หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดี ดีเด่น
พรไพลิน จิระอดุลยวงศ์-เขียน
ณัฏฐา รัตนโกสินทร์-ภาพ
“ชำนาญกว่า มีมาก่อน” สีพ่นจางๆ ของตัวอักษรบนเครื่องจักรที่ดูคร่ำครึ แทนหลากหลายความรู้สึก…ที่ไม่มีเสียง
ขณะที่ฉันกำลังหมุนตัวหาพื้นที่เหมาะเจาะ เสียงเท้าสัมผัสกับพื้นไม้ลั่นเอี๊ยดอ๊าด เตือนให้รู้ว่าเรากำลังอยู่ที่โรงกลึง “ไพบูลย์การช่าง” แถวเรือนไม้ริมคลองประเวศบุรีรมย์
………………………………………………………………………………………………
“รถไฟ ทั้งนาน ทั้งช้า จะไปยังไงน่ะหัวตะเข้”
“โหพี่ไปแล้วจะชอบ ผมอยู่มาตั้ง 6 ปี นั่นน่ะถิ่นผม พี่ไปสิ” เสียงยืนยันหนักแน่นของณัฐนนท์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำให้ฉันใคร่รู้แม้ใจจะค้านด้วยความไกลของระยะทาง
“ผมชอบความเงียบ อยู่ที่นั่นแล้วเหมือนเวลาหยุดเดิน”
เขาไม่ได้เกิดที่นี่ ทางผ่านเหมือนเป็นข้อจำกัดกำหนดชีวิต ณัฐนนท์มักเดินทางด้วยจักรยานจากแขวงทับยาวที่พักอยู่เพื่อไปเรียนที่ลาดกระบัง การผ่านของเขานำไปสู่การทำงานที่ร้านกาแฟกับคนรู้จัก กินนอน จนเรียกได้ว่าสนิทกับหัวตะเข้ กลับกลายเป็นความผูกพันในพื้นที่
ชุมชนหัวตะเข้ตั้งอยู่ริมคลองประเวศบุรีรมย์ คลองขุดสายหลักที่ใหญ่และยาวที่สุดของเขตลาดกระบัง เดิมเป็นท่าส่งของเพื่อการติดต่อค้าขายสินค้าทางน้ำ เป็นเส้นทางเรือฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครเชื่อมระหว่างแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตรงบริเวณจุดตัดของคลองอีกสองสาย คือคลองหัวตะเข้และคลองลำปลาทิว มีชื่อเรียกว่าชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม ซึ่งชาวบ้านก็ยังคงเรียกรวมๆ ง่ายๆ ว่าหัวตะเข้ เนื่องจากระหว่างที่ขุดคลองมีการขุดค้นพบหัวจระเข้ใหญ่อยู่กลางสี่แยก และชาวบ้านสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นจระเข้ศักดิ์สิทธิ์จึงได้นำหัวจระเข้ขึ้นมาบูชา คนสมัยก่อนจะเรียกจระเข้ว่าตะเข้ จึงใช้คำว่า “หัวตะเข้” เป็นชื่อชุมชนนี้มาโดยตลอด
………………………………………………………………………………………………
“ครืด ครืด ครืด” เสียงหมุนของเครื่องจักรยังคงดังอยู่ ขับไล่ความเมื่อยขบจากการเดินทาง
พี่ตี๋ หรือ สุภชัย พจนะไพบูลย์ ชายหนุ่มร่างเล็ก ส่งรอยยิ้มทางแววตาเล็กตี่ ท่าทางกระฉับกระเฉงของเขา ถ่ายทอดความรู้อย่างผู้ที่ชำนาญ สมกับเป็นลูกชายผู้สืบทอดกิจการ
พ่อเล็ก หรือ “เตี่ย” ผู้ริเริ่มโรงกลึง “ไพบูลย์การช่าง” รับซ่อมอุปกรณ์การเกษตรแทบทุกอย่าง แม้แต่รถไถนาก็เคยรับซ่อมมาแล้ว อุปกรณ์ที่วางกองระเกะระกะหลากหลายขนาดในพื้นที่เรือนแถวไม้เล็กๆ ขนาดหนึ่งห้องมีทั้งท่อสูบน้ำ ใบพัด แผ่นสังกะสี ไม้แผ่นวัสดุช่างอื่นๆ หรือแม้กระทั่งเศษเหล็ก คราบสนิมผนังไม้ยังถูกแปะด้วยกระดาน บ้างเขียนด้วยชอล์กสีขาว มีตัวเลขที่คงจะมีแต่ช่างเท่านั้นที่จะเข้าใจ เป็นโรงงานขนาดเล็กที่มีอุปกรณ์ไม่มากมาย แต่ครบครันพอที่จะทำงานได้เองโดยไม่ต้องมีลูกมือ
เขาค่อยๆ รีดแผ่นเหล็ก ดึง ยก ยืด ประคองเพื่อม้วนจนเป็นท่อกลม ทุกอย่างดูง่ายดาย
“ก่อนพ่อเสียก็ตั้งใจว่าจะเป็นร้านค้า จะได้ไม่เหนื่อย”
เขาพูดเมื่อเห็นว่าฉันกำลังสนใจป้ายไม้เก่าๆ ที่มีข้อความ “ไพบูลย์พาณิชย์” ดั่งอีกหนึ่งอวัยวะของที่นี่ พอๆ กับเครื่องจักร นั่นคือความตั้งใจสืบทอด และความหวังของโรงกลึงแห่งนี้
ประกายไฟสว่างวาบจากเครื่องมือเชื่อม ทำให้เขาต้องหลบหลังหน้ากากสี่เหลี่ยมที่เจาะช่องไว้พอให้มองผ่าน เพื่อป้องกันเปลวไฟกระเด็นมาสัมผัสโดยตรง
เสียงเครื่องกลึงดัง “กึ่ง กึ่ง กึ่ง” กลบเสียงจอแจในชุมชนเรือนไม้ เขายังคงหยิบจับท่อเหล็กวางลงไปติดตั้งและเริ่มทำการกลึงอย่างใจเย็น ไม่น่ามีอะไรที่เขาซ่อมไม่ได้
นอกเหนือจากอาชีพหลัก เขายังมีอาชีพช่างภาพเป็นงานเสริม ไม่รู้ว่าเขารักใน “เสียงชัตเตอร์” หรือ “แสงไฟวาบๆ จากแฟลช” แต่ที่รู้งานช่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญสำหรับเขา
ชำนาญกว่า มีมาก่อน… มีมาก่อน ชำนาญกว่า
………………………………………………………………………………………………
“ทำไมพูดเรื่องหัวตะเข้ได้เป็นเรื่องเป็นราว”
ฉันหยิบดินสอเคาะกับกระดาษ ไม่ได้จดอะไร สิ่งที่ณัฐนนท์พูดก็คงเป็นเรื่องราวที่คงหาได้ทั่วๆ ไปจากอินเทอร์เน็ต
“มีบ้านที่ถูกไฟไหม้ เดินไปดูได้เลย หัวตะเข้ไฟไหม้ใหญ่ตั้งสองครั้ง”
………………………………………………………………………………………………
ฉันเดินออกมาจากโรงกลึงเมื่อสิ้นเสียงเครื่องจักร หัวตะเข้กลับมาเงียบอีกครั้ง ที่นี่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว เว้นแต่คนที่นิยมมาเดินชมเสน่ห์ของบ้านเก่าๆ
เรือนแถวไม้ที่นี่แม้มีชั้นเดียวแต่ยังมีชั้นลอย นิยมเจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ไว้ด้านบนให้คนในบ้านมองลงมาจากชั้นลอยได้ เพื่อสอดส่องตรวจตราหน้าร้านหน้าบ้านตนและเพื่อนบ้าน เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่แสดงถึงความรอบคอบและเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมชุมชน
เมื่อเดินเลี้ยวเข้าไปตามทางเดินเล็กๆ ก็พบกองซากไม้ไหม้เป็นตอตะโก บ้านที่ถูกถอดไม้ ทิ้งร้างข้างในเห็นร่องรอยไฟไหม้อยู่เป็นส่วนๆ
รอยคราบของประวัติศาสตร์ที่ฉันคิดว่ามีในอินเทอร์เน็ต ไม่เดินมาเห็นกับตาจะไปรู้อะไร
ริมคลองประเวศบุรีรมย์ ลำคลองที่เดิมเป็นเส้นทางค้าขาย หรือแม้แต่ไว้ส่งสินค้า สมัยก่อนคงจะคึกคักพลุกพล่าน ลำคลองนำความเจริญครั้งยิ่งใหญ่มาสู่หัวตะเข้ แต่ในขณะนี้ดูเงียบเหงา ฉันเดินเรื่อยๆ ตามลำคลอง เมื่อข้ามสะพานปูนไปอีกฝั่งคลองก็พบความเคลื่อนไหวที่ซ่อนอยู่ในร้านเล็กๆ อย่างพิถีพิถัน
“กอบกิจเจริญ” โรงนึ่งปลาทูหนึ่งเดียวในหัวตะเข้และในย่านลาดกระบังแห่งนี้ กลิ่นคาวของปลาทูกระทบจมูกของฉันอย่างจัง พื้นภายในมีคราบน้ำ ระหว่างเดินก็คอยพะวงว่าจะลื่นอยู่บ้าง ชั้นล่างเป็นปูนในขณะที่ด้านบนเป็นพื้นไม้ ภายในโรงนึ่งกว้างขวางแต่ก็เต็มไปด้วยเข่งใบใหญ่และโต๊ะต่างๆ เป็นครั้งแรกที่ได้มาเห็นกรรมวิธีนึ่งปลาทูกับตาตัวเอง
“เขาก็บอกว่านึ่ง แต่ปัจจุบันเขาต้มกันหมดแล้ว”
คำบอกเล่าแรกที่ชวนฉงนสนเท่ห์ให้ฉันหาคำตอบ
พี่กมล-กมล เทียนแสงอุทัย กับภรรยา พี่อ้อม สองสามีภรรยาคนไทยเชื้อสายจีนผิวขาวยืนยิ้มต้อนรับ พูดจายิ้มแย้ม ใจดี ดูมุ่งมั่นในวิถีทางของคนปลาทู
กิจการปลาทูนี้สืบทอดมาเป็นรุ่นที่ 2 จากคุณพ่อประกอบ ตั้งแต่ 40 กว่าปีที่แล้วพื้นดินแห่งนี้ยังเป็นลานจอดรถและไม่มีอาคารพาณิชย์เลย แต่ก่อนแถวนี้ยังเป็นพื้นที่ป่า จะไปรับปลาต้องขับรถออกไปรับ สมัยก่อนปลามาแบบแช่น้ำแข็ง แต่เดี๋ยวนี้เขาก็ฟรีซมาในตู้แช่กันหมดแล้ว และปลาทูตอนนั้นก็เจริญมากส่งเข้าห้างใหญ่ได้ทีละเกือบ 2,000 เข่ง เขาเล่าถึงความรุ่งเรืองในครั้งนั้นที่พอทันได้เห็นอย่างภูมิใจ ตอนนี้เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน มีลูกน้อง 10 กว่าคน ทำแบบพอเพียง “ถ้ารสชาติดีก็ไม่ต้องไปแข่งกับใคร”
ฉันเดินตามเข้าไปจากส่วนที่เป็นหน้าร้าน ด้านหลังเหมือนเป็นพื้นที่ทำงาน มีน้ำท่วมขังอยู่เต็มพื้นไปหมด ตู้แช่ใหญ่หลายตู้ อ่างน้ำใบใหญ่ๆ พี่กมลค่อยๆ สาธิตวิธีการทำปลาทูที่ไม่เคยให้ใครเห็นมาก่อน พนักงานสองสามคนช่วยกันนำปลาออกมาใส่ลงในถังที่มีน้ำสะอาด เอามือกวนให้ปลาสัมผัสน้ำ
ไม่มีใครบอกได้ดีเท่าสัมผัสที่ผ่านความชำนาญ ใช้ความคุ้นเคยให้ปลาคลายตัว พอนุ่มก็ยกปลาขึ้นจากถังลงมาวางที่พื้น จับลำตัวให้สามารถอ้าเหงือกเพื่อควักไส้ได้ ไส้ที่ออกมายังนำไปทำแกงไตปลา หรือแม้แต่เป็นอาหารปลา อย่างปลาดุก ปลานิล ทับทิม
ปลาของที่ร้านเป็นปลาที่คัดคุณภาพอย่างดี ใช้ปลาทูอินเดีย ชื่อเหล่านี้จะเรียกตามน่านน้ำที่จับได้ ขนาด รสชาติ ก็จะไม่เหมือนกัน ปลาที่สดผิวจะเลื่อม ขาวๆ เขียวๆ สะท้อนแสงเงา ซึ่งพี่กมลรับปลามาจากสมุทรสาครและปากน้ำ เขายังให้ความรู้ต่อไปว่าปลาทูจะมีอยู่สองประเภท คือ “ปลาอวนดำ” ที่จะจับในทะเลแบบใช้เรดาร์ ปลาจะมีคุณภาพสูง ตัวเลื่อม เงา กับ “ปลาอวนลอย” ปลาทูที่ว่ายเหนือผิวน้ำ โดนแดดตลอด ท้องบาง แตกง่าย จะมีราคาถูกกว่า ซึ่งที่ร้านก็มักจะใช้ปลาอวนดำ เรียกว่าพิถีพิถันกันตั้งแต่วัตถุดิบปลาที่ผ่านการแกะไส้ก่อนนำไปดอง กรรมวิธีที่ดูง่ายๆ พนักงานจะช่วยกันนำปลาลงไปในถังดองที่ผสมน้ำเกลือ ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที แต่นั่นแหละเคล็ดลับสำคัญ ความอร่อยอยู่ที่สัดส่วนของเกลือ ซึ่งเขาบอกเองว่าเป็นสูตรลับ จะต้องกะเวลาให้ดี ปลาทูจะได้ไม่เค็มเกินไป
เสียงปลาขึ้นลงจากถังน้ำ สู่ถังนู้นไปถังนี้ กลิ่นคาวปลาทำให้รู้สึกประหนึ่งอยู่ริมทะเล ฉันเดินไปตามทางลื่นๆ ปลาทูถูกนำมาแยกคัดขนาดบนโต๊ะสเตนเลสใหญ่ ขณะที่ปลาทูถูกนำมาเรียงลงเข่ง ได้ยินเสียงโหมไฟดังจากการเป่าลมของเตานึ่งปลาทู ซึ่งต้องจัดเตรียมให้ทันกับเวลา โดยต้มน้ำเกลือที่ผสมสัดส่วนไว้แล้ว และคอยตักตะกอนเกลือออกจนเดือด ให้ทันกับปลาที่กำลังจะนำมาต้ม
“เดี๋ยวนี้เขาไม่นึ่งกันแล้ว เขานำมาต้มแบบนี้ทั้งนั้น นึ่งใช้เวลานานและไม่นิยมทำกัน” แต่ก็ยังเรียกปลาทูนึ่ง ซึ่งให้รสอร่อยไม่น้อยหน้ากัน
“ปลาทูในเข่งมีทั้งแบบขนาดเล็กเรียง 3 ตัว ขนาดกลางถึงใหญ่เรียง 2 ตัวต่อเข่ง เข่งละ 25 บาท จะเรียงปลาไขว้หัวกัน ส่วนราคา 30 บาทจะเรียงหันหน้าชนกัน ราคานี้สมัยก่อน เล็กสุดราคาเพียงเข่งละ 8 บาทเท่านั้น สมัยรุ่นคุณพ่อราคา 3-5 บาท ก่อนต้มปลาจะถูกนำไปล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง เรียงปลาลงตะกร้า สลับสับหว่างอย่างชำนาญ น้ำเดือดยกลงต้ม เวลาที่ต้มก็สำคัญ ปลาใหญ่จะสุกช้า เมื่อสุกตาปลาจะเป็นสีขาว ผิวปลาพองเป็นตุ่มๆ”
เพียงเวลา 5 นาที ปลาทูต้มสดใหม่ก็พร้อมที่จะเข็นไปขาย หรือรอให้เย็นแล้วแพ็กส่ง คู่แข่งที่เยอะขึ้นแต่ปลาทู “กอบกิจเจริญ” ก็อยู่มานาน นานพอที่มั่นใจได้เลยว่าดี จากลูกค้าประจำ ลูกค้าในตลาด หรือแม้แต่คนกันเองที่ปันใจไปร้านอื่น แต่ก็ยังคงกลับมาซื้อปลาทูที่นี่เพราะคุณภาพและความอร่อย
ตั้งแต่ 3 ทุ่มจนถึง 7 โมงเช้า กระบวนการเหล่านี้จะถูกผลิตซ้ำๆ เรียกได้ว่าทำงานกันยามค่ำคืนแข่งกับเวลาอย่างไม่มีวันพักผ่อน แต่เคลื่อนไปอย่างพิถีพิถัน เห็นได้ถึงความใส่ใจและความมุ่งมั่นของเจ้าของ
สำหรับความชำนาญที่มีมาก่อน…หรือเพราะสืบทอดจนอยู่ได้ยาวนาน
เสียงเด็กๆ ดูคึกคัก ฉันเดินวนกลับไปเพื่อเสพความเงียบของริมคลองอีกครั้ง ที่นี่เวลาดูเดินช้า เพียงครึ่งวันเหมือนว่าได้หลุดไปยังโลกใบอื่น ฉันชักจะชอบความเงียบของที่นี่เข้าแล้ว
ได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วเรียก “ลุงว่าว” ทำให้พื้นที่หน้าร้านริมน้ำเวลานี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา วีระ แจ่มใส หรือลุงว่าวของเด็กๆ ผมและเครายาวสีดอกเลากับหมวกใบเก๋ ทำให้ลุงดูเป็นคนมีเอกลักษณ์พิเศษ
“ลุงไม่ใช่คนที่นี่หรอก แต่ก็อยากเข้ามาทำ เข้ามาสอนว่าวใบไม้ให้เด็กๆ ที่นี่” เวลาลุงคุยกับเด็กๆ ลุงติสต์ๆ ดูจะกลายเป็นชายชราธรรมดา คำพูดคำจาช้าๆ อย่างใจเย็น แววตาใจดี
ชายผมสีดอกเลาค่อยๆ หยิบใบชงโคขึ้นมา สอนขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การดูเส้นใบ รวมไปถึงการเตรียมใบไม้เพื่อทำว่าว ลุงว่าวกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ว่าวใบไม้ต้องรอถึง 4 เดือน เพื่อให้ “พร้อมที่จะเป็นว่าว พร้อมที่จะบิน”
ฉันนั่งดูชายชราหยิบจับสิ่งของต่างๆ อุปกรณ์ที่คัดแยกไว้ตามจำนวนเด็กๆ หรือแม้แต่ขั้นตอนการทำ หากจะให้สวยงามต้องตัดแต่งเป็นตัวแมลง ใบไม้ที่แห้งแล้วจะถูกนำมาทากาวเพื่อแปะหางว่าว เจาะรูใบเพื่อผูกกับซุง ร้อยเชือกและมัดเข้ากับซุงไม้ กรรมวิธีง่ายๆ แต่เด็กๆ จ้องมองด้วยแววตาสนใจ สายตาวิบวับเป็นประกาย ภูมิใจในผลงานของตัวเองที่ลอยขึ้นไปบนฟ้า
เมื่อมองผ่านสะพานในเวลานี้ ว่าวใบไม้ตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าสดดั่งหยดสีที่แต่งแต้มให้บรรยากาศริมน้ำที่มีความเงียบ เกิดเสียงเล็กๆ ของเด็กๆ เชื่อมโยงความรู้สึกของทุกคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน ผลงานชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือผลงานศิลปะอื่นๆ ของลุงถูกวางตั้งประดับไว้ เป็นแค่เพียงหนึ่งกิจกรรมศิลปะในชุมชนหัวตะเข้ ยังมีจิตอาสาเข้ามาถ่ายทอดศิลปะดีๆ แก่เด็กๆ อีกมาก ที่ทำให้เด็กๆ ที่นี่ตั้งตารอคอยกันในวันหยุด
ไม่ได้อยู่มานาน…ก็ถ่ายทอดความชำนาญได้
ฉันมองเห็นเมล็ดพันธุ์ของภูมิปัญญาที่ค่อยๆ งอกงามอยู่บนพื้นที่สองฝั่งคลองแห่งนี้ มันกำลังเจริญเติบโตอย่างมั่นคงเหมือนรากแก้ว ที่ทุกคนร่วมกันปลูก ร่วมกันลงดินใน “หัวตะเข้”
………………………………………………………………………………………………
“สรุปพี่จะไปทำอะไรที่หัวตะเข้” ณัฐนนท์ละสายตาจากการทำงานชั่วครู่ หันกลับมาถามฉัน
“ไปเขียนสารคดี…”
ชายหนุ่มร่างสูงดูเหมือนจะครุ่นคิดไปสักพัก
“ผมไม่ใช่คนที่นั่น แต่สำหรับหัวตะเข้ผมก็ไม่ใช่คนแปลกหน้า ผมไม่อยากให้ความเงียบแบบนี้หายไปนะ …ไปถึงพี่ก็อาจจะเจอผมก็ได้”
เกี่ยวกับคู่นักเขียน-ช่างภาพ ค่ายสารคดีครั้งที่ 13
นักเขียน-พรไพลิน จิระอดุลย์วงค์
นักเขียนสารคดีมือสมัครเล่น ที่มีความสนใจและอยากเผยแพร่มุมมองที่น่าสนใจของโลกกลมๆใบนี้ ด้วยปลายปากกาหมึกซึมที่เคยใช้เขียนแบบในงานวิชาชีพสถาปนิกที่ทำเป็นวิชาชีพ มีความเชื่อบ้าๆบอๆว่างานเขียนก็เหมือนแบบบ้านหลังหนึ่ง ต้องเริ่มจากไอเดียเล็กๆ ร่างขึ้นมาจากเส้นต่อเส้น ลงลึก เพื่อความสุขของผู้อยู่อาศัย งานเขียนดีๆสักชิ้นก็เช่นกัน
ช่างภาพ-ณัฏฐา รัตนโกสินทร์
บุคคล ผุ้เลือกที่จะเป็นผู้สร้างตัวตน มากกว่าที่จะเป็นผู้ค้นหาตัวตน, ใช้การถ่ายภาพ ให้เปรียบได้กับเครื่องมือทางศิลปะ ที่ใช้ถ่ายทอดความสะเทือนใจของทุก ๆ ความรู้สึกและทุกศาสตร์วิชา