ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


เราคงคุ้นตากันกับขวดน้ำอัดลมสีแดงที่ตั้งเรียงแถวกันหน้าศาลบางแห่ง เปิดฝา เสียบหลอดดูดพร้อม (แถมด้วยฝูงผึ้งที่บินหวู่หวี่อยู่รอบๆ จนทำให้นึกสงสัยว่า น้ำผึ้งที่รังของเจ้าพวกนี้คงมีรสเป็นน้ำแดงเป็นแน่) แต่…ทำไมต้องเป็นน้ำแดง ?

คลับคล้ายว่าเริ่มเห็นน้ำแดงถวายไว้ตามหิ้งกุมารทองในร้านอาหารมาก่อน คงเพราะคิดว่ากุมารทองเป็น “ผีเด็ก” ย่อมต้องชอบกินน้ำหวาน เลยถวายน้ำแดง เพราะเป็นสีมงคลของคนจีนอยู่แล้ว (แต่ก็เคยเห็นบางร้านตั้งน้ำเขียวถวายกุมารทองก็มี อาจเป็นรสนิยมเฉพาะตัวของกุมารทองที่นั่น ?)

ไปยังไงมายังไงก็ไม่ทราบได้ ต่อมาคติการถวายน้ำแดงก็แพร่กระจายไปทั่ว ว่าน้ำแดงมีคุณสมบัติสามารถเอามาเป็นของถวายเทพได้ด้วย ตามหน้าศาลเจ้าที่ (ศาลตายาย) ศาลพระภูมิ และศาลพระพรหมหลายต่อหลายแห่งจึงเห็นมีขวดน้ำแดงตั้งเรียงแถวกันเป็นโหลๆ

ว่าที่จริง สีแดงก็ผูกพันกับศาลเจ้าในเมืองไทยมานานแล้ว หนังสือเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ชื่อ “วชิรญาณวิเศษ” ปีที่ 16 เล่ม 3 เดือนมกราคม ร.ศ. 109 (ตรงกับ มกราคม 2434 ตามปฏิทินปัจจุบัน) มีข้อความพรรณนาของแก้บนที่เห็นอยู่ตามหน้าศาลไว้ ว่ามี

“ตุ๊กตาพิมพ์อย่างหนึ่ง สี่ตัวหรือห้าตัวรวมที่เดียวเรียกกันว่าลครยก 1 รูปช้างรูปม้ารูปเสือซึ่งทำด้วยดินหรือกระดาษ 1 รูปตุ๊กตาต่าง ๆ นั่งหรือยืน 1 สิ่งของเหล่านี้สงเคราะห์เข้าในหมู่ตุ๊กตาทั้งสิ้น ผ้าสีชมภูหรือสีแดงผืนน้อย ๆ ห้อยน่าศาล 1 รวมสิ่งของสี่ห้าอย่าง มักพอใจจะเอามาถวายเจ้าเปนของแก้สินบนชุมกว่าสิ่งของอย่างอื่น ด้วยราคานั้นไม่สู้จะแพงนัก”
นั่นคือตามธรรมเนียมเก่า แก้บนนอกจาก “ละครยก” กับตุ๊กตาช้างม้าแล้ว ยังต้องมีผ้าสีแดงหรือสีชมพูห้อยไว้หน้าศาลด้วย ถ้าคิดในแง่นี้ก็จะหาตัวอย่างได้อีกว่าสีแดงยังผูกโยงกับมิติเรื่องพิธีกรรมเรื่องชีวิตมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เช่นตามหลุมฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง นักโบราณคดีขุดค้นพบว่า มีประเพณีการนำเอาผงดินเทศ (แร่เฮมาไทต์ Hematite) สีแดงเลือด โรยไว้บนศพขณะทำพิธีฝังด้วย

กลับมาที่น้ำแดงอีกที พระพุทธรูปบางองค์ คนก็นิยมไปแก้บนกันด้วยน้ำอัดลมสีแดง เช่น “หลวงพ่อปากแดง” วัดพราหมณี อำเภอเมือง นครนายก ซึ่งมีการแต่งแต้มพระโอษฐ์ (ปาก) ของท่านให้เป็นสีแดงมาแต่เดิม ตามคตินิยมโบราณสายหนึ่งที่ชอบระบายสีพระพุทธรูปให้มีพระศก (ผม) ดำ พระโอษฐ์แดง และจีวรสีตามผ้าจีวรจริง เหมือนที่ยังทำกันอยู่จนเดี๋ยวนี้ในเมืองพม่า

มีจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 2 รวมไว้ในหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าถึงคณะสงฆ์ที่เป็นสมณทูตไทยเดินทางไปลังกา โดยแวะพักกลางทางในอินเดียใต้ก่อนข้ามไปยังเกาะลังกา เมื่อผ่านไปทางเมืองนาคปัฏฏิณัม ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมพุทธศาสนาที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของอินเดีย หลวงพ่อท่านไปพบพระพุทธรูปโบราณล้มหน้าคว่ำจมดินอยู่ จึงช่วยกันจับตั้งขึ้นประดิษฐานใหม่ แล้วปรนนิบัติบูชาพระพุทธรูปองค์นั้นด้วยการ “ตักน้ำมาชำระรดขัดสี บางองค์ก็เปลื้องอังสะห่มบูชา บางองค์เอาร่มไปกั้น ให้คฤหัสถ์เอาทองไปปิด เอาชาดแต้มพระโอษฐ์”

คือทั้งสรงน้ำพระ ถวายจีวร ถวายฉัตร (แทนด้วยร่ม) ปิดทอง และเอาสีแดงมาแต้มที่ปาก แต่เนื่องจากธรรมเนียมนิยมแบบนี้ห่างหายไปจากวัฒนธรรมไทยนานแล้ว คนไทยปัจจุบันเห็นว่าแปลกดี เลยเอาลักษณะ “ปากแดง” มาเรียกเป็นพระนามของท่านเสียเลย

และคงด้วยเหตุนั้น เมื่อเห็นหลวงพ่อปากแดง (เหมือนเด็กๆ ที่ไปกินน้ำแดงมา) คนเลยคิดเหมาเอาว่า ท่านคงชอบฉันน้ำแดง ในวิหารจึงเต็มไปด้วยน้ำอัดลมสีแดงที่ยกมาตั้งเป็นลังๆ ชนิดที่ไม่กลัวหลวงพ่อจะเป็นเบาหวานกันเลยทีเดียว…


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี