sujane-robbanแลไปรอบบ้าน  

บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว


สุเจน กรรพฤทธิ

hanako09

ภาพอนุสาวรีย์ฮานาโกะ หน้าสถานีรถไฟคิจิโจจิ (ภาพจากหนังสือพิมพ์ Japan Times)

ต้นเดือนพฤษภาคม 2017 ที่ผ่านมา ผมเห็นข่าว “ฮานาโกะ” ช้างไทยที่เป็นขวัญใจคนญี่ปุ่นจนคนที่นั่นคิดถึง ถึงกับสร้างอนุสาวรีย์เอาไว้ให้ที่หน้าสถานีคิจิโจจิ (Kishijoji)แล้วก็นึกถึงความทรงจำเล็กๆ ขึ้นมาได้

เพราะ คิจิโจจิ เป็นสถานีรถไฟเล็กๆ ในเขตมุซาชิโนะ อยู่ค่อนไปทางด้านตะวันตกของกรุงโตเกียว เป็นสถานีต้นทางที่ทำให้ผมไปพบกับฮานาโกะเมื่อปี 2015

hanako00

 โดราเอมอนตอน “ฮานาโกะ”(ฉบับภาษาอังกฤษ)

hanako01

“ฮานาโกะ” ในโรงเลี้ยงช้างกลางแจ้ง  ภาพนี้ถ่ายเมื่อปีต้นปี 2015 

ฮานาโกะตัวที่ 1

คนเกิดทศวรรษที่ 1980 โตในทศวรรษที่ 1990 แบบผม ชื่อช้าง “ฮานาโกะ” ถือเป็นชื่อคุ้นหู แม้ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับช้างตัวนี้มากนัก

ผมรู้จักช้าง “ฮานาโกะ” ตัวแรก จากการ์ตูนโดราเอมอน ที่ อ. ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโกะ ผู้เขียน/วาด เล่าถึง “ฮานาโกะ” ช้างไทยในสวนสัตว์กลางกรุงโตเกียวที่จะถูกฆ่าเนื่องจากเป็นภาระด้านอาหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อาจารย์ฟูจิโกะฯ วางโครงเรื่องให้โดราเอมอน กับโนบิตะ ย้อนเวลากลับไปช่วยมันระหว่างที่สวนสัตว์ถูกกดดันจากนายทหารให้สังหารมันเสีย

โดราเอมอนแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายช้างหนักหลายตัน ด้วยการใช้ “ไฟฉายย่อส่วน” ลดขนาดฮานาโกะ จากนั้นก็ใช้ “ประตูทุกหนแห่ง” ส่งมันไปใช้ชีวิตในป่าลึกของอินเดีย รอดจากน้ำมือนายพลใจร้ายอย่างหวุดหวิด

ผมมาทราบภายหลังว่า “ฮานาโกะตัวจริง” ที่เป็นต้นเค้าโดราเอมอนตอนนี้ ตายด้วยความอดอยากในช่วงสงครามโลก และอาจารย์ฟูจิโกะน่าจะรู้จักและผูกพันหับช้างตัวนี้ดี

อาจารย์ฟูจิโกะ คงตั้งใจใช้การ์ตูนเยียวยาความหวังวัยเด็กจัดการช่วยเหลือช้างตัวโปรดที่คนญี่ปุ่นรุ่นอาจารย์ฟูจิโกะรักเป็นหนักหนาให้มีชีวิตต่อไปในโลกของการ์ตูนโดราเอมอน

hanako02

ด้านหน้าสวนสัตว์อิโนะคาชิระ

ฮานาโกะตัวที่ 2

ชื่อ “ฮานาโกะ” กลับมาผ่านตาผมอีกเมื่อผมเจอหนังสือเล่มชื่อ “ลูกช้างฮะนะโกะ” ในชั้นหนังสือชุมนุมวรรณศิลป์ มธ. สมัยห้องชุมนุมอยู่ท่าพระจันทร์

อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนั้นก็เป็นนิยายเกี่ยวกับช้างฮานาโกะที่มีเนื้อเรื่องอีกแบบหนึ่ง

หลังจากนั้นชื่อ “ฮานาโกะ” ก็หายไปจากความรับรู้ของผมอีกนาน จนเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา มีข่าวในสื่อญี่ปุ่นว่า มีการล่ารายชื่อช่วยเหลือช้างไทยเชือกหนึ่งกลับบ้าน เพราะมันอยู่โดดเดี่ยวในสวนสัตว์ที่ญี่ปุ่นและมีสุขภาพทรุดโทรมมานานแล้ว

ดีเบทนี้ค่อนร้อนแรงในโลกออนไลน์ ผมได้แต่ติดตามข่าวคราวอย่างเงียบๆ เพราะไม่มีข้อมูลและรู้น้อยเกินกว่าที่จะกระโดดลงไปวิพากษ์วิจารณ์ร่วมกับเขา

จนปี 2016 มีโอกาสไปญี่ปุ่น เลยตัดสินใจหาข้อมูลจริงจังจนพบว่า “ฮานาโกะ” ตัวที่เป็นข่าวถือเป็น “ฮานาโกธตัวที่สอง” ที่ถูกส่งไปญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติราว 4 ปี (1949)

ผู้ที่ส่งไปคือ ร้อยเอกสมหวัง สารสาส บุตรชายอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษการ (กระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน) สมัยรัฐบาลพลเอกพหลพลพยุหเสนาที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในญี่ปุ่น

ร้อยเอกสมหวังผูกพันญี่ปุ่นไม่แพ้บิดา เขาตั้งใจปลอบใจเด็กๆ ชาวญี่ปุ่นที่บอบช้ำหลังสงครามจึงตัดสินใจซื้อลูกช้างพัง (ช้างตัวเมีย) ตัวหนึ่งส่งให้กับสวนสัตว์อูเอโนะ กรุงโตเกียว

ลูกช้างตัวนั้นมีชื่อไทยว่า “พังคชา” อายุราว 2 ปี

ร้อยเอกสมหวังบันทึกว่า วันที่ช้างพังตัวน้อยถึงท่าเรือเมืองโกเบ ก่อนจะส่งไปโตเกียว มีคนนับแสนมารอดู จากนั้นมันก็ได้รับชื่อ “ฮานาโกะ” (ดอกไม้ทองคำ) จากฮานาโกะตัวก่อนโดนมติเอกฉันท์ของมหาชนชาวโตเกียว

เมื่อไม่ทราบวันเกิด ทราบแต่อายุ คนญี่ปุ่นลงมติให้มันเกิดวันที่ 1 มกราคม 1947 และให้ฉลองวันเกิดให้มันทุกปีนับแต่นั้น จนปี 1954 ฮานาโกะถูกย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์อิโนะคาชิระ เขตมุซาชิโนะ ด้านตะวันตกของโตเกียว งานฉลองวันเกิดให้กับฮานาโกะก็ยังคงจัดขึ้นเป็นประจำ

hanako03

เด็กๆ กำลังเล่นกับตราประทับรูปฮานาโกะ

hanako04

ตราประทับที่ระลึกของสวนสัตว์อิโนะคาชิระรูปฮานาโกะ (2015)

hanako05

ฮานาโกะในวัย 68 ปี 

ปี 2015

ผมจับรถไฟจากสถานีชินจูกุ เข้าสู่ JR Chuo Lineจากนั้น ขบวนรถมุ่งตรงไปทางตะวันตก และผมไปลงที่สถานีคิจิโจจิ

ความรู้สึกแรกที่ผมถึงสถานีคิจิโจจิและสัมผัสเมืองมุซาชิโนะคือ ผู้คนที่นี่น้อยกว่าโตเกียวชั้นในมากและร่มรื่นกว่าเพราะมีต้นไม้ใหญ่อยู่แทบทุกมุมถนน

กูเกิ้ลเอิร์ธบอกให้ผมเดินออกจากสถานีรถไฟ ตัดสวนสาธารณะที่ร่มรื่นแห่งหนึ่ง จากนั้นข้ามถนนไปยังสวนสัตว์อิโนะคาชิระที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ร่มครึ้ม

วันที่ผมไปเป็นวันหยุด จึงพบผู้ปกครองที่นำบุตรหลานตัวเล็กๆ มาเที่ยว

โดยภาพรวม สวนสัตว์อิโนะคาชิระเป็นสวนสัตว์ที่ไม่ได้กว้างใหญ่นักเมื่อดูจากแผนผัง สิ่งที่ทำให้ผมรู้ได้ทันทีว่าฮานาโกะเป็นดาวเด่น คือ “ตราประทับ” สวนสัตว์ที่นี่เป็นรูปฮานาโกะ

เมื่อสำรวจชนิดสัตว์ในสวนสัตว์จากบอร์ดข้อมูล ผมพบว่าสัตว์ส่วนมากเป็นสัตว์ป่าขนาดเล็ก เช่น กระต่าย แรคคูน กวาง ลิง สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือฮานาโกะ “ช้างเอเชียจากประเทศไทย”

ไม่น่าแปลกเลยที่สวนสัตว์แห่งนี้มีจุดขายคือ “ฮานาโกะ” มาตลอด

บรรยากาศในสวนสัตวร่มรื่นสวนสัตว์เปิดโอกาสใหเยาวชนสัมผัสสัตว์บางชนิดได้อย่างใกล้ชิดเช่น กระต่ายและสัตว์ตระกูลเดียวกับหนูที่เชื่องและชอบเล่นกับคน

ที่ด้านในสุดของสวนสัตว์ ถัดจากบริเวณที่จัดให้เป็นที่พักผ่อน โรงเลี้ยงช้างของฮานาโกะโดดเด่นกว่าจุดอื่น โรงเลี้ยงช้างที่นี่ถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือ โรงเลี้ยงภายในที่เปิดให้คนเข้าไปทักทายฮานาโกะยามอากาศหนาวหรือหิมะตก กับโรงเลี้ยงกลางแจ้ง

โชคดี ที่วันนั้นคุณยายฮานาโกะออกมากลางแจ้งทำให้ผมได้ทัก “สวัสดีคุณยาย” เป็นภาษาไทย

ฮานาโกะรู้หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ฮานาโกะก็เดินมาชูงวงทักทายแล้วก็ยืนจ้องอยู่นาน

ก่อนผมหันหลังกลับ คนใกล้ตัวผมชี้ให้ดูฮานาโกะที่เดินมาใกล้ๆ ขอบโรงเลี้ยงอีกครั้งคล้ายจะร่ำลา

ผมได้แต่ยืนอึ้ง เพราะตะกอนความทรงจำวัยเด็กถูกกวนให้ฟุ้งขึ้นมา นึกถึงข่าวแล้วก็ได้แต่สงสารคุณยายที่ทำหน้าที่ทูตไทยกิตติมศักดิ์ประจำญี่ปุ่นมาเกือบทั้งชีวิตอย่างโดดเดี่ยว แต่ผมก็ไม่อาจกล่าวหาได้เลยว่าสวนสัตว์แห่งนี้ดูแลคุณยายไม่ดี เพราะมีคนดูแลคุณยาย 24 ชม. น้ำ อาหาร ไม่
เคยขาด แถมคนญี่ปุ่นที่มาก็ล้วนแต่ชื่นชอบคุณยายทั้งนั้น

หลังจากนั้น ผมตั้งใจว่าจะกลับไปเยี่ยมคุณยายทุกครั้งที่ได้ไปโตเกียว

แต่ปลายปีนั้น ผมก็ทราบว่านั่นเป็น “โอกาสเดียว” ที่ผมได้พบกับคุณยายฮานาโกะ

เพราะคุณยายฮานาโกะจากไปในวันที่ 26 พ.ค. 2016

หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นลงรายงานตรงกันว่า สายวันนั้นผู้ดูแลพบว่าคุณยายลุกไม่ขึ้นการล้มลงของช้างมีผลอย่างมากกับระบบหายใจเมื่อสัตวแพทย์แก้ไขสถานการณ์ไม่ได้ ในที่สุด ฮานาโกะก็สิ้นลมในเวลา 15.00 น. วันเดียวกันอย่างสงบด้วยอายุย่าง 70 ปี

hanako06

คนญี่ปุ่นจำนวนมากรู้จักฮานาโกะดีและมักพาลูกหลานมาเยี่ยมคุณยาย

hanako07 hanako08

ร้านอาหารในสวนสัตว์ ใช้ฮานาโกะเป็นกิมมิค

ปี 2017

ผมยังรู้สึกเสียดายว่าไปญี่ปุ่นหลายครั้ง อยู่ญี่ปุ่นบางทีหลายเดือน เคยเขียนสารคดีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ชอบประเทศญี่ปุ่นเสียเปล่า แต่กลับไม่เคยค้นเรื่องของ “คุณยายฮานาโกะ” อย่างจริงจัง

มาทราบจากงานเขียนของรุ่นพี่ที่ทำงานทราบจากการไปเยี่ยมฮานาโกะเมื่อปี 2015 และมาทราบจากสื่อญี่ปุ่นว่า ด้วยอายุเกือบ 70 ปี คุณยายมีความหมายกับคนญี่ปุ่นในช่วงของการฟื้นฟูประเทศมากมายเพียงใด

เด็กๆ ที่อายุราว 7 ขวบ ตอนคุณยายไปถึงญี่ปุ่นครั้งแรก วันนี้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีอายุกว่า 77 ปี กลายเป็นคุณปู่ คุณย่า ส่วนรุ่นลูกของพวกเขาเป็นวัยทำงานที่รู้จักกับฮานาโกะดีไม่แพ้กัน

ผมไม่มีข้อมูลว่า เมื่อ “ดารา” อย่างฮานาโกะหายไป สวนสัตว์อิโนะคาชิระปรับตัวอย่างไร แต่ที่แน่ใจได้ก็คือ – – คนญี่ปุ่นยังไม่ลืมฮานาโกะ

สำนักข่าวเกียวโดรายงานเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2560 ว่า มีการสร้างรูปปั้นของฮานาโกะที่สถานีคิจิโจจินี้จากเงินบริจาคของคนที่รำลึกถึงฮานาโกะ รูปปั้นนี้สูง 1.5 เมตร ยาว 2.5 เมตร เป็นฮานาโกะอิริยาบถชูงวงและก้าวเท้าไปข้างหน้า

สำหรับคนในเขตมซาชิโนะ ฮานาโกะยังมีชีวิตอยู่ในใจของพวกเขา โยอิชิ มะซุโซะเอะ เจ้าหน้าทีกรุงโตเกียวเคยพูดกับผู้สื่อข่าวหลายสำนักว่า “ฮานาโกะมาญี่ปุ่นหลังสงคราม ให้ความฝันและความหวังกับเด็กๆ”

***

ด้วยข้อจำกัดปัจจุบัน คงยากที่จะมี “ฮานาโกะตัวที่สาม”

ผมได้แต่ส่งความคิดถึงไปที่ญี่ปุ่น ภาวนาให้คุณยายหลับสบายท่ามกลางความรักจากชาวโตเกียว

หลังทำหน้าที่โดดเดี่ยวไกลบ้าน นานกว่า 7 ทศวรรษ