ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ศรัณย์ ทองปาน
ในบรรดาผีไทยภาคกลาง วิญญาณของสตรีนางหนึ่งที่ชื่อ “นาก” (ในฐานะนามของผู้หญิง เธอควรชื่อ “นาก” อันหมายถึงโลหะมีค่า ส่วนผสมของเงินกับทอง มากกว่าที่จะชื่อ “นาค” ซึ่งแปลว่างูใหญ่) อาจนับว่าเป็นผีที่พิเศษโดดเด่นมาก เนื่องจากผีอื่นๆ ที่เราเคยได้ยินชื่อส่วนใหญ่จะเป็นผีที่แบ่งตาม “ประเภท” คือสามารถมีได้มากกว่าหนึ่ง อย่างเช่นผีกระสือ (ถ้ามีจริง) ก็คงมีอยู่หลายตัวหลายถิ่นหลายที่ แต่ผีของนางนากกลับมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น หรือจะนับว่าเธอคือเป็น “ผีในประวัติศาสตร์” ก็ว่าได้
เรื่องราวของนางนากพระโขนงก็เป็นอย่างที่ใครๆ คงเคยได้ยินกันมามากแล้ว ว่าเธอเป็น “ผีตายท้องกลม” คือตายตอนคลอดทั้งที่ยังมีทารกอยู่ในครรภ์ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่พบมากในสังคมก่อนสมัยใหม่ ผีที่ตายแบบนี้คนไทยถือกันว่า “เฮี้ยน” นัก นางนากตายแล้วกลายเป็นผีดุร้าย ออกอาละวาดหลอกหลอนคนละแวกพระโขนงอยู่พักใหญ่ จนเรื่องนี้รู้กันทั่วไปในพระนคร เรียกได้ว่าใครๆ ก็ต้องรู้จักเธอ
หลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ของเรื่องเล่านี้ก็คือ เมื่อสมัยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. 2405-2486) พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ยังทรงเป็นวัยรุ่นช่วงต้นรัชกาลที่ 5 นั้น วันหนึ่งทรงมีไอเดียให้ไปตั้งหน่วยทำโพลอยู่ที่หน้าประตูวัง โดยมีสี่รายชื่อให้เลือกได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 นางนากพระโขนง กับใครอีกคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้ แล้วลองถามคนที่เดินเข้าออกประตูวังดูว่ารู้จักใครบ้างในบรรดาคนเหล่านี้ ผลปรากฏว่านางนากพระโขนงชนะถล่มทลาย เรื่องการทำโพลครั้งนั้น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกเอาไว้ในตอนท้ายของหนังสือ พระประวัติลูกเล่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 คนก็รู้จักเรื่องนี้ดีมากแล้ว ดังนั้นเรื่องผีนางนากนี้จึงต้องแพร่หลายกันมาพักใหญ่แล้ว
รายละเอียดของตำนานผีนางนากยังมีต่อไปอีกด้วยว่า นางนากตายท้องกลมไปในระหว่างที่ผัวไม่อยู่เพราะถูกเกณฑ์ทหาร เมื่อผัวกลับมาไม่รู้ว่าเมียตายแล้ว เลยยังอยู่กินกับเมีย (และลูก) ที่เป็นผีอีกพักใหญ่ จนตอนหลังเกิดความแตก ผัวจึงหนีกระเซอะกระเซิงไป ผีนางนากก็ออกติดตามหาผัว วีนแตกอาละวาดไปทั่ว ก่อนจะถูกปราบได้ในที่สุด
จึงมีมิตรสหายบางท่านตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องนางนากพระโขนงดังที่สรุปมานี้ หรือแท้จริงแล้วอาจเป็น “ปฏิกิริยา” ที่สังคมไทยแสดงความไม่พอใจกับระบบการเกณฑ์ทหารแบบใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ชายต้องออกจากบ้านไปเป็นเวลานานแรมปี เพราะในระบบไพร่แต่เดิม ไพร่ชายจะมีเวลาที่ไม่อยู่บ้านเพียงชั่วระยะเดือนเดียวที่ต้องไปทำงานให้เจ้านายหรือรับใช้งานโยธาของหลวง สลับกับการกลับมาอยู่บ้านอีกหนึ่งเดือน เป็นอย่างนี้ทั้งปี เรียกว่าการ “เข้าเวร” แบบ “เข้าเดือนออกเดือน” ดังนั้น สามีของนากจึงย่อมไม่มีทางจะจากบ้านไปนานจนไม่รู้เรื่องว่าเมียตายท้องกลม
ปัญหาเรื่องนี้คงติดตามมาถึงเมื่อคราวคุณนนทรีย์ นิมิบุตร สร้างภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” อันโด่งดังเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ว่าจะต้องหาอะไรให้ผัวของแม่นากไปทำดีถึงจะได้ห่างบ้านไปนานๆ ขนาดไม่รู้เรื่องเมียตาย คุณนนทรีย์จึงให้เขาถูกเกณฑ์ไปรบในศึกเชียงตุง อันเป็นสงครามครั้งสุดท้ายกับพม่า สมัยรัชกาลที่ 4
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะสงครามครั้งไหน ผัวจะเป็นไพร่หรือเป็นทหารเกณฑ์ แต่ความรับรู้ที่สังคมมีต่อตำนานเรื่องนี้ก็ส่งผลให้ศาลแม่นากในวัดมหาบุศย์ (ซึ่งปัจจุบันไม่ได้อยู่ในเขตพระโขนงแล้ว แต่อยู่ในเขตสวนหลวง และเรียกกันว่า “ศาลย่านาก”) ขึ้นชื่อในฐานะสถานที่สำหรับบนบานศาลกล่าวให้ไม่ “ติดทหาร” โดยเฉพาะ คือไปบนบานขอให้จับได้ “ใบดำ” ไม่ต้องเป็นทหารเกณฑ์ คนที่ไปบนได้ยินว่ามีทั้งผู้ชายซึ่งจะต้องเข้าคัดเลือกทหารกองเกณฑ์ กับบรรดาสาวๆ และหนุ่มๆ ที่เป็นคนรัก
ว่ากันว่านางนากชิงชังรังเกียจเรื่องนี้มาตั้งแต่กรณีผัวของเธอแล้ว จึงเห็นใจและไม่ต้องการให้ใครไปข้องแวะกับทหารอีกเลยตลอดกาล
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี