำงานเป็นกรรมกรท่าเรือ ถ่ายทำจากพื้นที่บริเวณท่าเรือจริงในนิวเจอร์ซี่ย์ ซึ่งดูสกปรก มอซอ ขับเน้นสภาพชีวิตอันไร้ทางเลือก และบรรยากาศคุกคามใหักับหนังได้เป็นอย่างดี ต่างจากขนบหลายอย่างของหนังฮอลลีวู้ดในอดีต และยังเป็นอีกครั้งที่คาซานแสดงความโดดเด่นในการรีดเค้นพลังของนักแสดงของเรื่องโดยเฉพาะ มาร์ลอน แบรนโด และ ร็อด สไตเกอร์

แต่แม้จะเป็นงานสะท้อนสังคมที่เข้มข้นของชีวิตคนใช้แรงงาน ในอีกด้านที่มักกล่าวถึงควบคู่เช่นกัน On The Waterfront คือสารแสดงการตอบโต้ของอีเลีย คาซาน ต่อเพื่อนในแวดวงที่วิพากษ์วิจารณ์เขาในขณะนั้นถึงการขายเพื่อน….

ย้อนไปในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๔๐-๕๐ ที่ถูกเรียกว่าเป็นยุคล่าแม่มดของสหรัฐอเมริกา จนเกิดกระแสความตื่นกลัวภัยคอมมิวนิสต์ และก่อตั้งคณะกรรมการไต่สวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกัน(House Un-American Activities Commission – HUAC) ขึ้นมาหาผู้ต้องสงสัยในแวดวงวิชาชีพต่างๆ ว่าใครมีแนวคิดฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ทำให้คนเหล่านั้นต้องโทษจำคุก ถูกแบนจนไร้งานทำ บ้างก็ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ คาซานคือหนึ่งในผู้ที่เปิดเผยรายชื่อเพื่อนในวงการแก่คณะกรรมการเหล่านี้จำนวน ๘ คน

รอยด่างพร้อยดังกล่าวเป็นที่กล่าวขานเสมอ จนแม้แต่ในปี ๑๙๙๙ ที่เขาได้รับรางวัลเกียรติคุณความสำเร็จทางวิชาชีพจากออสการ์ มีนักแสดงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ปรบมือให้เขา

เดิมที อีเลีย คาซาน เคยร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในปี ๑๙๓๔ และได้ถอนตัวออกในอีกสองปีต่อมาโดยได้กล่าวถึงในเชิงลบว่าเขาแค่มาศึกษาเรื่องของคอมมิวนิสต์และเรียนรู้พอแล้ว จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เองก็มาจากโต้ตอบ อาเธอร์ มิลเลอร์ ซึ่งเขียนบทละคร The Crucibe ในปี ๑๙๕๓ เปรียบเปรยถึงการล่าแม่มดในสหรัฐอเมริกาและวิจารณ์คนในวงการที่กล่าวหาเพื่อนในวงการด้วยกัน – คาซานได้เสนอให้มิลเลอร์เขียนบทจากเหตุการณ์อาชญากรรมในท่าเรือนิวยอร์ค กลายเป็นบทภาพยนตร์เรื่อง The Hook แต่ถูกผู้สร้างหนังขอร้องให้ใส่รายละเอียดที่บอกชัดขึ้นว่าสหภาพแรงงานในเรื่องเป็นคอมมิวนิสต์ ผลคือมิลเลอร์ยืนกรานปฏิเสธ คาซานจึงให้ บัดด์ ชูลเบิร์ก ซึ่งได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการไต่สวนฯ มากกว่ามาเขียนบทแทน

การขายเพื่อนของเขาหลายคนตีความว่าสำหรับเขาคือความกล้าหาญ ดังที่เทอร์รี่ยอมเป็นคนแรกที่ป่าวประกาศความชั่วร้ายของสหภาพฯ บรรยากาศความรู้สึกอึดอัดของเขาที่ถูกเพื่อนในวงการดูหมิ่นก็ไม่ต่างจากสายตาของกรรมกรท่าเรือที่รุมล้อมสภาพที่เขาถูกซ้อมในตอนท้ายเรื่อง (แม้ในอีกด้านหนึ่ง หนังเองก็ถูกตีความได้เช่นกันว่ามีแนวคิดไปทางซ้าย)

แต่ก็เช่นเดียวกับสภาพสะบักสะบอมของเทอร์รี่ มัลลอย ตัวเอกของเรื่องที่ก้าวเดินต่อไปอย่างทุลักทุเลในตอนท้าย ดูเหมือนคาซานเองก็ยอมรับกลายๆ ว่า ไม่ว่าทางเลือกของตน หรือความเคลื่อนไหวเพิ่อเปลี่ยนแปลงใดๆ

ไม่มีทางไหนที่จะไม่พบกับความเจ็บปวด

อ้างอิง