วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
เป็นปีที่สองแล้วที่ผมได้ไปร่วมบรรยายในรายวิชาการเขียนสารคดี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ด้วยอาจารย์วิภาดา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์รุ่นใหม่ในภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ เธอเห็นว่ารายวิชาที่มี “ฝีมือ” เป็นจุดหมายปลายทางเช่นนี้ นิสิตควรได้เรียนกับนักเขียนตัวจริงด้วย
ครึ่งเทอมแรกเธอสอนภาคทฤษฎีและปูพื้นฐานการเขียนมาแล้ว ครึ่งหลังของภาคการศึกษา อาจารย์เชิญผมไปนำนิสิตสู่การเรียนรู้ภาคปฏิบัติ
เริ่มจากให้หลักการเขียน เคล็ดวิธีแบบรวบรัด แนะนำการลงพื้นที่ ให้เวลาแยกย้ายกันไปลงเก็บข้อมูลตามหัวเรื่องที่สนใจ แต่อยู่ในประเด็นเดียวกันทั้งชั้น เขียนร่างแรกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน ให้ครูนักเขียนช่วยชี้จุดเด่น-ด้อย เป็นการแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกัน ก่อนนำกลับไปปรับแก้ ได้ต้นฉบับมาเสนออีกรอบ ครูให้ความเห็นในแง่บรรณาธิการ ฝึกการขัดเกลาแก้ไขงานเขียนเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ จนสามารถเผยแพร่ เป็นผลงานอ้างอิงที่ใช้แนบโฟรไฟล์ได้อย่างสง่า บอกระดับฝีมือคนเขียน
รุ่นที่แล้วเมื่อจบเทอมก็ได้ผลงานเล่มหนึ่งที่เขียนโดยนิสิตทั้งชั้น เป็นรูปธรรมของการเรียนวิชาการเขียนสารคดี
ผมไม่แน่ใจข้อมูล แต่น่าเชื่อได้ว่าคงมีชั้นเรียนมหาวิทยาลัยไม่มากแห่ง ที่เมื่อเรียนจบแล้วได้เห็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่าแค่เกรด
เป็นร่องรอยการเรียนรู้ที่ยืนยันการได้ลงมือทำจริง ไม่ใช่เพียงรู้จากการท่องจำ
เพราะที่สุดแล้วหลักการเขียนสารคดีมิใช่อะไรอื่น แค่งานเขียนเล่าความจริงโดยไม่ละทิ้งความงามทางวรรณศิลป์ หรืออาจกล่าวอย่างรวบรัดที่สุดได้ว่าเป็น…ความจริงอิงความงาม
ที่เหลือจากนั้นก็อยู่ที่การเริ่มต้นลงมือทำ ทดลอง เรียนรู้ บากบั่น คนที่เขียนมาก่อนเป็นได้เพียงพี่เลี้ยง
เป็นกัลยาณมิตรให้คำปรึกษา ส่งเสริม แนะนำการขจัดขัดเกลาส่วนเกิน ให้เกิดชิ้นงานที่กลมกล่อม ก่อนไปสู่การเป็นนักเขียนตัวจริง–หากว่านี่เป็นเส้นทางที่ใครจะเลือกเดินต่อไป
หรือไม่เช่นนั้น การได้รู้จักสารคดีในภาคปฏิบัติ ก็ย่อมทำให้อ่านงานเขียนแนวนี้ได้อย่างรู้ทันและได้อรรถรสยิ่งขึ้น
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา