putscienceพุธ-ไซแอนซ์

ติดปีกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกวันพุธ เพราะเทพเจ้าประจำดาวพุธคือ Mercury บุรุษเทพแห่งการสื่อสารที่ไปได้เร็วเท่าความคิด


สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

ภาพ : 123rf.com

สำหรับมะเร็งตอนที่ 2 นี้ ผมยังขออนุญาตินำแนวคิดของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นายแพทย์ผู้ทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ซึ่งกลายมาเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค) จากหนังสือชื่อ “เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง” ซึ่งท่านเขียนบันทึกไว้ก่อนท่านจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง มานำเสนอให้

ในบทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ คุณหมอสงวนได้สรุปคำแนะนำที่ดีมากๆ ด้วย “บัญญัติ 10 ประการของนักสู้มะเร็ง”

1. เมื่อแรกรู้ต้องตั้งหลักให้มีสติ คิดและปรึกษาหารือหาทางรักษาโดยเร็ว

2. เชื่อในทางบวก ไม่ฝังใจกับสถิติว่ามะเร็งหมายถึงตาย

3. รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสม ทั้งแผนปัจจุบันและทางเลือกอื่นๆ และปรับใช้อย่างเหมาะสม

4. เป็นเจ้าของไข้ร่วมกับแพทย์ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเพื่อที่จะปฏิบัติตัวและร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา

5. เปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ ปรับเปลี่ยนอาหารการกินและจัดกิจวัตรประจำวันใหม่

6. ฝึกตัวเองให้อดทน เพราะต้องเผชิญกับการรักษาพยาบาล และผลข้างเคียงต่างๆ เป็นระยะเวลานาน

7. เข้าใจความสำคัญของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และรักษาสุขภาวะทางจิตวิญญาณให้ดีเพราะมีผลกระทบถึงสุขภาพกายอย่างมาก

8. ดูแลใจ ปล่อยวาง รวมทั้งอภัยให้กับเรื่องราวต่างๆ และทุกคน

9. ช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยควรหาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น อาจจะเป็นในรูปแบบอาสาสมัคร หรือกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ

10. มีมรณานุสติ เตรียมใจและจัดการเรื่องต่างๆ เพื่อที่จะจากไปอย่างมีสติ

จากประสบการณ์ที่คุณแม่ของผมต้องป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อกลับมามองย้อนกลับไป ผมคิดว่าคำแนะนำของคุณหมอมีประโยชน์อย่างมาก แม้ถึงที่สุดแล้วผู้ป่วยอาจไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤตไปได้ก็ตาม

ที่สำคัญ คำแนะนำทั้งสิบข้อ ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ญาติหรือผู้ใกล้ชิดของผู้ป่วยทำความเข้าใจ และเห็นไปในทางเดียวกันร่วมกับผู้ป่วยด้วย เพราะนับจากนี้การต่อสู้กับโรคร้าย มักไม่ได้เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยเผชิญเพียงลำพัง แต่จะมี “เสียง” และคำแนะนำมากมายจากญาติๆ เพื่อน หรือคนใกล้ชิด ที่นำเข้ามาให้ผู้ป่วยต้องตัดสินใจ และมักสร้างความ “สับสน” ได้อยู่เสมอๆ

จากจุดเริ่มต้นที่พบว่าป่วยด้วยโรคมะเร็ง คำแนะนำข้อแรกและข้อสอง ที่คุณหมอสงวนแนะนำ จึงสำคัญมากๆ

คือ ตั้งสติ และอย่าเพิ่งเสียกำลังใจว่าต้องตายแน่

โดยเฉพาะขอทวนสิ่งที่ได้เขียนไปในตอนที่แล้ว ว่าคำถามที่ว่าจะชีวิตอยู่อีกเท่าไร เป็นสถิติที่อาจไม่ช่วยอะไรเลยกับการเผชิญหน้ากับมะเร็ง

ประเด็นสำคัญต่อไปคือจะรักษาด้วยวิธีไหน ? จึงเป็นคำถามที่สร้างความกังวลให้ผู้ป่วยทุกคน

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ก่อนจะเข้าสู่การรักษา หลายคนอาจไม่มั่นใจและสงสัย ซึ่งเราอาจตั้งคำถามอีกสักครั้ง คือ ที่หมอบอกว่า เราเป็นมะเร็ง มันจริงไหม หรือควรจะรักษาด้วยวิธีไหนกันแน่ ?

เพราะโอกาสที่จะเกิดการวินิจฉัยผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ! และเคยเกิดขึ้นแล้ว

คำแนะนำซึ่งคุณหมอสงวนแนะนำ ซึ่งถือเป็นสิทธิของผู้ป่วย คือ เราอาจไปตรวจและหาความเห็นจากหมอในโรงพยาบาลอื่นอีกแห่ง เพื่อความมั่นใจ

ข้อเสียคือ มันอาจเสียเวลามากขึ้นก่อนจะได้รับการรักษา และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

หรือบางคนอาจตัดสินใจเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาล เพราะเกิดไม่ถูกชะตาหน้าหมอที่จะรักษา หรือจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นสิทธิที่เราเลือกได้ เพราะถ้าผู้ป่วยไม่ชอบหมอแต่แรก ก็จะส่งผลต่อความมั่นใจ และกำลังใจในการต่อสู้กับโรค ที่ต้องใช้เวลาอยู่กับหมอและโรงพยาบาลกันพอสมควร

…………

ทั้งนี้เช่นเดิม เนื่องจากผมไม่ใช่หมอ จึงต้องขอจบว่าที่เขียนมาทั้งหมดถือเป็นความเห็นให้พิจารณาอีกทางหนึ่งเท่านั้น การตัดสินใจจะทำอะไรนั้น ผู้ป่วยควรตั้งสติ หาความรู้ และตัดสินใจด้วยตนเอง

ผมจะพยายามรวบรวมประเด็นที่น่าสนใจและความรู้ที่เกี่ยวข้องมาย่อยให้อ่านในหลายๆ แง่มุมของโรคมะเร็งและการรักษาในตอนต่อๆ ไป

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยทุกคนครับ

ติดตาม พุธ-ไซแอนซ์ ทุกวันพุธ


dumสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ :

บก. ดำ ผู้ชอบจับแพะมาชนกับแกะ จับแมวโยนไปให้ถึงดวงดาว เพราะหลงเชื่อว่าจักรวาลนี้ไม่มีอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกัน