อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ขณะอยู่ที่ รพ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา “หมอหงวน” คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ “บัตรทอง” ในทุกวันนี้

หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลแห่งแรกที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลือกไปทำงาน คือ รพ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

“ผมรู้สึกดีที่เลือกที่นี่ เพราะอยู่ในจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น ถนนหนทาง อาหารการกินก็ไม่สะดวก ทั้งๆ ที่ผมเป็นหมอ เป็นผู้บริหารโรงพยาบาล มีสิทธิ์ที่จะจัดการอะไรต่างๆ แต่ผมก็ไม่ยอมติดแอร์รถ เพราะรู้สึกว่าการติดแอร์สมัยโน้นมันเหมือนของฟุ่มเฟือยหรือทำให้ตัวเองสบาย แพทย์จบใหม่รุ่นผมไม่มีใครคิดจะอยู่ในเมือง ยุคนั้นเรามีความรู้สึกว่าการที่เรียนจบมาด้วยภาษีอากรของประชาชนแล้วกลับไปทำงานในเมืองที่มีความสะดวกสบายมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นพวกสำรวย รักสบาย ใครทำตัวอย่างนั้นก็จะอายเพื่อร่วมรุ่น”

นพ.สงวน เล่าถึงค่านิยมของแพทย์จบใหม่ช่วงปี ๒๕๒๐ ที่มักออกไปทำงานในชนบททันทีที่เรียนจบ ไม่ค่อยมีใครอยากจะอยู่ในเมือง

นพ.สงวน เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขให้ชาวบ้านในชนบทเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเรื่องการเกษตร การศึกษา อาชีพ ไปพร้อมกัน เพราะว่าคนในชนบทต้องเผชิญความลำบากพร้อมๆ กันทีเดียวหลายด้าน

เมื่อครั้งทำงานอยู่ รพ.ราษีไศล นพ.สงวน จึงทำงานร่วมกับมูลนิธิเด็ก พัฒนาศูนย์รักษาเด็กขาดสารอาหาร ก่อตั้งโครงการธนาคารข้าว กองทุนยา ก่อตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการถึงในชุมชนหลังเวลาเลิกงาน โดยเก็บค่ารักษาคนละ ๕ บาท แล้วนำเงินที่ได้ทั้งหมดยกให้ทางชาวบ้านเพื่อสมทบกองทุนยา

ชีวิตการทำงานในชนบททำให้ นพ.สงวน มีโอกาสสัมผัสกับปัญหาของผู้คนในชนบทยุคนั้นอย่างลึกซึ้ง

นพ.สงวน เคยวิเคราะห์การปฏิรูประบบสุขภาพว่า “สังคมไทยมักเข้าใจว่า คนจนเท่านั้นที่ควรได้รับการดูแลและคุ้มครองด้านสุขภาพ หากในความเป็นจริง การป้องกันมิให้ผู้มีรายได้ปานกลางจนถึงสูงต้องล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ก็เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างความมั่นคงและเป็นธรรมในระบบสุขภาพ”

ด้วยเหตุนี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เขาคิดริเริ่มจึงให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มอายุ เพศ และรายได้ ด้วยความเชื่อว่าการได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

หลังทำงานที่ รพ.ราษีไศลได้ราว ๕ ปี นพ.สงวน ก็ได้รับทุนศึกษาต่อหลักสูตรพัฒนาสาธารณสุข ที่สถาบันโรคเขตร้อน ประเทศเบลเยียม ได้รับแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนโลกด้วยการเปลี่ยนระบบสุขภาพ เมื่อกลับมาทำงานเป็นผู้อำนวยการ รพ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ได้ ๔-๕ ปี จึงย้ายเข้ามาทำงานที่ส่วนกลาง คือกองแผนงานสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข มีส่วนในการทำคลอดโครงการใหม่ๆ หนึ่งในภารกิจสำคัญคือวางรากฐานของระบบกองทุนประกันสังคมที่ผู้ใช้แรงงานพยายามผลักดันมานานกว่า ๓๐ ปีจนประสบผลสำเร็จ สามารถคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในระบบถึงราว ๑๐ ล้านคนในปัจจุบันนี้

แนวคิดของระบบกองทุนประกันสังคมเป็นแรงผลักดันให้ นพ.สงวน ต้องการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมแรงงานนอกระบบและแรงงานภาคเกษตรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเห็นต่าง ว่าระบบประกันสุขภาพในอุดมคติอย่างที่เขาคิดและพยายามผลักดัน ยังเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย คำอธิบายที่ นพ.สงวน มักใช้สำหรับการชี้แจงคือ

“การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบของการ ‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ ในสังคม คนมีช่วยคนจน คนไม่ป่วยช่วยคนป่วย ให้ทุกคนเสียค่าใช้จ่ายในอัตราเดียวกันหรือไม่เสีย เป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่มีวัฒนธรรมของประชาคมที่เจริญแล้ว คือการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในสังคม ไม่ใช่อยู่อย่างตัวใครตัวมัน”

เมื่อมีคนบอกว่าระบบประกันสุขภาพเกิดขึ้นไม่ได้ในสังคมที่ยังยากจนอยู่อย่างสังคมไทย นพ.สงวน จะชี้แจงกลับไปว่า “เราบอกว่าประเทศเรายากจน สร้างระบบประกันสุขภาพแบบนี้ไม่ได้ แต่ญี่ปุ่นมีระบบนี้ตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๖๒ หรือ ๔๐ ปีมาแล้ว เกาหลีใต้มีระบบนี้ในปี ๑๙๗๙ หรือเกือบ ๓๐ ปี ประเทศที่เริ่มมีไม่นาน ได้แก่ ไต้หวัน ชิลี โคลัมเบีย เวลานี้เราบอกว่าเรายากจน สร้างระบบประกันสุขภาพแบบนี้ไม่ได้ แต่เรายากจนกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนหรือ ด้อยพัฒนากว่าโคลัมเบียซึ่งมีปัญหาเรื่องยาเสพย์ติดหรือ”

ก้าวสำคัญของวิวัฒนาการ ๓ ขั้นของระบบประกันสุขภาพไทย เริ่มจาก “สงเคราะห์” มาสู่ “สวัสดิการ” และพัฒนามาเป็น “สิทธิ” ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นนโยบายที่พรรคไทยรักไทยเคยใช้ในการหาเสียงด้วยชื่อโครงการ “๓๐ บาทรักษาทุกโรค”

อย่างไรก็ดี นพ.สงวน รู้ว่า หากโครงการนี้ยังมีสถานะเป็นเพียง “โครงการ” หรือ “นโยบาย” พรรคการเมือง ภายภาคหน้าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็สามารถยกเลิกโครงการได้ จึงผลักดันให้เกิดการออก พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ที่มีการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพในสังคมไทย

ทิศทางของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นไปตามที่ นพ.สงวน วางไว้ คือการยกระดับ “โครงการ” หรือ “นโยบายพรรคการเมือง” ไปสู่การออกฏหมายรองรับ

แม้ช่วงแรกของนโยบายนี้จะมีปัญหา แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือความเข้าใจในเรื่องหลักประกันสุขภาพ การเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน

นพ.สงวน เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ระบบนี้ยังไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจในช่วงแรกๆ ผมคิดว่าเราคงต้องปรับปรุงแก้ไขและพยายามทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เพื่อลดปัญหาและปรับทัศนคติต่างๆ ให้ดีขึ้น ถ้าสังคมเข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่าของปรัชญา เฉลี่ยสุข เฉลี่ยทุกข์ ที่ไม่ใช่แค่ปรัชญาช่วยคนจนตามที่หลายคนคิด”

หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่สกู๊ป “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ งานแห่งชีวิตของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ตีพิมพ์ลงนิตยสารสารคดี ฉบับ ๓๓๒ ตุลาคม ๒๕๕๕