อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


การลงพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับงานสารคดี อีกด้านหนึ่งการลงพื้นที่น่าจะเป็นหนึ่งในขั้นตอนหรือกระบวนการทำสารคดีที่สนุกสนานที่สุด

นิตยสารสารคดีร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมค่ายสารคดีต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๓ รับสมัครเยาวชนอายุระหว่าง ๑๘-๒๕ ปี คัดเลือกเหลือ ๕๐ คน แบ่งเป็นนักเขียนและช่างภาพอย่างละ ๒๕ คน มาจับคู่เรียนรู้การทำสารคดี ทุกๆ ปีบันไดขั้นแรกของค่ายนี้คือการ “ลงพื้นที่” ย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ ชนิดคลุกอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เช้าจดเย็น

ที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ถูกคัดสรรสำหรับลงพื้นที่ เช่น ตลาดน้ำคลองลัดมะยม เกาะเกร็ด ตลาดน้อย คลองบางหลวง ย่านบางรัก ฯลฯ แต่ละพื้นที่ล้วนมีเอกลักษณ์ หนักแน่นในเนื้อหา จนเป็นที่มาของผลงานสารคดีมากกว่า ๑๐๐ ชิ้น และปีนี้ ทีมงานสารคดีเลือกชุมชนหัวตะเข้ ชุมชนเล็กๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง หากเปรียบกับค่ายครั้งที่ผ่านมา

ชื่อ “หัวตะเข้” ดูเป็นคำเชยๆ โบราณๆ หรือล้าหลังแบบบ้านทุ่ง ความจริงแล้วหัวตะเข้ตั้งอยู่ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ไม่ได้อยู่ต่างจังหวัดแต่อย่างใด หัวตะเข้ตั้งอยู่ตรงจุดบรรจบของคลองสามสาย คือ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองลำปลาทิว และคลองหัวตะเข้ ทางด้านตะวันออกของมหานครแห่งนี้

นิตยสารสารคดีร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมค่ายสารคดีต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๓

ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม หรือชุมชนหัวตะเข้ พื้นที่เก็บข้อมูล เรียนรู้ สร้างสรรค์งานชิ้นแรก ประจำค่ายสารคดี ครั้งที่ ๑๓

ว่าวใบไม้และเด็กๆ ในชุมชน สถานที่ในภาพคือโรงเรียนศึกษาพัฒนา

ณรงค์ ดวงภาค วิทยากรประจำฐานเรียนรู้ “หมอนวดตาบอด”

ก่อนลงพื้นที่ เป็นธรรมดาที่ทีมงานจะต้องลงพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อแนะนำตัวกับผู้นำชุมชน ทำความรู้จักกับผู้คน ตลอดจนจัดเตรียม “ฐานเรียนรู้” สำหรับเด็กค่าย จากทั้งหมด ๕๐ คน จับคู่กันแล้วแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะต้องเข้าฐานเรียนรู้กลุ่มละ ๔-๕ ฐาน เบ็ดเสร็จแล้วจึงมีประมาณ ๑๕ ฐานที่ทีมงานร่วมกับทีมวิทยากรท้องถิ่นจัดเตรียมไว้

เมื่อถึงวันลงพื้นที่ เรานัดหมายกันที่โรงเรียนศึกษาพัฒนาที่ตั้งอยู่กลางชุมชน อำภา บุญยเกตุ หรือป้าอ้อย วิทยากรท้องถิ่นคนสำคัญเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งมาลงพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้ เตรียมเก็บข้อมูลนำไปออกอากาศ เมื่อพิธีกรและทีมงานเดินทางมาถึงก็แยกย้ายกันออกสำรวจ สักพักก็กลับมาบอกคนในชุมชนว่า เดินดูจนตาเจ็บแล้วยังไม่เห็นเจออะไร

คนฟังได้แต่ยิ้มเจื่อนๆ มองหน้ากัน

อาจเป็นเพราะมุมมองที่แตกต่าง สายตาที่มองหากันคนละมุม จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งมองไม่เห็นอะไรในชุมชนหัวตะเข้ ขณะที่ทีมงานสารคดีเตรียมปล่อยเด็กๆ ออกไปผจญภัยในโลกใบใหม่ของพวกเขา ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ ถ่ายภาพ ทำความรู้จักผู้คน ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา ความเป็นไปในชุมชนให้มากที่สุดเท่าที่เวลามี เพื่อสร้างสรรค์ผลงานสารคดีชิ้นแรก

หลังจากลงพื้นที่วันนั้น หลายคนกลับมาลงพื้นที่ซ้ำอีกครั้งเพื่อผลิตงานชิ้นที่ดีที่สุดออกมา เมื่อถึงกำหนดส่ง เราก็ได้พบงานสารคดีที่มีความหลากหลาย แม้บางคู่ที่อยู่กลุ่มเดียวกันจะตัดสินใจทำเรื่องเดียวกัน แต่แง่มุมที่นำเสนอทั้งเรื่องและภาพก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทั้งหมด

สายตาคนทำสารคดี สิ่งนี้เองทำให้เราผลิตงานที่มาจากการมองเห็นความเป็นไปที่ซ่อนอยู่

สายตาของคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ชนิดว่านอกจากใช้ดวงตามองแล้วยังต้องใช้หัวใจสัมผัสรับความรู้สึก

สายตาคนทำสารคดีชื่อ “เด็กค่ายสารคดีรุ่นที่ ๑๓” ผลงานของพวกเขากำลังจะปรากฏต่อสายตาสาธารณชนในอีกไม่นานนับจากนี้

หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่ ค่ายสารคดี ครั้งที่ ๑๓ ลงพื้นที่หัวตะเข้ ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๐