More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


ยัติภังค์

แม้วงการเพลงจะเน้นเนื้อหาด้านความรัก หรือการให้กำลังใจเป็นหลัก แต่ก็มีเพลงจำนวนไม่น้อยที่ว่าด้วยการศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องราวที่ทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์ร่วม มีสื่อเช่นภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ไม่น้อยที่นำเสนอเรื่องการศึกษา ทำให้มีเพลงประกอบเกี่ยวข้อง เพลงเหล่านี้จึงมีตั้งแต่เพลงรักในวัยเรียน ไปจนถึงเพลงที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการศึกษาอย่างเผ็ดร้อน

ในช่วงที่ นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๓๘๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ นำเสนอเรื่อง โฮมสคูล จึงขอหยิบยกเพลงเกี่ยวกับการศึกษาบางส่วนมานำเสนอ ๑๐ เพลง( ๕ เพลงสากล ๕ เพลงไทย) มาแนะนำกันพร้อมเกร็ดของเพลงดังนี้

เพลงสากล

Another Brick in The Wall – วง Pink Floyd

หากกล่าวถึงเพลงเกี่ยวกับการศึกษา หนึ่งในเพลงอมตะที่ถูกยกมาเสมอคงหนีไม่พ้น Another Brick in The Wall เพลงที่โด่งดังจนขึ้นอันดับ ๑ ทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาของวงโปรเกรสซีฟร็อคระดับตำนาน Pink Floyd จากอัลบั้ม The Wall ในปี ค.ศ.๑๙๗๙ ที่ขายได้มากกว่า ๒๓ ล้านชุดทั่วโลก

The Wall คอนเซปต์อัลบั้มที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ พิงค์ นักร้องเพลงร็อคชื่อดังที่ประสบปัญหาแปลกแยกกับผู้คนราวกับมีกำแพงที่ปิดกั้นเขาจากสังคม ทุกเพลงเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่พ่อเสียชีวิตในสงคราม การถูกครูลงโทษในโรงเรียน ไปจนเติบโต ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นประสบการณ์ตรงของ โรเจอร์ วอเทอร์ส ผู้แต่งเนื้อเพลงนั่นเอง(แต่บ้างก็เชื่อว่าตัวละครพิงค์นั้นเป็นการผสมผสานชีวิตของ ซิด บาร์เร็ท อดีตผู้นำวง)

คลิปนี้เป็นส่วนหนึ่ง Pink Floyd – The Wall ของภาพยนตร์ที่ดัดแปลงนำเพลงของอัลบั้มนี้มาสร้างในปี ๑๙๘๒ โดย อลับ ปาร์คเกอร์ เนื้อเพลงแสดงความรู้สึกต่อต้านการศึกษาที่เน้นระเบียบอันเคร่งครัดของอังกฤษในโรงเรียนกินนอน เป็นการนำเพลงที่ร้องต่อเนื่องกันในอัลบั้มสองเพลงมาถ่ายทอดนั่นคือ The Happiest Days Of Our Lives และ Another Brick In The Wall (Part II)

Wonderful World – แซม คุก

หนึ่งในเพลงดังของ แซม คุก ราชาแห่งเพลงโซล ศิลปินผิวสีชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ เพลงในปี ค.ศ.๑๙๖๐ นี้ขึ้นอันดับสูงสุดใน Billboard Hot ๑๐๐ ที่อันดับ ๑๒ ภายหลังมีการนำไปร้องใหม่โดยวง Herman’s Hermits ในปี ๑๙๖๕ และทำอันดับได้ดีกว่าโดยขึ้นถึงอันดับ ๔ ในอเมริกาอีกด้วย และยังเป็นเพลงที่มีการนำไปร้องใหม่อีกหลายครั้ง

เนื้อเพลงรักที่มีชื่อวิชาหลากหลายเพลงนี้ เริ่มต้นโดย ลู แอดเลอร์ (ต่อมาได้ร่วมแต่งโดย เฮิร์บ อัลเพิร์ต และ แซม คุก) ด้วยความคิดที่ไม่ได้จริงจังนัก กับเนื้อหาเพลงที่ว่าด้วยการไม่เก่งในวิชาความรู้ใดๆ ให้อวดอ้าง แต่ถ้ามีรักก็สามารถทำให้โลกนี้น่าอยู่ได้ และเมื่อแซม คุก ได้ยิน เขาจึงขอให้แอดเลอร์เล่นให้ฟังอีกครั้ง

Johnny Can’t Read – ดอน เฮนลี่ย์

ซิงเกิ้ลแรกในฐานะศิลปินเดี่ยวเมื่อปี ค.ศ.๑๙๘๒ ของ ดอน เฮนลี่ย อดีตนักร้อง และมือกลองจากวงดนตรีชื่อดังอย่าง The Eagles จากอัลบั้ม I Can’t Stand Still เพลงติดอันดับ ๔๒ ในบิลบอร์ดชาร์ทอเมริกา

เนื้อหาของเพลงจังหวะสนุกๆ นี้เป็นตามชื่อเพลงกล่าวถึงเด็กที่ปิดเทอมหน้าแรกเที่ยวเล่นเตร็ดเตร่ จนมีปัญหาอ่านหนังสือไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นความสนใจปัญหาดังกล่าวเพราะ ดอน เฮนลี่ย์เองที่เป็นคนรักการอ่าน

Jeremy – วง Pearljam

“Jeremy spoke in class today”

ท่อนฮุคอันทรงพลังทีร้องซ้ำๆ ของ Jeremy ซิงเกิ้ลที่สาม ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ จาก Ten อัลบั้มแจ้งเกิดของ Pearljam วงกรันจ์ร็อคของสหรัฐอเมริกา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากข่าวที่เด็กนักเรียนมัธยมวัย ๑๖ ปีซึ่งยิงตัวตายในชั้นเรียน กับความทรงจำถึงเพื่อนในอดีตของนักร้อง และนักแต่งเพลงของวง เอ็ดดี้ เวดเดอร์ มันขึ้นถึงอันดับ ๕ ในชาร์ท US Billboard Mainstream Rock แม้เนื้อเพลงจะไม่มีการกล่าวถึงโศกนาฏกรรมดังกล่าวชัดเจน หากก็ถ่ายทอดสภาพจิตใจของเจเรมี่ เด็กนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้ง และไม่มีคนใกล้ชิดเข้าใจปัญหา ซึ่งสะท้อนปัญหาของวัยรุ่นในวัยเรียนได้เป็นอย่างดี

มิวสิควิดีโอเพลงนี้ยังชนะรางวัล MTV Video Music Awards ในปี ๑๙๙๓ ถึง ๔ รางวัล

ABC – วง The Jackson 5

“You went to school to learn girl, Things you never, never knew before, Like “I” before “E” except after “C” ,And why 2 plus 2 makes 4″

บ่อยครั้งความรัก ก็ทำให้เราใฝ่เรียน พิสูจน์ได้จากเพลง ABC ของวง The Jackson 5 จากอัลบั้มชื่อเดียวกันกับเพลงในปี ค.ศ. ๑๙๗๐ ที่นำความรู้ระดับพื้นฐานมาใส่ในเนื้อเพลง โด่งดังจนขึ้นอันดับ ๑ ในบิลบอร์ดสหรัฐอเมริกาถึง ๔ สัปดาห์

เพลงไทย

ถนนจากโคราช – จังหัน

“ฉันมาจากเมืองโคราช ไปฟังประกาศผลการสอบครู พบคนทั่วแดนที่แห่แหนไปดู ทุกคนที่ไปก็หวังจะเป็นครู เขาเรียนจบครูมาจากทั่วแคว้นแดนไทย”

เพลง “ถนนจากโคราช” ซึ่งสะท้อนปัญหาอาชีพครูในอดีต ผลงานของ วงจันหัน อัลบั้ม คิดถึงแม่ ในราวปี พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งต่อมานักร้องนำของวงอดีตครูที่มีผลงานมีชื่อเสียงในแถบภาคอีสานอย่าง คุณสลา คุณวุฒิ ได้กลายเป็นครูเพลงชื่อดังในปัจจุบัน

มานี – โมเดิร์นด็อก

“มานีดีใจ ได้ขึ้น ปอ.สี่ ชูใจก็ดีใจ ได้เลื่อนชั้นกันไปเสียที”

มานี หนึ่งในเพลงจากอัลบั้ม เสริมสุขภาพ(บ้างเรียกอัลบั้ม โมเดิร์นด็อก) จากชุดแรกของวง โมเดิร์นด็อก ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งนำชื่อตัวละครในชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๑–๒๕๓๗ มาเป็นชื่อเพลง และเสียดสีการศึกษาไทย

โรงเรียนของหนู – พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

“ใช่จะวอนให้เห็นใจ ความสำนึกต่อเพื่อนไทย ไทยกับไทยใยแตกต่างกัน
โรงเรียนของหนู อยู่ไกลไกล๊ไกล อยากให้คุณคุณหันมอง โรงเรียนของหนู”

“โรงเรียนของหนู” หนึ่งในเพลงดังจากอัลบั้ม “บันทึกการเดินทาง” ในปี ๒๕๓๔ ของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ นักร้องเพลงเพื่อชีวิตผู้มีน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์ สะท้อนปัญหาโรงเรียนในชนบทที่ขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากร

ไอ้หรั่ง – นิรนาม

“ตั้งใจ ไว้ตอนยังเล็ก ยังเป็นเด็ก เรียนป.ขี้ไก่ จบจากราม วันไหนจะไปทำงานอยู่ ธนาคาร กะลุกปุ๊กไทย”

เพลง “ไอ้หรั่ง” จากอัลบั้ม คนกินแดด ในปี ๒๕๒๙ ของวง นิรนาม ที่แต่งเพลงโดย คณิต อุทยานสิงห์ หรือ นิค นิรนาม กับเนื้อเพลงสะท้อนสังคมไทยผ่านอารมณ์ขันร้ายๆ ของชายผู้ตั้งใจเรียนใฝ่ฝันอยากทำงานธนาคารแต่กลับพบว่าปริญญาที่ได้ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด

สอบตก – ดิ อินโนเซนต์

“ดูตำราตั้งตีห้าตีหก ก็วางหนังสือแนบอกมันจะไม่ตกได้ยังไง
ดูตำราตั้งตีห้าตีหก ก็วางหนังสือลามกมันจะไม่ตกได้ยังไง”

แนะนำเพลงการศึกษาจริงจังมาแล้ว เปลี่ยนมาแนวขำๆ กันบ้างกับ “สอบตก” เพลงดังจากอัลบั้ม ขวัญใจนักเรียน ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ โดยวง ดิ อินโนเซนต์ วงดนตรีขวัญใจวัยรุ่นไทยยุค ๒๐-๓๐

ภาพประกอบ : Youtube เพลง Another Brick in The Wall
ข้อมูลประกอบการเขียน : จากหลายแหล่ง และคลิปเพลงจาก Youtube