อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


lettertochinapresident02

เกาะแก่งกลางแม่น้ำโขง ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือพาณิชย์ อีกฝ่ายมองว่านี่คือระบบนิเวศที่มีความสำคัญยิ่งของแม่น้ำโขง (ภาพ : นพ.สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์)

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐ มีจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่งถูกร่างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขง ผู้ร่างคือ กลุ่มรักษ์เชียงของ เขียนถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

lettertochinapresident03

หน้าซองจดหมายระบุชื่อผู้รับ กราบเรียนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สถานเอกอัครราชทูตจีน ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง (ภาพจาก : เว็บไซด์สำนักข่าวชายขอบ TransborderNEWS)

ฝ่ายหนึ่งเป็นชาวบ้านคนตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย อีกฝ่ายคือประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนผู้ทรงอิทธิพล เนื้อความในจดหมายแสดงความห่วงกังวลต่อโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระหว่างปี ค.ศ.๒๐๑๕-๒๐๒๕ หรือ โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โดยระบุว่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมาไม่จบสิ้น และทำให้ประเทศที่พึ่งพาแม่น้ำโขงอยู่ร่วมกันยากขึ้น

กลุ่มรักษ์เชียงของให้เหตุผลว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่านหลายประเทศ แม้มีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น แม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำโขง แม่น้ำของ หรือกิ๋วลองในเวียดนาม แต่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ก็ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ร่วมกันมานาน

กระทั่งสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีเขื่อนแห่งแรกถูกสร้างขึ้นบนแม่น้ำโขงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ตามมาด้วยเขื่อนอีกหลายแห่ง ถึงเวลานี้มีเขื่อนถูกสร้างในประเทศจีนแล้วถึง ๗ เขื่อน ผลที่เกิดขึ้นคือผู้คนในประเทศท้ายน้ำต้องเผชิญความผันผวนของระดับน้ำ

หลายปีแล้วที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่ได้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล บางครั้งเปลี่ยนจากน้ำแห้งเป็นน้ำสูงภายในเวลาไม่นานจากการกักเก็บและปล่อยน้ำของเขื่อน ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรริมฝั่ง การเก็บไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขง การ่อนทองคำ การทำประมง การคมนาคม ไปจนถึงการดำรงชีวิตของปลาและนกที่ต้องอาศัยเกาะแก่งแม่น้ำโขงเป็นแหล่งทำรังวางไข่ ด้วยเหตุนี้กลุ่มรักษ์เชียงของจึงเห็นว่าการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงน่าจะยิ่งเป็นตัวซ้ำเติมปัญหา

lettertochinapresident01

เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกที่กลุ่มรักษ์เชียงของส่งถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

จดหมายฉบับนี้ถูกร่างขึ้นในเวลาที่มีคณะเรือจากประเทศจีนลงมาสำรวจเกาะแก่งแม่น้ำโขงในเขตพรมแดนไทย-ลาว หลังจากก่อนหน้าจีนได้สำรวจและระเบิดเกาะแก่งที่อยู่ในเขตประเทศพม่าไปบ้างแล้ว

“ผมอยากเรียนให้ท่านทราบว่า พวกเราที่อยู่ริมแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาต่างๆ ได้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในลุ่มน้ำ ทั้งการประมง ร่อนทอง เกษตรริมฝั่ง การคมนาคม วัฒนธรรมและประเพณีที่เชื่อมโยงแนบแน่นกับแม่น้ำสายนี้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของระบบนิเวศและทรัพยากรแม่น้ำโขงย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อพวกเรา” เนื้อความส่วนหนึ่งในจดหมายเปิดผนึก

นอกจากแสดงความห่วงใย กลุ่มรักษ์เชียงของยังได้พยายามชี้ให้เห็นทางออกของปัญหา โดยระบุว่าตามข้อเท็จจริงแล้วการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับประเทศตอนล่างเป็นสิ่งที่สามารถทำได้หลายช่องทาง โดยเฉพาะการขนส่งทางบกผ่านถนน R3A เส้นทางรถไฟ หรือแม้แต่การขนส่งทางน้ำก็เป็นไปได้โดยไม่ต้องระเบิดเกาะแก่งหรือขุดลอกสันดอนทราย เพียงแค่ปรับขนาดของเรือบรรทุกสินค้าให้สอดคล้องกับนิเวศภายภาพของแม่น้ำโขงเท่านั้น

“แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่เราใช้ร่วมกันโดยมีแหล่งกำเนิดจากแผ่นดินจีนไหลสู่ประเทศต่างๆ ลงไปถึงเวียดนาม มาตุธารสายนี้เป็นสายน้ำเดียวกันที่เราต่างใช้ร่วมกัน…”

“สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือเราอยากให้ท่านมองการอยู่ร่วมกันของพี่น้องในลุ่มน้ำโขงอย่างสันติ แม่น้ำโขงเป็นดังทรัพยากรล้ำค่าที่เราล้วนจำเป็นต้องดูแลรักษาใช้ร่วมกัน หากมุ่งทำลายแม่น้ำไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าหรือระเบิดแม่น้ำเพื่อการเดินเรือ สุดท้ายก็คงไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งประชาชนในท้องถิ่นและคนจีน

“เราเห็นว่าการค้าขายต้องควบคู่ไปกับการรักษามิตรภาพและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์” เนื้อความในจดหมาย

lettertochinapresident04

เรือสินค้าและเรือท่องเที่ยวที่ท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีเรือขนส่งสินค้าจากมณฑลยูนนานแล่นมาถึงท่าเรือเชียงแสนได้ตลอดทั้งปี (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

กลุ่มรักษ์เชียงของพยายามทำทุกวิถีทางที่เห็นว่าน่าจะสามารถหยุดยั้งการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงได้ แม้แต่เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีจีนผู้ยิ่งใหญ่ ที่เหลือคงต้องรอดูท่าทีต่อไปว่าพญามังกรแห่งลุ่มน้ำโขงจะยังคงทำเหมือนผู้ร่างจดหมายเป็นแค่อนารยชนท้ายน้ำดังที่ผ่านๆ มาหรือเปล่า

หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่ เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น ๘-๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ และ ๓-๔ มิถุนายน ๒๕๖๐