อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


รถไฟความเร็วสูงของจีน มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า China Railway High-speed อักษรย่อ “CRH” (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ตามที่กระทรวงคมนาคมเป็นผู้เสนอ ชื่อเต็มของโครงการนี้ คือ “โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ ๑ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” เป็นไปตามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์โครงข่ายคมนาคมแห่งศตวรรษที่ ๒๑ หรือ “One Belt, One Road” (หนึ่งแถบ, หนึ่งเส้นทาง) ของจีนที่ต้องการรื้อฟื้นแนวคิดเส้นทางสายไหมขึ้นใหม่

ก่อนนี้เมื่อมีการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เราคงคุ้นเคยกับชื่อที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เช่น สะพานมิตรภาพไทย-ลาว สะพานไทย-เบลเยียม โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก็น่าจะเรียกว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงมิตรภาพไทย-จีน ได้เหมือนกัน

ใช้เวลาก่อสร้าง ๔ ปี เริ่มตั้งเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี ๒๕๖๔

จำนวนสถานีทั้งหมด ๖ สถานี เริ่มจากสถานีบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา มีศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถบริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๑๑

ช่วงเปิดให้บริการปีแรกจะมีรถไฟวิ่งวันละ ๑๑ ขบวน

๘๐

อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น ๘๐ บาท บวกเพิ่มตามระยะทาง ๑.๘๐ บาท ต่อ ๑ กิโลเมตร เท่ากับค่าโดยสารจากบางซื่อ-อยุธยา ๑๙๕ บาท บางซื่อ-สระบุรี ๒๗๘ บาท บางซื่อ-ปากช่อง ๓๙๓ บาท บางซื่อ-นครราชสีมา ๕๓๕ บาท

๙๐

เวลาออกจากสถานีต้นทางทุก ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที หรือ ๙๐ นาที

๑๐๐

โครงการนี้รัฐบาลไทยเป็นผู้ลงทุนเอง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อาจใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เงินมาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อ หรือให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้กู้ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน หรืออาจใช้วิธีระดมทุนผ่านการขายพันธบัตรรัฐบาล

ขณะที่จีนเป็นผู้ออกแบบและวางระบบ ควบคุมการก่อสร้างโยธา ควบคุมการเดินรถ ติดตั้งระบบไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ จัดหาหัวรถจักรและขบวนรถโดยสาร

๒๕๐

ความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากบางซื่อถึงนครราชสีมาจะใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที

๒๕๓

ระยะทางตั้งแต่ต้นทางสถานีบางซื่อถึงปลายทางสถานีนครราชสีมา ๒๕๓ กิโลเมตร

๖๐๐

จำนวนผู้โดยสารสูงสุดขบวนละ ๖๐๐ ที่นั่ง

๕,๓๐๐

รัฐบาล คสช.คาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการ คือปี ๒๕๖๔ จะมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟความเร็วสูงประมาณ ๔๘๐ คนต่อเที่ยวต่อขบวน เท่ากับ ๕,๓๐๐ คนต่อวัน หรือ ๑.๙ ล้านคนต่อปี และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้น ๕ เท่าตัว เป็น ๒๖,๘๐๐ ต่อคนวันในอีก ๓๐ ปีหลังเปิดให้บริการ

๑๗๙,๔๑๓,๐๐๐,๐๐๐

งบประมาณเบ็ดเสร็จ ๑๗๙,๔๑๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท (๑.๗๙ แสนล้านบาท) รัฐบาลไทยเป็นผู้ลงทุนเอง แบ่งเป็น ๗๕ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑๓๔,๕๖๐ ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา

อีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๔๔,๘๕๐ ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซื้อระบบเดินรถจากจีนประมาณ ๓๔,๐๐๐ ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาจากจีนประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านบาท และค่าซื้อรถไฟจากจีนประมาณ ๔,๔๘๐ ล้านบาท

ประเมินว่าเงินกู้ก้อนใหญ่ ๑.๗๙ แสนล้านบาทจะก่อดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ยังมีต้นทุนค่าจ้างพนักงานและค่าใช้จ่ายในการเดินรถอีกราว ๑,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี รวมเป็นรายจ่ายไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี

เมื่อนำมาคำนวณ ถ้ามีผู้โดยสารเต็มคัน ๖๐๐ คน ทั้ง ๑๑ ขบวน จะมีผู้โดยสาร ๖,๖๐๐ คนต่อวัน คูณอัตราค่าโดยสารสูงสุด ๕๓๕ บาทต่อคน รัฐบาลจะมีรายรับ ๓.๕ ล้านบาทต่อวัน หรือ ๑,๒๙๐ ล้านบาทต่อปี หักลบ ๕,๐๐๐-๑,๒๙๐ จึงเท่ากับขาดทุนปีละประมาณ ๓,๗๑๐ ล้านบาท

๒๕๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐

เพื่อเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของลาวและจีน หลังเปิดให้บริการรัฐบาลมีโครงการสร้างส่วนต่อขยายจากนครราชสีมาไปถึงหนองคายระยะทางประมาณ ๓๕๐ กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ ๒๕๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (๒.๕ แสนล้านบาท)

หากสำเร็จจะเป็นโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ๖๔๗ กิโลเมตร รวมกับรถไฟความเร็วสูงในลาว ๔๔๐ กิโลเมตร และรถไฟความเร็วสูงในคุนหมิง จีน ๗๗๗ กิโลเมตร รวมระยะทางคุนหมิง-เวียงจันทน์-หนองคาย-โคราช-กรุงเทพฯ ประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงลงใต้ไปเชื่อมกับมาเลเซียและสิงคโปร์อีกประมาณ ๙๗๐ กิโลเมตรในอนาคต

หมายเหตุ : เก็บตกจาก สัมภาษณ์ : นคร จันทศร เมื่อไทยกระโดดขึ้นรถไฟความเร็วสูง ? นิตยสารสารคดี ฉบับ ๓๔๐ มิถุนายน ๒๕๕๖