หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”


ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดี ดีเด่น
บุญยานุช พินิจนิยม-เขียน
ธนัชพร รัตนธรรม-ภาพ

พี่ทู ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยหลาบสิบปี บ้านและร้านขายของที่มองเผินๆ แทบจะไม่เห็นทางเข้า

หากจินตนาการถึงภาพ “บ้านของฉัน” หัวข้อวาดภาพแสนคลาสสิก “บ้าน” รูปทรงสี่เหลี่ยม มุงหลังคาสามเหลี่ยม มีประตูและหน้าต่างอย่างละหนึ่งบาน ดวงอาทิตย์หนึ่งดวงฉายแสงอยู่บนท้องฟ้า และมีสนามหญ้าบนผืนดิน นี่คือภาพบ้านที่ใครต่อใครก็คงเคยวาดออกมาในแบบฉบับเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว “บ้าน” คงไม่ได้มีเพียงรูปทรงมาตรฐานแบบที่เราๆ เคยวาดไว้ เพราะในความหมายสำหรับบางคน บ้านไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัย มีเตียงนอน มีห้องน้ำ มีห้องครัว หรือมีครอบครัวอยู่พร้อมหน้า แต่บ้านคือที่ที่เราเอาไว้พัก ทั้งกายและใจ

ชั้นวางของขายที่เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ขายตั้งแต่ของใช้ภายนอกไปจนถึงอาหารแห้ง

สินค้านำเข้าจากประเทศบ้านเกิด

หนีออกจากบ้าน

พี่ทู หนุ่มพม่าอายุ 37 ปี บ้านเกิดอยู่ที่เมืองทวาย ประเทศพม่า ออกเดินทางจากพม่าตั้งแต่อายุครบ 14 ปี ไปสู่บ้านใหม่ที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” เริ่มต้นงานแรกด้วยการทำงานในโรงสีที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ต่อมาได้เปลี่ยนอาชีพมาวางท่อประปา ตะลอนไปหลายแห่ง ทั้งมหาชัย มีนบุรี ลาดกระบัง ก่อนจะมาจบลงที่หัวตะเข้ ชุมชนริมน้ำแสนสงบในเขตลาดกระบัง จังหวัดกรุงเทพฯอันเป็นที่ที่เราได้มาพบกับพี่ทูในบ้านหลังใหม่แห่งนี้

พี่ทูโผล่ออกมาจากประตูทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบๆ พร้อมกับรอยยิ้มเขินอาย เพราะมีคนแปลกหน้าหลายสิบคนมาเยี่ยมเยียน ยืนรายล้อมเหมือนพี่ทูเป็นดาราดังแห่งปี ถ้ามองเผินๆ ก็คงจะหาทางเข้าไม่เจอ เพราะประตูทางเข้าแทบกลืนไปกับกำแพงตึกและอยู่ต่ำกว่าพื้นถนน แถมยังหลบอยู่หลังราวเหล็กข้างทาง จะเข้าไปในบ้านหลังเล็กๆ นี้ได้ก็ต้องปีนข้ามรั้วและแทรกตัวเข้าไปถึงจะได้พบโลกของพี่ทูด้วยตาเราเอง

“แต่ก่อนอยู่ข้างนอก แต่ตำรวจชอบมากวน” นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้รูปร่างหน้าตาบ้านของพี่ทูเป็นแบบนี้

พี่ทูเล่าว่าครอบครัวของพี่ทูมีทั้งหมดเจ็ดคน และทั้งเจ็ดคนต่างก็เข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศไทย แยกย้ายกันไปตามที่ต่างๆ

“อยู่พม่าไม่สนุก นายกฯ ไม่ดี” พี่ทูตอบคำถามของสาเหตุที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ที่ประเทศไทย “ที่ประเทศไทย วันนี้เราหาเงิน พรุ่งนี้เราอยากไปเที่ยวที่ไหนเราก็ไป อยากได้อะไรเราก็ซื้อ แต่ที่พม่าไม่ได้”

ส่วนผสมสำคัญของอาหารที่ชาวพม่านิยมรับประทาน

ปูนขาว สูตรเฉพาะที่พี่ทูคิดค้นเอง

เริ่มต้นชีวิตใหม่ในบ้านหลังใหม่

แรกเริ่มเดิมทีก่อนจะมาอยู่ที่หัวตะเข้ พี่ทูไปลองฝึกกิจการขายของชำกับพี่สาวของตนที่ลาดกระบัง พอเริ่มเป็นงานก็แยกออกมาเปิดร้านของตัวเอง พี่ทูจะรับของจากเจ้าใหญ่ในละแวกเดียวกันมาขาย มีทั้งขนมขบเคี้ยวเชื้อชาติพม่าเอาไว้กินเล่น มีแป้งทานาคาที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดีวางขายอยู่หลายยี่ห้อซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์จากพม่าแท้ๆ การันตีด้วยตัวอักษรพม่าประทับอยู่รอบกระป๋อง แต่ที่เห็นจะขายดีที่สุดก็จะเป็น “หมากพลู” คำละ 2 บาท หรือที่ชาวพม่าเรียกกันว่า “กุนยา” ซึ่งยังคงนิยมกินเล่นกันอยู่ในปัจจุบัน ต่างจากคนไทยที่ไม่นิยมเคี้ยวหมากกันแล้ว ระหว่างที่นั่งคุยกับพี่ทูก็จะมีคนพม่าเข้า-ออกร้านเพื่อมาซื้อหมากพลูโดยเฉพาะ เราเลยได้มีโอกาสเห็นขั้นตอนการทำหมากพลูอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

พี่ทูแอบกระซิบว่า ใบพลูที่หามาต้องนำมาล้างและตัดให้สวย เพราะ “ถ้าไม่สวย เขาไม่กิน” ทั้งนี้เคล็ดลับพิเศษอีกอย่างอยู่ที่โอ่งบรรจุของเหลวสีขาวข้นที่พี่ทูผสมขึ้นด้วยสูตรที่คิดค้นขึ้นเอง ประกอบด้วยปูน น้ำสไปรท์ นม น้ำมะนาว ทำให้หมากพลูของพี่ทูขายดีตลอดวัน

พี่ทูหยิบใบพลูขึ้นมา ป้ายด้วยน้ำปูนผสม จากนั้นก็ใส่เครื่องเทศชนิดต่างๆ ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าคือชนิดใดบ้าง ก่อนจะหยิบอีกกระป๋องหนึ่งเทลงบนใบพลู แลรูปร่างเหมือนใบชาอบแห้ง ด้านข้างของกระป๋องมีตัวอักษรพม่าอยู่ เท่าที่อ่านออกก็มีเพียงภาษาอังกฤษคำเดียวที่เขียนว่า “tobacco” พร้อมกับภาพอวัยวะภายในที่ถูกทำลายคล้ายภาพบนซองบุหรี่บ้านเรา แม้แลดูน่ากลัว แต่ก็ไม่อาจห้ามผู้บริโภคได้อย่างที่เห็น จากนั้นก็เหยาะน้ำหวานสีเหลือง และปิดท้ายด้วยชิ้นหมากพอดีคำ ก่อนจะพับใบพลูและม้วนห่อเป็นคำพร้อมทาน

กล่าวถึงหมากพลู คนไทยสมัยนี้อาจจะนึกภาพไม่ค่อยออกและไม่รู้จักดีอย่างคนไทยสมัยก่อนเป็นแน่ หากแต่ที่พม่า หมากพลูยังคงเป็นที่นิยมและมีขายทั่วไปตามร้านขายของ หมากพลูมีสองชนิด เรียกว่า “หมากหวาน” กับ “หมากเมา” ถ้าหมากเมาก็จะใส่ใบยาสูบอันเป็นที่มาของชื่อหมากเมานั่นเอง ส่วนใบชาหอมและเครื่องปรุงรสต่างๆ ที่เราเห็นพี่ทูใส่ลงไปในใบพลูนั้นก็คือใบยาสูบกับเครื่องเทศที่ให้กลิ่นหอมและมีสรรพคุณทางยาอื่นๆ อีก เช่น อบเชย กระวาน ยี่หร่า การบูร กานพลู ชะเอม เป็นต้น

นอกจากหมากพลูและผลิตภัณฑ์จากพม่าอันเป็นสิ่งที่ทำให้คนพม่าลดความคิดถึงบ้านเกิดลงไปได้บ้างแล้วนั้น ร้านของพี่ทูยังรับทำพาสปอร์ตให้คนพม่าอีกด้วย การใช้ชีวิตในประเทศไทยมา 23 ปีทำให้พี่ทูคุ้นเคยกับประเทศไทยมากกว่าคนพม่าที่เพิ่งย้ายมาใหม่อย่างแน่นอน ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม และการดำเนินการทางราชการ เพื่อให้คนพม่าได้ใช้ชีวิตในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย พี่ทูจึงรับทำพาสปอร์ตด้วย และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางของการหารายได้ของพี่ทู เพราะเพียงแค่ขายของชำในร้านไม่เพียงพอจะประทังชีวิตในเมืองหลวงของประเทศไทย ทั้งค่าใช้จ่ายก็สูง ต้องเสียค่าเช่าที่ 5,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเทียบกับอยู่พม่าแล้ว พี่ทูจะได้ค่าแรงเพียงวันละ 80 บาท และไม่มีอิสระเท่าอยู่ที่ประเทศไทย
ระหว่างการสัมภาษณ์ พี่ทูจะตอบกลับด้วยสำเนียงคนต่างชาติที่ภาษาไทยยังไม่ค่อยแข็งแรง ภาษาไทยคนไทยด้วยกันเองยังว่ายาก และสำหรับพี่ทูก็คงไม่ง่าย แม้อยู่มาหลายสิบปีแล้วพี่ทูก็ยังไม่คล่องภาษาไทย อาศัยเจ้านายเก่าๆ ช่วยสอนให้พูดและคอยฟังเอาเท่านั้น ใช้สัญชาตญาณการปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ ซึมซับไปเรื่อยๆ จนสื่อสารกันได้พอที่จะดำรงชีวิตและใช้ประกอบอาชีพเท่านั้น

ส่วนภาษาพม่าพี่ทูก็ยังได้ใช้อยู่เสมอ เพราะในละแวกนั้นมีแรงงานชาวพม่าอยู่หลายพันคน เฉพาะที่ทำงานในตลาดหัวตะเข้ก็หลายสิบชีวิต ร้านของพี่ทูจึงเป็นแหล่งเติมพลังของชาวพม่าในละแวกนั้น ตลอดวันจะมีคนพม่าแวะเวียนกันมาซื้อของกินของใช้อยู่เรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้พี่ทูจึงได้สื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาพม่า ทั้งยังทำให้พี่ทูรู้จักคนมากขึ้น รวมถึงคนในชุมชนหัวตะเข้แห่งนี้

หนึ่งในสินค้าขายดีคือหมาก ที่มีสูตรเฉพาะ

ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เรามักไม่ทิ้งรากเหง้าของเรา ความเป็นเราที่ติดตัวไปเสมอ

อยู่ที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้าน

ถ้าการมีชีวิตอยู่คือการต้องทุกข์ทนกับสภาวะที่เราไม่ได้เลือก แล้วเราจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร? ความหมายของชีวิตอยู่ที่การใช้ชีวิต คนเราทุกคนต่างอยากออกเดินทางไปพบความสุข ความสุขบางคนอยู่ที่ใจ บ้างก็อยู่ที่เงิน บ้างก็อยู่ที่คนรัก บ้างอยู่ที่การทำฝันให้เป็นจริง

ถ้าบ้านที่เราอยู่ไม่มีความสุขของเรารออยู่ เราก็มีสิทธิ์ที่จะก้าวออกไปหาบ้านใหม่

แม้ว่าเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกบ้านของเราได้

เหตุที่พี่ทูเลือกที่จะมาอยู่ที่ประเทศไทยอย่างถาวร นอกจากเพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ก็คงเป็นเพราะที่นี่มีอิสระ มีพื้นที่ให้ได้ใช้ชีวิต แม้ว่างานที่ทำจะมีรายได้ไม่มาก แต่พี่ทูก็สุขใจกับชีวิตที่เลือกเอง

ถ้าคุณเคยได้ยินประโยคสุดเชยว่า “อยู่ที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้าน” ก็คงเข้าใจพี่ทูได้ว่า บ้านควรจะเป็นที่ที่สุขใจเมื่อได้อยู่ มีอิสระในการใช้ชีวิต ไม่ใช่บ้านที่เป็นเพียงพิกัดหรือตำแหน่งที่เราเกิดมาบนโลก

“ถ้ามีเงินมากพอ พี่จะกลับพม่าไหมคะ”

“ไม่กลับครับ”

เพราะสำหรับพี่ทู “บ้าน” อยู่ที่นี่แล้ว


เกี่ยวกับคู่นักเขียน-ช่างภาพ ค่ายสารคดีครั้งที่ 13

บุญยานุช พินิจนิยม
เป็นคนเด๋อ ๆ เรียนเอกไทยเพราะชอบภาษาไทย อินกับหนังสือวรรณกรรมไทย  สนใจการถ่ายภาพ  หลงใหลอาหาร และแน่นอนว่ารักการกิน

ธนัชพร รัตนธรรม
ชื่อธนัชพร เรียกเล่นๆว่า ออม ถนัดงานใช้สมอง พวกประลองปัญญา ถนัดคิดไม่ถนัดทำ บางครั้งก็ถนัดทำ ไม่ถนัดคิด เลยแอดมิชชั่นติดเอกโฆษณา ต้องมาเรียนวาดเขียน ต้องขายของให้เนียน สื่อสารให้ได้ แต่ก็ยังถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก มีโฟโต้โปรเจค ทั้งงานเล็กงานใหญ่ ชอบอะไรใหม่ๆ ถึงไม่ค่อยจะชิน ต่อให้เป็นงานหิน ถ้าเงินมางานก็ไป