หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดี ดีเด่น
สายพร-เขียน
วิลาวัลย์ ศรีเจริญ-ภาพ
ชายวัยชรากำลังก้าวข้ามสะพานผ่านเด็กที่กำลังเล่นว่าวใบไม้ในชุมชนเก่าแก่ขณะที่มีการเล่าขานกันว่าชุมชนกำลังจะถูกลืม (หัวตะเข้)
“ข้างนอกขายได้ดีกว่า แต่ที่ฉันกลับมาเพราะฉันอยากอยู่กับพี่น้อง กับเพื่อนบ้าน” ประโยคคำตอบธรรมดาจากชาวบ้าน ชี้ให้เห็นชัยชนะเล็กๆ ของชุมชนได้เป็นอย่างดี
กลิ่นความชื้นแผ่นไม้เก่า และคราบสนิมสีน้ำตาลที่เกาะหลังคาสังกะสี บ่งบอกอายุมากประสบการณ์ของเรือนริมน้ำสองฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์ เขตลาดกระบัง ชุมชนเล็กๆ บรรยากาศคลาสสิก ไร้การปรุงแต่งเติมสีฉูดฉาด อันเป็นแก่นแท้ชุมชนเก่ารอยคราบรากเหง้าความเจริญที่หลายชุมชนในลักษณะนี้ไม่สามารถรักษาไว้ได้
ภาพชุมชนโทรมๆ ตลาดพังๆ อาจไม่วิเศษอะไร แต่น่าค้นหาเหลือเกินตรงที่ล้อมรอบเดินออกไปไม่กี่ก้าวคือเมืองกรุงตึกสูง แสงสีศิวิไลซ์ นิคมอุตสาหกรรม และความเร่งรีบวุ่นวาย ภาพตัดกันราวฟ้ากับดิน แต่ทำไมจุดเล็กนิดเดียวตรงนี้ไม่ถูกกลืนกินให้เลือนหายไป
“สมัยก่อนมั่งคั่งมาก ต่อมาทรุดตัวลงเมื่อความเจริญเริ่มเข้ามา คนเริ่มออกไปข้างนอก อย่าว่าแต่คนเดิน แม้แต่สุนัขยังไม่เห็นเดินเลย” ประโยคบอกเล่าภาพความหลังจาก สุวัฒน์ พรหมมณีรัตน์ ประธานชุมชนหัวตะเข้ ชายวัยกลางคน ร่างผอมแต่ดูแข็งแรง อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านผู้หน่ายกับความล่าช้าในการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ตัดสินใจออกโรงปกป้องและฟื้นฟูไม่ให้หัวตะเข้กลายเป็นชุมชนร้างไร้ลมหายใจ
นายตี๋ ผู้สืบทอดกิจการโรงกลึงไพบูลย์การช่างต่อจากรุ่นพ่อ และเป็นโรงกลึงเพียงแห่งเดียวในชุมชนหัวตะเข้ที่ยังหลงเหลือให้คนรุ่นลูกหลานได้เห็นและเรียนรู้
โรงนึ่งปลาทูเป็นกิจการที่ทำรายได้หลักให้กับครอบครัวกิจเจริญมาอย่างช้านานมีเพียงแห่งเดียวที่ยังคงหลงเหลือและดำเนินกิจการอยู่ในชุมชนหัวตะเข้แห่งนี้
สัมผัสภาพเก่า ชุมชนหัวตะเข้เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญเมื่อครั้งนิยมสัญจรทางเรือ ครึกครื้นจอแจด้วยผู้คนทุกวัน ผู้คนส่วนใหญ่ทำมาหากินกับการค้าขายและการทำไม้ มีหลายชาติพันธุ์ หลายศาสนาอยู่รวมกัน เรียกได้ว่าร่ำรวยความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาก แต่แล้ววันหนึ่งหัวตะเข้ก็ล้มลงกะทันหันด้วยแรงบีบคั้นกระทำจากหลายทิศทาง ความนิยมรูปแบบการสัญจรเปลี่ยนไป เกิดนิคมอุตสาหกรรม ความเจริญวิ่งพุ่งเข้าหา ร้านค้าต่างๆ ขายของไม่ได้ ต้องออกไปอยู่ที่อื่น วัยทำงานย้ายไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรม หารายได้จุนเจือครอบครัว ลมหายใจหัวตะเข้แผ่วเบาและรวยรินลงทุกวินาที เหมือนนกถูกยิงที่นอนแน่นิ่งรอคอยความตาย
“เคยเห็นความเจริญที่เรียกได้ว่าสูงที่สุดของหัวตะเข้ พอมันถึงจุดที่สุดแล้ว เราเดินผ่านทุกวัน เราก็เสียดาย” ประโยคบอกเล่าความรู้สึกเมื่อครั้งหัวตะเข้ร่วงโรยลงจาก อำภา บุณยเกตุ แกนนำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนหัวตะเข้ ผู้หญิงตัวเล็ก ผิวขาว ผมสั้น
ภาพอดีตที่คนไทยเชื้อสายจีนกับคนจีนจากมาเลเซียสักการะองค์เซียนในโรงเจฮะเฮงตั้ว หรือภาพการค้าขายพบปะพูดคุยมีชีวิตชีวาตรงสี่แยกหัวตะเข้ ยังฝังลึกแน่นอยู่ในหัวใจ รวมถึงภาพจุดที่ทรุดโทรมที่สุดของหัวตะเข้ ทุกอย่างดูไร้ความหวัง
กระทั่งวันที่ตลาดน้ำเกิดกระแสบูม มีหลายคนหลายกลุ่มมาเยี่ยมเยือน แวะมานั่งทานข้าว มานั่งมานอนให้สบายใจ เดินเล่นดูวิถีเก่าๆ แบบโบราณแล้วก็เดินจากไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ดูเหมือนเริ่มมีความหวัง หลายองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาต่างๆ มาลงพื้นที่ แต่ก็ไร้วี่แววว่าใครจะช่วยชุบชีวิตต่อลมหายใจหัวตะเข้ได้
“พวกเราเห็นที่นี่ไม่มีอะไรเลิศเลอ ไม่มีอะไรในเชิงลึก เหมือนชุมชนเก่าอื่นที่อาจมีศิลปวัฒนธรรมหาดูยาก มีเรื่องราวลึกลับซับซ้อน ที่นี่ก็มีอะไร แต่ต้องหา…ใช้ใจมอง” อำภากล่าวเสริมถึงต้นตอการฟื้นฟูหัวตะเข้
เมื่อความหวังให้คนนอกยื่นมือมาดึงขึ้นริบหรี่ลง คนในก็ต้องจับมือลุกขึ้นกันเอง คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นอะไร แต่คนในต้องมองเห็นตัวเอง มองให้เห็นว่าตัวเองมีอะไร มีคุณค่าอย่างไร เพื่อสร้างตัวตน สร้างความเป็นตัวเอง
หัวตะเข้ไม่ต่างอะไรกับเมืองหลงยุคที่หลงทางอยู่กลางกรุง ไม่มีสิ่งมหัศจรรย์ให้ตื่นตา แต่มีความเงียบ ความธรรมดาให้ตื่นใจ บางวันเงียบยิ่งกว่าป่าช้า ไม่มีคนเดิน เหมือนเป็นวันหยุดตลอดเวลา แต่ก็นั่นแหละที่ฉันมองว่าคือความมหัศจรรย์ที่ดีมากที่สุดอย่างหนึ่งแล้ว เมื่อใดที่ความเงียบครอบงำ ไม่มีสิ่งใดรบกวน อีกหลายเสียงที่ไม่เคยได้ยินก็จะดังให้ได้ยิน ทั้งเสียงลมพัด เสียงแมลงบินผ่าน เสียงคลื่นน้ำกระทบฝั่ง เสียงแม่ลูกคุยกันจากฝั่งคลองตรงข้าม และอีกมากมาย แต่เสียงสำคัญที่สุดอีกเสียงที่จะได้ยินคือเสียงตัวเอง ฟังเสียงตัวเองก็เข้าใจความเป็นตัวเอง เข้าใจความหมายลมหายใจเข้าออก เห็นคุณค่าและมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น
จากวันนั้นถึงวันนี้ 8 ปีของการพลิกฟื้นตัวตนหัวตะเข้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นอกจากปัญหาความเจริญที่รุมเร้าแล้ว ยังมีปัญหาอื่นอีกมากมาซ้ำเติม โดยเฉพาะการเกิดเพลิงไหม้แบบไม่ทันตั้งตัวถึงสองครั้ง แต่ถึงอย่างไรสุดท้ายหัวตะเข้ก็คืนกลับ เรียบง่าย สงบ เป็นตัวเองเหมือนเดิม บางอย่างอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่กลิ่นอายบ้านๆ ยังหอมติดจมูก ให้ผู้มาเยือนอิจฉาเล่นได้ทุกคืนวัน
วีระ แจ่มใส กำลังสอนเด็กๆ ในชุมชนทำว่าวใบไม้
หญิงวัยชรากำลังนั่งตัดเย็บเสื้อผ้ารูปแบบเรียบง่ายและแขวนขายหน้าบ้านของตนเอง เป็นอีกหนึ่งในอาชีพที่เก่าแก่และยังคงดำเนินอยู่
หัวตะเข้กลับมาหายใจได้ด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้เชิงท่องเที่ยวแบบบ้านๆ ตามวิถีวันวานที่เป็นตัวเอง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ง่ายเหมือนการปอกกล้วยเข้าปาก ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะความใจใหญ่ของคนในชุมชน ใจที่เยียวยาแผลด้วยศิลปะ ยาวิเศษที่คอยจรรโลงชีวิตคนที่นี่ การคงอยู่ของหัวตะเข้มีศิลปะเป็นรากสำคัญ แตกฝอยอีกหลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นลวดลายกราฟิกบนกำแพง ร้านโบราณรวยเสน่ห์ต่างๆ บ้านสามครูรวมภาพสะท้อนวิถีชุมชน และอื่นๆ อีกมากมาย และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือว่าวใบไม้ ศิลปะทางภูมิปัญญาแต่งแต้มสีสันหัวตะเข้และคอยฟื้นฟูระบบความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
“ลุงว่าวคะ หนูขอว่าวหนึ่งตัวค่ะ” เสียงเด็กผู้หญิงตัวเล็กถักผมเปียสองข้างร้องขอว่าวใบไม้ในมือลุงใส่แว่น หนวดเคราสีขาวปนดำยาวรุงรังที่กำลังยุ่งกับการทากาวบนหลังใบชงโคแห้งบาง
ลุงว่าวที่เด็กหญิงผมเปียเรียกเงยหน้าขึ้นยิ้มให้ฉัน แล้วยื่นว่าวใบไม้ที่เพิ่งทำเสร็จให้เด็กหญิงพร้อมกับลูบหัวเบาๆ ด้วยแววตาเอ็นดู
“ว่าวใบไม้หลุดลอยไปไหนก็กลับคืนธรรมชาติอย่างเป็นมิตร แต่ว่าวจากพลาสติก โฟม หรืออย่างอื่น ก็อาจทำให้เกิดขยะ สร้างความเสียหาย ไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติ”
วีระ แจ่มใส หรือที่เด็กๆ เรียกติดปากในชื่อลุงว่าว บอกข้อดีของว่าวในมือ ลุงว่าวเป็นภูมิปัญญาอาวุโสของเขตลาดกระบัง อดีตอาจารย์พิเศษสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันรับบรรยายพิเศษตามที่ต่างๆ รวมถึงหัวตะเข้ ลุงว่าวชื่นชอบและคลุกคลีกับว่าวมาแต่เด็ก ตั้งแต่วิ่งเก็บว่าวตามท้องสนามหลวง จนมาถึงวันนี้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านว่าวไปโดยปริยาย สามารถคิดทำบางอย่างขึ้นเองที่ชาวต่างชาติต้องอ้าปากค้างร้อง “ว้าว!! คุณคิดได้อย่างไร” สิ่งนั้นคือว่าวที่ทำจากใบไม้แห้งนั่นเอง เพราะที่ไหนๆ ก็มีว่าว แต่ว่าวใบไม้มีที่หัวตะเข้ที่เดียว
ว่าวใบไม้เป็นของเล่นประจำกายเด็กชายหญิงหัวตะเข้ เป็นว่าวที่เกิดจากใบไม้ที่ผ่านการทะนุถนอมอย่างดีกว่า 4 เดือนเต็มๆ ด้วยการปิดทับไว้ในสมุดเพื่อให้เรียบเสมอกัน แห้งและเบาพร้อมบินสู่ฟ้ากว้าง แต่หากใจร้อนทับไว้ใต้ของหนัก ผิวใบจะถลอกและเน่าเสียไปในที่สุด
การทำว่าวใบไม้ไม่มีอะไรยุ่งยาก อุปกรณ์มีเพียงใบไม้แห้ง เชือก หางว่าว กาว และเศษไม้เล็กๆ ใช้เป็นที่ถือ ใช้เวลาในการนำมาประกอบกันไม่ถึง 5 นาที แค่ทากาว แปะหาง เจาะซุง มัดซุง แล้วมัดว่าวติดปลายไม้ที่ใช้ถือ ก็สามารถนำไปวิ่งเล่นลู่ลมได้แล้ว อาจดูเหมือนไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ เอาใจใส่รายละเอียดพอควร หากใช้ใบไม้สด ใบไม้ที่มีความชื้นเยอะ ติดหางว่าวผิด หรือเจาะซุงผิดมุม ว่าวก็ไม่ขึ้นให้เล่นสนุกได้
“ว่าวเป็นทางหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้ชุมชนเดินหน้าต่อ” ลุงว่าวกล่าวด้วยความภูมิใจ เพราะว่าวใบไม้ไม่ได้เป็นเพียงของเล่นให้เด็กๆ ได้สนุกสนานอย่างเดียว แต่ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ใช้ในการนำเสนอความเป็นหัวตะเข้ ทุกๆ วันหยุดสุดสัปดาห์ลุงว่าวจะพาร่างกายกับหัวใจพร้อมอุปกรณ์การทำว่าวใบไม้มายังหัวตะเข้ให้เด็กชายหญิงนั่งล้อมรอบ ก้มๆ เงยๆ สักพักเด็กๆ ก็จะวิ่งขึ้นสะพานข้ามคลองพร้อมกับชูว่าวในมือให้เคลื่อนไหวโบยบิน “ลู่ลม” เหนือ “เมืองหลงยุค” แห่งนี้
ตัวว่าวจากใบไม้สีน้ำตาล หางว่าวยาวหลากสี และรอยยิ้มที่สดใสของเด็กๆ กลายเป็นภาพติดตาที่เกิดขึ้นในชุมชนหัวตะเข้เป็นปรกติทุกวัน จนกลายเป็นหนึ่งการตกแต่งที่ทำให้ชุมชนเงียบๆ ซึมๆ มีสีสัน ร่าเริง สมบูรณ์มากขึ้น
ชาวหัวตะเข้รู้ดีว่าเป็นเรื่องยากที่จะยกชูเมืองโบราณนี้ลู่ลมให้ใครรู้จัก แต่ว่าวใบไม้คือสิ่งหนึ่งที่ทำได้ ว่าวธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
เด็กในชุมชนกำลังโชว์ไก่ที่ทำจากขวดพลาสติกซึ่งเป็นงานประดิษฐ์ที่เป็นจุดเด่นของโรงเรียนศึกษาพัฒนา และโชว์ว่าวที่ทำจากใบไม้ที่สนามเด็กเล่นในโรงเรียน
คนในชุมชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุมักจะนั่งเฝ้าหน้าร้านโชห่วยเล็กๆ และส่งมอบรอยยิ้มให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมา
ชายวัยชรานอนฟังบทเพลงในอดีตภายในบ้านของตนที่แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศของเก่าสะสมและรูปภาพที่ชวนให้นึกถึงหัวตะเข้ในอดีต
“อยากให้คนรุ่นหลังสืบทอดเจตนารมณ์ของผม เพราะต่อไปผมอายุเยอะแล้ว คนที่ทำว่าวในไทยเก่งๆ มีเยอะ แต่คนเหล่านั้นไม่ให้ความรู้ เพราะยังเล่นการพนัน มีการแข่งขัน ชิงรางวัลต่างๆ ก็ไม่สอน” ลุงว่าวพูดถึงเหตุผลในการสอนทำว่าวให้เด็กๆ เพราะไม่รู้ว่าเด็กหลายร้อยคนที่สอนไปจะมีสักกี่คนที่สานต่อความรู้ตลอดรอดฝั่ง หากมีเพียงคนเดียวก็เกินคุ้มแล้ว
ขาดว่าวไปหัวตะเข้อาจไม่ล่มจม แต่มีว่าวลู่ลมหัวตะเข้จะสดใสขึ้นมาก ชุมชนเงียบสงบกับของเล่นเรียบง่ายก็เข้ากันดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำงานหนักเก็บเงินซื้ออะไรแพงๆ ให้เด็กเล่น สำหรับว่าวใบไม้เด็กทำเองและเล่นเอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ปลูกฝังให้เด็กแสดงความสามารถ เห็นคุณค่าตัวเอง
หากมองในเชิงลึกเกี่ยวกับการทำว่าวใบไม้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่อาวุโสได้แสดงความสามารถทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ได้ใกล้ชิดกับเด็กๆ ตัวเด็กๆ เองจะชื่นชมในความสามารถของผู้ใหญ่ เกิดความเคารพ ระบบความสัมพันธ์ของเด็กกับผู้ใหญ่ก็จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถือได้ว่าว่าวใบไม้ที่หัวตะเข้คือส่วนเติมเต็มสำคัญที่ทำให้หัวตะเข้เป็นหัวตะเข้ และเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนที่เคยหันหลังเดินออกเปลี่ยนใจเดินกลับมา กลับมาเป็นตัวเอง
ไม่มีข้อตัดสินไหนบอกว่าความครึกครื้นจอแจดีกว่าความเงียบ หรือความเจริญมีค่ากว่าความโบราณ ดังนั้นแล้วทุกอย่างก็เท่ากันหมด จะเริ่มจากศูนย์มาสิบหรือจากสิบมาศูนย์ก็ไม่อาจตัดสินค่าของคนได้ เวลาเปลี่ยนไปทุกอย่างก็เปลี่ยนตามเป็นธรรมดา สิ่งสำคัญคือการเป็นตัวของตัวเองไม่ยอมให้ถูกกลืนกิน ซึ่งหัวตะเข้คือสิ่งหนึ่งที่ใช้อธิบายคตินี้ได้เป็นอย่างดี การฟื้นคืนและคงอยู่ของหัวตะเข้ไม่ได้เกิดจากระบบการดูแลฟื้นฟูที่ดีที่สุด แต่เกิดจากการยืนอยู่ในจุดยืนของหัวตะเข้เองมากกว่า
ความคับคั่ง ร่วงโรยของหัวตะเข้ไม่อาจควบคุมได้ แต่การฟื้นฟูคือสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกศักยภาพของคนในชุมชน ไม่ว่าหัวตะเข้จะถูกฟื้นฟูให้คงอยู่ ให้เด็กรุ่นใหม่รักถิ่นบ้านเกิด รักชุมชน กลับมาทำงานให้ชุมชน ทำงานเรียบง่ายที่บ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งสำคัญคือหัวตะเข้ได้สร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ของสังคม หากเปรียบเหมือนต้นไม้ก็เป็นต้นไม้ที่ผ่านร้อนหนาว ออกดอกออกผลพร้อมเป็นเมล็ดพันธุ์ต้นใหม่เติมเต็มผืนป่าแล้ว