วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

2ndstep01

ภาพ : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ตลอด ๔ เดือนของค่ายสารคดี เราจะพานักเขียนและช่างภาพสารคดีหัดใหม่ไต่บันไดการเรียนรู้ขึ้นไปเป็นขั้นๆ

หลังปูพื้นฐานเกี่ยวกับงานสารคดีในภาคปฏิบัติกันไปเต็มวันในสัปดาห์ที่แล้ว ทิ้งระยะให้ผู้เรียนไปตกผลึกสังเคราะห์สิ่งที่ได้สดับ กับการค้นคว้าเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลก่อนการลงพื้นที่

มาถึงสัปดาห์นี้ เป็นก้าวที่สองของการเรียนรู้ คือการลงพื้นที่ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ขาดไม่ได้สำหรับงานสารคดี

นอกจากสืบค้นกลั่นกรองข้อมูลแห้งจากแหล่งค้นคว้า การลงสัมผัสพื้นที่และสัมภาษณ์ผู้รู้ คนในถิ่น เปรียบว่าเป็นลำน้ำสาขาที่ขาดไม่ได้สำหรับมหาสายธารใหญ่

ในการลงเก็บข้อมูลครั้งแรกของเหล่านักสารคดีมือใหม่นี้ ครูช่วยจัดเตรียมพื้นที่และแห่งข้อมูลไว้ให้ เพื่อเป็นแบบฝึกหัดในภาคปฏิบัติการเก็บข้อมูลได้อย่างเข้มข้น โดยมีครูคอยประกบแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปท่ามกลางการปฏิบัติจริง

ถ้าเปรียบกับการฝึกร้องเพลง ก็พูดได้ว่าครั้งนี้เป็นการ “ร้องตามครู”2ndstep02

2ndstep03

2ndstep04

ภาพโดย ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

2ndstep05

ภาพโดย : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

บทเรียนที่สอง-ห้องเรียนของค่ายสารคดีในครั้งนี้อยู่ที่ตลาดหัวเข้ เขตลาดกระบัง ทางตะวันออกของกรุงเทพฯ ต่อแดนฉะเชิงเทรา

ให้เวลาราวครึ่งวันอยู่ในพื้นที่กับแหล่งข้อมูล กับอีกสัปดาห์-เป็นช่วงเวลาของการกลั่นกรองร้อยเรียงเรื่องราวที่เก็บมาได้ให้กลายเป็นงานเขียน

แต่ก่อนจะเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ ท้ายชั่วโมงเรียนประจำวัน ครูขอให้ทุกคนคัดประโยคเด็ดและภาพเด่นที่แต่ละคนเก็บเกี่ยวมาได้ เอามาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันดูในชั้นเรียน

ก็พอเห็นแววนักประพันธ์และช่างภาพ

“ที่นี่เหมือนคนรู้จัก บ่มเพาะ แบ่งปัน ให้เรารู้เหมือนเป็นคนที่นี่” (นักเขียนบางคนกลั่นความรู้สึกจากการได้สัมผัสพื้นที่)

“ ‘ตลาดหัวตะเข้ ขายความเงียบอันเรียบง่าย’ ป้าอ้อย จิตอาสาที่เป็นหนึ่งในทีมฟื้นฟูตลาดเก่าหัวตะเข้” (วรรคทองของบางคนมาจากคำสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล)

“ชีวิตนอกกรอบ เป็นสุขได้เพราะมีกรอบ” (นักเขียนใหม่อีกคน สรุปภาพชีวิตของช่างทำกรอบรูปที่หัวตะเข้ จากที่เขาได้สัมผัสและพูดคุยด้วย)

“ ‘แท้ ไม่แท้ เก่าใหม่ ได้หมด มันอยู่ที่ใจ พระอยู่ไหนก็ไม่เสื่อม’ จี๊ด-ณรงค์ศักดิ์ เซียนพระเครื่องใต้สะพาน กล่าวถึงพระเครื่องบนแผง” (เป็นตัวอย่างอีกชิ้นของวรรคทองจากบทสัมภาษณ์

บางประโยคเด็ดที่บรรดานักเขียนหัดใหม่ตัดทอนมาประชันกันพอเห็นท่วงทำนองของแต่ละคน เป็นต้นทางที่จะพัฒนาต่อเป็นชิ้นงานอันงดงาม

เป็น “วรรคทอง” วรรคเด่นที่ เป็นเสมือนดวงดอกไม้สีแดงเด่น ซึ่งเมื่อแย้มบานขึ้นกลางทุ่งหญ้าสีเขียวก็จะเป็นจุดเด่นที่จับตา และน่าชื่นใจยามได้อ่านเจอ

เมื่อปรากฏอยู่ในงานเขียนชิ้นใดก็จะเป็นวรรคเด่นที่คอยปลุกเร้าความตื่นใจให้ความตื่นเต้นแก่คนอ่าน ไม่ให้การท่องไปในสวนอักษรเป็นความน่าเบื่อจนง่วงหาวหรืออยากตีตนออกห่างงานชิ้นนั้น

เป็นความสำคัญของวรรคทองต่อการชูรสคำและรสความให้แก่งานเขียนร้อยแก้ว

วันนี้นักเขียนใหม่หลายคนมีดอกไม้ช่อโตมาอวด

เหมือนเป็นตัวอย่างหนังมาโฆษณา ให้คอยติดตามต่อว่า

ในสัปดาห์หน้างานเขียนที่เสร็จสมบูรณ์ของพวกเขาจะเป็นทุ่งดอกไม้ที่งดงามเพียงใด


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา