เรื่องและภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
พาดหัวแบบนี้อาจมีคนว่าเพ้อเจ้อ
เทียบกับ “บอลไทยจะไปบอลโลก” ที่ปีสองปีนี้ดูจะมีความหวังเข้าใกล้ แต่ก็ยังไปไม่ถึง (อีก 4 ปี 8 ปี 12 ปี?)
การไป “อวกาศ” ก็คล้ายกัน มีความหวังว่าภายใน 10 ปี คนไทยอาจมีนักบินอวกาศ !
แต่ก่อนถึงจุดนั้น วันนี้การไปอวกาศอาจไม่ได้หมายถึงแค่การส่งนักบินอวกาศขึ้นไป แต่เราสามารถส่ง “โครงการทดลอง” ไปได้ก่อน
ที่ผ่านมาหลายปีแล้ว สวทช. จัดโครงการ Asian Try Zero-G ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAEXA Japan Aerospace Exploration Agency) เปิดโอกาสให้เยาวชนในประเทศอาเซียนส่งโครงการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (microgravity) เข้าร่วม หากโครงการผ่านการคัดเลือก นักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นในสถานีอวกาศนานาชาติ ISS จะทำการทดลองนั้นๆ ให้ โดยถ่ายทอดสดจากอวกาศลงมาให้ดูกันเลยว่าการทดลองได้ผลเป็นอย่างไร
ตัวอย่างโครงการทดลองของเด็กไทยที่ได้รับคัดเลือกไปทดลองบนอวกาศเมื่อปี 2558 คือการทดลองวาดภาพสีน้ำในอวกาศ ของน้อง “ไอเดีย” (ศวัสมน) กับน้อง “ไอซี” (วริศา) สองพี่น้องนามสกุลใจดี ที่เล่าให้ฟังว่าเกิดจากชอบวาดภาพ มาได้ความคิดตอนน้องไอซีเล่นสนุกนอนยกกระดาษวาดภาพแล้วสีหยดใส่ เลยส่งโครงการทดลองเพราะอยากรู้ว่าในอวกาศสีจะหยดใส่ไหม โดยให้นักบินอวกาศทดลองวาดบนกระดาษแนวราบปกติ วาดยกกระดาษไว้เหนือหัว และวาดแบบกระดาษตั้ง เปรียบเทียบกันสามแบบ ตอนข่าวออกว่า “ไอเดียเด็กไทยไปอวกาศ” กลายเป็นเรื่องขำๆ ของน้องไอเดีย เพราะทำให้เพื่อนๆ เข้าใจผิดไปว่าเธอจะได้ขึ้นไปอวกาศ
ซ้าย ศวัสมน ใจดี -Idea พี่สาว และขวา วริศา ใจดี – Iseeน้องสาว
การทดลองพู่กันวาดภาพในสภาวะไร้ความโน้มถ่วงของสองพี่น้องโดยนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่น (อ่านข่าวเพิ่มเติมกับชมคลิปการทดลอง https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand/atzg2015/)
ปี 2017 นี้ไอเดียของน้องไอเดียกับไอซีได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของเด็กไทยส่งไปให้แจ็กซาคัดเลือกอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นการทดลองเกี่ยวกับสลิงกี้ (ขดลวดเด้งดึ้ง) ซึ่งยังต้องใช้เวลารอผลว่าจะได้ขึ้นไปทดลองบนอวกาศหรือไม่ ตอนนี้ก็ได้แต่ส่งใจช่วยกันไปก่อน
เมื่อถามว่าน้องไอเดียว่าอยากเป็นนักบินอวกาศไหม เธอตอบว่าความจริงชอบเรียนด้านชีววิทยา แต่เรื่องอวกาศก็ชอบมาแต่เด็กเพราะคุณแม่ซื้อหนังสือภาพอวกาศมาให้ดู ส่วนน้องไอซีมาชอบอวกาศจากการไปชมท้องฟ้าจำลอง
“หนูคิดว่ายุคหน้าไม่ใช่อะไรที่เป็นสาขาเดียว แต่จะเป็นการผสมหลายสาขา อย่างหนูชอบชีวะกับอวกาศก็อาจคิดเกี่่ยวกับไปปลูกต้นไม้บนดาวอังคาร หรือจะเอาคนไปอยู่ต่างดาวดีไหม ต่อไปบัตรประชาชนอาจไม่ได้บอกว่าเป็นประเทศอะไร แต่ต้องบอกว่าเป็นดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร ถ้าเอาเรื่องชีวะมาร่วมด้วยก็จะได้อะไรลึกกว่า แล้วก็ใกล้ตัวเรามากขึ้น” น้องไอเดียบอก
ส่วนน้องไอซีแม้อนาคตอยากเป็นคุณครู “แต่ถ้าได้ไปอวกาศ กลับมาก็จะเอาประสบการณ์มาเล่าให้เด็กฟัง หนูชอบพูดมากอยู่แล้ว”
อาจไม่ใช่ฝันเกินเอื้อมจาก “ยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ” 2560-2579 โดยหน่วยงาน GITSDA กับ สวทช. เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ซึ่งในงานสัมมนา “อวกาศ : ขุมทรัพย์แห่งมวลมนุษยชาติ” เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ได้เริ่มก้าวสู่อวกาศให้เป็นจริงยิ่งขึ้น โดยประกาศโครงการ National Space Exploration (NSE) สนับสนุนงบประมาณส่งโครงการทดลองวิจัยที่มีศักยภาพของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาขึ้นไปทดลองในสถานีอวกาศนานาชาติ ISS จากที่เคยมีแต่โครงการทดลองง่ายๆ ของเยาวชน และในระยะยาวจะนำไปสู่โปรแกรมพัฒนานักบินอวกาศคนไทย ทั้งนี้โดยอาศัยความร่วมมือทางด้านอวกาศที่ไทยมีกับประเทศจีนและญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
ส่วนใครสนใจเข้าร่วมส่งโครงการวิจัยไปอวกาศ ดูรายละเอียดได้จากเวบไซต์ http://www.nstda.or.th/nse
ในงานสัมมนา ตัวแทนจากองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) อธิบายการส่งยาวอวกาศ ฉางอี 5 (CHANG E-5) ของจีนไปลงดวงจันทร์เพื่อเก็บตัวอย่างดินแล้วส่งกลับมาโลกในปลายปี 2017 นี้
แน่นอน “คนไทยจะไปอวกาศ” เรื่องนี้ยังอีกยาว แต่น่าติดตามและตั้งความหวังไม่น้อยกว่า “บอลไทยไปบอลโลก” ครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
- GITSDA – สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
- สวทช. -สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ