1. ทุ่มเททำสิ่งที่มีความหมายยิ่งใหญ่
2. มอบความเสมอภาค ช่วยให้ทุกคนสามารถไขว่คว้าเป้าหมายได้อย่างเสรี
3. สร้างชุมชน การต่อสู้ของพลเมืองโลก
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ได้กล่าวสุนทรพจน์ในวันรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเด็นสำคัญคือ ความท้าทายร่วมกันของคนรุ่นใหม่ในโลกยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งก็คือ
“การสร้างโลกที่ทุกคนมีเป้าหมายในชีวิต”
เป้าหมายนี้ เขาหมายถึง
“ความตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ว่าเราเป็นที่ต้องการ และเรามีบางสิ่งที่ดีกว่ารออยู่ข้างหน้าให้เราทุ่มเทเพื่อมัน สิ่งที่จะสร้างความสุขที่แท้จริงได้คือการมีเป้าหมาย”
เพื่อบรรลุความท้าทายนี้ มาร์กระบุถึงพลังขับเคลื่อนสามอย่าง ซึ่งฟังแล้วโดนใจมาก ผมขอสรุปใจความสำคัญเป็นบัญญัติ 3 ประการ และเรียบเรียงคำพูดของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แปลบางส่วนมาไว้ดังนี้ครับ
1. ทุ่มเททำสิ่งที่มีความหมายยิ่งใหญ่
“หลายคนอาจบอกว่าไม่รู้หรอกว่าจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ไม่มีใครรู้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นหรอก ความคิดไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ แต่มันจะชัดเจนขึ้นก็ต่อเมื่อคุณลงมือทำไป คุณแต่ต้องเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าผมต้องเข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับการเชื่อมโยงผู้คนก่อนละก็ ผมคงไม่มีวันเริ่มสร้างเฟซบุ๊ก
“หนังและวัฒนธรรมป๊อปเข้าใจเรื่องนี้ผิดหมด ความคิดเกี่ยวกับยูเรก้า จู่ๆ ก็ค้นพบบางอย่างได้ขึ้นมาทันที เป็นเรื่องโป้ปดอันตราย…มันหยุดยั้งคนที่มีเมล็ดพันธุ์ความคิดดีๆ จากการเริ่มต้น
“ในสังคมของเรา เราไม่ทำสิ่งยิ่งใหญ่ เพราะเรากลัวทำผิดพลาดเกินไปจนปล่อยให้เกิดเรื่องผิดๆ จากการที่เราไม่ทำอะไร ความจริงคือทุกอย่างที่เราทำจะเป็นปัญหาในอนาคต แต่นั่นจะมาห้ามเราจากการเริ่มต้นไม่ได้
“แล้วเราจะรออะไรอยู่? ทำไมเราไม่หยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนที่เราจะทำลายโลกใบนี้ ทำไมไม่ให้คนล้านๆ คนทำงานสร้างและติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำไมเราไม่หาทางรักษาโรคทุกๆ โรค ขออาสาสมัครที่จะบันทึกข้อมูลสุขภาพตัวเองแล้วเปิดเผยข้อมูลจีโนมให้กัน ทุกวันนี้เราเสียค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาคนป่วยแทนที่จะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อไม่ให้คนป่วยตั้งแต่แรก นี่ไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย ทำไมเราไม่ทำประชาธิปไตยใหม่ ที่ทุกคนสามารถออกเสียงออนไลน์…
“มาทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กันเถอะ ไม่ใช่แค่เพื่อความก้าวหน้า แต่เพื่อสร้างเป้าหมาย”
2. มอบความเสมอภาค ช่วยให้ทุกคนสามารถไขว่คว้าเป้าหมายได้อย่างเสรี
“เดี๋ยวนี้เราทุกคนเป็นผู้ประกอบการ…และวัฒนธรรมของผู้ประกอบการอยู่รอดได้ถ้าสามารถทดลองความคิดใหม่ๆ ได้ง่าย เฟซบุ๊กไม่ใช่สิ่งที่ผมทำขึ้นอย่างแรก ผมเคยสร้างเกม ระบบแชท โปรแกรมเล่นเพลง…แม้แต่ เจ เค โรลลิ่งยังถูกปฏิเสธต้นฉบับ 12 ครั้งก่อนได้พิมพ์แฮรี พอตเตอร์…ความสำเร็จยิ่งใหญ่มาจากเสรีภาพที่จะล้มเหลว
“ยอมรับความจริงเถอะ มันต้องมีอะไรผิดในระบบของเราแน่ๆ ที่ผมออกจากมหาวิทยาลัยแล้วทำเงินได้เป็นหลายพันล้านดอลลาร์ในสิบปี ขณะที่มีนักศึกษานับล้านคนไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้เพื่อการศึกษา
“ผมรู้จักคนมากมายที่ไม่สามารถไปถึงฝัน เพราะเขาไม่มีฟูกให้ล้มเมื่อเขาล้ม พวกเรารู้กันดีว่าเราไม่ได้ประสบความสำเร็จแค่เพราะมีความคิดดีๆ หรือทำงานหนัก แต่เรามีโชคช่วยด้วย
“แต่ละยุคขยายนิยามของความเสมอภาคของตัวเอง คนรุ่นก่อนต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สำหรับคนรุ่นเราถึงเวลาที่จะนิยามสัญญาประชาคมใหม่
“เราควรมีสังคมที่วัดความก้าวหน้าจากจำนวนคนที่ได้ทำในสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง มากกว่าค่าตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างจีดีพี…เราควรคิดถึงแนวคิดอย่างการให้รายได้พื้นฐานแก่ทุกคน (Universal Basics Income) เพื่อให้ทุกคนมีฟูกรองรับสำหรับการลองทำสิ่งใหม่ๆ … เราทุกคนกำลังจะทำเรื่องผิดพลาด ดังนั้นเราต้องการสังคมที่จะจับกุมเรา หรือตีตราเราน้อยลง และเพราะเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราจึงต้องให้ความใส่ใจกับการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต
“การจะให้ทุกคนมีเสรีภาพในการไขว่คว้าเป้าหมาย ไม่ใช่ของฟรี คนรวยอย่างผมควรต้องจ่ายให้สิ่งนี้ ผมได้ใช้ความมั่งคั่งของผมเพื่อสนับสนุนให้เกิดโอกาสที่เท่าเทียมกัน… แต่นี่ไม่แค่เรื่องของเงิน คุณยังให้เวลาได้ คุณอาจมอบเวลาสักชั่วโมงหรือสองสัปดาห์ก็เพียงพอแล้วสำหรับช่วยใครให้ไปถึงศักยภาพของเขา
“เราสามารถหาเวลาเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ช่วยให้ทุกคนมีเสรีภาพในการไขว่คว้าเป้าหมาย ไม่ใช่เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เพราะเมื่อมีผู้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่ เราทุกคนก็ดีขึ้นด้วย”
3. สร้างชุมชน การต่อสู้ของพลเมืองโลก
“วิธีที่สามที่เราสามารถสร้างเป้าหมายสำหรับทุกคน คือการสร้างชุมชน และเมื่อคนรุ่นเราพูดว่า “ทุกคน” เราหมายถึงทุกคนบนโลก จากแบบสำรวจคนรุ่นมิลเลนเนียมทั่วโลก สิ่งที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของพวกเรา ไม่ใช่สัญชาติ ศาสนา หรือชาติพันธุ์ แต่คือความเป็น “พลเมืองของโลก”
“คนรุ่นเราสามารถยุติความยากจน และโรคภัย เรารู้ว่าความท้าทายใหญ่ที่สุดคือการตอบสนองของทั่วโลก ไม่มีประเทศใดจะสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือหยุดยั้งโรคระบาดได้ด้วยตนเอง ความก้าวหน้าต้องการความร่วมมือ ไม่ใช่แค่เมืองหรือประเทศ แต่ในฐานะชุมชนโลก
“นี่คือการต่อสู้ในยุคสมัยของเรา พลังของเสรีภาพ ความโปร่งใส และชุมชนโลก กำลังต่อกรกับพลังของอำนาจนิยม ลัทธิโดดเดี่ยว และชาตินิยม พลังขับเคลื่อนของความรู้ การค้า และการอพยพ เผชิญกับคนที่พยายามจะขัดขวางมัน นี่ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างประเทศ แต่เป็นการต่อสู้ทางความคิด
“วิธีที่ดีที่สุดคือการเริ่มสร้างชุมชนในท้องถิ่นเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าชุมชนของเราจะเป็นหมู่บ้าน ทีมเล่นกีฬา หรือคณะดนตรี ชุมชนจะมอบความรู้สึกการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ความรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว จะมอบความเข้มแข็งที่จะขยายขอบฟ้าของเราออกไป
“มันจึงเป็นเรื่องน่าตกใจมากที่หลายสิบปีมานี้ สมาชิกของกลุ่มต่างๆ ทุกประเภทลดลงเหลือแค่หนึ่งในสี่ และนั่นหมายถึงมีคนจำนวนมากในที่ต่างๆ ซึ่งยังต้องค้นหาเป้าหมายในชีวิต แต่ผมรู้ว่าเราสามารถสร้างชุมชนของเราขึ้นมาใหม่…
“การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ท้องถิ่น แม้แต่การเปลี่ยนแปลงระดับโลกก็เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ด้วยคนเช่นพวกเรา การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะเชื่อมโยงมากขึ้น เพื่อไปถึงโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สรุปลงที่ความสามารถในการสร้างชุมชน และสร้างโลกที่ทุกๆ คนมีเป้าหมายในชีวิต”
…………
“ผมหวังว่าคุณจะพบความกล้าหาญที่จะมอบพรแก่ชีวิตคุณเอง”
- อ่านสุนทรพจน์เต็ม ที่นี่
- อ่านบทความของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine