อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


รศ. ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ ไพฑูรย์ ธัญญา อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาพ : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

“กระบวนการทำให้เป็นดิจิตอลในวงการหนังสือก่อให้เกิดความตระหนก นักอ่านบ้านเราแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ พวกอนุรักษ์กับหัวก้าวหน้า พวกหัวก้าวหน้าคือเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดและพฤติกรรมไม่เหมือนกับพวกอนุรักษ์ พวกเราที่นั่งตรงนี้เป็นพวกติดหนังสือ โตมากับวัฒนธรรมการอ่าน เราอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ จึงมีความวิตกว่าหนังสือแบบอ่านบนจอจะทำให้คนไม่อ่านหนังสือ

“ผมคิดว่าเราต้องมองให้ดี มีตัวอย่างอยู่พอสมควร ในต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกาและอังกฤษ การเกิดขึ้นของหนังสือดิจิตอลที่เริ่มเป็นกระแสหลักมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๒ ก็มีความวิตกเหมือนบ้านเรา มีกลุ่มผู้อ่านหนังสือดิจิตอล ไม่อ่านหนังสือกระดาษ

“การอ่านดิจิตอลยังสามารถอ่านจากสมาร์ตโฟน แทบแลต ไอแพด หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ได้

“จากที่มีการสำรวจกันในต่างประเทศ เขามองแบบนักมวยเลยนะ Digital Reading VS Paper Reading หรือ การอ่านหนังสือดิจิตอล VS การอ่านหนังสือกระดาษ

“ทุกวันนี้ในอเมริกามีการอ่านหลายรูปแบบ มันดำรงอยู่แล้วทั้งการอ่านหนังสือกระดาษ อีบุ๊ค อีเปเปอร์ หมายถึงกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ที่มันดาวน์โหลดได้ ผมเองก็ดาวน์โหลดมาอ่าน เป็นไฟล์ PDF จากการสำรวจคนอเมริกัน พบว่าเมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๑ มีคนอ่านอีบุ๊ค ๑๖ เปอร์เซ็นต์ ค.ศ.๒๐๑๒ เพิ่มขึ้นเป็น ๒๓ เปอร์เซ็นต์ และ ค.ศ.๒๐๑๓ เพิ่มขึ้นเป็น ๒๘ เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่าแนวโน้มมันสูงขึ้น และมีสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างน้อย ๕ สำนักพิมพ์ผลิตหนังสืออีบุ๊คแล้วส่งเข้าสู่ระบบห้องสมุด มีการยืมกันในห้องสมุดมากขึ้น”

“ในอังกฤษ มีการสำรวจ พบว่าพฤติกรรมการอ่านของเด็กตั้งแต่อายุ ๘ ขวบถึง ๑๖ ปี เมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๒ อ่านจากดิจิตอลมากกว่าหนังสือกระดาษถึง ๙๗ เปอร์เซ็นต์ เข้าถึงการอ่านผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แทบแลต สมาร์ตโฟน ส่วนใหญ่อ่านที่บ้าน หมายความว่าที่โรงเรียนเขายังอ่านหนังสือกระดาษ แต่อยู่บ้านมีอิสระ เด็กกลุ่มนี้ประมาณ ๖๘ เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเขาอ่านที่บ้านจากระบบดิจิตอล ๕๒ เปอร์เซ็นต์บอกว่าชอบอ่านบนหน้าจอมากกว่าบนกระดาษ สัดส่วนของเด็กที่อ่านอีบุ๊คเพิ่มจาก ๒๕ เปอร์เซ็นต์เป็น ๔๖ เปอร์เซ็นต์เพียง ๒ ปีเท่านั้น คือ ค.ศ.๒๐๑๐-๒๐๑๒

“มีนักวิชาการคนหนึ่งบอกว่าระบบดิจิตอลทำให้เด็กอ่านหนังสือ และการอ่านจากดิจิตอลได้รับการสนับสนุนจากเทคโนโลยีสื่อสาร ก็คือคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกันมันก็จะทำให้คอมพิวเตอร์พัฒนามากขึ้น แม้จะมีคนบอกว่าอ่านจากดิจิตอลทำให้ปวดตา แต่เชื่อผมเถอะต่อไปจะมีจอ LCD ที่ทำให้ไม่ปวดตา มันต้องพัฒนาไปถึงขั้นนั้น ทำไมจะทำไม่ได้ล่ะพวกนักประดิษฐ์เขาทำได้อยู่แล้ว นี่คือในปรากฏการณ์ระดับสากล เราต้องยอมรับว่า การอ่านมันก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าเมื่อก่อนเรานั่งรถไฟฉึกฉักๆ แต่ทุกวันนี้เรามานั่งรถไฟความเร็วสูง ถ้าเปรียบกับการอ่านหนังสือ พาหนะมันเปลี่ยนไป แต่การอ่านยังอยู่ใช่มั๊ย ยังอยู่”

หมายเหตุ 1 : เก็บตกจากลงพื้นที่ เสวนา “ปรากฏการณ์ความพ่ายแพ้ของสื่อสิ่งพิมพ์ ? ความท้าทายต่อวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทย” โดยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙
หมายเหตุ 2 : การอ้างคำพูดของ รศ. ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ ในงานเขียนชิ้นนี้ มีการปรับทอนและสลับใจความบางส่วน
หมายเหตุ 3 : อ่านบทความหัวข้อเดียวกัน ตอนที่ 1 ได้ที่ https://www.sarakadee.com/1dddemo/2017/05/09/paper-vs-digital/