หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”


ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดี ดีเด่น
จุฑารัตน์ กุลตัณกิจจา-เขียน
วรวัฒน์ วิรัตนโภคิน-ภาพ

 ชีวิตกับสายน้ำของชาวชุมชนหัวตะเข้ ที่อยู่คู่กันมากว่า 100 ปี ซึ่งยังเห็นกันอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ถึงแม้ในปัจจุบันความนิยมจะลดลงไปมากแล้วก็ตาม

“ฮุยเลฮุย! เอ้า! ฮุยเลฮุย!”

เสียงร้องบอกจังหวะให้ชายฉกรรจ์สามคนออกแรงยืนขย่มบนท่อนไม้ที่พาดไว้กับปลายเสาปูนหกเหลี่ยม โคนเสาหายลับลึกลงไปใต้คลองที่ทอดผ่านชุมชน ราวสิบนาที เสาสูง 4 เมตรก็ค่อยๆ จมลงไปลึกขึ้นและปักตั้งตรงอยู่ในน้ำได้ พร้อมเป็นโครงสร้างรองรับการขยับขยายทางเดิน

การตอกเสาเข็มในน้ำโดยอาศัยแรงคนขย่มอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่แนะนำกันในโลกออนไลน์ แต่ที่หัวตะเข้มีเคล็ดลับซึ่งช่วยให้การตอกเสาสะดวกและแม่นยำขึ้น

“หัวตะเข้” หรือในชื่อทางการว่า “ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม” เป็นชุมชนที่เร้นตัวอยู่ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ด้วยการสัญจรผ่านไปมาทางถนนแทบไม่อาจรู้ได้เลยว่ามีตลาดริมน้ำอายุกว่า 100 ปี ที่เรือนไม้ห้องแถวริมคลองเปิดประตูบานเฟี้ยมต้อนรับผู้คนต่างถิ่น มีทั้งร้านอาหาร ร้านขายของชำ ร้านกรอบรูป และโรงเรียน สลับกับห้องที่ยังคงมีคนพักอาศัย แทรกด้วยสีเขียวของไม้ประดับ ตัดกับกราฟฟิตีรูปจระเข้สีสันสดใส เรียงรายยาวขนาบแนวทางเดินเลียบคลอง แม้ว่าช่วงเวลาหนึ่งทางเดินสายนี้จะร้างจนแทบไม่มีคนเดิน

ชุมชนเลียบคลองประเวศบุรีรมย์ตัดกับคลองลำปลาทิว ที่เข้าถึงได้ทางซอยลาดกระบัง 17 แห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอยในละแวกนั้น สมัยที่คนยังนิยมเดินทางทางเรือ ก่อนจะค่อย ๆ เงียบเหงาไปตามปริมาณเรือที่ลดลง เนื่องจากรถกลายเป็นพาหนะหลักบนถนนที่ตัดผ่านรอบชุมชน

กรอบเสาไม้สามด้านที่เกิดจากไม้กระดานแผ่นยาวสามแผ่นตีตะปูเข้าด้วยกัน เปิดโล่งด้านหนึ่งไว้ส้าหรับทิ่มโคนเสาเข้ามา เพื่อให้เสาไหลลงไปตามกรอบไม้ ปักลงในต้าแหน่งที่ต้องการ คนหัวตะเข้เรียกสิ่งนี ว่า “แพน”

หากเปรียบชุมชนหัวตะเข้ ดั่งเสาเข็ม ภาพชาวบ้านในชุมชนแห่งนี ที่ช่วยกันตอกเสาเข็มลงน้า ก็เปรียบเสมือนการช่วยสร้างรากฐานแก่ชุมชนให้มั่นคงและต่อลมหายใจแก่ชาวชุมชนหัวตะเข้ให้มีชีวิตต่อไป

“เป็น 10 กว่าปีที่ชุมชนมันเงียบ ไม่เหมือนอย่างในปัจจุบันที่มีร้านค้า ร้านค้าไม่ได้เปิดอย่างนี้นะ เงียบแบบเที่ยงนี่หมาไม่เดินแล้วกัน พูดง่าย ๆ” สุวัฒน์ พรหมมณีรัตน์ ประธานชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม เปรยถึงวันเวลาในอดีต ท่ามกลางความหมดหวังที่จะปลุกชีวิตชีวาให้ตลาดหัวตะเข้กลับมาครึกครื้นเช่นที่เคย แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร กระทั่งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนในชุมชนที่อยากจะพลิกฟื้นตลาดขึ้นมาอีกครั้ง สุวัฒน์จึงตัดสินใจที่จะร่วมมือและลงแรง

“มีคนบอกว่าวัฒน์เอาเว้ย สู้เว้ย! ก็เลย เอ้า! ลองสักตั้ง”

พื้นที่ที่สุวัฒน์และชาวหัวตะเข้กำลังลงเสาเตรียมก่อสร้างอยู่บริเวณหลังโรงเรียนศึกษาพัฒนา เป็นทางเดินด้านหลังถัดจากร้านรวงซึ่งอยู่ติดคลองประเวศบุรีรมย์ สุวัฒน์เรียกพื้นที่คลองบริเวณนั้นว่า “คลองเล็ก” เขาตั้งใจจะทำพื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูป และปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว

สุวัฒน์เล่าว่าเดิมทีบริเวณนั้นเคยเป็นจุดถ่ายรูปมาก่อนทำเป็นสะพานไม้เดินลงไป ปลูกไม้ประดับและไม้เลื้อย แต่สร้างได้ 2 ปีก็พังเพราะวัสดุคือไม้ไผ่และเสายูคาลิปตัส ปรับปรุงคราวนี้เขาเลยใช้เสาปูนเพื่อให้แข็งแรงได้มาตรฐาน ไม้ที่จะมาปูสะพานใหม่ก็ใช้ไม้หน้าสาม ทำเป็นแนวเลียบคลองยาวประมาณ 7 เมตร แทนจุดเดิมที่ผุพัง

วันเดียวกับที่สุวัฒน์เล่าเรื่องหัวตะเข้ให้ฟังนั้น เขาและเพื่อนเพิ่งลงเสาไปทั้งหมด 12 ต้น โดยอาศัยแรงงานจากคนในชุมชนที่คุ้นเคยมาช่วยกันทำ

กรอบเสาไม้สามด้านที่เกิดจากไม้กระดานแผ่นยาวสามแผ่นตีตะปูเข้าด้วยกัน เปิดโล่งด้านหนึ่งไว้สำหรับทิ่มโคนเสาเข้ามา เพื่อให้เสาไหลลงไปตามกรอบไม้ ปักลงในตำแหน่งที่ต้องการ

คนหัวตะเข้เรียกสิ่งนี้ว่า “แพน”

ขณะที่สุวัฒน์บอกว่ามันคือภูมิปัญญา

เขาอธิบายว่าแพนคือกรอบเสาค้ำยัน ทำไม่ยาก ใช้ไม้กระดานเนื้อแข็งจำพวกไม้เต็งสามแผ่น สองแผ่นที่ใช้ประกอบเป็นด้านข้างจะยาวเท่ากัน ส่วนแผ่นกลางที่รองด้านหลังเสาจะยาวกว่าแผ่นด้านข้างประมาณ 1 เมตร ความกว้างแต่ละด้านของแพนขึ้นอยู่กับความกว้างหรือที่เรียกว่า “หน้า” เสา

ในอดีตชาวหัวตะเข้ใช้แพนลงเสาไม้ที่เรียกว่าเสาหน้าสิบ ความกว้างของเสาคือ 10 นิ้ว จะต้องใช้แพนขนาด 11 นิ้ว ขนาดของแพนจะใหญ่กว่าหน้าเสาเล็กน้อย เพื่อให้เสาสามารถไหลลงแพนไปได้ แต่ปัจจุบันใช้เสาปูน เสาปูนกว้างประมาณ 6 นิ้ว ก็จะใช้แพนหน้ากว้าง 7 นิ้ว ถ้าแพนหลวมมากเกินไปเสาอาจจะขยับออกจากจุดที่ต้องการ

การประกอบไม้สามแผ่นเป็นแพน จะมีไม้กระดานแผ่นกลางยาวยื่นออกไปด้านล่างสำหรับเป็นเดือยปักลงในดิน ส่วนที่ยื่นออกไปยาวประมาณ 80 เซนติเมตรเพื่อไม่ให้แพนเคลื่อนออกจากจุดที่ต้องการลงเสา สุวัฒน์เน้นว่าการนำแพนมาใช้ต้องปักส่วนนี้ให้ตรง เพราะเมื่อหัวเสาทิ่มลงไปในแพน เสาก็จะไหลตามแพนไป และยังมีส่วนปลายด้านบนยาวกว่าแผ่นไม้ที่ประกอบเป็นด้านข้างแพนอีก 20 เซนติเมตรเพื่อใช้ดึงแพนขึ้น

แค่ความยาว 80 เซนติเมตรนั่นเองที่กำหนดโครงสร้างของทางเดินยาว 7 เมตรนี้ เช่นเดียวกับความพยายามพลิกฟื้นตลาดหัวตะเข้ที่เริ่มจากคนไม่กี่คน

สุวัฒน์เล่าว่าคนในชุมชนมาคุยกับเขา มาช่วยกันหลายๆ คน บางคนเป็นข้าราชการ หรือทำงานเอกชน จึงใช้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์มานั่งคุยกันว่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วก็ค่อยๆ ลองผิดลองถูกกันเรื่อยมา

เขาอธิบายว่ากิจกรรมแรกที่ลองใช้ดึงคนกลับมาสู่ตลาดหัวตะเข้คือการเล่นดนตรี ในชื่อตลาดนัดหัวตะเข้ นัดกันทุกเสาร์-อาทิตย์ต้นเดือน เอาดนตรีมาเล่น ร้องเพลงกันเอง หรือบางครั้งนักท่องเที่ยวก็มาช่วยกันร้องบ้าง

“ตอนเริ่มตลาดหัวตะเข้ใหม่ๆ ทางเขต ทาง กทม. เขาพาคนมาเที่ยวเหมือนกับแจกคูปอง มันก็ไม่ยั่งยืน ทำแล้วเขาก็หาย เพราะมันไม่มีอะไร ตลาดมันเงียบ จากตรงนั้นก็เห็นแล้วว่ามันไม่ใช่ทาง ก็ต้องหยุดไป” ประธานชุมชนย้อนไปถึงกิจกรรมแรกเริ่ม

เมื่อเล่นดนตรีแล้วยังไม่ใช่ คนในชุมชนก็อาศัยยุทธศาสตร์ที่อยู่ใกล้วิทยาลัยช่างศิลป์ ชักชวนเหล่าช่างศิลป์มาทำกิจกรรม สอนงานศิลปะให้กับเด็ก กลายเป็นบ้านสามครูที่ตั้งขึ้นมาสอนศิลปะ สอนปั้น สอนบาติก คนก็เริ่มสนใจมากขึ้น พอจุดขายด้านงานศิลปะเริ่มไปได้ดี ก็เริ่มมีกิจกรรมอย่างอื่นเพิ่มเข้ามา

สี่แยกหัวตะเข้ คาเฟ่ แอนด์ เกสท์เฮ้าส์ แลนด์มาร์กส้าคัญของตลาดหัวตะเข้ ซึ่งเปรียบเสมือนห้องรับแขกที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกทิศที่มาเยือนตลาดแห่งนี อีกทั งยังเป็นพื นที่ส้าหรับท้ากิจกรรมของคนในชุมชน

“ฮุยเลฮุย! เอ้า! ฮุยเลฮุย” เสียงร้องเป็นจังหวะคอยก้ากับการขย่มเสาของชาวบ้านที่ช่วยกันลงเสาคอนกรีตไปในชั นดินใต้น้าให้เป็นไปอย่างพร้อมเพรียงกัน เสาคอนกรีตค่อยๆจมลงไปอย่างต่อเนื่องตามจังหวะของเสียงร้องนั้น

เสน่ห์ของ “แพน” คือความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นภูมิปัญญาของไทยตั งแต่โบราณ ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจักรกลใดๆ แค่ใช้แรงกายของชาวบ้านก็สามารถสร้างรากฐานของชุมชนแห่งนี ให้มั่นคงได้ และ “อาจเป็นแรงประเภทเดียวกันที่ชาวหัวตะเข้ใช้ทั งลงเสา และผลักดันชุมชนแห่งนี้”

แต่จุดเล็กๆ อีกจุดหนึ่งที่หลายคนลงความเห็นว่าเป็นจุดสำคัญ คือการถือกำเนิดของ “สี่แยกหัวตะเข้ คาเฟ่ แอนด์ เกสท์เฮ้าส์”

เกสต์เฮาส์ขนาดสามห้องนอน ด้านล่างเปิดเป็นร้านบริการอาหารและเครื่องดื่ม มีทั้งชา กาแฟสด ไว้ทานคู่กับขนมปังปิ้งหรือไข่กระทะ ข้างเคาน์เตอร์เครื่องดื่มมีมุมก๋วยเตี๋ยวตั้งอยู่คู่กัน ในบรรยากาศเรือนไม้ริมคลองแบบโบราณ แต่มีปลั๊กไฟและฟรี WiFi ไว้อำนวยความสะดวกอย่างครบครัน

ชวลิต สัทธรรมสกุล เจ้าของคาเฟ่ที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกที่ตัดกันระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์และคลองลำปลาทิว เผยให้ฟังว่า ราว 5-6 ปีที่แล้ว ตลาดหัวตะเข้ทำกิจกรรมตลาดนัดศิลปะทุกเสาร์-อาทิตย์ต้นเดือน ให้คนที่มาเที่ยวตลาดได้ทำกิจกรรมกัน แต่อาจจะไม่ค่อยยั่งยืน เพราะคนจะมาแค่ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม ยังไม่มีพื้นที่รองรับคนที่มาเที่ยว

“ตอนนั้นเราก็คิดว่ามันขาดพื้นที่ที่ให้คนมานั่ง มาพักผ่อน คือหัวตะเข้ตอนนั้นมันเหมือนกับบ้านที่ไม่มีห้องรับแขก เราเลยคิดว่าถ้าที่นี่ทำได้สำเร็จมันก็จะเป็นที่ที่ให้คนได้มาใช้ประโยชน์ มาทำกิจกรรม ให้หน่วยงานต่างๆ มาใช้พูดคุยกับคนในชุมชนนี้ได้ อยากให้เป็นพื้นที่เปิดสำหรับกิจกรรมของชุมชน”

เจ้าของสี่แยกหัวตะเข้ฯ ปลีกเวลาดูแลร้านมาพูดคุยถึงความคิดก่อนจะเกิดเป็นร้านน่านั่งริมคลอง ร่มรื่นเย็นตาไปด้วยต้นไม้ และใช้ถาดสังกะสีลายดอกมาตกแต่งจนดูมีเอกลักษณ์

เขาสรุปเหตุผลที่ทำให้เลือกเปิดร้านแห่งนี้เพียงว่า “ทำเลมันทำให้เรารู้สึกว่าเราน่าจะทำงานด้วยความสุข แล้วก็อยากให้คนรู้จักหัวตะเข้”

ประเมินด้วยสายตา ช่วงหนึ่งที่ยากในการลงเสาคือการยกเสาให้ทิ่มเข้าไปในแพนให้ได้ ด้วยความหนักของเสา ด้วยสภาพพื้นที่ริมคลอง คนหนึ่งจะต้องอยู่ในน้ำเพื่อประคองและกดแพนให้ปักอยู่ในจุดที่ต้องการ ส่วนคนอื่นๆ จะอยู่บนทางเดินแคบๆ พอให้รถจักรยานยนต์ผ่านชนิดสวนกันไม่ได้ ช่วยกันยกเสาทิ่มเข้าไปในแพน แล้วในจังหวะที่เสาเข้าไปอยู่ในแพนและไหลลงไปตรงจุดแล้ว จะต้องรีบยกแพนขึ้นเพื่อไม่ให้เสาดึงเอาแพนจมดินใต้น้ำลงไปด้วย

“การทำแพนต้องบอกอย่างหนึ่งว่าต้องเป็นทีมงานเดียวกัน เป็นคนที่ทำงานด้วยกัน เราอาศัยความสามัคคี”

สุวัฒน์เล่าถึงองค์ประกอบสำคัญในการใช้แพนลงเสา เขาอธิบายเพิ่มว่า คนที่มาช่วยลงเสาต้องเข้าใจจังหวะ รู้ใจ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะสามารถช่วยกันประคับประคองและผลักดันเสาไปข้างหน้าให้ลงแพนได้พอดี

ประธานชุมชนผู้ซึ่งลงเสามาหลายต้นในชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม เน้นว่า ถ้าไม่สามัคคี ไม่รู้ใจกัน เสาอาจจะล้มทับคนได้ เพราะคนที่มาช่วยกันลงเสาไม่เข้าใจว่าต้องผลักไปทางซ้ายหรือดันไปทางขวา แต่คนที่เป็นทีมงานเดียวกันเขาจะรู้กันว่าต้องเดินอย่างไร ออกแรงดันเสาแค่ไหน และแบ่งหน้าที่กันได้ว่าใครจะเป็นคนดึงเชือก ใครจะเป็นคนอัดแพน เมื่อรู้หน้าที่กันดีแล้วก็อาจจะใช้คนไม่มากสำหรับการลงเสาแต่ละต้น เช่น เสาสูง 4 เมตร ใช้คนประมาณห้าถึงหกคน แต่ถ้าเสาสูง 6 เมตร จะต้องใช้คนเพิ่มเป็นแปดคน เพื่อช่วยจับแพนและยกเสา

ทว่ากว่าตลาดหัวตะเข้จะกลับมามีชีวิตชีวาต้องใช้แรงคนจำนวนมากกว่านั้น

หลังจัดกิจกรรมตลาดนัดศิลปะที่ตลาดหัวตะเข้ได้สักพัก สุวัฒน์บอกว่าเริ่มมีคนมาช่วยจัดกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำว่าวใบไม้ที่ทำจากใบไม้ที่มีเส้นใย เก็บใบที่ร่วงมาทับให้แห้งแล้วตัดทำเป็นว่าว หรือนักวิจัยดาราศาสตร์ที่หอบเอากล้องโทรทัศน์มาสอนดาราศาสตร์ ตามมาด้วยกิจกรรมรีไซเคิลขวดในโรงเรียนศึกษาพัฒนา ที่กลายเป็นแหล่งรายได้ของเด็กๆ ในชุมชน เมื่อกิจกรรมดึงคนเข้ามา ร้านค้าในตลาดก็เริ่มทยอยเปิดรองรับผู้คน จากตลาดที่เงียบเหงาก็เริ่มกลับคืนมามีชีวิต

สุวัฒน์บอกว่าต้องอาศัยการพูดคุยกับคนในชุมชน ชักชวนให้ชาวบ้านกลับมาค้าขาย และดูแลรักษาชุมชนไปพร้อมกัน

“เราทำคอนเซปต์ว่าใครก็ได้ที่อยู่หัวตะเข้แล้วรักหัวตะเข้ สื่อสารกันทางไลน์ ว่างก็มานั่งคุยกัน เสาร์-อาทิตย์ ใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการชุมชน แค่เป็นคนรักหัวตะเข้ ก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นะจิตอาสาพวกนี้”

สุวัฒน์ยกตัวอย่างถึงตอนที่เขาเริ่มช้อนขยะในคลอง แรกเริ่มมีคนร่วมกันทำประมาณ 10 คน อาศัยว่าทำในสิ่งที่อยากทำ แต่เมื่อเริ่มทำแล้วคนที่อยู่ข้างๆ เห็นก็อยากเข้าร่วมด้วย ต่างคนต่างก็อยากทำในส่วนที่เป็นหน้าบ้านเขา เกิดเครือข่ายที่ช่วยกันดูแลความสะอาดในชุมชน

“อย่าไปคิดว่าเราทำคนเดียว คลองสาธารณะไม่ใช่เรื่องของกู แต่วันหนึ่งที่เราทำลงไปแล้วมีคนเห็นก็จะมีหลายคนที่เข้ามา บอกว่าเอาสวิงมาเดี๋ยวจัดการให้ เดี๋ยวช่วยทำกันเองหน้าบ้านฉันแล้วมันจะดีขึ้น สังเกตคลองเดี๋ยวนี้ดีขึ้นเพราะทุกคนช่วยกันไง พอมีขยะก็ช้อนขึ้น เห็นใครทิ้งว่า แล้วมันจะมีแนวร่วม เราอย่าไปคิดว่าทำแล้วเหนื่อย ไม่เห็นจะได้สตางค์ ได้อะไรเลย เราต้องคิดว่าเราทำเพื่อบ้านเรา คนอื่นเขาเห็นเราทำเราคงไม่โดดเดี่ยว สักวันต้องมีเครือข่ายเข้ามา เหมือนเราทำตลาด เครือข่ายเพิ่มเรื่อยๆ นะ คนที่เคยเรียน เคยอยู่หัวตะเข้เก่าๆ เขาก็เป็นเครือข่าย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ”

ถ้าเปรียบชุมชนหัวตะเข้กับการลงเสา ตอนนี้คงเป็นช่วงที่เสาปักลงในจุดที่ต้องการ แล้วใช้โซ่คล้องไม้หน้าสามพาดขวางไปกับเสา ให้คนช่วยกันขึ้นมาขย่ม กดเสาลึกลงไปในชั้นดินใต้น้ำ อาศัยแรงเสียดทานระหว่างดินกับเสารองรับสิ่งก่อสร้างที่กำลังจะเกิดในไม่ช้า

“ฮุยเลฮุย! เอ้า! ฮุยเลฮุย!”

สุวัฒน์เล่าความตั้งใจให้ฟังว่า เขาจะทำจุดถ่ายรูปอีกหลายจุด โดยส่วนที่กำลังสร้างกันอยู่นี้เป็นจุดแรก เขาอยากเห็นมันเป็นที่นั่งเล่น ปลูกดอกไม้ ปลูกพืชสวน อาศัยบัณฑิตช่างศิลป์ปั้นรูปปั้นไปตั้งประดับไว้ ใครไปใครมาก็แวะนั่งพักบนเก้าอี้ไม้เก่าๆ อาศัยสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาทำ ไม่ต้องลงทุนเยอะ แล้วก็ช่วยกันดูแล

“ผมว่าชุมชนมันไปได้ สิ่งแวดล้อมด้านหลังมันเดินได้หมด อีกหน่อยจะเป็นพื้นที่สีเขียว ทุกร้านจะได้แฮปปี้กันหมด เหมือนเมื่อก่อนทำไมข้างหน้าขายไม่ได้ เดี๋ยวนี้ขายได้ คุณต้องช่วยกันปลูก ช่วยกันทำ”

เมื่อกลับมาย้อนถามถึงแพน สุวัฒน์เล่าถึงการคงอยู่ของมันว่า จริงๆ แพนทำเฉพาะพื้นที่ที่เครื่องจักรไม่สามารถเข้าไปได้ เสน่ห์ของมันคือความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก มีไม้สามแผ่นก็ทำได้ เป็นภูมิปัญญาไทยตั้งแต่โบราณ ทำเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ แค่ตะปูไม่กี่ตัวกับไม้ที่เรามีติดบ้านอยู่แล้ว ใช้สิ่งที่เราเหลือที่บ้านให้เป็นประโยชน์ มันเรียบง่าย ประหยัด และไม่ต้องพึ่งเครื่องจักร

เหมือนกับบรรยากาศเรียบง่ายของหัวตะเข้ ซึ่งเกิดจากการดึงศักยภาพของทั้งผู้คนและสิ่งของที่มีอยู่แล้วในชุมชน มาต่อเติมสีสันให้ตลาดหัวตะเข้ทีละเล็กทีละน้อย ทำให้คิดไปได้ว่า บางทีอาจเป็นเสน่ห์แบบเดียวกันที่ทำให้เราสนใจทั้งแพนและตลาดหัวตะเข้

และอาจเป็นแรงแบบเดียวกันนี่เองที่คนหัวตะเข้ใช้ทั้งลงเสาและพลิกฟื้นชุมชนขึ้นมา


เกี่ยวกับคู่นักเขียน-ช่างภาพ ค่ายสารคดีครั้งที่ 13

จุฑารัตน์ กุลตัณกิจจา
NGO ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สนใจมนุษย์ อยากเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ และถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมา

วรวัฒน์ วิรัตนโภคิน
ผม วรวัฒน์ วิรัตนโภคิน ชื่อเล่นต้น อายุ 22 ปี ชอบการถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เพิ่งมาจับกล้องจริงๆจังๆได้ 3ปีนี้เอง เป็นเด็กลูกครึ่ง เกิดที่กรุงเทพฯ แต่โตที่นครปฐม เป็นผู้ชายรักสัตว์ ชอบเลี้ยงแมวว ปัจจุบันเพิ่งจบป.ตรี วิศวกรรมเครื่องกล มจธ. ครับบ