ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ตามปกติของการให้สินบน “ผู้น้อย” ย่อมต้อง “หาข่าว” เสียก่อนว่า “ผู้ใหญ่” ที่จะไปพบไปขอความช่วยเหลือนั้น มีรสนิยมด้านไหนเช่นไร เช่น สะสมเครื่องลายคราม ชอบเลี้ยงนกเขา หลงใหลรถโบราณ Vintage Cars หรืออะไรกันแน่ จะได้สามารถหา “ของต้องใจ” ไปนำเสนอแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนต้องการได้อย่างถูกต้อง
ในศาลหลายแห่งเราคงเคยเห็นการแก้บนด้วยไก่ปูนระบายสี หากท่านผู้นั้นเคยมีประวัติการว่าโปรดปรานการชนไก่ แต่ที่วัดดอนยายหอม นครปฐม กลับเป็นเวทีของ “เป็ด”
ตำนานพื้นบ้านเรื่องสำคัญของเมืองนครปฐม คือ “พญากงพญาพาน” ว่าด้วยเรื่องพญาพานผู้เป็นลูกกระทำปิตุฆาตฆ่าพระยากง โดยไม่รู้ว่าเป็นพ่อ แล้วเกือบจะปล้ำแม่ตัวเอง แถมยังแค้นเคืองยายหอมที่อุปการะเลี้ยงดูมาแต่เล็กว่าปิดบังไม่บอกความจริง เลยฆ่ายายหอมตายไปอีกคน สุดท้ายจึงต้องไปไถ่บาปด้วยการสร้างเจดีย์สูงเท่า “นกเขาเหิน” ซึ่งก็คือพระปฐมเจดีย์
ในตำนานเรื่องนี้ให้รายละเอียดว่ายายหอมมีอาชีพเลี้ยงเป็ด ดังนั้นของที่เอามาถวายแก้บนที่ศาลยายหอมในวัดดอนยายหอม ส่วนใหญ่จึงเป็นตุ๊กตาเป็ด มีทั้งเป็นปูน เป็นกระเบื้อง เป็นพลาสติก ที่น่ารักน่าเอ็นดูก็มีมาก แต่บางตัวก็ดูแล้ว…เอิ่มๆ พิกล รวมถึงศาลยายหอมในที่อื่นๆ ของนครปฐม เช่นที่วัดพระประโทณ ก็จะพบฝูงเป็ดแก้บนยายหอมด้วยเช่นกัน
ไม่ห่างไกลกันนัก ณ พระราชวังสนามจันทร์ในตัวเมืองนครปฐม มีอนุสาวรีย์ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงของในหลวงรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เรื่องราวความผูกพันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อย่าเหลเป็นที่รับรู้กันแพร่หลาย พระราชนิพนธ์แสดงความอาลัยรักในสุนัขทรงเลี้ยงบทที่ขึ้นต้นว่า
“อนุสาวรีย์นี้เตือนจิตร์ ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย
โอ้อาไลยใจจู่อยู่ไม่วาย กูเจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา
ยากที่ใครเขาจะเห็นหัวอกกู เพราะเขาดูเพื่อนเห็นแต่เป็นหมา…”
ก็ยังเป็นที่จดจำกันมาจนปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อมีพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ประทับบนพระเก้าอี้สนามในฉลองพระองค์ชุดเสือป่า ที่สร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เพื่อประดิษฐานประจำพระราชวังสนามจันทร์ สิ่งของที่คนนิยมนำมาถวายพระองค์จึงหนีไม่พ้นตุ๊กตา “น้องหมา” สารพัดพันธุ์ ที่นำมาถวายให้เป็นสุนัขทรงเลี้ยงบ้าง
ส่วนหน้าที่ทำการกระทรวงมหาดไทยในกรุงเทพฯ มีพระอนุสาวรีย์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก ทำเป็นพระรูปในพระอิริบาบถประทับนั่งบนเก้าอี้ พระหัตถ์กุมไม้เท้า และคงเป็นด้วยเหตุนั้น “ของถวาย” ที่คนนำมาถวายมากจนต้องสร้างกระบะหรือตะกร้าไว้ให้ใส่ จึงเป็น “ไม้เท้า”
ซึ่งตามหลักฐานแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงโปรดไม้เท้าไม้ถือจริงๆ ดังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ชุด “ของชอบ-ของไม่ชอบ” อยู่ ซึ่งในกลุ่มของที่ทรงโปรด ก็มีกล้องถ่ายรูป หนังสือ ไม้เท้า และที่ชานพักบันไดในพระตำหนักของพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ ก็ยังมีรางแขวนไม้เท้าที่เป็นของสะสมส่วนพระองค์เข้าแถวให้เห็นอยู่
ดังนั้นในกรณีนี้จะไป “ตู่” หาความว่าคนที่มาแก้บนด้วยไม้เท้านั้น “มั่ว” ก็คงไม่ได้…
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี