วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

pratice01

ภาพโดย จักริน ติวเถาว์

ค่ายบ่มเพาะวรรณกรรม ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ ๔ แล้ว เปิดให้เยาวชนที่มีฝีมือใน ๔ ประเภทงานเขียน เรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย สารคดี สมัครเข้ารับการอบรมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

ในกิจกรรมย่อยตอน “สร้างสรรค์งานเขียนเพื่อการท่องเที่ยว” คราวนี้ สัญจรไปที่จังหวัดกระบี่ ผมจึงได้รับชวนให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันในฐานะนักเขียนในพื้นที่ เป็นวิทยากรประจำกลุ่มสารคดี

มีเรื่องบังเอิญที่น่าแปลกใจและน่าดีใจ–นักเขียนใหม่ในกลุ่มสารคดี ๕ ใน ๗ คน เราเคยเจอกันมาก่อนแล้ว

เป็นเรื่องน่าดีใจว่าสิ่งทีเคยเรียนรู้ร่วมกันมาไม่สูญเปล่า หากแต่พวกเขายังได้ใช้เป็นฐานในการต่อยอดความรู้ พัฒนาฝีมือการเขียนของตนต่อมา

กับเป็นข้อยืนยันว่า สิ่งที่เราได้หล่อหลอมกล่อมเกลากันมาจากค่ายก่อนๆ โดยเฉพาะ “ค่ายสารคดี” ย่อมมีส่วนไม่มากก็น้อย ในการปลูกสร้างฝีมือให้เขาไปสอบเข้าสนามอื่นต่อได้

ค่ายบ่มเพาะวรรณกรรม สัญจรมากระบี่เพื่อสัมผัสพื้นที่ เก็บข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจ

งานเขียนในกลุ่มเรื่องแต่งนั้น ข้อมูลพื้นที่อาจไม่ใช่ภาคบังคับที่ต้องเก็บเกี่ยวอย่างเคร่งครัด

แต่กับงานสารคดีนั้น ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญถึงขั้นเปรียบว่าเป็นหัวใจห้องหนึ่งเลยทีดียว

pratice02

ภาพโดย จักริน ติวเถาว์

ระหว่างลงพื้นที่ด้วยกันตามจุดแหล่งท่องเที่ยวอันดามัน เขาขนาบน้ำ ธารโบกขรณี ท่าปอมคลองสองน้ำ ถ้ำผีหัวโต อ่าวนาง หาดนพรัตน์ธารา หาดไร่เล-ถ้ำพระนาง เกาะปอดะ เกาะไก่ ทะเลแหวก ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน ผมได้เห็นเรื่องชื่นใจอย่างหนึ่ง

นักเขียนใหม่กลุ่มสารคดีเป็นกลุ่มเดียวของค่าย ที่ยังใช้สมุดบันทึกคอยจดนั่นนี่อยู่ตลอดการเกินทาง

โลกจะก้าวหน้าไปอย่างในในเรื่องระบบการบันทึก จะมีจอสารพัดให้จิ้มปลายนิ้ว แต่สมุดโน้ตยังเป็นเครื่องมือดั้งเดิมที่จดง่าย หายยาก และค้นคล่องที่สุดอยู่ดี

การทำหน้าที่วิทยากรกลุ่มสารคดีในคราวนี้ งานของผมค่อนข้างเบามือ ก็อย่างที่เล่าแล้ว สมาชิกในกลุ่มเกือบทั้งหมดเคยเรียนด้วยกันมาก่อนแล้ว

และว่าตามจริง ศาสตร์การเขียนสารคดี สอนกันได้แค่ขั้นพื้นฐานเท่านั้น

pratice03 pratice04

ผมพูดกับนักเขียนใหม่บ่อยๆ ว่า หากบันไดสู่การเป็นนักเขียนสารคดีมืออาชีพมี ๑๐ ขั้น ที่ครูจะสอนได้ก็คงแค่ ๓-๔ ขั้นแรก ที่เหลือนอกนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องไปต่อเอง ครูช่วยได้แค่คอยประคับประคอง อ่านงาน ให้คำแนะนำ และเป็นกำลังใจ

จะว่าไปงานเขียนกับการปฏิบัติธรรมก็มีส่วนค้ายกันในแง่นี้ จะอ่านหรือฟังครูบาอาจารย์มามากเท่าใด จะเข้าถึงและ “เป็น” ได้ก็เมื่อได้ลงมือทำ

พอเริ่มเป็นแล้วก็พอรู้ว่าจะไปต่ออย่างไร

แต่ระหว่างทำไปบางทีก็มีคำถาม และต้องการความมั่นใจ

การได้กลับไปพบกลุ่มมิตรสหาย หรือได้กลับไปคารวะครูบาอาจารย์บ้าง ก็ย่อมทำให้เราเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง

สมาชิกกลุ่มสารคดีหลายคนที่ได้มาเจอกันซ้ำหน้าในงานบ่มเพาะวรรณกรรม ครั้งที่ ๔ ก็คงมีความหมายและได้ประโยชน์ในแง่นี้

ไม่ใช่แต่นักเรียนที่จะได้จากครู หากแต่ครูก็ย่อมได้รับพลังของความสดใสวัยเยาว์จากการได้มาเดินทางร่วมกันด้วย

หลังเก็บข้อมูลประจำวัน มีช่วงเวลาให้พบกลุ่มปรึกษาครู กลุ่มสารคดีคุยกันเรื่องหัวข้อประเด็นที่จะเขียน ทบทวนข้อมูล และจัดวางโครงเรื่อง ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เข้าใจ “สูตร” การปรุงงานสารคดีกันดีอยู่แล้ว ครูเพียงแต่ช่วยตบแต่ง ยุยงส่งเสริมเท่านั้น

กลับจากลงพื้นที่กระบี่ มีเวลา ๑ เดือนให้นักเขียนแต่ละคนไปอยู่ในโลกของตัวเอง เพื่อเขียนงานออกมาให้ได้ ๑ ชิ้น

ก่อนกลับมาพบกันใหม่ พร้อมถือต้นฉบับอันสง่ามาอ่านกันด้วย


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา