แลไปรอบบ้าน
บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว
สุเจน กรรพฤทธิ์
ข่าวการฆาตกรรมในขบวนรถไฟฟ้าที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน (Oregon) สหรัฐอเมริกาช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2017 ทำให้ผมหวนคิดถึงเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดเมืองหนึ่งของสหรัฐฯ ท่ามกลางกระแส “ขวาครองโลก” ยุคปัจจุบัน
หลายคนอาจไม่ทราบว่า พอร์ตแลนด์คือ “ฐาน” ของ “เสรีนิยม” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ อเมริกา และโอเรกอนก็คือฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต
Oregonian หนังสือพิมพ์ของมลรัฐโอเรกอนเล่าว่า เหตุที่ว่านั้นเกิดบนระบบรถไฟฟ้า Trimed ของเมืองพอร์ตแลนด์เมื่อนายเจเรมี โจเซฟ (Jeremy Joseph) คุกคามสตรี 2 คน (คนหนึ่งเป็นมุสลิม) โดยตะโกนขับไล่ให้กลับไปตะวันออกกลาง จากนั้นพลเมืองดี 2 คน คือ ริค เบสต์ (Rick Best) ทหารผ่านศึก และ ทาลีซิน ไมยิดดิน นามคาย เมเช (Taliesin Myrddin Namkai Meche) ที่เพิ่งเรียนจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหมาดๆ ตัดสินใจเข้าไปคุยให้เจเรมีสงบลง
พนักงานขับรถไฟฟ้าที่ทราบเหตุ ยังพยายามช่วยยุติสถานการณ์ด้วยประกาศผ่านลำโพงให้คนก่อเรื่องลงจากรถไปเสีย ปรากฏว่าจังหวะนั้นเจเรมีใช้มีดปาดคอทั้งสองคนและมีพลเมืองดีอีกคนหนึ่งที่เข้าไปช่วยได้รับบาดเจ็บ
เรื่องน่าเศร้าคือ ริค เบสต์ เสียชีวิตทันที ส่วนนามคาย-เมเช ยังไม่ตาย
เรเชล ผู้เห็นเหตุการณ์และนำมาเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังบอกว่าเธอเอาผ้าซับเลือดที่คอเมเช เมเชบอกเธอว่าไม่ไหวแล้วคงตายแน่ และประโยคสุดท้ายก่อนสิ้นใจคือ ‘Tell everyone on this train I love them’ (บอกทุกคนในรถไฟฟ้าขบวนนี้ว่าผมรักพวกเขา)
ภายหลัง ชาวเมืองจึงพบว่าเจเรมี ผู้ก่อคดีฆาตกรรมนั้นเป็นพวกเหยียดศาสนาสุดขั้ว หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัว ไม่นานเขาก็ถูกศาล แถมยังไปตะโกนในศาลว่า “คุณเรียกมันว่าก่อการร้าย แต่ผมเรียกการรักชาติ” แสดงอาการไม่สึกสำนึกผิดในการก่อคดีฆาตกรรมถึงสองรายซ้อน
แรกๆ ผมค่อนข้างตกใจ ที่เกิดเรื่องนี้ในพอร์ตแลนด์ “เมืองจักรยาน” ดินแดนของ “ฮิปเตอร์” ที่มีสิ่งแวดล้อมดีเป็นอันดับต้นของอเมริกา แต่ต่อมาก็ตระหนักได้ว่า ความรับรู้นั้น เกิดจากภาพจำผิวเผินที่นิตยสารโลกสวยบางเล่มพยายามสร้างขึ้นโดยไม่ทำงานเชิงลึก
เพราะความจริงคือ ประวัติศาสตร์ของโอเรกอน หนึ่งในมลรัฐกลุ่ม Pacific-Northwest ที่พอร์ตแลนด์ตั้งอยู่นี้ ไม่ใช่“ทุ่งลาเวนเดอร์” อย่างที่นักขี่จักรยาน ฮิปเตอร์เมืองไทยจำนวนมากเข้าใจ
พอร์ตแลนด์ตั้งอยู่บนภูมิภาคแห่งการ “ต่อสู้ทางการเมือง ” มานานแล้ว
แปซิฟิกนอร์ธเวสต์ ถูกคนขาวบุกเบิกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ผ่านยุคการ “สำรวจ” “ตื่นทอง” ผู้คนอพยพมาจากชายฝั่งตะวันออก (แปซิฟิก) เพื่อไขว่คว้าหาดินแดนใหม่ที่อาจให้โอกาสมากกว่า แรงงานจีน ญี่ปุ่น อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากทางตะวันตก ในช่วงที่เมืองสำคัญบนชายแปซิฟิกของสหรัฐฯ เพิ่งก่อตั้ง ไม่ว่าพอร์ตแลนด์ โอเรกอน ซีแอตเติล โดยเฉพาะแรงงานผิวดำ ที่คนขาวอเมริกันเรียกอย่างดูถูกว่า “นิโกร” อันเป็นพลเมืองชั้นสองของสหรัฐฯ ในยุคนั้น (บางทีอาจในยุคนี้ด้วย)
คนหลากหลายกลุ่มนี้เอง ที่ต่อสู้และกลายเป็นพลังของการเมืองระดับชาติอเมริกันมานับแต่นั้น
ในพอร์ตแลนด์ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เราเห็นการต่อสู้ของแรงงานกรรมกรจีน ญี่ปุ่น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นท่ามกลางการเหยียดผิวที่เข้มข้นไม่แพ้ที่กลุ่มคนผิวดำโดน
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เราเห็นโรงงานในพอร์ตแลนด์เป็นกำลังสำคัญในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งไปช่วยทหารอเมริกันในสมรภูมิยุโรปและเอเชีย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราเห็นการต่อสู้ของชาวเมืองนี้ผ่านการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา
พวกเขายังต่อต้านสงครามเวียดนามในทศวรรษที่ 1970 ไม่นับการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำที่ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
หนึ่งในผลผลิตของการต่อสู้เหล่านั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “เมืองจักรยาน” ที่ฮิปสเตอร์ไทยปลื้มหนักหนา (แต่ไม่ยอมเอาไปปรับใช้ในบ้านเกิดตัวเอง) เพราะวันนี้ พอร์ตแลนด์ที่มีประชากรน้อยกว่าเชียงใหม่ มีระบบขนส่งขนาดใหญ่หลายระบบ มีทางจักรยานมาตรฐาน ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมากกว่าการสร้างทางด่วน มีพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องการต่อสู้ของคนผิวดำ มีการให้ความรู้เรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกันของคนทุกชนชั้นตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ
ความ “ฮิป” หรือความ “คูล” เหล่านี้ เกิดจากขบวนการของ “ฮิปสเตอร์ผู้รักประชาธิปไตย” ทั้งสิ้น
พอร์ตแลนด์ ไม่ได้เกิดมาแล้ว “ฮิป” ทันที
การชื่นชมเมืองพอร์ตแลนด์ที่มีสีเขียว ชื่นชมทางจักรยาน ชื่นชมวิถีฮิปๆ ของพอร์ตแลนด์แต่ไม่ตระหนักถึงเรื่องราวเหล่านี้จึงผิดพลาดอย่างมหันต์
หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนพอร์ตแลนด์ยังเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาเดินขบวนใหญ่ประท้วงผลการเลือกตั้ง (คะแนนรวมโดนัลด์ ทรัมป์น้อยกว่าฮิลลารี คลินตัน แต่ทรัมป์ชนะคะแนนในรัฐที่มี “คณะผู้เลือกตั้ง” ที่ชี้ขาดการเป็นประธานาธิบดีมากแห่งกว่า)
นั่นหมายถึงคนพอร์ตแลนด์ที่เชื่อเรื่องความหลากหลาย ประกาศว่าพวกเขาต่อต้านนโยบายกีดกันศาสนาและแบ่งแยกสีผิวของทรัมป์ที่ประกาศหาเสียงอย่างเต็มที่ ปฏิบัติการของ “กลุ่มสุดขั้ว” เป็นแค่ “บททดสอบบทใหม่” ของเมืองนี้เท่านั้น
ชาวพอร์ตแลนด์จะทำเหมือนกับที่เคยทำมาในอดีต
ต่อสู้ตามวิถีประชาธิปไตย กระจายข้อมูลที่ถูกต้อง ประท้วง เปลี่ยนเมือง สังคมและประเทศด้วยหีบบัตรเลือกตั้ง ที่สำคัญคือเปลี่ยนแปลงด้วยความรัก (บางครั้งจ่ายด้วยชีวิต) เหมือนที่ ริค เบสต์ และเมเช ทำให้เห็น
เพราะฮิปเตอร์พอร์ตแลนด์นอกจากรัก “สิ่งแวดล้อม” ยังรัก “ประชาธิปไตย” และพร้อมปกป้อง “สิทธิมนุษยชน” อย่างไม่ลังเล