เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)
(ภาพ : ประวัติครู, ๒๕๐๐)

พร้อมกับที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศร่วมเฉลิมฉลองให้แก่ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในวาระครบ ๑๐๐ ปีชาตกาล เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) คือบุคคลสำคัญชาวไทยอีกท่านที่ได้รับการยกย่องในที่ประชุมของยูเนสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ ด้วย

ชื่อของท่านคงมิได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางเช่น ดร. ป๋วยซึ่งเป็นบุคคลร่วมสมัย อีกทั้งยังมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากมาย อาจเพราะเจ้าพระยาพระเสด็จฯ เกิดตั้งแต่ปี ๒๔๑๐ ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ มีชีวิตอยู่ตลอดช่วงรัชกาลที่ ๕ กระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีมาแล้วช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๙ (นับตามระบบปฏิทินปัจจุบันคือกุมภาพันธ์ ๒๔๖๐) โดยเหตุนั้นในโอกาสที่ปี ๒๕๖๐ จะครบ ๑๕๐ ปีชาตกาล และ ๑๐๐ ปีแห่งอนิจกรรมของเจ้าพระยาพระเสด็จฯ สารคดี จึงขอเบิกโรงแนะนำเรื่องราวและความสำคัญของ “ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์” ท่านนี้

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นโอรสในกรมหมื่นบำราบปรปักษ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๒๔๐๕-๒๔๘๖) ทรงขอตัวจากพระบิดาให้มาเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบที่จัดตั้งขึ้นเป็นที่เล่าเรียนสำหรับเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการ ตามหลักสูตรของโรงเรียน นักเรียนจะใช้เวลาเรียน ๓ ปี เพื่อสอบให้ผ่านประโยค ๑ (เทียบได้กับชั้นประถมศึกษา) แล้วเรียนต่ออีกปีให้ได้ประโยค ๒ (ถือเป็นชั้นมัธยมศึกษา) แต่หม่อมราชวงศ์เปียใช้เวลาเพียงปีเดียวก็สอบผ่านทั้งสองประโยคในคราวเดียวกัน จนได้รับพระราชทานรางวัลจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นกรณีพิเศษ

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วหม่อมราชวงศ์เปียเข้ารับราชการในกรมศึกษาธิการ เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี ๒๔๓๕ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ หม่อมราชวงศ์เปียซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระมนตรีพจนกิจ ก็ย้ายตามไปยังกระทรวงมหาดไทยด้วย

ปีต่อมา ๒๔๓๖ ขณะอายุ ๒๖ ปี ด้วยความปราดเปรื่องและความจงรักภักดี พระมนตรีฯ ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่พระอภิบาล (พี่เลี้ยง) ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๖) ไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ โดยได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์

ระหว่างอยู่อังกฤษ พระยาวิสุทธฯ ยังได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นพระอภิบาลของพระเจ้าลูกยาเธอที่ไปศึกษาต่อในยุโรปอีกนับสิบพระองค์ และยังได้รับตำแหน่งในสถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน เริ่มจากเลขานุการ แล้วเลื่อนขึ้นตามลำดับจนถึงอัครราชทูตพิเศษประจำราชสำนักอังกฤษ ฮอลแลนด์ และเบลเยียม ในที่สุด

จนถึงปี ๒๔๔๐ หลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ท่านไปศึกษามาว่าเหตุใดนักเรียนสยามที่ถูกส่งไปเรียนในยุโรปจึงต้องใช้เวลาเรียนกันนานนับสิบปี ซ้ำยังไม่ค่อยได้ผลสำเร็จที่น่าพึงพอใจนัก พระยาวิสุทธฯ ทำรายงานทูลเกล้าฯ ถวายว่า ระบบการศึกษาของสยามแตกต่างจากยุโรปมาก ทำให้พื้นฐานความรู้ของนักเรียนไม่ได้มาตรฐาน จึงควรจัดระบบการศึกษาและหลักสูตรสำหรับนักเรียนที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศเสียใหม่ ท่านยังพ่วงข้อเสนอไกลกว่านั้นอีกว่า รัฐบาลควรจัดการศึกษาพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย โดยเฉพาะการอาชีพเช่นวิชาช่างและการเพาะปลูก เนื้อหาของรายงานดังกล่าวเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานตอบว่า “ขอยืนยันว่าได้เห็นชอบในความคิดนั้นทุกอย่าง” ปีต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกตัวพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์กลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาดูแลวางแผนจัดการศึกษา

surentara01

ศาลาพระเสด็จ อาคารในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สร้างขึ้นแทนที่ศาลาชื่อเดียวกัน ซึ่งสร้างเป็นอนุสรณ์ถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)

อย่างไรก็ดีเนื่องจากนโยบายเฉพาะหน้าคือการทุ่มเทงบประมาณแผ่นดินไปกับการทหาร ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาพื้นฐาน รัชกาลที่ ๕ จึงทรงตัดสินพระทัยให้คณะสงฆ์มีบทบาทจัดการศึกษาแก่ราษฎรทั่วไปแทนรัฐ ในรูปแบบของโรงเรียนวัด ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่วนนโยบายด้านการจัดการศึกษาของรัฐยังคงมุ่งเน้นผลิตคนป้อนสู่ระบบราชการเป็นหลัก พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์จึงได้ดูแลการจัดการศึกษาเฉพาะทางเหล่านี้ เช่น โรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งคลี่คลายไปเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา

คุณูปการสำคัญอีกประการของท่าน คือการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาด้วยการสร้างตำรา โดยจัดตั้งกรมตำรา รวบรวมผู้มีความรู้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ผลิตหนังสือเรียนถ่ายทอดความรู้แบบตะวันตกให้เป็นภาษาไทย เช่น ตำราคณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น

พระยาวิสุทธฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ถึงกับร่วมแต่งตำราเรียนหลายเรื่องด้วยตนเอง เช่น หนังสือชุดแบบเรียนเร็ว (ร่วมกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) พลเมืองดี และจรรยาแพทย์

หนังสืออีกเล่มของท่านที่ยังคงได้รับการตีพิมพ์มาจนทุกวันนี้คือ สมบัติของผู้ดี หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุตรชายคนหนึ่งของท่านซึ่งมีบทบาทสำคัญด้านการศึกษาของประเทศยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อธิบายว่า

“มีคนรังเกียจหนังสือสมบัติของผู้ดี โดยหาว่าท่านแบ่งชั้นวรรณะ คือแยกผู้ดีออกจากไพร่ ความจริงนั้นท่านคิดว่าผู้ที่มีจรรยามารยาทอันเหมาะสม ย่อมได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ดีทุกคน โดยไม่คำนึงถึงกำเนิด…”

ในปี ๒๔๕๕ ต้นรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) หลังจากนั้นทรงสถาปนาเป็นเจ้าพระยาในราชทินนาม “พระเสด็จสุเรนทราธิบดี” อันเป็นราชทินนามเจ้ากรมธรรมการตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังมีปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และไม่มีผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้ใช้ราชทินนามนี้มาช้านานแล้ว

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุเพียง ๕๐ ปี เชื่อกันว่ามีสาเหตุจากการหักโหมตรากตรำงานหนักมาตลอดชีวิตราชการ ดังที่ “ครูเทพ” เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งเป็น “มือขวา” และเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด เล่าว่า “การมานั่งจับไข้อยู่กับงานในสำนักงานเป็นอันขึ้นชื่อและทราบกันดีในพวกที่เคยร่วมงานกับท่าน”

หากแต่มรดกของเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ที่ทิ้งไว้ให้แก่วงการการศึกษายังมีอีกมาก อาจารย์วารุณี โอสถารมย์ อดีตนักวิจัยของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำงานวิจัยประวัติศาสตร์การศึกษาของไทยมายาวนานหลายสิบปี ให้ทรรศนะถึงความสำคัญของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีว่า

“ท่านเป็นคนแรกที่พูดเรื่องว่าประเทศควรต้องมีการจัดการศึกษาพื้นฐาน เป็นคนแรกที่นำเสนอเรื่องนี้ต่อผู้นำรัฐบาล คือรัชกาลที่ ๕ แล้วยืนยันเรื่องนี้มาตลอดการรับราชการของท่าน จนผลักดันให้เป็นจริงได้ในสมัยรัชกาลที่ ๖

“การศึกษาพื้นฐานมีความสำคัญในแง่ที่ว่าเป็นการปลูกฝังให้คนรู้เรื่องการอ่านเขียน แต่ท่านเห็นว่าการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจต้องไปด้วยกัน เพราะท่านอยากให้สยามเป็นประเทศอุตสาหกรรม ท่านมองว่าต้องฝึกทักษะงานฝีมือกับฝึกให้คนค้าขายเป็น ท่านเป็นคนให้จัดตั้งโรงเรียนเพาะช่าง โรงเรียนพณิชยการ

“การสร้างครูที่มีความรู้แบบใหม่จากตะวันตกก็เป็นผลงานอีกด้านหนึ่งของเจ้าพระยาพระเสด็จฯ เพราะท่านสนับสนุนการขยายโรงเรียนฝึกหัดครูไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ขึ้นอีกหลายแห่ง นอกจากกรุงเทพฯ…”

แต่สำหรับคนทั่วไป มรดกชิ้นสำคัญของเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ที่รู้จักแพร่หลายที่สุดเห็นจะได้แก่คำร้องของเพลง “สามัคคีชุมนุม” ที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับทำนองเพลง “Auld Lang Syne” (โอลด์แลงซายน์) เพลงขับร้องของสกอตที่มีเนื้อหาแสดงความอาลัยรักในยามต้องจากกัน

หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในปี ๒๕๕๗ ประภาส ชลศรานนท์ นักเขียนและนักแต่งเพลงคนสำคัญของยุคปัจจุบัน ยังเลือกหยิบเอาคำร้อง “พวกเราเหล่ามาชุมนุม ต่างกุมใจรักสมัครสมาน…” และทำนองเพลง “สามัคคีชุมนุม” ของเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ไปเป็นส่วนหนึ่งของเพลง “วันพรุ่งนี้” ที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อสนับสนุน คสช.


อ้างอิง

  • ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. “เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล).” ใน ครูไทย ๒๐๐ ปี, ๖๖-๗๖. ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกครู ๒๐๐ ปี ของคุรุสภา, ๒๕๒๕.
  • รอง ศยามานนท์. “เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล).” ใน ประวัติครู, ๔๗-๖๔. พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๐๐.
  • วารุณี โอสถารมย์. การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๗๕. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๔.