ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ศรัณย์ ทองปาน
ในหลายที่หลายแห่ง โดยเฉพาะตามหน้าบริษัทห้างร้านใหญ่โต จะพบเห็นศาลสองหลังตั้งอยู่ข้างเคียงกัน
ศาลหนึ่งคือศาลพระภูมิ ส่วนอีกศาลเป็นศาลเจ้าที่ หรือบางทีก็เรียกว่า “ศาลตายาย” ดังนั้นพอเรียกรวมๆ กันเลยเป็น “ศาลพระภูมิเจ้าที่”
ศาลพระภูมิเป็นที่สถิตของ “พระภูมิ” หรือ “ภุมเทวดา” เป็นเทพที่อัญเชิญจากทิพยวิมานของท่าน ให้มาสถิตในวิมานน้อยที่เราสร้างให้ เพื่อเป็นสิริมงคล มาปกปักรักษาสถานที่นั้นๆ ดังนั้น เมื่อจะต้องชักชวนให้เทวดามาอาศัย จึงต้องมีพิธีกรรมจัดเป็นการเฉพาะ เรียกว่า “ยกศาลพระภูมิ” ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ อาจเป็นได้ทั้งพราหมณ์จริงๆ หรือครูบาอาจารย์ที่มีความรู้
ข้างในศาลพระภูมิบางทีจะมี “เจว็ด” แผ่นแบนๆ รูปร่างเหมือนใบเสมาผอมชะลูด หรือใบมีดปลายแหลม ทำเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ ตั้งไว้เป็นตัวแทนของพระภูมิ ถ้าเป็นศาลใหญ่ๆ บางทีก็ตั้งรูปปฏิมากรรมลอยองค์สามมิติอย่างจริงจัง
ส่วนศาลเจ้าที่ หรือศาลตายาย เป็นที่อยู่ที่อาศัยของวิญญาณเจ้าของที่คนก่อนๆ ที่ตายซับตายซ้อนมานาน หรือเป็นผีที่อยู่ติดที่ดินตรงนั้นมาแต่เดิม จึงไม่ต้องไปเชิญมาจากไหนอีก เพราะมีอยู่แล้ว เพียงแต่ก็ต้องมีพิธีเชิญให้เข้ามาประทับในศาลเท่านั้น หลายแห่งเอาตุ๊กตารูปคนแก่ชายหญิงตั้งไว้แทนตัว
วิธีสังเกตว่าศาลไหนคือศาลของใคร ดูได้ง่ายๆ จากเสา คือถ้าเป็นศาลพระภูมิจะมีเสาเดียว แต่ศาลเจ้าที่จะมีหลายเสาเหมือนบ้านคนไทยสมัยก่อนที่เป็นเรือนยกพื้น สี่เสาบ้าง หรือมากกว่านั้น เป็นหกเสา แปดเสา ก็มี
อีกอย่างหนึ่ง ศาลพระภูมิจะไม่มีบันได คงเพราะพระภูมิท่านเป็นเทวดา สามารถเหาะลงมาประทับในศาลของท่านได้เอง ส่วนตายายนั้นเป็นผีเจ้าที่ อยู่ติดดิน จะขึ้นเรือน (ศาล) ทีหนึ่งก็ต้องมีบันไดให้ปีนขึ้นไป หลายแห่งจึงทำบันไดพาดไว้ให้ด้วย
ศาลทั้งสองนี้ ว่ากันว่าถ้าจะวางตำแหน่งอย่างถูกต้องแล้ว ศาลเจ้าที่มักอยู่ต่ำกว่าศาลพระภูมินิดนึง และแม้จะเคยได้ยินคำคล้องจองว่า “พระภูมิซ้าย ตายายขวา” แต่ก็คงมีหลายตำราหลายสำนัก หลายแห่งเป็น “พระภูมิขวา ยายตาซ้าย” คือเอาศาลพระภูมิไว้ทางขวา ก็มีเยอะ
ดั้งเดิม ทั้งศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่คงทำเป็นรูปร่างเหมือนเรือนไทยเล็กๆ เลียนแบบบ้านอย่างที่คนไทยสมัยก่อนอยู่กัน แต่ต่อมา ศาลพระภูมิจะเริ่มมีวิวัฒนาการ เช่นเมื่อสัก 40-50 ปีก่อน เมื่อเทคโนโลยีการหล่อคอนกรีตแพร่หลาย ศาลพระภูมิก็กลายเป็นเหมือนอุโบสถหรือวิหารหลังเล็กๆ ที่หล่อด้วยปูน ก่อนจะแปลงโฉมเป็นปราสาทจตุรมุข มีช่อฟ้าใบระกาครบเครื่องไปในที่สุด
จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ คงมีคนรู้สึกกันว่าสร้างศาลกันแต่แบบเดิมอยู่ได้ ซ้ำๆ ซากๆ จึงเริ่มมีคนช่างคิด ออกแบบศาลรูปลักษณ์แปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้น โดยหวนกลับไปทำรูปร่างหน้าตาให้ล้อกับที่อยู่ของคนเหมือนศาลรุ่นโบราณที่ล้อกับเรือนไทยนั่นแหละ เช่น ตึกบางแห่งแถวสุขุมวิทที่เป็นอาคารกรุกระจกทั้งหลัง ก็มีศาลทำด้วยแก้ว ตึกที่บุหินอ่อนก็สร้างศาลด้วยหินอ่อน คอนโดมิเนียมบางแห่งก็ทำศาลพระภูมิเป็นทรงตึก ยิ่งตามรีสอร์ตในแหล่งท่องเที่ยว บางทีจะได้เห็นที่อยู่ที่อาศัยของพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนบ้านพักของรีสอร์ตนั่นเอง