More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


ยัติภังค์

educationfilmท่ามกลางหนังเพื่อความบันเทิงจำนวนมาก ก็มีหนังจำนวนไม่น้อยทั้งหนังคนแสดง และหนังสารคดี ที่สร้างมาเพื่อสะท้อนชีวิตวัยเรียน และปัญหาด้านการศึกษา บ้างเป็นเพียงสีสันประกอบเนื้อเรื่อง บ้างเป็นการสะท้อนปัญหาที่เรื้อรังในโรงเรียน ไปจนถึงหนังที่สร้างความประทับใจในความสัมพันธ์ของครูที่ช่วยให้ลูกศิษย์ค้นหาตัวเอง จนอาจเรียกว่าหนังในกลุ่มนี้ เป็นหนังตระกูลย่อยที่ประสบความสำเร็จ และนิยมสร้างมาโดยตลอด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเพราะเรื่องราวในช่วงดังกล่าวเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจ และแม้หลายคนอาจไม่เคยประสบเรื่องราวของหนังก็สร้างแรงบันดาลใจ และสะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นจริงให้กับผู้ชมได้ไม่มากก็น้อย

ในวาระที่ นิตยสาร สารคดี นำเสนอเรื่อง โฮมสกูล โลกกว้างกว่าห้องเรียน ในฉบับที่ ๓๘๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ จึงขอนำเสนอหนังเกี่ยวกับการศึกษา ๑๐ เรื่องที่แตกต่างกันออกไป ทั้งหนังคนแสดง และ หนังสารคดีอย่างละ ๕ เรื่องดังนี้

ภาพยนตร์ทั่วไป

Wonder (๒๐๑๗)
ออกัสต์ เด็กที่เกิดมามีใบหน้าผิดปกติจากเด็กคนอื่น เขาเลี่ยงที่จะเข้าสังคมด้วยการเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน จนกระทั่งอายุ ๑๐ ขวบต้องไปเรียนร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ในโรงเรียน ชีวิตจึงลำบากมากขึ้นเพราะมีแต่ผู้คนรังเกียจ หนังเป็นงานดัดแปลงจากหนังสือสำหรับเด็กในชื่อเดียวกันของ อาร์.เจ.พาลาซิโอ ผ่านการกำกับของ สตีเฟ่น ชโบสกี้ นำแสดงโดย จูเลีย โรเบิร์ต และ โอเว่น วิลสัน (หนังมีกำหนดเข้าฉาย ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐)

Dead Poets Society (๑๙๘๙)
ชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนกินนอนชายล้วนชื่อดังที่แสนเข้มงวดได้เปลี่ยนไปตลอดกาลหลังพวกเขาได้พบกับ จอห์น คีติ้ง ซึ่งสอนให้พวกเขารู้จักบทกวี และการค้นหาตัวเอง ผลงานกำกับของ ปีเตอร์ เวียร์ ซึ่งทำเงินทั่วโลกกว่า ๒๓๕ ล้านเหรียญฯ เข้าชิงออสการ์ถึง ๔ สาขารางวัล และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมจำนวนไม่น้อย กลายเป็นหนึ่งในบทบาทที่ผู้คนจดจำของ โรบิน วิลเลี่ยมส์


The Class (๒๐๐๘)

ผลงานกำกับของ โลรองค์ กองเต้ เจ้าของรางวัลปาล์มทองครั้งที่ ๖๑ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ สร้างจากนิยายที่เป็นกึ่งอัตชีวประวัติบันทึกประสบการณ์อาชีพครูของ ฟรังซัวส์ บีกาโดวส์ และเป็นผู้แสดงนำเอง ถ่ายทอดสภาพของโรงเรียนในเขตชุมชนของผู้ใช้แรงงานในฝรั่งเศส ซึ่งมีเด็กหลากเชื้อชาติสะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่เดียวกันของโลกยุคปัจจุบัน พร้อมๆ กับการตั้งคำถามถึงปัญหาด้านระบบการศึกษาในรูปแบบโรงเรียน

An Education (๒๐๐๙)
ดัดแปลงจากบันทึกความทรงจำชื่อเดียวกันของนักข่าวชาวอังกฤษ ลินน์ บาร์เบอร์ กลายเป็นภาพยนตร์เข้าชิงออสการ์ กับชีวิตอันเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบของ เจนนี่ เด็กสาวหัวดี เปี่ยมความมั่นใจเตรียมจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ก่อนความรักกับชายวัยกลางคนที่เข้ามาในชีวิตจะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป และสอนบทเรียนที่อยู่นอกตำราเรียนให้กับเธอ

Not One Less(๑๙๙๙)
ภาพยนตร์โดย จางอี้โหมว ที่รางวัลสิงโตทองคำ จากเทศกาลหนังเมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี เรื่องราวของคุณครูจำเป็นวัย ๑๓ ขวบที่ต้องมาสอนแทนครูตัวจริงในโรงเรียนชนบทห่างไกลความเจริญแห่งหนึ่ง และจากกฎที่ครูขอร้องให้จำนวนนักเรียนไม่ลดลงเลยแม้แต่คนเดียว กลายเป็นที่มาของการออกตามหานักเรียนคนหนึ่งที่ออกไปทำงานในเมือง

หนังสารคดี

Waiting for Superman (๒๐๑๐)
ผลงานโดย เดวิด กักเกนไฮม์ ที่ประสบความสำเร็จจาก An Inconvenient Truth ซึ่งแสดงสถิติ และความเห็นที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของระบบการศึกษาในอเมริกาที่เน้นการสอบแข่งขัน โดยติดตามเด็กในวัยต่างๆ จำนวนหนึ่งที่มีความฝัน แต่ต้องพลาดหวังในการเข้าโรงเรียนดีๆ ที่มีไม่กี่แห่ง และไม่เพียงพอในการรองรับเด็กจำนวนมาก ก่อนจะใช้วิธีจับฉลากเสี่ยงโชค

To Be and to Have (๒๐๐๒)
สารคดีโดย นิโคลัส ฟิลแบรต์ ซึ่งกลายเป็นหนังสารคดีที่ทำเงินสูงสุดของฝรั่งเศสเมื่อออกฉายในปี ค.ศ.๒๐๐๒ จากการถ่ายทอดภาพโรงเรียนในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของฝรั่งเศสที่มีจำนวนนักเรียนเพียงไม่กี่คน และคละอายุตั้งแต่ ๔-๑๒ ปี และถูกสอนโดยครูผู้ทุ่มเทเพียงคนเดียวอย่างอดทน การที่หนังปราศจากการบรรยายตัดสิน ทำให้คำว่า “การศึกษา” ถูกตีความอย่างเปิดกว้างจากภาพที่ปรากฎในหนัง

Most Likely to Succeed (๒๐๑๑)
ผู้กำกับ เกร็ก ไวท์ลีย์ พาเราไปรู้จักประวัติศาสตร์การศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่สะท้อนให้เห็นปัญหาว่าไม่ทันต่อยุคปัจจุบัน และพาไปสำรวจหนทางใหม่ของการศึกษาที่มุ่งสู่การค้นหาเป้าหมายที่แท้จริงของทั้งครูและนักเรียน

Mad Hot Ballroom (๒๐๐๕)
ผลงานของ มาริลีน อาเกรโล ที่จับภาพชีวิตประจำวันของเด็กๆ วัยเพียง ๑๑ ขวบชั้นประถม ๕ โรงเรียนเทศบาลนิวยอร์ก ที่ตัดสินใจเดินเข้าสู่โลกของการเต้นรำ และค่อยๆ ค้นพบความสามารถที่เร้นอยู่ในที่สุด จากการเตรียมเข้าร่วมแข่งขันในการเต้นรำนานาชาติปี ๒๐๐๔

Bully(๒๐๑๑)
ผลงานกำกับ และร่วมอำนวยการสร้างโดย ลี เฮิร์ชส จากแรงบันดาลใจที่ตัวเขาเองก็ถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็ก จึงตามติดชีวิตเด็กในโรงเรียนรัฐ ๕ คนระหว่างปี ค.ศ.๒๐๐๙-๒๐๑๐ ทั้งเรื่องของเขาและครอบครัว ซึ่งล้วนเป็นเหยื่อการถูกกลั่นแกล้งในช่วงที่เรียน และหลายคนถูกกลั่นแกล้ง อยู่ในสภาพกดดันจนฆ่าตัวตาย พร้อมๆ กับการรณรงค์ต่อต้านการกระทำดังกล่าวระหว่างเดินสายฉายภาพยนตร์

ภาพจาก