วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
ภาพจาก Anne Na Nongkhai
ถือเป็นงานที่รวมนักเขียนชั้นเทพระดับศิลปินแห่งชาติมากที่สุดแห่งปีก็ว่าได้
แค่ไล่เรียงรายชื่อวิทยากรโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ “ลายลักษณ์วรรณศิลป์” รุ่นที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๓ มิถุยายน ๒๕๖๐ ที่หออัครศิลปิน คลอง ๕ ปทุมธานี ก็กินพื้นที่หลายบรรทัด
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กฤษณา อโศกสิน อัศศิริ ธรรมโชติ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ สถาพร ศรีสัจจัง มาลา คำจันทร์ อดุล จันทรศักดิ์ ว.วินิจฉัยกุล ชมัยภร บางคมบาง ไพฑูรย์ ธัญญา ไพวรินทร์ ขาวงาม ธีรภาพ โลหิตกุล ฯลฯ
และข้าพเจ้า-วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ซึ่งไม่ใช่ศิลปินแห่งชาติ แต่ได้รับการสถาปนาจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มาในจดหมายเชิญให้เป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณศิลป์” มาเป็นผู้ช่วยพี่ธีรภาพในฐานสารคดี
ภาพโดย Anne Na Nongkhai
ผู้เข้าร่วมโครงการมีทั้งนักเรียนนักศึกษาจากหลายจังหวัด และประชาชนทั่วไปรวม ๕๐ กว่าคน
การสอนนักเขียนมือใหม่มักเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่องหลักการวีธีการเบื้องต้น ซึ่งผมกับพี่ธีรภาพได้รับโจทย์ให้ไขความกระจ่าง ๕ ข้อ
- ความแตกต่างของสารคดีกับวรรณกรรมอื่น
- การเริ่มต้นเขียน
- การเลือกหัวข้อ
- การหาข้อมูล
- กลวิธีการเขียนและการนำเสนอ
ข้อแรกตอบง่ายเพราะช่วงก่อนหน้าอาจารย์ธัญญา (ไพทูรย์ ธัญญา) ได้พูดถึงลักษณะของเรื่องแต่ง หรือ fiction ไปแล้วว่า อาจมาจากเรื่องที่เราสร้างขึ้น หรือเรื่องที่เราได้สัมผัสพบเห็นจริงก็ได้ แต่เอามาบิด ตัด เติมต่อ ให้เกิดความสนุกปลุกเร้า และบอกเล่าแก่นความคิดที่เราต้องการจะสื่อ ส่วนการตั้งชื่อเรื่อง อาจารย์ให้เคล็ดลับข้อหนึ่งว่า ลองใช้หลัก ๓ พยางค์ อาทิ ก่อกองทราย ปูนปิดทอง คนกับเสือ เป็นต้น
หากจะแยกความแตกต่างระหว่างสารคดีกับวรรณกรรมกลุ่มเรื่องแต่ง ก็เพียงแต่เติม non หน้าคำนิยาม fiction เท่านั้น
สารคดี = non fiction – เรื่องไม่แต่ง
อย่าแต่งเติม บิดเบือนเนื้อหา หรือแม้แต่ถ้อยคำสนทนาของตัวละคร (แหล่งข้อมูล)
ความต่างเดียวของสารคดีกับวรรณกรรมกลุ่มเรื่องแต่งอยู่ตรงนี้เท่านั้น ส่วนในแง่ของการสร้างสรรค์รูปแบบวิธีการเล่าเรื่อง งานสารคดีก็ทำได้อย่างเสรีและหลากหลายไม่ต่างจากนิยายหรือเรื่องสั้น
ส่วนข้อที่เหลือก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจไขความกระจ่างกันในกลุ่มย่อยแบบล้อมวงคุยกัน โดยมีกระดานดำ (ความจริงเป็นไวทบอร์ด) เป็นศูนย์กลาง
กับหัวใจอีกห้องของงานสารคดีคือ ข้อมูล ซึ่งมือใหม่ควรจะรู้ว่าได้แก่…
- ข้อมูลแห้ง ที่เราสามารถเสาะหาสืบค้นเอาได้จากที่มีผู้ทำไว้แล้ว
- ข้อมูลสัมผัส ได้จากการที่เราต้องลงพื้นที่ไปสัมผัสคลุกคลี ใช้ชีวิตร่วม ซึมซับนำกลับมาถ่ายทอด
- ข้อมูลสัมภาษณ์ ที่ต้องถาม สอบทานจากสันทัดกรณี ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าของเรื่องเจ้าของถิ่น ที่เป็นผู้รู้จริงในเรื่องนั้น ๆ
ได้กองข้อมูลแล้วก็มาสังเคราะห์ ประมวลความ ออกแบบวิธีการเล่า ถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียนสารคดี ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องฝึกซ้ำ ๆ และอาศัยกัลยาณมิตรช่วยอ่านอย่างใส่ใจ ให้คำชี้แนะ เพื่อการพัฒนาต่อ
นักเขียนไม่ใช่จะสร้างกันได้ในชั่วข้ามคืน หรือ ๓-๔ วัน ต้องฝึกฝนกันยาวนานเป็นเดือนเป็นปี
แต่การที่นักเขียนใหม่มีโอกาสได้เข้าใกล้ ได้สดับคมความคิดนักเขียนรุ่นใหญ่ระดับศิลปินแห่งชาติ ย่อมจุดประกาย-ให้แรงบันดาลใจในการก้าวเดินไปบนเส้นทางสายนี้ ด้วยความมั่นใจว่า มีใครให้นึกถึงและพึ่งได้เมื่อเจออุปสรรคปัญหาด้านการเขียน
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา