อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
เกาะและแก่งแม่น้ำโขงบริเวณแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งใน ๑๕ บริเวณที่มีการสำรวจเพื่อหาทางระเบิดแก่ง
๑. ปัจจุบันมีเรือขนส่งสินค้าจากมณฑลยูนนานแล่นมาถึงท่าเรือเชียงแสนได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการค้าทั้งสองประเทศ รวมทั้งเรือจีนขนาดมากกว่า ๑๕๐ ตันก็สามารถแล่นไปถึงหลวงพระบางได้ แต่จีนต้องการระเบิดแก่งเพื่อปรับปรุงร่องน้ำให้เรือขนาด ๕๐๐ ตันแล่นผ่านได้ตลอดทั้งปี
๒. ทุกวันนี้จีนควบคุมแม่น้ำโขงตอนบนได้เบ็ดเสร็จ โดยการเก็บและปล่อยน้ำออกจากเขื่อน เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าเดินเรือบนแม่น้ำโขงได้ตามต้องการ แม้แต่ในช่วงที่จีนส่งเรือลงมาสำรวจแม่น้ำแม่โขง ระดับน้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำก็เพิ่มสูงขึ้นทันที คาดว่าเป็นเพราะเขื่อนจิงหงระบายน้ำออกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คณะเรือสำรวจ
๓. นอกจากท่าเรือเชียงแสน การค้าชายแดนยังมีการเจริญเติบโตผ่านการขนส่งทางบก ผ่านถนนสาย R3A เชื่อมจีน-ลาว-ไทย ข้ามแม่น้ำโขงทางสะพานมิตรภาพแห่งที่ ๔ เชียงของ-ห้วยทราย นอกจากนี้ยังมีการสร้างเส้นทางรถไฟในลาวซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังจีนได้ จึงมีคำถามถึงการระเบิดแก่งเพื่อเพิ่มขนาดเรือให้ได้ ๕๐๐ ตันว่ามีความจำเป็นมากเพียงใด
๔. โครงการยุคแรก เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า โครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาล ๔ ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย วัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงร่องน้ำโขงจากเมืองซือเหมา มณฑลยูนนาน ลงมาถึงเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ระยะทาง ๘๘๖ กิโลเมตร
แก่งแม่น้ำโขงเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศ มีงานวิจัยว่าระบบนิเวศของแม่น้ำโขงแยกย่อยออกเป็นถึง ๑๑ ระบบ ได้แก่ ผา คก ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม น้ำห้วย ริมฝั่ง กว๊าน เฉพาะคอนผีหลงเพียงแห่งเดียวมีระบบนิเวศมากถึง ๑๐ ระบบ
๕. ตามรายงานในปี ๒๕๔๓ โครงการแบ่งออกเป็น ๓ เฟส เฟสที่ ๑ ระเบิดแก่งจำนวน ๑๑ บริเวณ (แต่ละบริเวณมีหลายแก่ง) และกลุ่มหินใต้น้ำ ๑๐ บริเวณ กำหนดแล้วเสร็จปี ๒๕๔๖ กลุ่มนี้มีแก่งที่อยู่บริเวณพรมแดนไทยลาวที่ต้องระเบิดออกรวมอยู่ด้วยคือแก่งคอนผีหลง เฟส ๒ กำหนดให้ระเบิดแก่งและขุดลอกสันดอนทรายเพิ่มเติม มีแก่งและสันทรายบริเวณพรมแดนไทยลาวตั้งแต่อำเภอเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วจำนวน ๙ บริเวณที่จะต้องถูกระเบิด ส่วนเฟส ๓ จะเป็นการปรับปรุงแม่น้ำโขงให้มีลักษณะคล้ายคลองส่งน้ำ
เรือเจียฟู่ ๓ ออกสำรวจทางด้านธรณีวิทยาบริเวณดอนห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เจาะเก็บชั้นหินและดินใต้แม่น้ำโขงลึก ๑๐ เมตรไปวิเคราะห์
๖. โครงการในเฟส ๑ ถูกคัดค้านอย่างหนักจากชาวบ้านทางฝั่งไทย ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติชะลอโครงการออกไป รวมทั้งให้กระทรวงกลาโหมทำข้อตกลงเรื่องการปักปันเขตแดนทางน้ำกับรัฐบาลลาวให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพราะการระเบิดแก่งส่งผลกระทบกับเส้นเขตแดนระหว่างประเทศตามสนธิสัญญาฝรั่งเศสที่ใช้ร่องน้ำลึกเป็นตัวชี้วัด
๗. หลังจากโครงการระเบิดแก่งตามแนวพรมแดนไทยลาวถูกระงับหรือชะลอโครงการไปมากกว่าสิบปี “ไทม์ไลน์” ที่สำคัญในช่วงนี้ คือ
- มีนาคม ๒๕๕๙ จีนริเริ่มกรอบความร่วมมือลานช้าง-แม่โขง (Lanchang-Mekong Coorperation หรือ LMC) กับกลุ่มประเทศเดิม ๔ ประเทศ มีการประชุมกันที่เมืองจิงหง สิบสองปันนา เพื่อหาทางพัฒนาเส้นทางแม่น้ำโขง
สิงหาคม ๒๕๕๙ จีนเริ่มสำรวจแม่น้ำโขงอีกครั้ง ยกเว้นพื้นที่พรมแดนไทยลาว เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่อนุญาต แต่รัฐบาลพม่า ลาว อนุญาตให้ทำได้ - ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ ตัวแทนบริษัท CCCC Second Harbor Consaltants จากจีนซึ่งเคยได้รับสัมปทานเฟส ๑ เมื่อสิบกว่าปีก่อน และชนะประมูลโครงการเฟส ๒ เข้าพบกลุ่มรักษ์เชียงของ เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ
- ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบในเรื่องต่างๆ คือ ๑) แผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ค.ศ.๒๐๑๕-๒๐๒๕ ๒) หลักการดำเนินงานเบื้องต้น งานศึกษา สำรอง ออกแบบ เพื่อปรับปรุงร่องน้ำ โดยให้เจ้าหน้าที่ฝั่งไทยเข้าร่วม ๓) ให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานปฏิบัติและประสานงานหลัก
- ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงและองค์กรสิ่งแวดล้อม องค์กรภาคประชาชนกว่า ๖๐ องค์กร แถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๙
๘. บริษัทจีน CCCC Second Harbor Consultants ว่าจ้างบริษัททีมคอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียร์ริ่ง แอนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทย ศึกษาข้อมูลประกอบการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อส่งให้จีน กำหนดระยะเวลาศึกษา ๑๐ เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐
เรือยนต์เล็กหลายลำกระจายตัวสำรวจ ขุดเจาะ เก็บก้อนหิน รวมทั้งติดตั้งแท่นระบุจุด GPS เพื่อยืนยันตำแหน่งที่ต้องขุดเจาะ
๙. โครงการนี้มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้ประชาชนกีดขวางการเดินเรือพาณิชย์ อาทิ ห้ามวางอวนจับปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสองฝั่งโขงประสบปัญหาในการประกอบอาชีพประมง
๑๐. ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๖๐ เรือจีนจำนวน ๓ ลำออกสำรวจแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาว ถึงแม้ว่าจะเลยจากกรอบระยะเวลาที่กำหนดคือเดือนเมษายน ๒๕๕๙ – เมษายน ๒๕๖๐ มาแล้ว ประกอบด้วย เรือเจียฟู่ ๓ เรือชวีตง ๙ และเรือเซิ่นไท้ ๑๙๘ แยกสำรวจด้านธรณีวิทยา ชลศาสตร์ และวิศวกรรม นอกจากนี้ยังเรือยนต์เล็กหลายลำกระจายตัวสำรวจ ขุดเจาะ เก็บก้อนหินในแม่น้ำ
กระดาษแผ่นหนึ่งบนกระดานโฮงเฮียนแม่น้ำของ ตั้งอยู่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระบุถึงเหตุผลที่ไม่ต้องการให้ระเบิดแก่ง
๑๑. คณะสำรวจจีนทำงานบนเรือร่วม ๖๐ คน ประกอบด้วยนักวิจัย นักสำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ขณะที่ไทยส่งเจ้าหน้าที่ประจำเรือแต่ละลำ คือ เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า เจ้าหน้าที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม นักธรณีวิทยา และนักสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมสำรวจแม่น้ำโขง รวมถึงสังเกตการทำงานของคณะเรือจีน ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง
หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่ เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น และบางส่วนของดินแดนลาว ๘-๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐
อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ