ติดปีกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกวันพุธ เพราะเทพเจ้าประจำดาวพุธคือ Mercury บุรุษเทพแห่งการสื่อสารที่ไปได้เร็วเท่าความคิด
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ในงานศิลปะ สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ในธรรมชาติ รูปทรง – Form กับ หน้าที่ – Function ทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ออก
ทำไมเส้นเฉียงให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวมากกว่าเส้นตั้งฉากที่ให้ความรู้สึกมั่นคง
ทำไมสัตว์บินได้ส่วนใหญ่ถึงต้องมีโครงสร้างคล้ายปีก
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เซลล์มะเร็งจะถูกอธิบายว่าคือเซลล์ที่มี DNA หรือสารพันธุกรรมผิดปรกติ ทำให้มันแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและบ้าคลั่งจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย และในที่สุดก็ทำให้อวัยวะนั้นตาย ไม่ทำงานตามหน้าที่
ในมุมมองแบบนี้ เซลล์มะเร็งจึงเป็นไอ้ตัวร้ายแต่กำเนิด คือไม่มีอะไรจะไปเปลี่ยนแปลงมันได้ ดังนั้นวิธีเดียวที่จะกำจัดมันก็คือ ใช้ดาบฟันฉับ สาดกระสุนรังสี หรือปล่อยสารพิษเข้าไปฆ่าล้างผลาญมันให้หมดสิ้น คงไม่ต่างจากที่หลายคนรู้สึกกับฆาตกรฆ่าข่มขืนที่อยากให้ประหารทิ้งสถานเดียว
และนี่ก็เป็นวิธีรักษามะเร็งตามแบบแผนหลักที่ทำกันมาและยังทำกันอยู่
ลึกลงไป คือความเชื่อที่ตั้งอยู่บนฐานว่า DNA หรือสารพันธุกรรม เป็นคำสั่งสูงสุดที่กำหนดทุกสิ่งอย่าง ถ้าเกิดคำสั่งเพี้ยนเสียแล้ว ทุกอย่างก็เพี้ยนตาม (จะไปแก้คำสั่งก็ไม่ได้ เพราะไม่มี ม.44 นั่นเอง 555)
แต่นักวิทยาศาสตร์หญิงนาม Mina Bissell ไม่เชื่อเช่นนั้น
คำถามที่เธอตั้งข้อสงสัยก็คือ ทำไมในเมื่อทุกเซลล์ในร่างกายก็มี DNA เหมือนกันทุกเซลล์ (ซึ่งมีเป็นล้านล้านเซลล์)แล้วอะไรทำให้เซลล์ตรงนั้นกลายเป็นจมูก เซลล์ตรงนั้นกลายเป็นเท้า มันต้องมีอะไรที่กำกับเซลล์ให้ทำหน้าที่ต่างกัน
สำหรับเธอแล้ว DNA ในเซลล์ จึงไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง แต่น่าจะมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกัน
องค์ประกอบหนึ่งที่แต่ก่อนทุกคนมองว่าเป็นเพียงส่วนรอบนอกของเซลล์ที่ทำให้เซลล์คงรูปร่างของมันได้ เปรียบเสมือนผนังบ้านอันเงียบเฉย มีชื่อเรียกว่า ECM (extracellular matrix – เป็นชื่อที่งงงวยมากครับ อย่าไปสนใจมาก )
แต่มินาเสนอความคิดใหม่ว่า ผนังบ้านนี้พูดได้ และสั่งคนในบ้านได้ด้วยว่าควรจะคิดยังไง ควรทำตัวแบบไหน
เปรียบเทียบก็คงเหมือนบ้านเล็กๆ อบอุ่น กับบ้านเศรษฐีใหญ่โตอ้างว้างนั้น ให้อารมณ์กับคนอยู่อาศัยต่างกัน
แล้วถ้าบ้านไม่มีผนัง ไร้ระเบียบรกรุงรังแบบเพิงที่คนบ้าอยู่ ถ้าคนดีๆ ไปอยู่ วันหนึ่งก็อาจจะบ้าตามไปด้วย
เมื่อ Form ดี ทำให้ Function ดีด้วย ถ้าเสีย Form ก็เสีย Function
ดังนั้นเราอาจคิดได้ว่าที่ Function ผิดปรกติ เพราะมันผิด Form เราก็หาทางคืน Form ให้มัน Function ก็จะกลับมา
และผลการทดลองของเธอกับทีมงานก็เป็นจริงตามปรัชญานี้ครับ
เซลล์ต่อมน้ำนมเล็กๆ (ของหนู) ที่กลายเป็นเซลล์มะเร็งเต้านมผิดรูปผิดร่างนั้น เมื่อถูกห่อหุ้มใหม่ด้วย ECM ที่ปรกติ ปรากฏว่ามันกลับใจเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเซลล์ปรกติทันที ไม่เกี่ยงว่า DNA ภายในจะเพี้ยนหรือไม่เพี้ยน
การทดลองของเธอยังบอกด้วยว่า พฤติกรรมของเซลล์ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ ถ้าเราแยกเซลล์ออกจากเนื้อเยื่อมาไว้ในจานเพาะเลี้ยง เซลล์จะลืมหน้าที่ที่มันเคยทำในเนื้อเยื่อนั้น แม้แต่โครงสร้างรูปร่างก็อาจผิดเพี้ยน
หมายความว่า สิ่งแวดล้อมที่มันอยู่ มีอิทธิพลต่อชีวิตและพฤติกรรมของตัวมันเอง และนี่ก็เป็นจริงกับเซลล์มะเร็งด้วย
เขียนถึงตรงนี้อาจฟังคล้ายปัญหาคลาสสิก คือ คนจะเป็นอย่างไร อยู่ที่พันธุกรรมติดตัว หรือสิ่งแวดล้อม หรือทั้งสองอย่าง
มินาย้ำว่า Form และ Function ส่งผลกระทบสะท้อนกลับต่อกันและกัน และแปรเปลี่ยนเคลื่อนไหวตลอดเวลา
เป็นคู่ตรงข้ามที่ต้องดำรงอยู่ด้วยกัน เหมือนคู่หยินหยางในปรัชญาเต๋า – นึกภาพวงกลมขาวดำแบบนั้นเลย
ปรัชญาหยุดมะเร็งของมินา จึงเป็นการคืนบ้านอันอบอุ่นให้กับคนบ้าและคนร้าย ไม่ต้องจับใครไปประหาร
นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาและหาวิธีการรักษามะเร็งตามหลักปรัชญานี้อยู่ครับ